เมื่อนโยบายเพื่อความยั่งยืนขัดกับความเสมอภาคทางสังคม เราต้องแก้ไขอย่างไร?

Article

นโยบายเพื่อความยั่งยืนมีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่ส่งเสริมการแก้ปัญหาโลกร้อนโดยลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายภายในประเทศ หรือนโยบายที่ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยลดของเสียในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม บางครั้งนโยบายเหล่านี้ก็เป็นการมองปัญหาในมุมแคบ เพื่อเสนอหนทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ซึ่งอาจไปเพิ่มพูนปัญหาด้านอื่นในระยะยาวแทน โดยเฉพาะในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายอื่นๆ

เช่น ความมั่นคงทางน้ำ (SDG6) และอาหาร (SDG2) ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ (SDG10) และความยากจน (SDG1) การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน (SDG3) การส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน รวมทั้งการจ้างงานที่ให้คุณค่าต่อความเป็นคน (SDG8) หรือแม้แต่การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ (SDG17)

สาเหตุหลักมาจากการไม่คำนึงถึงผลกระทบของนโยบายเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นๆ ที่จะมีต่อเป้าหมายด้านอื่นๆ

รายงานวิจัยฉบับล่าสุด Thinking Beyond Borders to Achieve Social Justice in a Global Circular Economy จากองค์กรเพื่อความริเริ่มด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนประจำกรุงอัมสเตอร์ดัม ได้ระบุถึงปัญหาข้อนี้ในมิติที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบระหว่างประเทศ

โดยชี้ให้เห็นว่าการออกแบบระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในปัจจุบัน มักเน้นไปที่ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ และไม่ได้ใส่ใจต่อปัญหาความเสมอภาคทางสังคมที่อยู่นอกขอบเขตประเทศของตน ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศในอนาคต

พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางปฏิบัติในการกำหนดนโยบายเพื่อความยั่งยืน โดยใส่ใจต่อสภาพความเป็นอยู่ของทุกคน ทั้งที่อยู่ภายในขอบเขตประเทศของตนและภายนอก โดยหวังว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะคำนึงถึงข้อนี้ ก่อนที่รัฐบาลจากประเทศทั่วโลกจะรวมตัวกันเพื่อสานต่อการเจรจาในการลดก๊าซเรือนกระจกในการประชุม COP27 ที่ประเทศอียิปต์ปลายปีนี้

 

และนี่คือ 3 ตัวอย่างของนโยบายเพื่อความยั่งยืน ที่สร้างผลกระทบต่อความเสมอภาคทางสังคม


01 การลดของเสียในกระบวนการผลิตโดยการรีไซเคิลและใช้ซ้ำ (reuse)

การมุ่งเน้นไปที่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับย่อย เช่น ตามรายบริษัทหรือรายอุตสาหกรรม ส่งผลให้ของเสียจากกระบวนการผลิตถูกส่งออกไปยังประเทศด้อยพัฒนาอยู่เสมอ 

เช่น ของเสียจากอุตสาหกรรมพลาสติกของสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก ถูกส่งไปที่ประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งไม่มีโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลที่ดีนัก ส่งผลให้ขยะอุตสาหกรรมจากประเทศต้นทางก่อให้เกิดปัญหาในประเทศปลายทางมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอุดตันของเศษขยะในท่อระบายน้ำ การปนเปื้อนของสารพิษจากขยะอุตสาหกรรมลงสู่แม่น้ำ ความอันตรายจากขยะมูลฝอย (solid waste) ต่อสัตว์ป่า หรือแม้แต่เป็นต้นตอปัญหาการติดเชื้อทางเดินหายใจเนื่องจากควันจากการเผาขยะที่ไม่ได้มาตรฐาน

ในแต่ละปี ประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้เป็นปลายทางของเศษขยะอุตสาหกรรมที่พวกเขาไม่ได้รับการชดเชย เป็นมูลค่ารวมกันกว่าหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นี่คือมูลค่าที่แสดงให้เห็นอยู่ในผลกำไรของบริษัทผู้ผลิตและส่งออก หากได้รับการชดเชย ความเป็นอยู่ของผู้คนที่ไร้โอกาสในประเทศปลายทางคงดีขึ้นเป็นแน่

แนวทางแก้ไข? การออกแบบระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศต้นทางควรคำนึงถึงการหมุนเวียนในระบบปิด นั่นคือสร้างอุตสาหกรรมหมุนเวียนให้ครบวงจรภายในประเทศ เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตรับผิดชอบของเสียที่มาจากอุตสาหกรรมของตนโดยตรง และพร้อมกันนั้นก็รับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของหุ้นส่วนในธุรกิจหมุนเวียนของตนทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้เก็บและกำจัดขยะ ผู้ถอดรื้อ และผู้ประกอบใหม่เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและใช้ซ้ำต่อไป


02 การมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด

แนวโน้มการแก้ปัญหาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบันมักให้ความสำคัญไปที่บทบาทของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นวิธีการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงในการติดตั้งเริ่มแรก รวมทั้งค่าบำรุงรักษาตลอดอายุการใช้งาน 

รัฐบาลในกลุ่มประเทศยุโรปเป็นหนึ่งตัวอย่างของการวางกรอบนโยบายโดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีและออกแบบโมเดลทางธุรกิจเพื่อบรรลุตามเป้าหมายของนโยบายภายในประเทศของตน เช่น การกำหนดให้พัฒนาเครื่องอบผ้าที่มีประสิทธิภาพสูงแทนที่จะส่งเสริมการใช้ลมจากธรรมชาติ การพัฒนากระบวนการเพื่อผลิตเนื้อในห้องแล็บแทนที่จะส่งเสริมการลดบริโภคเนื้อและทดแทนโปรตีนที่มาจากแหล่งอื่น การพัฒนาเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการบินภายในประเทศแทนที่จะปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้สามารถเดินทางได้ทั่วถึงและฉับไว

อย่างไรก็ตามการเน้นพัฒนาเทคโนโลยีที่มากเกินไป ทำให้ทางเลือกอื่นๆ โดยเฉพาะทางเลือกที่เหมาะสมต่อชนชั้นล่างของสังคมหรือต่อประเทศด้อยพัฒนา มักถูกมองข้ามและไม่ได้รับการสนับสนุน ทำให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่กลุ่มคนเหล่านั้นไม่ได้ผลเท่าที่ควร 

นอกจากนี้มันยังอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้คนเหล่านั้นด้วย เช่น ความเสี่ยงจากผลกระทบของการใช้เทคโนโลยีสะอาดอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมืองเพื่อผลิตแร่ธาตุที่ใช้ในแผงโซลาร์เซลล์ แร่ธาตุเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยากจนแถบแอฟริกา ซึ่งไม่มีกฎหมายควบคุมการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ดีพอ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชาวเหมืองย่ำแย่ 

ย่ำแย่อย่างไร? การทำเหมืองโคบอลต์ในประเทศคองโก หรือการตัดไม้บัลซ่าจากป่าอเมซอนในประเทศเอกวาดอร์เพื่อผลิตใบพัดกังหันลม ส่งผลต่อวิถีชุมชนในป่าลึก

การผลิตวัสดุทางการเกษตรเพื่อใช้ในเทคโนโลยีชีวภาพ ส่งผลต่อปัญหาความมั่นคงทางอาหาร การแย่งใช้น้ำเพื่อผลิตอาหารและพลังงาน การเสื่อมสภาพของดินจากการใช้สารเคมีเพื่อเร่งผลผลิต

หรือแม้แต่การใช้เทคโนโลยี 3D ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ส่งผลให้คนยากจนจำนวนมากในประเทศด้อยพัฒนาไม่มีงานทำ

แนวทางแก้ไข? เทคโนโลยีจะมีความเหมาะสมก็ต่อเมื่อมันเข้ากันได้กับสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศ เช่น มีวัสดุและแหล่งพลังงานที่เพียงพอและหาได้ง่ายภายในประเทศ การติดตั้งและบำรุงรักษาสามารถทำได้ง่ายโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ การคำนึงถึงธรรมชาติและความต้องการของผู้ใช้งานโดยให้พวกเขามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มกระบวนการคัดสรรเทคโนโลยี 

และที่สำคัญเป้าหมายการใช้เทคโนโลยีควรเป็นไปแบบควบคู่กับการใช้แรงงานภายในประเทศ ไม่ใช่เพื่อแทนที่แรงงาน หากแรงงานขาดทักษะก็ควรมีการเพิ่มความรู้และทักษะก่อนนำเทคโนโลยีมาใช้หากไม่เป็นเช่นนั้น ต่อให้เทคโนโลยีจะมีความไฮเทคเพียงใด สุดท้ายก็ไม่สามารถนำรูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนมาสู่ประเทศได้อยู่ดี


03 การส่งเสริมแนวปฏิบัติทางการค้าเพื่อจำกัดการบริโภคที่มากเกินไป

ก่อนการระบาดของโควิด-19 การบริโภคในระบบเศรษฐกิจทั่วโลกมีปริมาณกว่า 1 แสนล้านตัน ปริมาณการบริโภคส่วนใหญ่ในจำนวนนี้เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง ส่งผลให้ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปอนุมัติข้อริเริ่มทางด้านนโยบายเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยใช้ชื่อเลียนแบบชุดมาตรการและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในการฟื้นฟูยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (New Deal) ในนามว่าข้อตกลงสีเขียวแห่งสหภาพยุโรป (EU Green Deal)

โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญของข้อตกลงฉบับนี้ คือการแยกจุดเชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการใช้ทรัพยากร (นักพัฒนาเรียกแนวทางนี้ว่า decoupling)

การ decoupling ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะได้มีความพยายามในการแยกการใช้พลังงานออกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจตั้งแต่วิกฤติพลังงานครั้งใหญ่ในคริสต์ทศวรรษ 1970 มาแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการโยกย้ายระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาพลังงานสูง ที่เคยมีฐานการผลิตในประเทศที่พัฒนาแล้วมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงในกลุ่มประเทศอาเซียน

โดยประเทศที่พัฒนาแล้วก็มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจภาคบริการ โดยเฉพาะการเงิน และเน้นการนำเข้าสินค้าที่พึ่งพาพลังงานสูงในการผลิตจากประเทศกำลังพัฒนมาทดแทน เพื่อเพิ่มการบริโภคของตนอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เกิดการ decoupling ในระดับโลกแต่อย่างใด

หากความตั้งใจในการ decoupling คราวนี้ได้ผล คาดกันว่าจะส่งผลต่อแนวทางการค้าของโลกอย่างมหาศาล โดยเฉพาะต่อชนิด ปริมาณและคุณภาพของวัสดุตั้งต้นในกระบวนการอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่ายังไม่สามารถระบุถึงผลกระทบได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน แต่ก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าผลกระทบคงตกแก่ประเทศต้นทาง ที่มีรูปแบบของระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการทำเหมืองแร่เพื่อส่งออกวัสดุตั้งต้นในกระบวนการอุตสาหกรรม รวมทั้งประเทศกลางน้ำที่นำเข้าวัสดุตั้งต้นเหล่านี้เพื่อผลิตสินค้าสำเร็จรูปและส่งออกตามความต้องการของประเทศปลายทาง

หากมีนโยบายที่จะนำไปสู่การหยุดชะงักของแนวปฏิบัติทางการค้าอย่างกะทันหันโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในวงกว้างที่อาจเกิดขึ้น ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกอาจเกิดการหยุดชะงัก คนงานจำนวนมากอาจสูญเสียความมั่นคงทางรายได้ และอาจส่งผลต่อปัญหาสังคมและการเมืองต่อไป

แนวทางแก้ไข?  เพื่อสนับสนุนแนวปฏิบัติทางการค้าอย่างมีความรับผิดชอบ ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องเริ่มรับผิดชอบต่อการกำจัดของเสียที่เกิดจากความต้องการบริโภคภายในประเทศของตน ไม่ว่าต้นทางกระบวนการผลิตสินค้านั้นจะมาจากแหล่งใดก็ตาม ต่อด้วยการพยายามหาแนวทางเพื่อหลีกเลี่ยงการนำนโยบายที่อาจส่งผลต่อการชะงักการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าอย่างกะทันหันมาใช้ เพื่อสนับสนุนคุณค่าชีวิตของแรงงานที่ผลิตสินค้าเหล่านั้น 

นอกจากนี้ ประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศคู่ค้าของตนควรให้ความสำคัญต่อการวางนโยบายที่เน้นการชดเชยเยียวยาในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสภาพชุมชนและสิ่งแวดล้อมของประเทศต้นทางสินค้าเพื่อการบริโภคของตน ถ้าให้ดีก็ควรลงทุนเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้คนในประเทศเหล่านั้นด้วย

 

ทั้ง 3 ตัวอย่างข้างต้น คือแนวทางนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สอดคล้องกับแนวทางสร้างความเสมอภาคในสังคมโลก

การละเลยผลกระทบจากนโยบายที่ส่งเสริมความยั่งยืนภายในประเทศของตนต่อประเทศอื่นในห่วงโซ่เศรษฐกิจโลก เป็นการส่งเสริมความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน นอกจากนั้นมันยังเป็นการขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำในประเทศด้อยพัฒนาอีกด้วย

หากไม่มองในมุมกว้าง ประเทศอื่นเขาจะว่าเอาได้ว่าวางนโยบายแบบปากว่าตาขยิบ โดยส่งเสริมรูปแบบการพัฒนาที่คำนึงถึงทุกคน แต่เวลาทำจริงก็สนใจแต่ตัวเอง เรื่องใดทำในประเทศตัวเองไม่ได้ก็เอาแต่ปัดสวะให้พ้นตัว ตอนนี้มนุษย์เราต้องช่วยกันและร่วมมือกันเท่านั้น หากยังอยากฟันฝ่ายุค Anthropocene ไปด้วยกัน 

มันหมดเวลาของการเล่นเกมกันแล้ว!

 

บทความโดย ดร. สุวิน ซันดู (suwin@ait.asia) 

Centre for Global Challenges สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย


ข้อมูลอ้างอิง

[i]    https://sdgs.un.org/goals 

[ii]   https://www.circle-economy.com/resources/thinking-beyond-borders-to-achieve-social-justice-in-a-global-circular-economy 

[iii]   https://www.circle-economy.com/blogs/sustainability-policy-can-worsen-global-inequalities-heres-what-we-should-do-differently 

[iv]   https://www.abc.net.au/foreign/blood-cobalt/13769990 

[v] The Economist (2021), The wind-power boom set off a scramble for balsa wood in Ecuador, January 30 – February 3 edition.

[vi]   https://ec.europa.eu/info/strategy/priorities-2019-2024/european-green-deal_en 

[vii] Sandhu et. al. (2019), Energy-related CO2 emissions growth in ASEAN countries: Trends, drivers and policy implications, Energies 12(24), 4650.

 

ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้