สาระสำคัญจาก 4 เวทีเสวนา GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs

Other Reports

GCNT FORUM 2020: “Thailand Business Leadership for SDGs 2020”

31 สิงหาคม 2562 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
 

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยเปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์การดำเนินธุรกิจที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างแรงบันดาลใจจากสมาชิกสมาคมฯ พร้อมด้วยผู้นำภาครัฐ  ภาคประชาสังคม พร้อมยืนยันเจตนารมณ์ร่วมสำคัญของสมาชิกที่มุ่งมั่นในการส่งเสริมการลงทุนทำธุรกิจเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายในปี ค.ศ.2030 โดยมี ฯพณฯ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยตัวแทนสหประชาชาติ และ ผู้นำจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมเวทีเสวนา

สาระสำคัญจากการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผู้นำภาคธุรกิจได้แบ่งปันประสบการณ์การเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด-19 ทั้งในด้านภาวะผู้นำที่ได้แสดงให้เห็นถึงการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และทักษะการตัดสินใจปรับวิธีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและการถดถอยทางเศรษฐกิจ   การเคารพในสิทธิมนุษยชนและการให้ความห่วงใยต่อพนักงานของตน การใช้คู่มือแรงงานที่เหมาะกับสภาพวิกฤติปัจจุบัน กลยุทธ์การใช้นวัตกรรมในการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน การปกป้องสิ่งแวดล้อมทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากร การปลูกป่า การแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างเส้นทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการติดตามประเมินผล ระบบ Compliance ตรวจสอบความโปรงใส่และต่อต้านทุจริต 

ผู้เข้าร่วมเสวนาในวันนี้ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ในสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และ เศรษฐกิจดังที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ทุกคน ทุกภาคส่วนต่างต้องหันหน้าพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ (Social Dialogue) เพื่อหาหนทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน  (ดาวน์โหลด.pdf)

ภาวะความเป็นผู้นำกับการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนในความปกติใหม่

ตั้งเป้าหมายให้ชัด ปลูกฝังใน DNA องค์กร
สร้างสมดุลธุรกิจ และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

คุณอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทอินโดรามาเวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) เห็นว่า ภาวะผู้นำเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ละองค์กรต้องตั้งเป้าหมายให้ชัด เป้าหมายของเราจึงไม่ได้อยู่ที่ผลตอบแทน แต่คือการทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงบรรลุ SDGs เท่านั้น แต่ต้องไม่ทำร้ายโลกมากไปกว่านี้ ในฐานะที่เราเป็นพ่อ หรือเป็นปู่ เราไม่อยากให้คนรุ่นลูกต้องทุกข์ทรมาน และในฐานะที่เป็นบริษัทระดับโลก ผู้นำด้านรีไซเคิล เราจึงทำงานอย่างมุ่งมั่นตั้งใจร่วมกับผู้คนถึง 70 วัฒนธรรมในการใส่ใจดูแลโลกใบนี้

เช่นเดียวกับ ดร.ศรายุธ แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานการเงิน และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มบริหารมิตรผล ได้กล่าวถึง Vision ของกลุ่มมิตรผล ในการขยาย Value Chain จากการผลิตน้ำตาลสู่ธุรกิจด้านพลังงานสะอาด ด้วยการผลิตเอทานอล และเพิ่มมูลค่าโดยการทำโรงไฟฟ้าไบโอแมสจากอ้อยที่เหลือจากโรงงาน ภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงนโยบายของบริษัทในการทำงานด้านความยั่งยืนและส่งเสริมพลังงานสะอาดตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ผ่านมา “บางจากไม่ได้เน้นเพียงแค่ทำกำไร แต่ใส่ใจดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เรามองความสมดุลระหว่างผลตอบแทนทางด้านการเงิน รวมถึงคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ผู้นำจาก 3 องค์กรธุรกิจระดับมหาชนข้างต้น ยังได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความเห็นในเวทีเสวนาหัวข้อ “ภาวะผู้นำสู่ความยั่งยืนในความปกติใหม่” โดยมีคุณพัชรี รักษาวงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยผู้นำแต่ละท่านยังได้บอกเล่าการเผชิญสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมาว่า

“วิกฤต COVID ครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อบริษัท แต่เรากลับมาคิดว่าจะเดินหน้าอย่างไร ให้แตกต่างจากเดิม เราอยู่ในกลุ่มปิโตรเคมีและพลาสติก มีโรงงานอยู่หลายประเทศทั่วโลก จึงตัดสินใจใช้กลยุทธ์หลักความปลอดภัยมาดำเนินงาน ด้วยการทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยและสุขอนามัย โดยเน้นอุตสาหกรรมที่ผลิตสิ่งจำเป็นในชีวิต ให้ความสำคัญกับเป้าหมายของ UN ในการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการวางแผน โดยการตั้งเป้า ลดคาร์บอน 10% ในปี ค.ศ. 2030 ด้วยการลดการใช้พลังงาน ใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น และลดการใช้น้ำ” คุณอาลก บริษัทอินโดรามาเวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าว

คุณชัยวัฒน์ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้จะผ่านจุดแย่ที่สุดมาแล้ว แต่ก็ไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ การสื่อสารจึงสำคัญมาก ทั้งกับผู้คนรอบตัวเรา คนในครอบครัว คนในบริษัท และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เมื่อเป็นการสื่อสารจากผู้นำระดับสูงจึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือการให้ความเท่าเทียมกับ LGBT และให้โอกาสกับทุกคน โดยช่วยเหลือให้ทุกคนเข้ามาร่วมกับเราในด้านพลังสะอาด และลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2025

ในการรับมือกับ COVID-19 ดร.ศรายุธ กลุ่มมิตรผล เห็นว่า นอกจากต้องมีสุขภาพที่ดีแล้ว ยังต้องยกระดับทักษะต่าง ๆ และคำนึงถึงทรัพยากรทุกด้าน โดยเฉพาะในระดับหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยสามารถลดค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน เราจึงให้ความรู้ผ่านออนไลน์ ทั้งการวางแผนทางการเงิน การสร้างมูลค่าจากทรัพยากรในพื้นที่ สร้างพลังทวีคูณ หรือเป็น Leverage ให้คนได้ทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยรับมือกับ COVID ได้อย่างดี ทั้งเรื่องรักษาระยะห่าง รวมถึงการลงทุนด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีระดับมาตรฐานดีเลิศ รัฐบาลไทยเป็นประเทศต้น ๆ ที่รับมือ COVID อย่างรวดเร็ว รัฐบาลไทยมีความโปร่งใสในการใช้นโยบายครอบคลุมในทุกด้าน และประเทศไทยยังมีจุดเด่นคือ การมีส่วนร่วมในการให้อาหารเพียงพอ มีความมั่นคงในด้านอาหาร และมีส่วนร่วมในการแบ่งปัน การมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการดูแลซึ่งกันและกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จากความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการสร้างความเท่าเทียมกัน และปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน จึงเป็นความท้าทายของประเทศไทยในการรับมือสร้างโอกาสทั้งด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจให้ทุกคนเข้ามีส่วนร่วม

เคารพสิทธิมนุษยชนและแรงงานของธุรกิจ

คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ก้าวข้ามปัญหาด้วยการ
หารือร่วมกัน ช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยกันรับผิดชอบ

ก่อนสถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยประสบกับความท้าทายในเรื่องการดำเนินตามหลักการชี้แนะสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights – UNGPs) ในด้านแรงงาน เมื่อเกิด COVID จนถึงบัดนี้ ความท้าทายยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องการตกงาน การจ้างงานใหม่ ดร. เสรี นนทสูติ รองกรรมการผู้จัดการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ ผู้ดำเนินรายการ ได้กล่าวนำเสวนาหัวข้อ “ธุรกิจกับการเคารพสิทธิมนุษยชนและแรงงาน” โดยมีผู้ร่วมเสวนา 4 ท่านได้แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์การทำงานในด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ดังนี้

คุณจิตติมา ศรีสุขนาม เจ้าหน้าที่บริหารโครงการอาวุโสประจำประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนลาวประจำองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization Thailand: ILO) ได้เก็บข้อมูลแล้วนำมาเปรียบเทียบระหว่างไตรมาสแรก ปี 2020 กับไตรมาสสี่ ปี 2019 ในภาพรวมพบว่า ชั่วโมงการทำงานลดลงประมาณ 4.9% หรือคิดเป็นจำนวน 220 ล้านชั่วโมง โควิดจึงมีผลกระทบในวงการต่อแรงงานแทบทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจบริการ ภาคการขนส่ง ภาคการท่องเที่ยว และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตทั้งหมด ซึ่งถ้ามีเวฟที่สอง อาจจะลดลงถึง 400 ล้านชั่วโมง สิ่งที่ ILO เสนอ คือการตั้งรับหรือปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ COVID ใน 4 เสาหลัก คือ เสาที่ 1. การกระตุ้นเศรษฐกิจ 2. ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการ ประชาชน หรือแรงงานรายบุคคล มีรายได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบช่วงล็อกดาวน์ 3. ทำอย่างไรให้พนักงานหรือแรงงานที่อยู่ในระบบที่ยังมาทำงานได้ทุกวัน สามารถที่จะมาทำงานได้อย่างปลอดภัย และเสาที่ 4. ทำอย่างไรให้นโยบายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเกิดจากการพูดคุยระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง ระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้อง เพิ่มศักยภาพให้นายจ้างและลูกจ้างพูดคุยกันได้อย่างเปิดอก เพื่อหามาตรการต่าง ๆ ที่จะเกิดข้อตกลงร่วมกันในการทำงาน โดย ILO เน้นให้เกิดการเจรจาพูดคุย ด้วยกระบวนการตรึกตรอง แลกเปลี่ยน พูดคุย อย่างไว้ใจและเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ถูกจุด และป้องกันเตรียมการ หากเกิดปัญหาใหม่ตามมา

คุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562 สาระสำคัญของแผน ฯ เน้นการแก้ปัญหาที่ 4 ประเด็น คือ 1. ประเด็นแรงงาน 2. ชุมชน ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม 3. ประเด็นปกป้องนักสิทธิมนุษยชน และ ประเด็นที่ 4. การลงทุนระหว่างประเทศและบริษัทข้ามชาติ อีกทั้งได้ศึกษามาตรการแรงจูงใจภาคธุรกิจให้เคารพสิทธิมนุษยชน เช่น มาตรการทางภาษี การอบรมต่าง ๆ หรือการทำตรามาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน หรือการทำ Prefer List ขึ้นมา ด้วยการจัดตั้ง Business Human Rights Academy ร่วมกับ GCNT โดยหวังให้ Business Human Rights Academy เป็นศูนย์กลางในการอบรมในระดับภูมิภาค และส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนในระดับมหาวิทยาลัยและในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม

คุณสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศ (Employers' Confederation of Thailand- ECOT) กล่าวถึงการบริหารจัดการด้านแรงงาน ในยุค COVID ต้องมีการหารือร่วมกัน มีการประชุมทวิภาคี องค์การนายจ้างและองค์การลูกจ้าง มาพูดกันก่อนว่าจะทำอะไรต่อไป ร่วมวางแผนรับมือภัยวิกฤตในอนาคต วางแผนไม่ให้คนแตกกระจาย หารือร่วมโดยหลักสุจริตใจ การบริหารปรับโครงสร้างจะทำอย่างไร ศึกษาจากตัวอย่างที่ดีของบริษัทต่าง ๆ เพื่อนำแนวทางเหล่านั้น ไปประยุกต์ใช้ ในการลดปัญหา หรือปรับโครงสร้างเงินเดือนตลอดจนการรักษาคนไว้ให้มากที่สุด จึงมีวิธีเดียวที่ทำได้คือ การหารือร่วมกัน ช่วยกัน ร่วมคิด ร่วมหารือ ร่วมรับผิดชอบ

คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF บริษัทอาหาร ที่มีโรงงานอยู่ประมาณ 17 ประเทศ และส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ไม่มีฐานการผลิตอีก 30 ประเทศ CPF มีคนกว่าหนึ่งแสนคนทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย โดยช่วง COVID-19 เครือซีพี มีนโยบายดูแลคนอย่างชัดเจน คือ ไม่มีการให้คนออก CPF ไม่ได้แค่ทำแค่ธุรกิจมุ่งกำไร แต่มีความสำนึกและมีหน้าที่รับผิดชอบสังคม ในวิกฤต COVID ที่ผ่านมา CPF ผลิตอาหารให้เพียงพอ มีหน้าที่ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร อีกทั้งยังได้ทำกิจกรรมส่งอาหารให้กับกลุ่มคนต่าง ๆ เช่น ส่งอาหารให้ผู้ที่ต้องกักตัวอยู่กับบ้าน โดยส่งอาหารให้กว่า 20,000 ครอบครัว ส่งอาหารให้ครอบครัวคุณหมอและพยาบาล ส่งอาหารให้คนที่ทำงานทั้งประเทศ และส่งอาหารให้กับคนในพื้นที่คลองเตยร่วมกับกองพันทหารม้า อีกทั้งยังทำ Campaign ร่วมกับ กระทรวงพาณิชย์ ลดราคา 50% ณ ร้าน Fresh Mart เช่น การบริหารจัดการบริหารการกระจายไขร่วมกันภายในบริษัทในเครือ ไม่ให้เกิดการตุนไข่ และ อื่น ๆ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำ Food Truck จากที่ต่าง ๆ มีการประชุมทั่วโลก มีการทำในประเทศต่าง ๆ แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน เช่น ในรัสเซีย เยี่ยมชมซีพีในการพัฒนาระบบเพื่อดูแลคนทุกคน

“ผมอยากให้ทุกบริษัทเข้าใจว่า การดำเนินทุกธุรกิจต้องมีเป้าประสงค์สูงสุด (Purpose) มีความปรารถนาที่ดี (Passion) และตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า ‘ทำไมเราถึงจะดำรงอยู่ในสังคมของเรา’ และสุดท้ายคือ ไม่มีองค์กรไหนอยู่ได้ถ้าเราไม่ดูแลคนของเราให้เพียงพอในทุกระดับ ตั้งแต่ข้างบนลงไปถึงข้างล่าง ด้วยความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน ความสำคัญคือ การทำธุรกิจต้องรู้เป้าหมายว่าจะทำอะไร และอยู่ร่วมกับสังคมให้ได้” คุณประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้นำกับการเคารพสิทธิของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ธรรมชาติพูดแทนตัวเองไม่ได้
มนุษย์ต้องดูแลและพูดแทนเขา
ความเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากทุกภาคส่วน

คุณปฐม ชัยพฤกษทล ผู้จัดการโครงการ สำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ผู้ดำเนินการเสวนาหัวข้อ “ด้านสิ่งแวดล้อม: ความเงียบของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ด้วยการตั้งคำถามถึงการเผชิญสถานการณ์ COVID ของแต่ละบริษัท และมุมมองต่อการฟื้นคืนของสิ่งแวดล้อม โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมตอบคำถาม คือ

คุณแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด มหาชน บริษัทที่ก่อตั้งอย่างมีเป้าหมายในการผลิตอาหารที่ยั่งยืน ด้วยการนำ SDGs มาปฏิบัติให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ใน 3 ทางคือ 1. เครือข่ายของการผลิตโปรตีนทางเลือก หรือ Plant Based Food ทั่วโลก 2. การสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมเรื่องของ Food System Transformation และ 3. การประชาสัมพันธ์ ในเรื่องของการบริโภคและผลิตอาหารที่ยั่งยืน จากการทำงานบนฐานการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน (Inclusivity) และ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability) ในการคำนึงเรื่องของ Carbon Emission ที่เกิดขึ้นจากระบบอาหาร โดยดูตั้งแต่ต้นน้ำ มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ด้วยการปลูกวัตถุดิบต้นน้ำ ลักษณะ Regenerative Agriculture ที่เพิ่มไนโตรเจนในดินและลดคาร์บอน กลางน้ำ เรื่องของการผลิตที่ Energy Efficient และใช้ Renewable Energy และลดคาร์บอนฟรุตปริ้น และปลายน้ำคือเรื่องของแบรนด์ที่มี Purpose  COVID เกิดขึ้น เป็นผลกระทบเชิงบวก เนื่องจากเราโฟกัสเรื่อง Sustainability “เราเชื่อว่าความยั่งยืนเป็น New S-curve ของโลก S-Curve เดิม คือเรื่อง Ethnic Foods แล้วใน S-Curve ใหม่ของเราที่ได้วางแผนไว้คือเรื่อง Plant Based Food และ Functional Food สิ่งที่เกิดขึ้นหลัง COVID คือ Cooking from Home ก็เป็น Positive Impact อย่างไรก็ตาม เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นอุปสรรคของอุตสาหกรรมภาคอาหาร มีการพูดถึง Carbon Registration เรื่อง Carbon Tax รวมไปถึงขยะพลาสติก เราได้คิดล่วงหน้าแล้วว่า อนาคตอาหาร (Future Food) ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว เราต้องปรับตัวเองก่อนที่ข้อกำหนด (Regulation) หรือความต้องการของผู้บริโภคจะเกิดขึ้นล่วงหน้า เราจึงต้องส่งเสริมให้คนตระหนักว่า วันนี้ปัญหามี แล้วเรารอไม่ได้ เราต้องแก้วันนี้ และเราเชื่อว่าทุกคน ในแต่ละบริบทของตัวเอง มีส่วนที่จะสามารถแก้ได้ ถ้าเริ่มตั้งแต่วันนี้” คุณแดน กล่าว

คุณรณกร ตีรกานนท์ ผู้จัดการด้านการพัฒนาศักยภาพ รีคอฟ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีภารกิจหลัก คือ มุ่งเน้นให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการป่าไม้ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีคนมากกว่า 5 ล้านคน ที่พึ่งพิงทรัพยากรป่าเพื่อการยังชีพ แต่หลัง COVID มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เนื่องจากจำนวนคนอีกหลายคนตกงาน กลับไปบ้านไปเพื่อใช้ทรัพยากรป่าไม้ เพื่อความอยู่รอด เมื่อเขาตกงานก็กลับไปอยู่ท้องถิ่น ทรัพยากรที่เอามาใช้ได้เพื่อการยังชีพก็คือทรัพยากรป่าไม้ เช่น กลุ่มอนุรักษ์ป่าบ้านบุญเรือง ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นป่าชุ่มน้ำ ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งทรัพยากรให้ที่ชาวบ้านได้ใช้ ในช่วงวิกฤต COVID เพื่อตอบสนองช่องว่างในเรื่องของรายได้ เราพบว่า ครอบครัวเฉลี่ยที่เขาสามารถที่จะใช้ทรัพยากรจากป่าชุ่มน้ำที่บ้านบุญเรืองสูงถึง 10,000 บาทต่อครอบครัว หมายความว่า พวกเขาสามารถใช้ทรัพยากรให้มีคุณค่าและตอบโจทย์ในช่วง COVID ได้ และได้รับรางวัลระดับโลกที่เรียกว่า UNDP Equator Prize ซึ่งเป็นโมเดลหรือตัวอย่างให้ชุมชนอื่นได้ ทั้งนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกับปัญหา COVID คล้าย ๆ กัน แต่ COVID-19 ทำให้คนเร่งที่จะแอคชั่น ดังนั้นจะทำอย่างไรให้แอคชั่นเหล่านี้ตอบโจทย์เรื่องลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และทำให้เราสามารถอยู่กับ COVID-19 ได้อย่างมีความสุข ที่ผ่านมายังเป็นการจัดการจากการมีส่วนร่วมของหลาย ๆ ภาคส่วน โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่เป็นเซคเตอร์บายเซคเตอร์ การพูดคุยแบบบูรณาการให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมยังมีไม่มาก เราอย่ากังวลว่าการใช้ป่าจะเป็นการทำลายเสมอไป แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการจัดการที่ได้ประโยชน์ นั่นคือประโยชน์ที่ภาคธุรกิจสามารถจะเข้ามาร่วมได้

คุณร่มธรรม ขำนุรักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Environman สื่อออนไลน์เพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า COVID ไม่ใช่เรื่องที่ดี แต่มีทั้งผลดีและเสียต่อสิ่งแวดล้อม ด้าน Positive Impact คือ มลพิษในอากาศลดลง ช่วยให้คนที่อาจเสียชีวิตในแต่ละปีรอดตายหลายหมื่นคน การล็อกดาวน์ทำให้ธรรมชาติฟื้นตัวมากขึ้น ในไทยเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่มากที่สุดในรอบหลาย ๆ 20 ปี หรือ ปี ค.ศ. 2020 World Overshoot Day หรือวันที่เราใช้ทรัพยากรหมดช้ากว่าปีที่แล้ว 3 สัปดาห์ หมายความว่าเราใช้ทรัพยากรลดลง ด้านพลังงาน ในอังกฤษและสหรัฐฯ พลังงานทดแทนสัดส่วนแซงพลังงานฟอสซิลขึ้นมา อย่างไรก็ตาม กิจกรรมบางอย่างเพิ่มขึ้น ขยะเพิ่มขึ้น Medical Waste ขยะทางการแพทย์ หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น 2 ล้านชิ้นต่อวันในประเทศไทย ส่วนนี้ส่งผลกระทบในท้องทะเล นอกจากนั้น การ Work from Home หรือ Stay at Home ขยะเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงที่ผ่านมา หรือว่าการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า หรือล่าสัตว์เพิ่มขึ้น COVID จึงเป็นการเตือนภัยจากธรรมชาติ เราควรจะหยุดทำลายธรรมชาติได้แล้ว เพราะ Pandemic ที่ผ่านมาในอดีตส่วนใหญ่เกิดจากเราไปยุ่งเกี่ยวกับสัตว์ รวมถึงข้อมูลวิจัยพบว่า ถ้าอุณหภูมิแตะถึง 1.5 หรือมากกว่านั้น ก็เผยให้เห็นว่า Climate Change จะเป็น Crisis ที่แย่ อาจแย่กว่าวิกฤตการณ์ที่เราเจออยู่ตอนนี้ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นนั้น ทำได้ด้วย 5R ได้แก่ Rethink, Reduce, Reuse, Recycle และ Recover เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกให้ยั่งยืน

คุณธันณี ศรีสกุลไชยรัก เจ้าหน้าที่วิชาการของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme – UNEP) กล่าวว่า ตลอด 48 ปีที่ผ่านมา ความรู้และความเข้าใจหลักของเรา คือ สิ่งแวดล้อมเป็นบริการฟรี เราจึงไม่เคยจ่ายเงินกับอากาศสะอาด แต่ตอนนี้เราต้องจ่ายแล้วเพราะเราเป็นคนทำ เราจำเป็นต้องจ่ายน้ำแล้ว เพราะว่าสมรรถภาพในการทำให้สะอาด (Purifying Capacity) ของน้ำจากภูเขา ตอนนี้เขาทำไม่ได้แล้ว เดินที่เราปลูกเพื่อปลูกอาหาร เราใส่เคมีไปเท่าไหร่ เราต้องจ่ายแล้ว เราจึงต้องสื่อสารว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่กับธรรมชาติได้ อันเป็นภารกิจหลัก โดย UNEP ให้สัตยาบรรณว่าจะทำงานร่วมกับทุกคนบนโลก ร่วมกับธรรมชาติ ภายใต้ภารกิจของ UNEP ในการตอบสนอง 4 ด้าน 1) อย่างไรให้เสริมสร้างธรรมชาติให้เข้มแข็ง  2) และ 3) จะลงทุนอย่างไรที่จะทำให้เกิดการฟื้นฟูได้สูงที่สุด ส่วนด้านสุดท้ายคือการปรับตัวภายในองค์กร วันนี้เรากำลังเผชิญ 3 ความปกติ ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น คือ 1. การใช้พลังงานที่มาจากซากฟอสซิสทำเกิดอากาศไม่สะอาด  2. อุณหภูมิเพิ่มไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และ 3. การเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมบนโลกเพิ่มขึ้น ทุกคนบนโลกจึงต้องมีส่วนร่วมในการทำโลกให้กลับไปดีเหมือนเดิมในอดีต (Build Back Better) จึงต้องมีเป้าหมายการลงมือทำที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอากาศ  ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ขึ้นมาจริง ๆ การลงทุนที่เขียวขึ้น รวมถึง Green Bonds เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนธุรกิจ เราไม่ควรจะกลับไปเป็นแบบเดิมแล้ว และเราทุกคนควรต้องพูดในนามของธรรมชาติ เพราะธรรมชาติพูดแทนตัวเองไม่ได้ เราต้องดูแลและพูดแทนธรรมชาติ เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ได้ประโยชน์จากธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา

ผู้นำแห่งบรรษัทภิบาลและการต่อต้านทุจริต

Digital Technology ตัวช่วยสร้างความโปร่งใส
พร้อมสานเสวนา สร้างเจตนารมย์ร่วมระยะยาว

“เราเน้นเรื่อง Process ทุกขั้นตอนของการทำงานต้องมีการกำกับดูแลที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ขณะเดียวกัน ถ้า Process ดีแล้วสิ่งสำคัญคือคนที่ Implement จะต้องเข้าใจได้อย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราต้องสร้าง Awareness ให้กับคนต่อไป เราควรเริ่มจากภายในของเราแล้วส่งต่อไปภายนอก มีกระบวนการจัดการดูแลที่ชัดเจน ปตท.สผ. จึงเป็นหน่วยงานที่เป็นแนวร่วมในการต่อต้านการทุจริตจากหน่วยงาน CAC และได้รับรางวัลองค์กรโปร่งใส 2 ปีซ้อนจาก ปปช. และได้รับรางวัลเป็นตัวแทนส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภาครัฐวิสาหกิจจากหน่วยงานรัฐด้วย ขณะเดียวกัน ได้เป็นสมาชิกของ Dow Jones Sustainable Development หรือ DJSI 6 ปีซ้อน เราอยากจะเน้นว่า นี่คือสิ่งที่เรามี Aspiration ที่ชัดเจน เรามีการ Implementation ที่ชัดเจน มีการวัดผลที่ชัดเจนด้วย” คุณนาถฤดี โฆสิตาภัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลุยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวในการเสวนา หัวข้อ ด้านการส่งเสริมบรรษัทภิบาลและการต่อต้านทุจริต โดยมี ดร.สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรม วิทยาลัยการปกครองส่วนท้องถิ่นมหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้ร่วมเสวนาจากหลายภาคส่วนได้เข้ามาร่วมให้ความเห็น ดังนี้

คุณวีระชัย คุณาวิชยานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวถึงการการผลักดันด้านความโปร่งใสและบรรษัทภิบาล ว่า สอท. มุ่งส่งเสริมให้สมาชิกให้ความสำคัญในสร้างประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมภายใต้หลักจริยธรรม จรรยาบรรณ และบรรษัทภิบาล ในช่วงหลัง COVID ได้มุ่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับสุขภาพ อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมไบโออิโคโนมี มีความสำคัญและเป็นเป้าหมายหลัก นอกจากนี้ยังสนับสนุนสินค้าไทย Made in Thailand โดยเสนอให้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างโดยกรมบัญชีกลางให้มุ่งเน้นการใช้สินค้าไทยเป็นอันดับแรก และมุ่งเน้นการใช้ดิจิทัลเข้าไปเพื่อควบคุมการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส เน้นการพัฒนา Supply Security ลดการพึ่งพาชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ แม้ระยะแรกต้นทุนอาจสูง รวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีภาคเกษตรและด้านอาหาร เพราะในอนาคตข้างหน้าสองส่วนนี้จะเป็นส่วนสำคัญ โดยแผน 10 ปี ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับภาครัฐในขับเคลื่อน SDGs 17 เป้าหมายให้บรรลุ

ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการภารกิจ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์และกรอบงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เห็นว่า เราไม่อาจมองเรื่องคอร์รัปชั่นอย่างเดียว ควรมองถึงประสิทธิภาพของการจัดการงบประมาณของรัฐด้วย ซึ่งยังไม่มีระบบที่สามารถมองเห็นสร้างประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรที่จำกัด อีกทั้งยังไม่มีการสร้างการตระหนักรู้ว่าส่วนใดคือบริการสาธารณะ และระบบร่วมการจัดการสาธารณะไม่ถูกนำมาเปิดเผย และปรึกษาหารือร่วมกัน อันเนื่องจาก ขาดเจตนาร่วมกันของคนในสังคม ขาด Active Citizen และขาดการตระหนักรู้ร่วมกัน สังคมไทยไม่ได้เพียงขาดการสานเสวนา แต่เรายังขาดการคิดร่วมกัน โดยเฉพาะประเด็นที่ท้าทายของภาครัฐ คือการมีสมดุลระหว่างการควบคุมและการยืดหยุ่น ซึ่งรัฐควรเรียนรู้จากภาคเอกชน การสานเสวนา (Dialogue) จะนำไปสู่การสร้างเจตนารมย์ร่วมระยะยาว อันจะนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายและช่วยกันพัฒนางานไปสู่เป้าหมายสูงสุด  อีกทั้งยังช่วยในกระบวนการตรวจสอบ เป็นการใช้ระบบ Peer to Peer หรือการตรวจสอบระหว่างคนต่อคนให้ดีขึ้นและเร็วขึ้น สานเสวนาจึงเป็นกระบวนการที่มุ่งสู่เป้าหมายและสร้างประสิทธิภาพได้ด้วย ตอนนี้ดิจิทัลควรจะเข้ามาจัดการ ทำให้กระบวนการนี้ดีขึ้น อย่างเช่น Block Chain เข้ามาทำให้ตรวจสอบได้ดีขึ้นทำให้ลดการใช้ความรู้สึกมากไปในกระบวนการสานเสวนา แต่สิ่งที่ท้าทายคือ New Media ที่เข้าถึงการเป็นส่วนตัว ดังนั้นการสร้างชุมชนขนาดเล็ก และขยายขนาดออกไปผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ค่อนข้างสำคัญ ดังนั้นเจตนารมณ์ที่เป็นภาพใหญ่ของเรื่องคอร์รัปชั่น จึงเป็นเจตนารมณ์ของประสิทธิภาพของระบบ การสานเสวนาเรื่องประสิทธิภาพของระบบ หากถูกทำให้ขยายมากยิ่งขึ้น ย่อมทำให้ทุกคนมองเห็นกันในด้านบวกมากขึ้น และนำสู่การให้ความสำคัญในเรื่องของ Good Governance และมุ่งเป้าไปที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ด้าน

คุณเรอโนด์ เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme - UNDP) กล่าวว่า ความงดงามของ SDGs คือทำให้เกิดกรอบการทำงานร่วมกัน หลังจากประเทศใช้เป็นวาระแห่งชาติ มีการจัดสรรงบประมาณ จัดการด้านต่าง ๆ เพื่อประเทศบรรลุเป้าหมาย 17 ข้อที่ตั้งไว้ ในมุมของการต่อต้านการทุจริต เราต้องมองถึงสิทธิมนุษยชนด้วย การนำเงินมาลงทุนใน 17 ด้านเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ในการที่มีสิทธิในการมีความเท่าเทียมกัน สิทธิในการมีชีวิตที่ดี ชีวิตที่มีความยุติธรรม มีสังคมที่สงบสุข เราจะต้องทำให้คนเห็นว่ารัฐบาลและภาคส่วนต่าง ๆ ทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ประชาชน นี่เป็นเป้าหมาย 17 เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เราสร้างเพื่อโลกของเราให้ดีขึ้น กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อ เงินจำนวนมากที่ใส่เข้าไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ COVID ทำให้เกิดโอกาสในการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทำร่วมกันได้ปรึกษาหารือของแต่ละเมือง เพื่อทำให้ประชาชนได้นำเข้าไปปรึกษาหารือได้มากขึ้น เกิดการตรวจสอบสิ่งนี้ ด้วยการผลักดัน SDGs ในระดับในเมืองต่าง ๆ ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ คือ Smart City ผ่าน SDGs ความสำเร็จของประเทศไทยในเรื่องนี้ คือ ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมจึงทำให้เราจะบรรลุเป้าหมายได้ UNDP ได้ตรวจสอบงบของรัฐ เพื่อให้แน่ใจว่านำเงินไปใช้ประโยชน์ ผ่านแพลตฟอร์มว่าใครจะใช้เงินนี้เท่าไหร่ ซึ่งทุกคนสามารถเข้าผ่านเว็บไซต์นี้ได้ เพื่อจะได้รู้ว่ามีงบอีกเท่าไหร่ที่ภาคเอกชนจะเข้าถึงได้

ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้