คุณศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) ร่วมกับผู้บริหารองค์กรสมาชิก UNGCNT คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และคุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองโมเดลการสร้างธุรกิจคู่ความยั่งยืน เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน บนเวที “TSCN CEO PANEL: “วิสัยทัศน์ 2030: พลังความร่วมมือสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ในงานมหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน Sustainability Expo 2024 (SX 2024) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ณ SX Grand Plenary Hall ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีคุณสุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า เครือซีพีเร่งเดินหน้ายุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนสู่ปี 2030
รวม 15 เป้าหมาย โดยมี 3 เป้าหมายหลัก คือ 1.นำองค์กรสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2030 เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 2.ของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบต้องเป็นศูนย์ (Zero Waste) และ 3.สนับสนุนผู้คน 50 ล้านคน ให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
คุณศุภชัยกล่าวถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า เครือซีพีได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง โดยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้ามาใช้มากขึ้น 17% การนำพลังงานแสงอาทิตย์ ไบโอแมสและไบโอแก๊สมาใช้ รวมไปถึงการส่งเสริมให้พนักงานและคู่ค้าร่วมปลูกป่าลดคาร์บอน ขณะที่การลดก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 เป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยตั้งเป้าหมายร่วมกับคู่ค้าว่าต้องลดคาร์บอนให้ได้ 25% ภายในปี 2030 สิ่งสำคัญคือต้องสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐต้องออกนโยบายและกฎระเบียบข้อบังคับมาส่งเสริมการลดคาร์บอน ผลักดันเรื่องพลังงานสะอาด ดึงนักลงทุน รวมไปถึงศึกษาภาพรวมและผลกระทบการลงทุนด้านพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานทางเลือกที่หลายประเทศนำไปปรับใช้เพื่อลดคาร์บอน
“UN Global Compact ประเมินว่าปัจจุบันความสำเร็จสู่ SDGs 17 ข้อ ก้าวหน้าเพียง 12% การจะไปถึงเป้าหมายความยั่งยืนที่ตั้งไว้เป็นเรื่องที่ยากและท้าทายอย่างมาก ต้องเร่งสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการลดคาร์บอนใน Scope 3 ภาคเอกชนไม่สามารถทำเองได้ แต่ต้องสร้างความร่วมมือตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อนำประเทศไทยสู่ Net Zero สร้างความยั่งยืนในทุกมิติร่วมกัน” คุณศุภชัย กล่าวเน้นย้ำ
ไทยเบฟ: แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมมือ ร่วมสร้างสรรค์ เพื่อโลกที่ยั่งยืน
คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของประเทศไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาว่ามีความคืบหน้าไปมาก พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต้องควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยยกตัวอย่างโครงการสระบุรีแซนด์บอกซ์ของเอสซีจี ซึ่งมุ่งพัฒนาจังหวัดสระบุรีให้เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ เปลี่ยนอุตสาหกรรมซีเมนต์ให้เป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ด้วยการการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปีที่ผ่านมาเอสซีจีมียอดขายปูนซีเมนต์ในประเทศที่เป็นซีเมนต์คาร์บอนต่ำถึง 70% และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 80% ในปีนี้ และ 100% ในปีหน้า ขณะเดียวกันต้องผลักดันมาตรฐานการก่อสร้างของไทยไปสู่การใช้ซีเมนต์คาร์บอนต่ำ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero
อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศไทยจะมีความคืบหน้าเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก แต่คุณธรรมศักดิ์มองว่ายังมีช่องว่างในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนเมื่อเทียบกับประเทศในยุโรป โดยเฉพาะเรื่องการจัดการขยะและการรีไซเคิล ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพ
“ในงาน ESG Symposium 2024 ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนกว่า 3,500 คน มารวมพลังและระดมสมองกัน เสนอให้ไทยมีแผนแม่บทการรีไซเคิล เพื่อผลักดันไปสู่เศรษฐกิจรีไซเคิล ซึ่งจะช่วยสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ ได้ประโยชน์ทั้งบริษัทใหญ่และเล็ก และช่วยลดก๊าซเรือนกระจก” คุณธรรมศักดิ์ ชี้ให้เห็นถึงโอกาสของธุรกิจรีไซเคิลในประเทศไทย
ไทยยูเนี่ยน: เดินหน้าสู่ความยั่งยืนของท้องทะเล
มุ่งสู่เป้าหมาย Healthy Living และ Healthy Oceans
คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยเน้นย้ำถึงวิสัยทัศน์ Healthy Living และ Healthy Oceans ที่มุ่งดูแลสุขภาพของผู้บริโภคและทรัพยากรทางทะเล เพราะความยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดสำหรับไทยยูเนี่ยน โดยเฉพาะหลังจากที่อุตสาหกรรมประมงไทยต้องเผชิญกับปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและการดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานในปี 2014 บริษัทจึงประกาศ 4 พันธกิจ ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่โปร่งใสและรับผิดชอบในทุกขั้นตอน
ในปี 2023 ไทยยูเนี่ยนประกาศกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange 2030 ขยายพันธกิจจากเดิม 4 ข้อ เป็น 11 ข้อ ให้ครอบคลุมทุกมิติของธุรกิจ และทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ขณะเดียวกันคุณธีรพงศ์มองว่าก็เป็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อช่วยเรื่องการประหยัดพลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน โดยยกตัวอย่างโครงการของไทยยูเนี่ยน เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในฟาร์มกุ้ง การปล่อยน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลสู่สาธารณะเป็นศูนย์ (Zero Wastewater Discharge) และของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบต้องเป็นศูนย์ (Zero Landfill Waste)
“ไทยยูเนี่ยนมี 2 เป้าหมาย คือ Healthy Living และ Healthy Oceans ผ่านการส่งมอบโภชนาการที่ดีให้กับผู้คน ควบคู่ไปกับการดูแลท้องทะเล พร้อมสานต่อกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange 2030 ผ่าน 11 พันธกิจ ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการผลิต การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำประมง การดูแลแรงงาน การจัดซื้อจัดจ้างที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยเปลี่ยนโฉมให้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเล และอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน” คุณธีรพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ ที่จะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2030 ขณะที่ปี 2022 ทำได้แค่ 12% และปัจจุบันอยู่ที่ 17% ซึ่งช้ากว่ากำหนดและเหลือเวลาแค่ 6 ปีเท่านั้น จึงถือเป็นความท้าทายที่สำคัญในการผลักดันทุกภาคส่วนให้ร่วมมือ เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนให้สำเร็จ โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)