บันได 6 ขั้นสู่ธุรกิจหมุนเวียน สร้างความยั่งยืนวันนี้ก่อนถูกดิสรัปชั่น

Article


เจ้าของธุรกิจและผู้ประกอบการทุกคน ย่อมอยากเห็นธุรกิจของตัวเองเติบโตหยั่งรากแข็งแรง และผลิดอกออกผลไปสู่อนาคต คำถามคือ “อนาคต” แบบไหนที่เรากำลังเดินหน้าไป 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเกิดขึ้นแล้ว และจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและบริโภคของโลกอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ วิกฤตการณ์ข้าวยากหมากแพงที่เราเผชิญกันอยู่ตอนนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น

และ “ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” คือคำตอบ

เมื่อธุรกิจเปลี่ยนมาดำเนินการด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน กำไรที่แท้จริงไม่ใช่แค่เรื่องรักษ์โลก แต่เป็นความคุ้มค่าและโอกาสในการต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ ท่ามกลางโลกที่ผันผวนในอนาคตอันใกล้ แนวทางแห่งการหมุนเวียนนี้จะไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่คือ “ทางรอด” ของธุรกิจที่ใครลงมือก่อนย่อมได้เปรียบกว่า

อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมา มีเจ้าของธุรกิจและผู้ประกอบการเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ นำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้กับธุรกิจจริงๆ ด้วยแนวคิดที่สนับสนุนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด วางแผนให้ทรัพยากรที่ใช้สามารถคืนสู่สภาพเดิมหรือพร้อมนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งออกแบบรูปแบบการใช้สินค้าใหม่ เช่น เปลี่ยนจากการขายไปเป็นให้เช่า

แค่คิดว่าจะต้องปรับวิธีคิด เปลี่ยนรูปแบบการผลิต รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ให้เป็นไปในแนวทางหมุนเวียน อาจทำให้เจ้าของกิจการส่วนใหญ่คงคิดไม่ตกว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร

GCNT จึงขอนำเสนอบันได 6 ขั้น เพื่อช่วยให้คุณก้าวออกจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมแบบ “นำมา-ผลิต-ทิ้ง” สู่แนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้โลกและธุรกิจของคุณตั้งแต่วันนี้ ก่อนจะถูกดิสรัปชั่นด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและปัจจัยใดๆ ก็ตามในทุกมิติ


บันไดขั้นที่ 1 ตื่น! ธุรกิจของคุณอาจไม่รอด

คนจำนวนมากยังไม่ตระหนักถึงความเร่งด่วนของวิกฤติต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ อาจเพราะผลกระทบยังมาไม่ถึงตัว “ภาวะโลกร้อน” ที่ทำให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” จึงฟังดูไกลตัวราวกับผลกระทบของมันจะไม่มีวันมาถึง

การตระหนักถึงความร้ายแรงของภัยคุกคามนี้ในระดับที่มันเป็นจริงๆ คือสิ่งแรกที่คุณต้องระลึก โดยเฉพาะคนทำธุรกิจ วิกฤติสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้น กำลังเร่งวันคืนแห่งความสมบูรณ์ของทรัพยากรให้หมดสิ้นไป รวมถึงความรุ่งเรืองทางธุรกิจของคุณที่จะจบลงไปพร้อมกัน

ผู้ประกอบการที่อยากเห็นธุรกิจเติบโตไปอีกยาวนาน จึงต้องกลับมา Rethink รื้อวิธีคิดในการทำธุรกิจเสียใหม่ เพราะวิธีการเดิมๆ บนฐานการผลิตเดิมๆ นั้นไม่สามารถทำให้กิจการที่คุณฟูมฟักมา อยู่รอดในโลกยุคนี้ ที่เผชิญวิกฤติรอบด้านได้ระยะยาวอย่างแน่นอน

ตอนนี้ประเทศชั้นนำทั่วโลกกำลังขับเคลื่อนประเด็นนี้กันอย่างเต็มกำลัง ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจส่งออกคงเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านภาษี กฎหมาย ตลอดจนมาตรการทางการค้าต่างๆ กันบ้างแล้ว เช่น 

  • ทวีปยุโรปมีมาตรการ EU Aviation Carbon Tax ซึ่งจะเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซคาร์บอนกับทุกสายการบินที่ลงจอด ณ สนามบินของประเทศที่เป็นสมาชิก EU
  • นอกจากนี้ยังมีมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนสำหรับการนำเข้าสินค้า (Border Carbon Tax Adjustment) 

มาตรการเช่นนี้จะสร้างผลกระทบเป็นพิเศษกับธุรกิจด้านการ “ขนส่ง” ดังนั้นเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ Supplier ผู้ผลิต และภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การแปรรูป การผลิต ไปจนถึงการขายเองก็ต้องปรับตัวตาม Rethink รื้อวิธีคิดในการทำธุรกิจเสียใหม่ ให้กระบวนการทำงานของตัวเองปล่อยคาร์บอนออกมาให้ได้น้อยที่สุด

ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ธุรกิจใหญ่ๆ เริ่มปรับตัวกันอย่างจริงจังแล้ว คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ลงให้กลายเป็นศูนย์ เพราะในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ ทั้งการผลิต ขนส่ง ไปจนถึงการค้าขายล้วนปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัวการภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างมาตรการที่ถูกตั้งขึ้น ต่อจากนี้ทุกๆ ประเทศจะยิ่งเข้มงวดกันยิ่งขึ้น เพราะโลกในตอนนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ (Systematic Change) อย่างเร่งด่วน ทั้งด้านนโยบาย เทคโนโลยีและพฤติกรรม ภาคธุรกิจต่างๆ ก็ต้องช่วยกันดำเนินกิจการอย่างสอดคล้องกับความเป็นไปในปัจจุบัน เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและเพื่อความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจโลกในระยะยาว

ดังนั้นถ้าไม่อยากจ่ายค่าธรรมเนียมแพงๆ ก็ต้องทำความเข้าใจ ตั้งเป้าหมายและเริ่มดำเนินการ “Net Zero” ได้แล้ว


บันไดขั้นที่ 2 เริ่มหมุนเวียนตั้งแต่การออกแบบสินค้า

แม้เศรษฐกิจหมุนเวียนจะพูดถึงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่เป็นวงจรไม่รู้จบ แต่อย่างไรก็ตามการพยายาม Recycle หรือ Upcycle ขยะเหลือทิ้งเป็นสินค้าชิ้นใหม่ คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือการไม่เกิดขยะส่วนเกินที่ไม่จำเป็นเลยตั้งแต่ต้นต่างหาก 

ผู้ประกอบการและนักออกแบบทั้งหลายจึงต้อง Rethink ย้อนกลับไปตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อดูว่าสินค้าของเราได้ “ป้องกัน” และ “ลด” ขยะส่วนเกินที่อาจเกิดขึ้นเหล่านั้นหรือยัง

การออกแบบสินค้า คือ หัวใจของธุรกิจบนฐานแนวคิดหมุนเวียน การออกแบบสินค้าที่ดีควรคำนึงถึงการลดการใช้วัตถุดิบที่มากเกินความจำเป็น แต่ก็ยังคงตอบโจทย์การใช้งานของตัวมันเอง และมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า 

หากคุณสามารถออกแบบสินค้าที่ดีดังนี้ออกมาได้สำเร็จ แน่นอนว่าจะเกิดการ win-win-win ทั้ง 3 ฝ่าย Win ที่ 1 เจ้าของประหยัดต้นทุนในการทำธุรกิจ Win ที่ 2 ลูกค้าได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ Win ที่ 3 ทุกได้ช่วยโลกด้วยการลดผลกระทบที่ธุรกิจสร้างต่อระบบนิเวศ

เจ้าของธุรกิจหลายคนอาจมองว่า การออกแบบสินค้าใหม่เป็นเรื่องยุ่งยากและเห็นผลลัพธ์เม็ดเงินไม่ทันใจ เพราะในขณะที่ธุรกิจมากมายเลือกที่จะใช้วิธี “ลดราคา” เพื่อแข่งขันในตลาด แต่อีกมุมหนึ่ง การลดราคาไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้คุณค่าของแบรนด์ลดลงในระยะยาว

ในทางกลับกัน การใช้การออกแบบสินค้าที่ดี มีคุณภาพ และมีการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ธุรกิจของเรารักษาฐานลูกค้า ครองใจลูกค้า และรักษาโลกใบนี้ให้อยู่กับแบรนด์เรายาวๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ยั่งยืนมากกว่าแน่นอน


บันไดขั้นที่ 3 เปลี่ยนวงจรชีวิตสินค้าให้เป็นวงกลม

ปัจจัยสำคัญในการออกแบบสินค้าเพื่อความยั่งยืน ซึ่งผู้ประกอบการยุคใหม่ที่อยากอยู่รอดต้องนึกถึงคือวงจรชีวิตของสินค้า โดยปกติแล้วสินค้าทั่วไปตามท้องตลาดจะมีวงจรชีวิตแบบเส้นตรง (Take-Make-Waste) ซึ่งเป็นการออกแบบที่ไม่เป็นมิตรกับลูกค้าและสิ่งแวดล้อม

การออกแบบสินค้าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน จะเป็นการออกแบบที่มอบวงจรชีวิตใหม่ให้ผลิตภัณฑ์ของเรา โดยเปลี่ยนจากเส้นทางชีวิตแบบเส้นตรง เป็นวงจรชีวิตแบบวงกลม (Make-Use-Return) 

วิธีการปรับทำได้หลายทาง เช่น เลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพทนทาน ออกแบบสินค้าที่ไม่ตกเทรนด์ง่ายๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์ที่ดี รู้สึกผูกพันธ์กับสินค้า ส่งผลให้สินค้าชิ้นนั้นถูกใช้ซ้ำไปเรื่อยๆ ลดการถลุงทรัพยากรมาใช้ และไม่เพิ่มขยะให้กับโลกนั่นเอง

นอกจากการเลือกที่มาของวัตถุดิบแล้ว การออกแบบโดยคำนึงถึงวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ยังรวมไปถึงการ “นึกถึงที่ไป” ของสินค้าด้วยว่าหลังลูกค้าใช้เสร็จหรือหมดอายุการใช้งานแล้ว สินค้านั้นจะไปที่ไหนต่อ 

ผู้ประกอบการจึงต้องใส่ใจเลือกวัสดุที่นำมาผลิตอย่างระมัดระวังและทำให้แน่ใจว่า เมื่อสินค้าสิ้นสุดอายุการใช้งานแล้ว มันจะสามารถถูกแยกแยะวัสดุออกมาทำประโยชน์อย่างอื่นได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบที่สามารถถอดประกอบออกมาได้ง่าย ใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ หรือวัสดุที่เป็น Technical Materials ที่ต้องนำกลับคืนสู่ระบบ เพื่อให้การนำไปรีไซเคิลนั้นง่ายต่อผู้บริโภค และหน่วยงานที่นำวัสดุเหล่านี้ไปแปรรูปเป็นวัสดุใหม่

สรุปเช็คลิสต์ Rethink การออกแบบสินค้าและบริการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

  • ออกแบบโดยมุ่งเน้นคุณค่าและตอบโจทย์ประโยชน์ของผู้ใช้งานเป็นหลัก
  • ออกแบบสินค้าให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น
  • ออกแบบโดยคำนึงถึงวัสดุที่นำมาใช้ผลิต รู้ที่มาและรู้ที่ไปต่อหลังจากนั้น
  • ออกแบบสินค้าให้สามารถถอดประกอบ และคัดแยกวัสดุได้ง่ายตั้งแต่ต้นทาง

บันไดขั้นที่ 4 ปรับธุรกิจสู่แนวคิด Product as a Service

แม้ผู้ประกอบการจะออกแบบวงจรชีวิตของสินค้าอย่างรอบคอบแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง เราไม่สามารถควบคุมสินค้าของตัวเองได้ ถ้ามันไม่ได้อยู่ในมือของเราอีกต่อไป 

เพราะฉะนั้นเราสามารถเริ่มนึกถึงการสร้างบริการหลังการขายที่จะเอื้อต่อการติดตามสินค้า หรือทำ Tracking System เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าของเรานั้นจะไม่ถูกทิ้งเป็นขยะที่สร้างมลภาวะให้กับโลก 

ด้วยวิธีนี้ เราจะสามารถทำให้สินค้าในธุรกิจหมุนเวียนอยู่ในระบบที่บริหารจัดการได้ แถมยังเป็นโอกาสที่จะทำให้ลูกค้าเวียนกลับมาหาเราเรื่อยๆ เป็นทั้งการเสริมสร้างความสัมพันธ์ และเปิดโอกาสให้แบรนด์สามารถเสนอบริการให้ลูกค้า ต่อยอดการบริการในอนาคตได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ เทรนด์การบริโภคในปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไป ลูกค้ารุ่นใหม่ๆ อาจไม่ได้อยากเป็นเจ้าของสินค้าตลอดไป พวกเขาแค่อยากเข้าถึงและได้ลองใช้สินค้าในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น (Access & Use) เราจึงเห็นการ Rethink เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เบ่งบานขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบการให้เช่าสำหรับใช้ต่อครั้ง หรือเช่ายืมเป็นระยะเวลาหนึ่ง จนถึงบริการซ่อมหลังการขาย (Refurbish) เพื่อให้สินค้าได้รับการอัพเดตฟีเจอร์ใหม่ๆ และถูกใช้อย่างมีคุณภาพต่อไปได้อย่างยาวนานไม่ตกยุค

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาดิสรัปชั่น (Disruption) คือคำถูกหยิบยกมาใช้กันมากในโลกธุรกิจ เพราะภายใต้ความก้าวหน้าและผันผวนของโลกในปัจจุบัน ถ้าไม่จับตาความเป็นไปอย่างใกล้ชิด คุณอาจถูกเทคโนโลยีหรือปัจจัยใดๆ ก็ตามเข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจ และเปลี่ยนอุตสาหกรรมทั้งหมดไปในพริบตา

คนธุรกิจจึงควรทำความเข้าใจเรื่อง “ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก” (Planetary Boundaries) ด้วยว่าโลกของเรายังมีศักยภาพพอเพียงในการรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน และการรักษามาตรฐานความปลอดภัยของโลก เพื่อป้องกันมหันตภัยทางระบบนิเวศที่จะคุกคามชีวิตมนุษย์จะถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางใด

ทำไมประเด็นนี้จึงสำคัญ? เพราะมันคือตัวกำหนดโมเดลในการทำธุรกิจ ตลอดจนทรัพยากรและวิธีการที่เราจะใช้ในการผลิตสินค้าและบริการต่อไปในอนาคต เพื่อบริหารทรัพยากรบนโลกที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น ทั้งหมดคือการทำให้บริการเป็นส่วนหนึ่งของสินค้า (Product-Service Systems หรือ Product as a Service) เพื่อทำให้สินค้าของเรากลับสู่ระบบปิด และต่ออายุให้สินค้าได้นั่นเอง


บันไดขั้นที่ 5 เริ่มประเมิน วัดผล และตรวจสอบธุรกิจของคุณเอง

เพราะการเพิ่มประสิทธิภาพให้ทรัพยากรหรือต้นทุนถูกใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่ยังต่อเนื่องกับผลประกอบการว่าจะทำกำไรได้แค่ไหน ดังนั้นเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการจึงควรตรวจสอบการใช้ทรัพยากรของธุรกิจอยู่เสมอ และนี่คือ 3 กระบวนการที่คุณควรเริ่มลงมือทำ

  • Energy Consumption Analysis 

การวัดผลและตรวจสอบพลังงานที่ถูกใช้ไปในทุกกระบวนการของธุรกิจ เมื่อรู้แล้วว่าปกติในแต่ละกระบวนการใช้พลังงานมากน้อยเพียงใด คุณก็จะสามารถวางแผนการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การลดใช้พลังงานฟอสซิลในไลน์ผลิตสินค้า การเปลี่ยนวิธีขนส่งวัตถุดิบเพื่อลดปริมาณคาร์บอน หรือแม้กระทั่งลดปริมาณของค่าไฟฟ้าของสำนักงานได้

การหมั่นวัดผลและตรวจสอบปริมาณการใช้พลังงานภายในธุรกิจของคุณให้ดี เป็นการประหยัดค่าไฟ ลดต้นทุนการใช้พลังงาน อีกทั้งยังช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจสอดประสานไปกับความเป็นไปของโลก ตลอดจนนโยบายและมาตรการส่งเสริมต่างๆ จากภาครัฐ

นอกจากนี้คุณยังสามารถใช้การวัดผลด้านพลังงานนี้ สร้างความตระหนักเรื่องความยั่งยืนแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนกับลูกค้าได้ด้วย

อย่างในธุรกิจ E-Commerce ซึ่งต้องจัดส่งสินค้ากันอยู่ตลอดเวลา ถ้าคุณสื่อสารอย่างถูกวิธี เปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ด้วยการเลือกรับสินค้าในเวลาที่ช้ากว่าปกติเพียงเล็กน้อย ธุรกิจของคุณมีโอกาสในการสร้างคุณค่าใหม่ๆ สู่เศรษฐกิจหมุนเวียนแบบยั่งยืนได้ ด้วยความร่วมใจกันของผู้ผลิตและผู้บริโภค

  • Material Flow Analysis

การตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบในทุกกระบวนการของธุรกิจ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ที่ชี้ปัญหาได้อย่างชัดเจนว่า มลพิษที่เกิดขึ้นในระบบ เกิดจากแหล่งใดและปริมาณมากน้อยแค่ไหน

ทั้งยังสามารถนําไปกําหนดเทคโนโลยีในการจัดการปัญหานั้นๆ ได้อีกด้วยผ่านการคำนวณมูลค่าความสูญเสีย โดยวัดปริมาณของเสียแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทำธุรกิจของคุณตลอดอายุการใช้งาน เพื่อมุ่งลดการใช้ทรัพยากรและป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียตั้งแต่ต้นทาง เช่น การนําน้ํากลับไปใช้ใหม่ หรือปรับปรุงกระบวนการผลิตในธุรกิจไม่ให้ส่งผลเสียต่อธรรมชาติครับ

  •  Life Cycle Assessment

การประเมินวัฏจักรชีวิตของสินค้า ซึ่งเป็นกระบวนการวิเคราะห์และประเมินค่าผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของสินค้า 

ตั้งแต่การสกัดหรือการได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่งและการแจกจ่าย การใช้งาน การนำมาใช้ใหม่ด้วยการแปรรูป และการจัดการเศษซากของสินค้าหลังการใช้งาน โดยจะมีการระบุถึงปริมาณพลังงานและวัตถุดิบที่ใช้ รวมถึงของเสียที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขอนามัยของชุมชน

การประเมิน วัดผล และตรวจสอบทั้ง 3 รูปแบบด้านบน จะช่วยให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นช่องว่างในการปรับปรุงสินค้าให้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด พร้อมกับใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับบันไดขั้นก่อนหน้าที่ว่าด้วยการออกแบบสินค้าเช่นกัน


บันไดขั้นที่ 6 สื่อสารการเป็นธุรกิจหมุนเวียนกับทุกคน

การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะเป็นการดำเนินการที่ต้องอาศัยพาร์ทเนอร์ และความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคนในองค์กร ผู้บริหาร เพื่อนร่วมงาน คู่ค้า ตลอดจนถึงลูกค้า ดังนั้นคุณต้องผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นภารกิจหลักร่วมกันของทุกๆ คน

  • สื่อสารกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

ผู้ประกอบการที่อยากเริ่มปรับโมเดลมาดำเนินธุรกิจบนแนวคิดนี้ กลุ่มแรกที่คุณจำเป็นจะต้องสื่อสารให้ชัดเจน คือทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัตถุดิบ บริหารการผลิต การจัดเก็บสินค้า กระบวนการจัดส่ง รวมไปถึงลูกค้า และคู่ค้าในการลงทุนทางธุรกิจ

เพื่อทำให้ธุรกิจของคุณเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้ง Supply Chain ได้อย่างแท้จริง ทุกคนที่มีส่วนร่วมในธุรกิจของคุณต้องเข้าใจถึงแนวทางที่ตรงกัน เมื่อทุกคนเข้าใจตรงกัน แล้วความกล้าในการสร้างความเปลี่ยนแปลงจึงจะเกิดขึ้น 

  • สื่อสารถึงแผนการที่ชัดเจน

ต่อมาคือการสื่อสารถึงเส้นทางเดินที่ชัดเจน ในการพัฒนาธุรกิจของคุณให้เป็นธุรกิจหมุนเวียน ผ่านการสร้าง Roadmap ที่สามารถทำได้จริง ชัดเจนแบบ Step-by-Step เพื่อให้ทีมงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการทำงาน สามารถดำเนินการตามได้อย่างแม่นยำ ทุกคนในองค์กรจะได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยขั้นตอนนี้อาจจะลองใช้วิธีต่างๆ ในการสื่อสารผ่านกิจกรรม Townhall, Training หรือ Workshop

  • สื่อสารกับลูกค้าอย่างจริงจัง

สุดท้ายคือการเริ่มสื่อสารกับลูกค้าอย่างจริงจัง เพื่อชี้ให้เห็นถึงความคุ้มค่าที่ลูกค้าจะได้รับหากเลือกใช้สินค้าหรือบริการของคุณ นี่คือการเปิดโอกาสให้ทั้งตัวธุรกิจและลูกค้าได้มีส่วนในการร่วมมือกันสร้างสรรค์วัฒนธรรมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ให้เป็นสิ่งที่ทำกันเป็นปกติหรือ “Norm” 

Rethink ให้กว้างขึ้นว่าการทำธุรกิจเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า มากกว่าการค้าขายเพียงอย่างเดียว และผลิตภัณฑ์ในธุรกิจหมุนเวียนก็ล้วนคุ้มค่าทั้งต่อตัวลูกค้าและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การยัดเยียดด้วยคุณค่าทางราคา แต่เป็นการนำเสนอคุณค่าใหม่ๆ เพื่อสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดก็เพื่อความยั่งยืนในการใช้ชีวิตของทุกคน ตลอดจนความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจและโลกใบนี้

ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้