ปัจจุบันมีหลายบริษัทนำหลักการ “UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP” ด้วยความคาดหวังต่อการแสดงความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ประกอบการของ องค์การสหประชาชาติ ไปใช้กว่ากว่า 170 แห่ง และรายงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการจัดอันดับด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เสริมประสิทธิภาพและสร้างผลกระทบสำหรับภาคเอกชนทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและด้านความยั่งยืน สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าและการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ
4 ส.ค.65 สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง 4 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ก่อตั้ง “สถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” (BHR Academy) เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจในประเด็นด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของชุมชนธุรกิจไทย สร้างเครือข่ายผู้นำจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมธุรกิจและประเด็นด้าน สิทธิมนุษยชน ในประเทศไทย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชน
ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการจัดทำ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ระยะที่ 1 ปี 2562 – 2565 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเน้นในภาคธุรกิจเล็ก กลาง ใหญ่ และ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ซึ่งเป็นในส่วนของภาครัฐ ภาคประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเปราะบาง ผ่านการทำงานในเชิงลึก ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) ทั้งการเข้าถึงท้องถิ่นกว่า 70,000 หมู่บ้าน ใช้วัดเป็นจุดร่วมในการร้องเรียน ไกล่เกลี่ย และจัดทำ คู่มือสิทธิมนุษยชนศึกษา กระจายผ่านโรงเรียนทั้งประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ด้วยเป้าหมายที่ต้องการให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนลดลง
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งทำงานกับภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัย สร้างพื้นฐาน 12 แห่ง เรียกว่า “ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค” ที่ผ่านมามีการต่อยอดในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง อาทิ ม.บูรพา ที่พัฒนาต่อในการนำหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ไปเป็นหลักสูตรขยายผล รวมถึงมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็มีความสนใจในการขยายเช่นกัน
สำหรับ “คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์” (กลต.) ฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่มีพันธกิจในการในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทย ในการมุ่งเน้นสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสพัฒนาตลาดทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืน และพัฒนาภาคธุรกิจสามารถระดมทุนและประกอบธุรกิจได้อย่างมีธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมา กลต. ได้ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ ได้ส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ ส่งเสริม สนับสนุน องค์ความรู้ให้แก่บริษัทจดทะเบียน และผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนให้ตะหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ถัดมาคือการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ซึ่งร่วมถึงบริษัทจดทะเบียน หรือ แบบ 56-1 One Report เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูล ESG ซึ่งครอบคลุม ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนด้วย มีผลใช้บังคับ ในปี 2565 เป็นปีแรก พร้อมร่วมมือกับ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย เป็นไปตามกรอบคณะทำงานจัดทำหลักสูตรอบรมธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่มีการลงนาม MOU ในวันนี้ด้วย
ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) เปิดเเผยว่า ปัจจุบัน GCNT มีสมาชิกกว่า 100 องค์กร พันธกิจสำคัญในการผลักดันให้เกิดเครือข่ายเอกชนที่ทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ สอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติในการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG ทั้ง 17 ข้อ และสอดคล้องกับหลักสากล 10 ประการ ของ UN Global Compact ซึ่งครอบคลุม 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และต่อต้านการทุจริต
การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสมควรกระทำตามหลักการดำเนินธุรกิจอย่างมีบรรษัทภิบาลแล้ว ยังจะช่วยให้องค์กรธุรกิจได้รับการยอมรับ ลดความเสี่ยงทางด้านการปฏิบัติการ ด้านชื่อเสียง และกฎหมาย และเปิดโอกาสเข้าถึงตลาด บุคลากร และแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจด้านสิทธิมนุษยชน ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของแต่ละบริษัท การประเมินความเสี่ยง และกำหนดมาตรการลดความเสี่ยง และการแก้ไขเยียวยา การติดตามประเมินผล ดำเนินงาน เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และสอดคล้องกับสากล เช่น หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ในการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ของไทยที่กำลังจะเข้าสู่ระยะที่ 2
“GCNT ต้องสานต่อเจตนารมณ์ป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ที่เป็นข้อต่อสำคัญ ในห่วงโซ่อุปทานของภาคเอกชน สถาบันธุรกิจและสิทธิมนุษยชน จะตอบโจทย์ความท้าท้าทาย เพื่อให้ประเด็นสิทธิมนุษยชน ไม่เป็นเรื่องไกลตัวของภาคธุรกิจอีกต่อไป และมุ่งมั่นให้สถาบันดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการอบรมในเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย”
ขอขอบคุณที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/social/social_environment/1019198