Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพที่ไทยได้เปรียบกว่าใครในโลก

Article


เป็นเวลาหลายศตวรรษนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่โลกขับเคลื่อนด้วยพลังงานฟอสซิล ซึ่งไม่เพียงสร้างความเฟื่องฟูด้านเศรษฐกิจ แต่ยังนำมาซึ่งมลพิษและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล จนเกิดเป็นสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระดับที่จะสร้างหายนะให้คนรุ่นต่อไป

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจชีวภาพหรือ Bio Economy เป็นกระแสที่ทั่วโลกต่างพูดถึงมากที่สุด เมื่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป การร่อยหรอลงของทรัพยากร ประกอบกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงบริบทอื่นๆ เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ตลอดจนพลังงานและทรัพยากรที่เพียงพอต่อการสร้างพลวัตขับเคลื่อนโลกสู่อนาคตอันยั่งยืน

เศรษฐกิจชีวภาพจะช่วยแก้ปมปัญหาของโลกได้อย่างไร?

ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในสมการเศรษฐกิจใหม่แห่งความหวัง?

และผู้ประกอบการไทยพร้อมแค่ไหน ที่จะกระโจนเข้าสู่สนามแข่งใหม่นี้?

GCNT ชวนคุณทำความเข้าใจความสำคัญของเศรษฐกิจชีวภาพ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ในการผลิตและบริโภค ซึ่งมีศักยภาพอย่างมากต่อการสร้างเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด โดยหัวใจที่ทุกคนจำเป็นต้องรู้เดี๋ยวนี้เกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ คือ ประเทศไทยนั้นได้เปรียบกว่าใครในโลก


แก้ปมปัญหาของโลก

เพราะโมเดลเศรษฐกิจเดิมของโลกทำให้ทรัพยากรถูกนำมาผลิตและบริโภคอย่างสิ้นเปลือง เป็นการใช้เพียงครั้งเดียวแล้วหมดไป ทั้งยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจำพวกถ่านหินและน้ำมันเป็นหลักในการขับเคลื่อน ทรัพยากรและพลังงานจึงถูกเผาผลาญและหมดไปอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ศตวรรษ เมื่อเวลาผ่านไปมนุษยชาติจึงตระหนักได้ว่า หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป โลกคงไม่เหลือต้นทุนและทรัพยากรธรรมชาติใดไว้ให้คนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนชีวิต

หนึ่งในกุญแจที่จะแก้ปมซึ่งคนรุ่นก่อนผูกเงื่อนตายเอาไว้ คือ โมเดลใหม่ที่เรียกว่าเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งมุ่งเน้นการนำทรัพยากรชีวภาพไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ จุลินทรีย์ ตลอดจนวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรม มาต่อยอดพัฒนาให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-Based Product) ผ่านการใช้เทคโนโลยีและการวิจัยอย่างยั่งยืน

อธิบายให้เห็นภาพ Bio Economy คือ การเปลี่ยนจากเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรม มาสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมนั่นเอง อย่างประเทศไทยในอดีต ที่เน้นส่งออกผลผลิตทางการเกษตร โดยมุ่งเป้าไปที่ปริมาณเป็นหลักว่าจะต้องติดอันดับโลก ส่งออกมันสำปะหลัง ข้าว ยางพารา อ้อย ปลูกได้ผลอย่างไรก็ขายอย่างนั้นปราศจากการพลิกแพลงใดๆ 

เกษตรกรรมดั้งเดิมลักษณะนี้ แม้จะเคยทำรายได้ให้ประเทศเป็นกอบเป็นกำ แต่ในปัจจุบันที่สภาพแวดล้อมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ยิ่งทำก็เหมือนยิ่งสร้างความบอบช้ำให้พื้นที่ และยิ่งถลุงทรัพยากรให้ร่อยหรอลง หนำซ้ำผลผลิตที่ได้ยังไร้มูลค่าเพิ่ม เมื่อต้นทุนในการผลิต ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้นทุกวัน แต่ราคาขายของสินค้ายังเท่าเดิม เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจึงติดอยู่ในกับดักวังวนนี้

เศรษฐกิจชีวภาพเน้นสร้างห่วงโซ่การผลิตที่เพิ่มมูลค่า (Value Chain) เมื่อขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จากมันสำปะหลังและอ้อยราคากิโลกรัมละไม่กี่บาท สามารถพัฒนาเป็นพลังงานทางเลือกที่ลดการปล่อยคาร์บอนและแข่งขันได้ อย่างเอทานอลและพลังงานไฟฟ้าชีวมวล ตลอดจนแปรรูปเป็นพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ หรือใช้เป็นวัตถุดิบผสมในอาหารสัตว์ เพื่อให้ได้โปรตีนจากธรรมชาติแทนการใช้สารเคมี และอีกหลายอุตสาหกรรมใหม่ที่ปัจจุบันเกิดการลงทุนค้นคว้าทำงานวิจัยกันอย่างคึกคักทั่วโลก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเปลี่ยนโฉมหน้าวัฏจักรแห่งฤดูกาลและเกษตรกรรมไปตลอดกาล และเศรษฐกิจชีวภาพไม่เพียงพัฒนาผลผลิตเกษตรต้นน้ำ ให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง  แต่กระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่ทั้งหมด คือ เครื่องมือเยียวยาและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม ให้มนุษยชาติยังคงขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคต่อไปได้อย่างยั่งยืน


เศรษฐกิจแห่งความหวังของไทย

ในเมื่อทั่วโลกต่างจับตาและกำลังเดินหน้าสู่เศรษฐกิจชีวภาพกันอย่างเต็มกำลัง แล้วประเทศไทยอยู่ตรงไหนในสมการเศรษฐกิจใหม่แห่งความหวังนี้

ทรัพยากรชีวภาพ คือ ต้นทุนพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity-Based Economy) และไทยนับเป็นประเทศต้นๆ ของโลกที่เฟื่องฟูไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Hotspot) ไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณมากกว่า 13,500 ชนิด นกและและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 1,000 ชนิด ปลา 2,800 ชนิด จุลินทรีย์ 150,000 ชนิด สาหร่าย 5,000 ชนิด ตลอดจนแมลงมากกว่า 100,000 ชนิด 

สปีชีส์สิ่งมีชีวิตประมาณ 10% ของโลก ล้วนอยู่ในไทย ด้วยตำแหน่งที่ตั้งใกล้เขตศูนย์สูตร ปัจจัยที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ต่างๆ จึงอุดมสมบูรณ์กว่าพื้นที่อื่นๆ ทั้งดิน น้ำ และแร่ธาตุต่างๆ รวมถึงปริมาณแสงแดดตลอดทั้งปี 

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนธรรมชาติทรงคุณค่า ทรัพย์สินที่ประเมินมูลค่าไม่ได้เหล่านี้ถูกเผาผลาญไปมหาศาล ในระบบเศรษฐกิจดั้งเดิมตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา หากเรายังไม่ปักหมุดสร้างความเปลี่ยนแปลงวันนี้ วลีที่กล่าวถึง ‘ทรัพย์ในดินสินในน้ำ’ หรือ ‘ในน้ำมีปลาในนามีข้าว’ คงเหลือเป็นเพียงเรื่องเล่าขานของคนไทยเจเนอเรชั่นถัดไป

ภัยคุกคามชีวภาพ คือ วิกฤติที่รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักเป็นอย่างดี เราจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ตื่นตัวเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพมากที่สุด จากการกำหนดนโยบายเพื่อผลักดันประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานคุณค่า (Value Based Economy) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากที่พึ่งพิงการผลิตแบบดั้งเดิม (1.0) อุตสาหกรรมเบา (2.0) อุตสาหกรรมหนัก (3.0) มาสู่อุตสาหกรรมที่สร้างคุณค่าและตรงกับความต้องการของตลาด โดยอาศัยเทคโนโลยีนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ประกอบกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศ

อุตสาหกรรมของประเทศที่ถูกขับเคลื่อนด้วยคุณค่า สร้างสินค้าที่มีมูลค่าสูง ซึ่งเชื่อมโยงต่อไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร ตำแหน่งการจ้างงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงพัฒนาการของแรงงานไทยที่มีทักษะความรู้และความเชี่ยวชาญสูง และในภาพที่ใหญ่ที่สุดคือความยั่งยืนของเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม


อุตสาหกรรมแห่งคุณค่าและมูลค่า

สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2015 ถึง 2025 อุตสาหกรรมชีวภาพในตลาดโลกจะเติบโตเฉลี่ยถึง 13.8% ต่อปี โดยสามารถแบ่งรูปแบบของอุตสาหกรรมได้เป็น 3 กลุ่มคือ 

  • กลุ่มเกษตรกรรมและอาหาร (Food Agriculture และ Food Biotechnology) ตั้งแต่การสร้างพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่มีความหลากหลาย การปรับปรุงกระบวนการผลิตแบบใหม่ ไปจนถึงการคิดค้นอาหารที่ผลิตจากแหล่งโปรตีนทดแทน เช่น โปรตีนจากสาหร่ายและแมลง 
  • กลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร (Non Food) เช่นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ ที่ย่อยสลายได้ ตลอดจนชีวเภสัชภัณฑ์หรือยาชีวภาพที่สร้างขึ้นจากสิ่งมีชีวิต
  • กลุ่มพลังงาน (Biomaterial หรือ Energy) ด้วยการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือกากจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตร ไปผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพหรือไบโอเอทานอล 

เศรษฐกิจชีวภาพนั้นเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยตรง เพราะมีหัวใจเดียวกันคือมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจนครบวงจร ตั้งแต่ในภาคการผลิต การบริโภค จนถึงการจัดการหลังบริโภค ทรัพยากรทุกส่วนในห่วงโซ่อุปทานจะถูกหมุนเวียนเพื่อเพิ่มมูลค่าและการใช้งาน โดยอาศัยเทคโนโลยีล้ำสมัยมาช่วยพลิกแพลง เมื่อทรัพยากรถูกใช้น้อยลง มลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมก็น้อยลงตามไปด้วย

จึงกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจชีวภาพไม่เพียงสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ในการผลิตและบริโภค ซึ่งมีศักยภาพต่อการสร้างเศรษฐกิจเท่านั้น แต่คือกุญแจสำคัญในการเยียวยาสิ่งแวดล้อม ชะลอวิกฤติสภาพภูมิอากาศ รวมถึงต่อเติมประสิทธิภาพการผลิตอาหาร ความสมบูรณ์ของทรัพยากรและพลังงาน ให้กลับมามั่นคงอีกครั้ง 


กระโจนสู่การเปลี่ยนแปลง

ตามที่กล่าวไปข้างต้นถึงความได้เปรียบของประเทศไทย ซึ่งมีต้นทุนชีวภาพสมบูรณ์พรั่งพร้อมต่อการขยับตัวสู่เศรษฐกิจชีวภาพ แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะเส้นทางขับเคลื่อนเพื่อผลลัพธ์อันยั่งยืน นั้นต้องประกอบไปด้วยวิสัยทัศน์ การพัฒนาและการทำงานสอดประสานกันของหลายภาคส่วน ทั้งยังต้องทลายข้อจำกัดด้านการลงทุน และการวิจัยเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์

เพื่อสร้างพลวัตของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจชีวภาพ ในการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี จาก 2017 สู่ 2036 รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญเร่งด่วนในการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาคนรุ่นใหม่ และการปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด จึงได้กำหนดกรอบการพัฒนาบนพื้นฐานของการต่อยอดทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย และความได้เปรียบของประเทศไทย ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีสร้างคุณค่าใหม่สู่อนาคต 

โดยยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ได้ถูกถ่ายทอดมาเป็นร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะถูกนำมาใช้ระหว่างปี 2023 ถึง 2027 ซึ่งให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ผ่านการกำหนดไว้ในหลากหลายยุทธศาสตร์ เช่น

กลยุทธ์ที่ 1 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า เพื่อให้เกิดการยกระดับกระบวนการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่ม 

กลยุทธ์ที่ 2 การส่งเสริมการผลิตและการขยายตัวของตลาด ของสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ ผลผลิตเกษตรปลอดภัย สมุนไพรแปรรูป อาหารทางการแพทย์ อาหารทางเลือก อาหาร ฟังก์ชัน พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ โปรตีนจากพืชและแมลง

กลยุทธ์ที่ 3 การขยายผลรูปแบบเกษตรยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีมูลค่าเพิ่มสูงจากแบบอย่าง ความสำเร็จในประเทศ เช่น เกษตรตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เกษตรปลอดภัย วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยวเกษตร ประมงพื้นบ้าน การทำประมงถูกกฎหมาย และการปฏิบัติต่อแรงงานที่ถูกต้อง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีนโยบายการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติเช่นกัน BCG ประกอบไปด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ได้อธิบายถึงความสำคัญไปแล้วเบื้องต้น และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นรูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่ไปด้วยกันอย่างยั่งยืน  เช่น การใช้พลังงานสะอาดผลิตไฟฟ้าแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล 

ผลจากการผลักดัน BCG เป็นวาระแห่งชาติ ทำให้เราเห็นการขยับตัวของหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ เพื่อดำเนินนโยบายขับเคลื่อน ทั้งการส่งเสริมการลงทุนและผลักดันการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการวิจัยเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ภาคการศึกษาและภาคเอกชนต่างกระโจนเข้าร่วมเส้นทางขับเคลื่อน BCG กันถ้วนหน้า

ต้นทุนชีวภาพที่ประเมินค่าไม่ได้ หากถูกผลักดันไปอย่างถูกทิศทาง หมุดหมายปลายทางที่รัฐบาลไทยหมายมั่น คือการเป็นศูนย์อุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (Bio-Hub) พ่วงด้วยการเป็นผู้นำด้านการผลิตและการค้าอาหารโลกของประเทศไทย สู่เศรษฐกิจใหม่ที่การพัฒนาทุกมิติเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน

__

ข้อมูลอ้างอิง

https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2019/20190318-book-green-economy.pdf

http://www.tpso.moc.go.th/sites/default/files/1._paper-bio_economy.pdf

https://www.nesdc.go.th/download/document/Yearend/2021/plan13.pdf

https://thaipublica.org/2020/10/exim-report-bcg-business-model-in-new-normal/

https://thaipublica.org/2016/05/green-economy-prapimphan/

ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้