บริหารจัดการน้ำในองค์กรอย่างคุ้มค่า “ไม่ทิ้งน้ำ”
เพราะน้ำคือหัวใจสำคัญของกลุ่มธุรกิจ TCP การดูแลทรัพยากรน้ำจึงอยู่ในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ ด้วยระบบบริหารจัดการน้ำต่างๆ ที่ช่วยให้การผลิตเครื่องดื่มสามารถใช้น้ำอย่างคุ้มค่าในทุกขั้นตอนการผลิต มีการนำน้ำมาบำบัด และหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่ปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอกโรงงาน
จัดการน้ำร่วมกับชุมชน ฟื้นคืนน้ำให้ชุมชนและธรรมชาติ
กลุ่มธุรกิจ TCP ได้จับมือกับพันธมิตรและชุมชน เดินหน้าสร้างสมดุลน้ำ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทุกมิติ ทั้งการพัฒนาน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ในโครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยการส่งเสริมชุมชนให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำด้วยตนเอง “หาน้ำได้ ใช้น้ำเป็น ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เพื่อบรรเทาผลกระทบในช่วงน้ำท่วม น้ำแล้ง พัฒนาแหล่งน้ำให้ชุมชนมีน้ำใช้เพิ่มขึ้น รวมถึงคืนน้ำสู่ธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ด้านอาหาร และด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมีตัวอย่างการดำเนินงาน ดังนี้
1. ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.)
ดำเนินงานในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การนำระบบเทคโนโลยี Thaiwater Mobile Application ระบบแบบจำลองการไหลของน้ำ ระบบติดตาม/คาดการณ์สถานการณ์น้ำ มาใช้ในชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง เพิ่มน้ำต้นทุน มีน้ำสำรองสำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตร วางแผนเพาะปลูก สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน
ปัจจุบันมีพื้นที่การทำงานครอบคลุม 21 จังหวัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำบางปะกง และสระ/อ่างเก็บน้ำ พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 104,538 ไร่ ผู้รับประโยชน์ 40,819 ครัวเรือน ปริมาณน้ำรวมที่สามารถบริหารจัดการต่อปี 13,619,811 ลูกบาศก์เมตร
ตัวอย่างผลสำเร็จ เช่น จังหวัดแพร่ ชุมชนมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 341,000 ลบ.ม. และสามารถบริหารจัดการน้ำได้มากสุดถึง 6 รอบต่อปี สร้างรายได้ให้เกษตรกร 8,000-15,000 บาทต่อเดือน มีน้ำสำหรับทำเกษตร เกิดระบบ Smart Farmer กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านผักยิ้ม มีความมั่นคงด้านอาหาร สามารถวางแผนการผลิตในแต่ละปี เกิดศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนในภาวะวิกฤต
2. ร่วมกับสถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินงานในโครงการพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการเติมน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ทำการศึกษา วิจัย ประเมินศักยภาพของพื้นที่ และให้ความรู้แก่ชุมชนในเรื่องน้ำใต้ดิน เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม คือ ชุมชนต้นแบบการเติมน้ำใต้ดิน ต.นนทรี อ.กบินท์บุรี สามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งได้อย่างเป็นรูปธรรม ชุมชนมีน้ำใช้เพียงพอทั้งอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร มีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น 7,576,640 บาทต่อปี ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน SROI คือ 1 ต่อ 17.09 บาท (ปี 2565) ต่อยอดเศรษฐกิจ สร้างจุดขายให้ชุมชน เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
3. ร่วมกับองค์การกองทุุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature; WWF) เพิ่มศักยภาพชุมชนในการอนุุรักษ์ ฟื้นฟูู บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระบบจัดสรรน้ำสู่พื้นที่เกษตรกรรม และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเพียงพอต่อการดำรงชีพในพื้นที่แม่น้ำปราจีนบุรีตอนล่าง ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ผ่านการขุดลอกคูคลองปรับปรุงระบบคลองส่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรม ร่วมกับชุมชนและภาครัฐกำจัดวัชพืชในคลอง ทำให้การไหลของน้ำเข้าพื้นที่ทำกินของเกษตรกรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นสุทธิ 551,383.6 ลบ.ม. มีพื้นที่นาที่ได้รับประโยชน์ 9,018 ไร่ คิดเป็น 66% ของพื้นที่นาทั้งหมด เกษตรกรได้รับประโยชน์ 993 ครัวเรือน คิดเป็น 65% ของครัวเรือนทั้งหมดใน 13 หมู่บ้านเป้าหมาย ต.บางแตน
“TCP Spirit” สร้างคนรุ่นใหม่ร่วมดูแลแหล่งน้ำ
จากโครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” จุดประกายไปสู่การสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นกับคนทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นพลังสำคัญร่วมดูแลทรัพยากรน้ำ ผ่านการจัดโครงการ “TCP Spirit” ภายใต้แนวคิด “พยาบาลลุ่มน้ำ” (ปี 2562 และ 2563) โดยนำเยาวชนอาสาสมัครทั้งนิสิตนักศึกษาจนถึงหนุ่มสาวคนทำงานจากหลากหลายสาขาอาชีพกว่า 200 คนไปเปิดประสบการณ์ เรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ของป่าและน้ำ สร้างความตระหนักรู้ เข้าใจปัญหาลุ่มน้ำจากคนในพื้นที่และเรียนรู้วิธีการจัดการน้ำและการจัดการที่ดินตามวิถีของแต่ละลุ่มน้ำ รวมทั้งร่วมลงมือทำงานแก้ปัญหา อันจะนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนต่อไปได้
ตัวอย่างเช่น ปี 2562 พาอาสาสมัครไปทำความเข้าใจปัญหาลุ่มน้ำไทยที่พื้นที่ป่าต้นน้ำสบสาย และชุมชนต้นน้ำน่าน ใน อ.ท่าวังผา จ.น่าน ซึ่งในอดีตมีปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ป่าต้นน้ำจนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น และพบสารเคมีจากการเกษตรปนเปื้อนในแหล่งน้ำเป็นจำนวนมาก อาสาสมัครได้เห็นการแก้ปัญหาในพื้นที่จริง รู้จักวิธีการดูแลลุ่มน้ำที่ดี และมีความรู้เรื่องการกักเก็บน้ำสำรองใช้เพื่อการยังชีพและทำการเกษตร ผ่านการลงมือทำจริงกับคนในชุมชน เช่น การทำแท็งก์น้ำไม้ไผ่ขนาดใหญ่สำหรับใช้เก็บน้ำฝน การขุดคลองไส้ไก่ซึ่งเป็นคลองขนาดเล็กที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผืนดิน การทำหนองปลาโตไว คือการขุดหนองน้ำเลียนแบบหนองน้ำตามธรรมชาติที่ช่วยเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี เรียนรู้วิธีทำหัวคันนากินได้ หัวคันนาขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับเก็บน้ำในนาและปลูกพืชผักกินได้และใช้ประโยชน์
องค์กรธุรกิจต้องมีกลยุทธ์เรื่องการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนฝังลงไปเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ธุรกิจ และมีกรอบการดำเนินการที่ชัดเจน ครอบคลุมการลดการใช้และใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายในองค์กร รวมทั้งการทำงานร่วมกับชุมชน องค์กร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก เพื่อฟื้นคืนน้ำให้กับธรรมชาติ โดยการดำเนินงานดังกล่าวจะต้องสอดคล้องตามมาตรฐานสากล และมีกระบวนการยืนยันที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ เพื่อบรรลุหนึ่งในเป้าหมายธุรกิจ Net Water Positive ภายในปี พ.ศ. 2573 และสามารถสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรน้ำได้อย่างแท้จริง