ที่ผ่านมามนุษย์วัดผลสำเร็จของความเจริญก้าวหน้าจากตัวเลขที่ “เพิ่มขึ้น” แต่เมื่อพูดถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความอยู่รอดของลูกหลานรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต คำว่า Net Zero คือคำที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง และทำให้เราต้องวัดผลสำเร็จจากตัวเลขที่ “ลดลง”
ทุกๆ กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ล้วนปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกสูงขึ้น เมื่อโลกร้อนขึ้น วัฏจักรตามธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะภูมิอากาศก็ปั่นป่วน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ยิ่งภัยธรรมชาติรุนแรงมากขึ้นเท่าใด มนุษย์ก็ยิ่งดำรงชีวิตได้ยากขึ้นเท่านั้น
และนั่นคือเหตุผลที่เราต้องเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต การดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการทำกิจกรรมต่างๆ กันใหม่ เพื่อให้ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมานั้น ลดลงจนเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) อาจฟังดูยากและไกลตัว แต่ทุกวันนี้ ในประเทศไทยมีกลุ่มคน ตลอดจนองค์กรมากมายกำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่อย่างแข็งขัน
GCNT สนทนากับ คุณขวัญ-ธิดาขวัญ พรรณนราวงศ์ Senior Consultant สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ถึงความท้าทายในการทำงานผลักดันปฏิบัติการสู่ Net Zero รวมถึงผลลัพธ์การลดก๊าซเรือนกระจกที่เริ่มปรากฏชัดเป็นต้นแบบให้องค์กรอื่นๆ นำไปปฏิบัติตามได้ และแม้จะไม่ใช่องค์กรใหญ่โต ก็สามารถนำบทเรียนเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน เพราะ Net Zero คือภารกิจของเราทุกคน
01 การแข่งขันให้ถึงศูนย์
“ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจ เราตระหนักดีว่าตลอดห่วงโซ่อุปทานเกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อน มันจึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเศรษฐกิจ ผู้คน และโลกต้องเติบโตอย่างค้ำจุนกันเท่านั้น จึงจะสร้างความก้าวหน้าที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้”
คุณขวัญอธิบายว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ประกาศความมุ่งมั่นว่าจะเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 และจะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 แม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าท้าย แต่ในฐานะคนทำงาน คุณขวัญบอกว่ามันเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ เพราะทั้งองค์กรมีการวางยุทธศาสตร์อย่างถี่ถ้วน เพื่อให้ทั้งเครือฯเคลื่อนขบวนไปพร้อมกัน
เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังเข้าร่วมในโครงการ Race to Zero ที่ UN Global Compact ริเริ่มขึ้น เพื่อชักชวน ธุรกิจทั่วโลกให้มาแข่งขันกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ถึงศูนย์ โดยกำหนดเป้าหมายลด ตามหลักการวิทยาศาสตร์ (Science-based Target) ที่วัดผลได้จริง
คุณขวัญบอกว่า ที่ผ่านมาเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก และรายงานเป็นตัวเลขผ่านรายงานความยั่งยืนประจำปีอย่างเคร่งครัด
“ความท้าทายของการทำงานในส่วนนี้ คือ ความหลากหลายของธุรกิจในเครือฯ ที่แต่ละส่วนก็มีรูปแบบและต้องใช้การวัดผลที่แตกต่างกันออกไป และเมื่อได้ข้อมูลด้านความยั่งยืนมาแล้ว ทุกๆ ปีก็จะมีหน่วยงาน ซึ่งเป็นบุคคลที่สามเข้ามาตรวจสอบรับรองข้อมูลเหล่านั้นด้วย”
02 ลดก๊าซเรือนกระจกด้วยเทคโนโลยี
ทุกวันนี้ ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดห่วงโซ่อุปทานของเครือเจริญโภคภัณฑ์อยู่ที่ประมาณ 63 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายที่วางไว้ เครือฯ ได้จัดทำแผนดำเนินงาน 6 แนวทางที่สำคัญ โดยเน้นไปที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ที่จะช่วยให้ยังสามารถผลิตสินค้าเพื่อผู้คนได้เช่นเดิม แต่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง
“เริ่มจากการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ปัจจุบัน เรามีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 12 เปอร์เซ็นต์แล้ว โดยเฉพาะการใช้โซลาร์เซลล์และพลังงานชีวมวล เพื่อทดแทนการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล นอกจากนี้ เรายังปฏิรูปการใช้พลังงานใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ให้มีการสูญเสียพลังงานเกินกว่าที่จำเป็น โดยในปีที่ผ่านมา เราประหยัดพลังงานได้กว่า 700,000 กิกะจูล”
“ในส่วนของการจัดการของเสีย ทุกวันนี้ของเสีย 90 เปอร์เซ็นต์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการของเราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ถูกนำไปทำก๊าซชีวภาพหรือหมักเป็นปุ๋ย เราพัฒนาระบบขนส่งและกระจายสินค้า โดยเปลี่ยนมาใช้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า รวมถึงการขนส่งที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และยังสนับสนุนการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับพนักงานและผู้มาติดต่อด้วย”
คุณขวัญเล่าว่า ตอนนี้พวกเขากำลังพัฒนาระบบ Smart Farming ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นต้นทางของวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง ทั้งยังมีการฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ตั้งเป้าหมายในการปลูกต้นไม้ไว้ว่าจะปลูกเพิ่มให้ได้จำนวน 20 ล้านต้นภายในปี 2025
03 หัวใจสู่ความเปลี่ยนแปลงคือผู้คน
แม้เทคโนโลยีจะเป็นกลไกสำคัญต่อการลดก๊าซเรือนกระจก แต่อีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือผู้คนที่ขับเคลื่อนกลไกเหล่านั้น คุณขวัญเล่าว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจ เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานทุกคนรู้ว่าเรากำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไปเพื่อใคร บทบาทหน้าที่ของแต่ละคนจะช่วยบรรเทาปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร เมื่อทุกคนเข้าใจ ก็จะเกิดแรงขับเคลื่อนจากภายใน ไม่ใช่ทำเพียงเพราะได้รับคำสั่งมาเท่านั้น
“เราก่อตั้งโครงการ We Grow ปลูกเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้พนักงานจากหน่วยต่างๆ ได้ร่วมกันปลูกไม้ยืนต้น ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญ จริงจังถึงขั้นมีการบันทึกผลการปลูกต้นไม้ผ่านทางแอปพลิเคชันกันเลย อีกหนึ่งโครงการคือ Say No to Plastic Bottles ที่ติดตั้งเครื่องผลิตน้ำดื่มคุณภาพสูงภายในอาคารสำนักงาน เพื่อให้พนักงานนำขวดส่วนตัวมาเติมน้ำสะอาดสำหรับดื่มได้ ทดแทนการใช้ขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
“ทุกวันนี้ พูดได้เลยว่าพนักงานแต่ละคนมีความตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนขึ้นมาก ทุกคนรู้ว่าความยั่งยืนคือส่วนสำคัญของธุรกิจ เข้าใจว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จในระยะยาวได้ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นเรื่องสำคัญของคนทั้งโลกในตอนนี้” คุณขวัญกล่าวอย่างกระตือรือร้น
04 เราทำอะไรได้บ้าง?
เมื่อมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง คุณขวัญบอกว่าการทำงานด้านความยั่งยืนโดยตรง ทำให้เธอตระหนักเรื่องความยั่งยืนในทุกๆ กิจกรรมของชีวิตไปโดยปริยาย
คุณขวัญเล่ายิ้มๆ ว่า “เวลาไปซื้อของ ไม่ใช่แค่พกถุงผ้าไปซูเปอร์มาเก็ต แต่เราอ่านฉลากสินค้าทุกอย่าง สินค้านั้นๆ มีฉลากสิ่งแวดล้อม หรือฉลากบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนหรือเปล่า เพื่อให้แน่ใจว่าเราได้สนับสนุนแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าพฤติกรรมนี้ส่งต่อไปยังคนรอบข้าง ที่เราได้นำความรู้ไปบอกเล่าให้ฟังด้วย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อนๆ เรารู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานด้านความยั่งยืน เป็นส่วนเล็กๆ ที่ได้ช่วยเหลือโลกให้น่าอยู่มากขึ้น“
ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป การที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เกิดภัยแล้ง น้ำท่วม หรือการผกผันของฤดูกาล ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน เกิดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ และเกิดผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์หรือผลผลิตทางการเกษตรที่ต่ำลง เพราะฉะนั้นเราทุกคนควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คุณขวัญกล่าวทิ้งท้ายว่า “ถ้าไม่รู้จะลดก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวันได้ยังไง เริ่มง่ายๆ ที่ 5R คือ Reduce ลดใช้สินค้าไม่จำเป็น เช่น ถุงพลาสติก Reuse ใช้ของซ้ำๆ จนกว่าจะหมดสภาพการใช้งาน Recycle รู้จักคัดแยกขยะเพื่อง่ายต่อการนำไปรีไซเคิลใหม่ Repair ลองซ่อมแซมสิ่งของก่อนตัดสินใจทิ้ง และสุดท้าย Rejectงดใช้สินค้าที่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม”