เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา โลกถูกกระตุ้นเตือนเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังย่ำแย่อีกครั้ง เมื่อองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO (World Meteorological Organisation) เปิดเผยรายการฉบับล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่า 7 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่เคยมีการบันทึกมา และในเวลา 5 ปีนับจากนี้ มีโอกาส 50:50 ที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะสูงขึ้นชั่วคราวถึง 1.5 องศา จากยุคก่อนอุตสาหกรรม โดยยิ่งเวลาผ่านไป แนวโน้มนี้จะเข้าใกล้ความเป็นจริงขึ้นทุกที
แม้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภาคส่วนต่างๆ จะตระหนักและเริ่มดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา แต่ความเปลี่ยนแปลงยังไม่คืบหน้า ซ้ำวิกฤตดังกล่าวยังยิ่งทวีความรุนแรงสู่หายนะระดับโลก สภาพอากาศสุดขั้วจะสร้างความเสียหายแก่ชีวิตมนุษย์อย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตามก่อนชะตาของเราทุกคนจะไปถึงจุดที่ไม่อาจหวนคืน อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องอีกครั้ง ถึงหนทางแห่งความหวังที่มนุษยชาติยังสามารถทำได้ ผ่าน 5 ขั้นดำเนินการ ที่รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้ เพื่อนำโลกเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานหมุนเวียน เพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริง
ความเป็นจริงที่ปรากฏ
โดยตัวประเมินที่ชี้ระดับโลกรวนในปี 2021 ได้ทุบสถิติระดับวิกฤตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตั้งแต่ระดับน้ำในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ
สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของผลกระทบของมนุษยชาติที่มีต่อโลก ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบที่ต่อเนื่องยาวนานสู่อนาคต คร่าชีวิตผู้คน และสร้างความเสียหายหลายแสนล้านดอลลาร์ อย่างในปัจจุบันที่เรากำลังประสบ ภัยแล้งและน้ำท่วมส่งผลให้อาหารและวัตถุดิบต่างๆ มีราคาสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด
“สภาพอากาศของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปต่อหน้าต่อตา ก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้นจะทำให้โลกร้อนขึ้นอีกหลายชั่วอายุคน ธารน้ำแข็งบางแห่งถึงจุดที่ไม่อาจหวนคืนกลับมาได้อีกแล้ว และสิ่งนี้จะส่งผลระยะยาวต่อโลกที่ผู้คนมากกว่า 2,000 ล้าน ประสบกับการขาดแคลนจืดอยู่แล้ว” เพตเทอรี ทาลาส (Petteri Taalas) เลขาธิการ WMO กล่าว
“เราได้เห็นภาวะภัยแล้งฉุกเฉินในแอฟริกา น้ำท่วมรุนแรงครั้งล่าสุดในแอฟริกาใต้ รวมถึงสภาพร้อนจัดในอินเดียและปากีสถาน ที่แสดงให้เห็นว่าระบบเตือนภัยล่วงหน้ามีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อช่วยชีวิตผู้คน แต่ระบบเหล่านี้มีอยู่ไม่ถึงครึ่ง ในสมาชิก 187 ประเทศของ WMO”
ก่อนบ้านหลังเดียวจะมอดไหม้
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นน่าหวาดวิตก หลังการรายงานของ WMO อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ จึงออกมาเรียกร้องอีกครั้ง ถึงหนทางแห่งความหวังที่มนุษยชาติยังสามารถทำได้ นั่นคือการปฏิวัติสู่พลังงานหมุนเวียน ก่อนสภาพภูมิอากาศโลกดำดิ่งสู่จุดที่ไม่อาจหวนคืนได้ออกมาอีกต่อไป
“ระบบพลังงานทั่วโลกกำลังล่มสลาย และทำให้เราขยับเข้าใกล้ภัยพิบัติด้านสภาพอากาศขึ้นทุกขณะ เชื้อเพลิงฟอสซิลคือทางตันทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ สงครามในยูเครนและผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีต่อราคาพลังงาน เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนที่เราต้องตระหนัก
“อนาคตที่ยั่งยืนเพียงอย่างเดียวคืออนาคตที่หมุนเวียนได้ เราต้องยุติมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานหมุนเวียนภายในทศวรรษนี้ ก่อนที่บ้านเพียงหลังเดียวของเราจะมอดไหม้ เวลาของพวกเรากำลังจะหมดลง”
ข่าวดีก็คือ อุปกรณ์ชูชีพแห่งชีวิตอยู่ตรงหน้าเราแล้ว ลมและแสงอาทิตย์มีพร้อมใช้ และโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีราคาถูกกว่าถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ หากเราร่วมมือกัน การปฏิวัติด้านพลังงานหมุนเวียนอาจเป็นโครงการสันติภาพแห่งศตวรรษที่ 21
การปฏิวัติระบบพลังงานเป็นเหมือนผลไม้ที่พร้อมให้เราเก็บเกี่ยว ลมและแสงอาทิตย์มีพร้อมใช้ เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนก็นั้นหาได้ง่ายขึ้น และโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีราคาถูกกว่าถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ต้นทุนพลังงานลมลดลงมากกว่าครึ่ง ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ลดลง 85% และการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนสร้างโอกาสงานตลอดห่วงโซ่ มากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลถึงสามเท่า
โอกาสสุดท้ายของเหล่าผู้นำโลก
เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานหมุนเวียนอย่างทันท่วงที อันโตนิโอ กูเตอร์เรส นำเสนอ 5 ขั้นดำเนินการ ที่รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้
01
เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน เช่น การจัดเก็บแบตเตอรี่ จะต้องได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับสินค้าสาธารณะอื่นๆ ทั่วโลกที่มีความจำเป็นและสามารถหาซื้อได้ อุปสรรคที่ขัดขวางการแบ่งปันความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนข้อจำกัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนจะต้องถูกผลักออกไปให้พ้นทาง ซึ่งจะเป็นบันไดขั้นสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
ที่ผ่านมา รูปแบบการจัดเก็บไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน มักถูกกล่าวถึงว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด ในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ดังนั้นจึงต้องเกิดความร่วมมือระดับโลกเกี่ยวกับการจัดเก็บแบตเตอรี่ เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและนำไปสู่การปรับใช้อย่างรวดเร็ว และเมื่อรัฐบาลนำการขับเคลื่อน เมื่อนั้นบริษัทเทคโนโลยี ผู้ผลิต และนักลงทุนจะมารวมกัน
02
ส่วนประกอบและวัตถุดิบสำคัญสำหรับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน จะต้องถูกเพิ่มขนาดการผลิต การกระจายตัว เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากในปัจจุบัน ห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและวัตถุดิบกระจุกตัวอยู่ในไม่กี่ประเทศ
ยุคสมัยแห่งการหมุนเวียนจะไม่สามารถเบ่งบานได้ จนกว่าเราจะเชื่อมปิดช่องว่างขนาดใหญ่นี้ลงได้ ด้วยการสอดประสานทำงานกันระหว่างประเทศ รัฐบาลต้องลงทุนให้เกิดการฝึกอบรมทักษะ การวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงสร้างแรงจูงใจเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานสำหระบเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนให้เกิดขึ้นภายในประเทศ
03
รัฐบาลต้องสร้างกรอบการทำงานและปฏิรูประบบราชการ เพื่อยกระดับสนามจำลองสำหรับพลังงานหมุนเวียน ระบบราชการในหลายประเทศ ยังคงสนับสนุนและเอื้อประโยชน์ต่อเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นภัยร้ายแรง เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาคอขวด ซึ่งโครงการด้านพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ถูกทำให้ล่าช้าด้วยระบบราชการ การขออนุญาตมากมาย ตลอดจนการเชื่อมต่อกับโครงข่ายเดิม
รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว และปรับปรุงการอนุมัติโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม รวมถึงปรับปรุงโครงข่ายพลังงานให้ทันสมัย และต้องกำหนดเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียนที่มีความทะเยอทะยาน และเกี่ยวเนื่องกับการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศา
เพื่อมอบความชัดเจนและแน่นอนแก่นักลงทุน นักพัฒนา ผู้บริโภค และผู้ผลิตทั้งหลาย ซึ่งแน่นอนว่านโยบายด้านพลังงานหมุนเวียนจะเป็นปัจจัยพื้นฐาน ที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านตลาดและขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนในภาคส่วนนี้มากขึ้น
04
รัฐบาลต้องยุติเงินที่อุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อปกป้องผู้คนรวมถึงชุมชนที่ยากจนและเปราะบางที่สุด
ทุกวันนี้ ในทุกๆ นาที ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซจะได้รับเงินอุดหนุนประมาณ 11 ล้านดอลลาร์ เท่ากับว่าในแต่ละปี รัฐบาลทั่วโลกทุ่มเงินราว 5 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อทำให้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีราคาถูกลงอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งมากกว่าเงินอุดหนุนที่พลังงานหมุนเวียนได้รับจากเหล่ารัฐบาลถึง 3 เท่า
ในขณะที่ผู้คนต้องทนทุกข์จากราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สูงขึ้น อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซกลับเติบโตพุ่งขึ้นเป็น 1 พันล้านดอลลาร์จากกลไกตลาดที่บิดเบี้ยว ความย้อนแย้งเหล่านี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป
05
การลงทุนของภาครัฐและเอกชนในด้านพลังงานหมุนเวียน จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า หรือ 4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี
สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เงินลงทุนที่ต้องจ่ายล่วงหน้าสำหรับดำเนินการคิดเป็น 80% ของค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งาน นั่นหมายความว่าการควักกระเป๋าลงทุนครั้งใหญ่ในตอนนี้ จะสร้างผลตอบแทนมหาศาลให้เก็บเกี่ยวต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศจ่ายต้นทุนทางการเงิน มากกว่าประเทศพัฒนาแล้วถึง 7 เท่า ดังนั้นเราจึงต้องการการเงินแบบผสมผสาน (Blended Finance) ซึ่งใช้เงินทุนจากภาครัฐเป็นตัวกระตุ้นการลงทุน ร่วมลงทุน เพื่อปิดช่องว่างด้านการทุนและปลดล็อกเงินทุนนับล้านล้านดอลลาร์ ที่ดำเนินการโดยภาคเอกชน เพื่อปรับกรอบความเสี่ยง และทำให้การขยายการเงินต่อพลังงานหมุนเวียนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ฝ่ายบริหารและผู้ถือหุ้นของธนาคารตลอดจนสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา ต้องมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อประเด็นนี้ พอร์ตสินเชื่อทั้งหมดจะต้องถูกจัดการให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส อย่างช้าที่สุดภายในปี 2024 และต้องยุติการเงินที่สร้างการปล่อยมลพิษสูงทั้งหมด
ขณะเดียวกันต้องเกิดการใช้งบดุลอย่างสร้างสรรค์เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานหมุนเวียน และนั่นหมายถึงการกำหนดเป้าหมายในการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและนโยบาย
ธนาคารพาณิชย์และทุกส่วนของระบบการเงินทั่วโลก จำเป็นต้องขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน พร้อมกับเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล พลังงานหมุนเวียนเป็นหนทางเดียวสู่ความมั่นคงทางพลังงาน ราคาพลังงานที่มีเสถียรภาพ และโอกาสการจ้างงานที่ยั่งยืน
ทุกประเทศ เมือง ตลอดจนพลเมือง ทุกสถาบันทางการเงิน บริษัท และองค์กรภาคประชาสังคมล้วนมีบทบาท และหากเราร่วมมือกัน การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นโครงการสันติภาพแห่งศตวรรษที่ 21
อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญที่สุด ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำภาครัฐและเอกชนจะต้องหยุดกล่าวว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นโครงการในอนาคตอันไกลโพ้น เพราะหากไม่มีพลังงานหมุนเวียน ก็ไม่มีอนาคต อย่างที่ปรากฏอย่างชัดเจนในรายงานของ WMO ถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มการเปลี่ยนแปลงก่อนจะสายเกินไป
__
ข้อมูลอ้างอิง
https://storymaps.arcgis.com/stories/bbe6a05f6dae42f2a420cfdd7698e4b1