ทำไมต้อง Circular Economy ทางรอดของธุรกิจ

Article



ปี 2022 นี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะขับเคลื่อนโลกไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งทุกประเทศ ทุกเมือง รวมถึงองค์กรธุรกิจจะต้องจัดทำและดำเนินตามแผนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  หรือตั้งเป้าหมายให้ก๊าซคาร์บอนเท่ากับศูนย์ภายในปี 2050 โดยหากต้องการให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อที่จะรักษาโลกไม่ให้อยู่ในจุดที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถฟื้นกลับมาได้แล้ว หรือที่เรียกว่า Point of No Return โดยมีเป้าหมายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2030 ว่าโลกทั้งโลกจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงครึ่งหนึ่งให้ได้  ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญของเรื่องนี้  ในการรายงาน IPCC ด้านสภาพภูมิอากาศ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนและผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจากการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่เข้มแข็งขึ้น โดยมีการเสนอแนวทางด้านการจัดการลด GHG และกำจัดก๊าซ Carbon ในหลายรูปแบบ

ภายใต้เทรนด์เรื่อง Climate Action ดังกล่าว ภาคธุรกิจไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัว เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจเอง โดยถือเป็นสร้างโอกาสทางธุรกิจรูปแบบใหม่ และหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างน้อยเรามีผู้นำทางความคิดและผู้ประกอบการไทยที่เป็นผู้กล้าจากองค์กรธุรกิจไทยชั้นนำได้เริ่มทำการประกาศให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์เป็นเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่สำคัญกันบ้างแล้ว  โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีศักยภาพและบทบาทอย่างยิ่ง ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมรวมถึงทางออกใหม่ๆ จุดประกายให้ทุกห่วงโซ่คุณค่า ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าหรือบริการในอุตสาหกรรมใด มีส่วนช่วยเยียวยาวิกฤตภูมิอากาศที่ชัดเจนและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

  ผู้นำองค์กร คือบุคคลสำคัญที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทาง และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องไปกับความท้าทายระดับโลก เพราะปัจจุบันความสำเร็จของธุรกิจไม่ได้ประกอบด้วยตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งแน่นอนว่าวิสัยทัศน์และการลงมือทำจริงของผู้นำคือหนึ่งในหัวใจหลัก ที่จะผลักดันบริษัทให้เดินหน้าไปในทิศทางสู่ความยั่งยืนได้สำเร็จ

แนวคิดของความยั่งยืนกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ โดยทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังหาแนวทางต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอุณภูมิ (Climate change) และวิกฤตขยะพลาสติกทั้งในห่วงโซ่อาหารและมหาสมุทร

ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ท่ามกลางวิกฤตินานัปการ โดยเฉพาะการขาดแคลนทรัพยากรและปัญหามลภาวะอันเนื่องมาจากขยะ แนวทางหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในระยะหลังว่าจะเป็นทางออกของมนุษย์ในการก้าวข้ามไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน 

หลายปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจมุ่งเน้นการจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และในปัจจุบันนี้ พวกเขากำลังมองหาวิธีการที่ดีกว่าเพื่อรองรับข้อจำกัดใหม่ ๆ ในอนาคต และตอบสนองต่อความคาดหวังของลูกค้าสำหรับหลาย ๆ คน คำตอบสำหรับปัญหานี้คือการเดินหน้าในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการปฏิรูปแบบแผนทางธุรกิจที่ซึ่งทรัพยากรถูกนำมาใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่โดยสมบูรณ์

ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนคืออะไร


ในปีค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573) ประชากรในโลกจะเพิ่มขึ้นจนเกือบถึง 9 พันล้านคน การเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วทำให้เราต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร ชุมชนเมืองที่มากขึ้น มลพิษ ต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น และมลภาวะทางน้ำ ด้วยเหตุนี้เอง อุตสาหกรรมแบบ "นำมา-ผลิต-ทิ้ง" จึงกำลังจะถูกล้มล้างไปและนำแบบแผนใหม่เข้ามาแทนที่ ซึ่งก็คือระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนนั่นเอง

เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน คือ กรอบการทำงานทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นด้านการจัดการทรัพยากรอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้มีส่วนใดถูกทิ้งอย่างสูญเปล่า กล่าวคือ ผลิตภัณฑ์และวัสดุจะถูกเก็บไว้ใช้ซ้ำ ผลิตซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ ตราบเท่าที่ทรัพยากรเหล่านั้นถูกใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด การบูรณะและการปฏิรูปนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานแบบปิดที่ “ออกแบบมาเพื่อกำจัด” ทรัพยากรที่สูญเปล่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้นทุนทางธรรมชาติและสังคม มันถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเสริมศักยภาพของธุรกิจ ช่วยให้พวกเขาจัดการลำดับความสำคัญของสิ่งแวดล้อมได้อย่างราบรื่น เพิ่มประสิทธิภาพ และกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ

หลายคนอาจเข้าใจว่า Circular Economy ก็คือระบบการผลิตที่มีการรีไซเคิลวัตถุดิบกลับมาผลิตซ้ำเท่านั้น แต่ความจริง Circular Economy เป็นแนวคิดแบบองค์รวมที่แทบจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิตเลยก็ว่าได้ เริ่มตั้งแต่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมบริการ การประสานเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบต่างๆ จนคล้ายกับการทำงานของระบบนิเวศ เพื่อให้เกิดการรักษาต้นทุนธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุดและส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม 

 

หัวใจสำคัญของ Circular Economy 

คือ การกลับไปทำความเข้าใจการออกแบบและการทำงานของธรรมชาติ ซึ่งเป็นระบบการผลิตแบบหมุนเวียนที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดและไม่เคยมีของเหลือใช้เกิดขึ้นเลย เพราะมีกลไกในการนำทรัพยากร แร่ธาตุ พลังงาน หมุนเวียนกลับมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์ ดังคำกล่าวที่ว่า สสารทุกอย่างไม่มีวันสูญหายไปจากโลก การออกแบบเศรษฐกิจที่เน้นการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่เป็นวงจรไม่รู้จบ แทนการผลิต-ใช้-แล้วทิ้ง แบบเส้นตรง ตามรูปแบบอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมที่เน้นกำไรเป็นตัวตั้ง โดยใช้หลักว่ายิ่งผลิตออกมามากเท่าไหร่ก็ยิ่งสร้างกำไรมากเท่านั้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วสินค้าเหล่านั้นจะไปถูกทิ้งอยู่ที่ไหนหรือสร้างผลกระทบอะไรบ้าง 

หลักการผลิตและการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างครบวงจรของ Circular Economy คือความหวังว่าเราจะสามารถปฏิวัติสังคมจากระบบเศรษฐกิจแบบเดิม สามารถออกแบบโมเดลธุรกิจและผลิตภัณฑ์แบบใหม่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม 

ทางรอดของธุรกิจ มาเป็น Circular Economy


ธุรกิจชั้นนำทั่วโลกมีแนวทางสร้างกระแสขยายผลเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนวัตกรรมมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยแนวคิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยมีการหมุนเวียนและนำกลับมาใช้ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยไม่ทำให้คุณค่าลดลง องค์กรมีแนวทางเป็นระบบในการออกแบบธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนธุรกิจที่สามารถตอบสนองวิถีชีวิตของผู้คน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างงานมูลค่าสูง สร้างกิจกรรมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงตามสัดส่วนการเติบโตอย่างที่เป็นมา ธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำจะช่วยสร้างโอกาสและทางเลือกให้ผู้บริโภคให้ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สอดคล้องกับความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม

การสร้างธุรกิจแนว Circular Economy จะเอื้อให้ได้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน

  • ผู้นำธุรกิจต้อง ‘กำหนดทิศทางและเป้าหมายที่สอดคล้องตามหลักวิทยาศาสตร์’ (Science-Based Target) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปีตามศักยภาพและบริบทของการดำเนินกิจการก่อน
  • จากนั้นจึงจัดทำแผนและมาตรการเพื่อ ‘ส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชน’ ให้มีการผลิตสินค้าและบริการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าและพลังงานที่มาจากพลังงานหมุนเวียน และส่งเสริมให้ผู้คนใช้สินค้าและบริการเหล่านั้น
  • ภาครัฐในฐานะที่เป็นผู้บริโภครายใหญ่ก็สามารถเป็นผู้นำในการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ด้วยการปฏิบัติตาม ‘หลักการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน’ (Green and Sustainable Public Procurement) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดอายุการใช้งานของสินค้าและบริการนั้นๆ เช่น การเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนและสินค้าที่มีกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืนภายในองค์กร การจัดซื้อยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานไฟฟ้า การพัฒนาการบริหารจัดการกำจัดขยะของรัฐให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ภาครัฐและเอกชนควรนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้เพื่อสะท้อนต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของสินค้าและบริการด้วย ราคาสินค้าและบริการเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในการเลือกใช้จ่ายของผู้บริโภค ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักผลิตสินค้าหรือบริการโดยพิจารณาเฉพาะต้นทุนส่วนตัว เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าพลังงานต่างๆ แต่ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนผลกระทบทางภายนอกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้การผลิตสินค้าหรือบริการมีต้นทุนต่ำเกินไป ส่งผลให้เกิดการผลิตสินค้าจำนวนมาก และผู้บริโภคก็ใช้สินค้ามากเกินความจำเป็น สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้าและบริการส่วนใหญ่มาจากการใช้พลังงานในองค์กรหรือโรงงาน ปริมาณไฟฟ้าหรือพลังงานต่างๆ เหล่านี้สามารถคำนวณออกมาเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาได้ 

ตัวอย่างมุมมองผู้บริหารองค์กร

ด้านนำกลไกการกำหนดราคาคาร์บอน (Internal Carbon Pricing) ไปใช้ในองค์กร สำหรับผู้ประกอบการ เพราะประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องของต้นทุน (Cost) แต่รวมถึงการสูญเสีย (Lost) และความเสี่ยง (Risk) ที่เกิดขึ้นจากลูกค้า คู่ค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ผู้ประกอบการอาจเสียโอกาสในการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ เสียโอกาสพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจของโลกยุคใหม่ที่มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero economy)

โอกาสในไทย ปีนี้เริ่มมีทิศทางที่แต่ละโรงงานได้ลงทุน ติดตาม และประเมินผลการนำกลไกราคาคาร์บอนไปใช้ พบว่า เกิดการกระตุ้นให้โรงงานต่างๆ มีการใช้พลังงานลดลงมีความคุ้มค่าในการลงทุน และสะท้อนมาที่ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงานลดลงเรื่อยๆ จากการดำเนินการมาตรการต่างๆ เช่น เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและกำจัดของเสีย ลดมลภาวะทางอากาศเพิ่มงบลงทุนในการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการที่ต่อยอดจากห่วงโซ่คุณค่าของโรงงานเอง แต่เป็นการสร้างมูลค่าที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นโอกาสข่องทางใหม่ให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการหันมาเริ่มต้นธุรกิจแนวใหม่นี้ด้วย

ด้านนำหลักนวัตกรรมพลังงาน มาลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจด้าน Battery และ Energy Storage รวมทั้งแพลตฟอร์มสำหรับซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต โดยได้เริ่มทำธุรกรรมซื้อขายคาร์บอนเครดิตในธุรกิจเติมนํ้ามันเรือขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (Green Bunker)

ด้านนำหลักการออกแบบ Circular Design ไปใช้กำหนด New Business Model ผู้นำธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มเข้าใจแล้วว่า CE เป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Circular Design มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหามากมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ที่ช่วยแก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโดยพึ่งพาวัตถุดิบจากทั่วโลกในการผลิตสินค้าน้อยลง ทำให้ธุรกิจเองมีความยืดหยุ่น และฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ สามารถทำงานได้เพราะขับเคลื่อนด้วยการนำของที่เหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ให้คุ้มค่า โดยอ้างอิงหลักการ 3 ข้อ จาก Ellen McArthur Foundation 1) Design out waste and pollution (ออกแบบไม่ให้เกิดของเสียและมลภาวะตั้งแต่ต้นทาง) เศรษฐกิจหมุนเวียนคือการคำนึงถึงความยั่งยืนตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ และคิดให้ครบ loop ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบธุรกิจ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ต่อ แยกชิ้นส่วน หรือนำมาผลิตใหม่ได้โดยคงคุณภาพ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตใหม่ได้ในระยะยาวเนื่องจากใช้ทรัพยากรลดลง  2) Keeping products in use (ทำให้ผลิตภัณฑ์หมุนวนในระบบ ให้คุ้มค่าที่สุด) 3) Regenerating natural systems (ฟื้นฟูระบบธรรมชาติ) ทรัพยากรล้วนแล้วมาจากธรรมชาติ การเลือกใช้ Safe & compostable materials, non-toxic มากที่สุดจะช่วยให้วัสดุเป็นส่วนหนึ่งของวงจรธรรมชาติ ที่ย่อยสลายเป็นอาหาร เพื่อเป็นทรัพยากรต่อไปได้ไม่รู้จบ

ด้านการตลาดต่อกลุ่ม เจเนอเรชันแซดหรือเจนแซด (generation z) คือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2539 – 2555 มีความใส่ใจเรื่องความโดดเด่น ความสร้างสรรค์ จริยธรรม และไม่สนใจเรื่องสถานภาพทางสังคมนัก พวกเขาก้าวย่างสู่วัยผู้ใหญ่ในช่วงที่โลกเผชิญกับโรคระบาดครั้งใหญ่ และคำเตือนมากมายเกี่ยวกับภัยพิบัติในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสก็จะเกินขีดความสามารถของโลกที่จะรับมือ และสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะกลายเป็น “มหันตภัยทางสภาพภูมิอากาศ” (climate catastrophe) องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้สำรวจประชากรอายุ 18-25 ปี หรือกลุ่มเจนแซด 10,000 คน ใน 22 ประเทศทั่วโลก โดยให้เลือกปัญหาที่โลกกำลังเผชิญ 5 ประเด็นจาก 23 ประเด็น พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่คนเจนแซดเห็นว่ามีความสำคัญมากที่สุด (ร้อยละ 41) ตามมาด้วยประเด็นมลภาวะ (ร้อยละ 36) และการก่อการร้าย (ร้อยละ 31) 

McKinsey เปิดเผยผลสำรวจเปรียบเทียบข้อมูลเจนแซด เจนวาย และเจนเอ็กซ์ จำนวน 16,000 คนในเอเชียแปซิฟิก 6 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย พบว่า กลุ่มคนเจนแซดในเอเชียแปซิฟิกใส่ใจเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืนเท่ากับชาวมิลเลนเนียล พวกเขาต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาหารออร์แกนิก และแฟชันเครื่องนุ่งห่มที่สร้างผลกระทบต่อโลกน้อยที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความสัมพันธ์ระหว่างความปรารถนาในการบริโภคอย่างยั่งยืนและความต้องการทันสมัย ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกซื้อและใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การมีแนวคิดด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสถานะทางสังคมในจิตใจของคนเจนแซดมีแนวโน้มในการเลือกซื้อแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างเจนวาย และเจนเอ็กซ์ ท่ามกลางสถานการณ์ที่คนเจนแซดจะเข้ามามีบทบาทในตลาดผู้บริโภคถึงร้อยละ 40 ภาคธุรกิจย่อมต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับคนกลุ่มนี้ที่มีความต้องการและสนใจด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนเจเนอเรชั่นก่อน ด้วยเหตุนี้ไม่เพียงเพื่อให้สอดรับกับกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น แต่การปรับตัวของภาคธุรกิจยังถือเป็นการจัดการความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจจะเกิดขึ้นอีกด้วย เช่น สภาพอากาศที่แปรปรวนอาจทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่ไม่เคยท่วมมาก่อน อันก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการผลิตของโรงงาน และส่งผลให้ต้นทุนด้านประกันภัยของบริษัทเพิ่มขึ้น

ถึงแม้กระแสความนิยมในการบริโภคอย่างยั่งยืนของผู้บริโภค หน่วยงานกำกับดูแล และภาคอุตสาหกรรม จะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ภาคธุรกิจก็ควรตระหนักว่า ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้สิ่งของที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แต่กลับเป็นหน้าที่ของภาคธุรกิจที่พึงปฏิบัติเพื่อลดผลกระทบ และเพื่อให้มีทรัพยากรที่เพียงพอในการใช้อุปโภคบริโภคต่อไปในอนาคต แต่ไม่ว่าธุรกิจจะปรับตัวด้วยเหตุผลใด การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมล้วนเป็นประโยชน์ต่อโลก คน และธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน

อ้างอิง Additional Source

 

หลัก Circular Economy มีความสำคัญต่อแนวทางการดำเนินงานของธุรกิจอย่างไร

ด้วยแนวคิด From Waste to Value และการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ที่หลากหลาย  หากเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหาร เริ่มได้จากการตระหนักถึงการจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ขณะเดียวกันมุ่งมั่นที่จะลดการสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้นโยบายการสร้างคุณค่าปราศจากขยะ (Waste to Value) สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อ 12.3 ที่ต้องการลดจำนวนขยะอาหารทั่วโลกกว่าครึ่ง ภายในปี 2573 และบริษัทยังสามารถจัดโครงการเองให้มีเป้าหมายลดปริมาณอาหารส่วนเกินและขยะอาหาร ในกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573

หนึ่งในทางออกของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมต่างๆ คือการต่อยอด เพิ่มมูลค่าให้กับของเสียที่เหลือจากกระบวนการผลิต ซึ่งธุรกิจจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะทิ้งขว้าง การนำทรัพยากรเหลือทิ้งไร้มูลค่ามาสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น นับเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดการสูญเสียทรัพยากร ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจ  ในด้านนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาสิ่งเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนก่อให้เกิดธุรกิจอย่างไบโอเบสที่มีมูลค่าสูง และเทคโนโลยีอาหารแห่งอนาคต เช่น นำการวิจัยและพัฒนามาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษเหลือทางการเกษตร จากสินค้าเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เราเรียกแนวคิดนี้ว่า From Waste to Value เป็นการนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตผักผลไม้ไปต่อยอด ช่วยลดการสูญเสีย และใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่า เช่น พัฒนาธุรกิจเอทานอล เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่รถยนต์ ชานอ้อยไปใช้ผลิตเป็นวัสดุทดแทนไม้ด้วย แต่ปัจจุบัน ธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ เปลี่ยนมาใช้เศษไม้ยางพาราที่หมดอายุการให้น้ำยางแล้ว กากตะกอนหม้อกรอง กากส่า (วีแนส) และขี้เถ้า ก็นำไปพัฒนาต่อเป็นธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง บำรุงไร่อ้อย หรือธุรกิจยีสต์ ที่มาจากกระบวนการผลิตเอทานอล ก็นำไปพัฒนาเป็นส่วนผสมสำหรับอาหารสัตว์ ทดแทนปลาป่นหรือถั่วเหลือง น้ำที่ได้จากกระบวนการหีบอ้อยและผลิตน้ำตาลได้รับการนำไปปรับปรุงคุณภาพและนำกลับมาวนใช้ภายในโรงงาน จึงช่วยประหยัดการใช้น้ำแหล่งน้ำธรรมชาติ
ควรเร่งการลงทุนในเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่อย่างไรบ้าง

Business Model Transition ทบทวนและปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจสีเขียวรวมถึงทางเลือกธุรกิจที่ยั่งยืนใหม่ๆ อาจใช้แนวทางต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วยการปรับปรุงห่วงโซ่คุณค่า ประยุกต์หรือพัฒนาธุรกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึงเพื่อให้ก้าวทันทิศทางโลก สอดรับกับวิถีแห่งอนาคตของผู้คน และเป็นส่วนหนึ่งในการลดก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรม 

เช่น เพื่อต่อยอดไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่เลย จากแรกเริ่มเป็นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ต่อมาเริ่มต่อยอดการพัฒนาไปยังพลังงานสะอาด และปัจจุบันนี้มีหลายบริษัทกำลังเดินหน้าพัฒนาสู่ New S-Curve คือธุรกิจไบโอเบสที่มีมูลค่าสูง ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบจาก 10 เป็น 100 เท่า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง อาหารเสริม ธุรกิจพลาสติกชีวภาพ

คำนึงถึงต้นทุนผลกระทบทางภายนอกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีคิดใหม่ เมื่อพลังงานและวัตถุดิบเป็นปัจจัยจำกัด และการถดถอยทางเศรษฐกิจไม่ใช่ทางเลือก เศรษฐกิจแนวใหม่ที่ทำให้การใช้ทรัพยากรเกิดการหมุนเวียน มีประสิทธิภาพจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อเปลี่ยนระบบผลิตทางตรง (Linear: Make-Use-Dispose) เป็นระบบผลิตแบบหมุนเวียน (Circular: Make-Use-Return)  ซึ่งเป็นพื้นฐานของการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาพรวม 

เศรษฐกิจหมุนเวียนยังเน้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เพื่อสร้างต้นทุนด้านสังคม เศรษฐกิจและธรรมชาติอย่างเข้มแข็ง โดยอาศัยหลักการสามด้านได้แก่ 1) การออกแบบที่ปราศจากขยะและมลภาวะ 2) รักษาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบให้ใช้ได้นานที่สุด และ 3) ฟื้นฟูระบบนิเวศธรรมชาติ โดยเศรษฐกิจหมุนเวียนยังเน้นความสำคัญของการทำงานร่วมกันในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก องค์กรหรือตัวบุคคล ทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น

ในแง่นี้เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงไม่ใช่แค่การลดผลกระทบของระบบผลิตแบบทางตรง แต่เป็นการเปลี่ยนกระบวนการทัศน์เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวและโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว ที่จะส่งผลบวกแก่สิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวม คงจะเป็นการยากที่จะชี้ชัดว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่และใครเป็นผู้ค้นคิด เพราะแนวความคิดแบบวงกลม หรือการหมุนวนเป็นวงจรมีรากลึกในทางประวัติศาสตร์และปรัชญาหลายสำนัก หากสังเกตสิ่งต่างๆในธรรมชาติจะพบว่าแทบทุกสิ่งล้วนหมุนเวียนเป็นวัฏจักร เป็นวงรอบ ถ่ายทอด เปลี่ยนผ่าน สอดประสานกันอย่างลงตัว ของเสียจากสิ่งหนึ่งกลายเป็นอาหารให้กับอีกสิ่งหนึ่ง แร่ธาตุและพลังงานถูกถ่ายทอดและหมุนวนกลับมาใช้ได้ใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด 

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจในไทย  มุ่งเน้นการตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล ในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในระยะยาว ซึ่ง เชื่อว่าแนวทางที่แก้ไขวิกฤตโลกร้อนอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยกลไกทางธรรมชาติ โดยการดูแลรักษา ฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าไม้ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างจริงจัง ร่วมกับการพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การกักเก็บก๊าคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในระยะยาว  ในไทยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดปัญหาแก่เราทุกคนมากกว่าแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม ดังการพยากรณ์อนาคต เช่น ภายในปี ค.ศ.2050 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างน้อย 10% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน หากเราแก้ปัญหาไม่ดีพอตั้งแต่วันนี้ ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจลดลงกว่า 20% และความรุนแรงของปัญหาอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของมนุษยชาติได้ในที่สุด

ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้