GCNT ผนึกกำลังพันธมิตร ตั้ง “สถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน”

UNGCNT News


4 สิงหาคม 2565 :
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand) ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับพันธมิตรจากหลายภาคส่วน ได้แก่ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย  (United Nations Development Programme – UNDP) จัดตั้ง “สถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (BHR Academy : Business and Human Rights Academy)” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนสำหรับองค์กรธุรกิจ และพัฒนาศักยภาพในการนำหลักการและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนที่ดีไปใช้ให้เกิดผลได้จริง หวังผลักดันเป็นศูนย์กลางการอบรมสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการ GCNT เปิดเผยว่า สมาคมฯ ตั้งใจที่จะสานต่อเจตนารมณ์ของหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNGPs :UN Guiding Principles on Business and Human Rights) และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของไทย รวมทั้ง เล็งเห็นว่าการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน เป็นประเด็นท้าทายของภาคเอกชนที่นับวันจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้น แต่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังขาดแหล่งข้อมูลการเสริมสร้างสมรรถนะในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ พื้นที่สำหรับการเรียนรู้ และที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นข้อต่อสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของภาคเอกชน จึงหวังว่า สถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (BHR Academy) จะตอบโจทย์ความท้าทายนี้ และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โดยเป็นพื้นที่ให้ภาคธุรกิจได้แลกเปลี่ยนพูดคุย   หาทางออก  และทำความเข้าใจกับองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้ประเด็นสิทธิมนุษยชน ไม่เป็นเรื่องไกลตัวสำหรับภาคธุรกิจอีกต่อไป พร้อมทั้งจะผลักดันให้สถาบันฯ เป็นศูนย์กลางการอบรมสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วย

การบริหารจัดการประเด็นทางสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสมควรกระทำตามหลักการดำเนินธุรกิจอย่างมีบรรษัทภิบาลแล้ว ยังจะช่วยให้องค์กรธุรกิจได้รับการยอมรับ ลดความเสี่ยง ทั้งด้านการปฏิบัติการ ด้านชื่อเสียงและกฎหมาย และเปิดโอกาสทางธุรกิจ เข้าถึงตลาด บุคลากร และแหล่งเงินทุนได้กว้างขึ้น
ดร. เนติธร กล่าว


นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม 
กล่าวว่า การจัดตั้ง BHR Academy ถือเป็นการขับเคลื่อนแผนปฎิบัติการระดับชาติไปสู่ภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี GCNT เป็นแกนหลักร่วมกับพันธมิตร  โดยต่อไปจะต้องเน้นการขับเคลื่อนไปในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย เพื่อให้นักธุรกิจได้รับรู้ถึงแนวโน้มของโลก และให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน โดยเป้าหมายต่อไปของกรมฯ คือ การจัดทำแผนระยะที่ 2 และประกาศใช้ให้ทันปี 2566-2570 เพื่อส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพในทุกระดับ


ด้านนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก
   เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายมีความสำคัญและเป็นหัวใจของการทำงานเรื่องนี้ โดยสิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคใหญ่ คือ คนยังไม่รู้และไม่เข้าใจว่าทำแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร มีค่าใช้จ่ายหรือไม่ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว การขับเคลื่อนจึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน และทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งการจัดตั้ง BHR Academy จะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้สามารถขยายผลได้ในวงกว้าง 



นาง
สิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน ตระหนักถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถประเมินความเสี่ยงและลดผลกระทบ รวมทั้งสามารถจัดทำรายงานเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ที่สอดคล้องกับหลักการ UNGPs เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน ทั้งจากภายในและระหว่างประเทศ โดย ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล 56 - 1 One Report เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ครอบคลุมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน มีผลบังคับใช้ในปี 2565 เป็นปีแรก นอกจากนี้ ยังขยายผลไปยังประเด็นที่เกี่ยวข้อง คือ การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและการลดความเหลื่อมล้ำด้วย การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ ถือเป็นพลังความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้สามารถขยายผลในวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น และจะช่วยตอบโจทย์การบรรลุแผน NAP และเป้าหมาย UN SDG ได้

ส่วนนางสาวโลวิตา รามกุทธี รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (BHR) มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งกำลังก้าวไปสู่ยุคหลังโควิด รวมทั้งได้ระบุถึงความสำคัญของแนวคิดและแนวทางปฏิบัติของ BHR ต่อการตอบสนองต่อวิกฤตและความพยายามฟื้นฟูโลกให้กลับมาดีขึ้น  และในที่สุดจะสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งในด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนและความยั่งยืนอยู่แล้ว เห็นได้จากความมุ่งมั่นที่เพิ่มขึ้นในด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้ประกอบการเกือบ 170 แห่งที่นำหลักการ UNGPs มาใช้  ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก การบูรณาการสิทธิมนุษยชนเข้ากับการดำเนินธุรกิจ จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินงานได้สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าและการแข่งขันในตลาดโลก การก่อตั้ง BHR Academy จึงเป็นโอกาสดีในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของไทย  เพื่อให้แน่ใจว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จะเป็นไปด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชน

 

หลังพิธีลงนามความร่วมมือ ยังมีปาฐกถาพิเศษ โดยศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ  ซึ่งได้กล่าวย้ำว่า วันนี้ ESG และ BHR  เป็น 2 เรื่องสำคัญ ที่ธุรกิจต้องดำเนินการไปพร้อมกัน  นอกจากการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  อีกด้านหนึ่งจะเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน  ในขณะที่ธุรกิจให้ความสำคัญกับความตกลงปารีส การจัดทำแผนธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ หรือ
การแสวงหาแหล่งพลังงานสะอาด ก็ต้องคำนึงถึงความเปราะบางทางสังคมควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะการเอาชนะความเหลื่อมล้ำ การส่งเสริมการรักษาสุขภาพ การบรรเทาความยากจน การจ้างแรงงานข้ามชาติ ความมั่นคงด้านอาหาร โดยการทำงานของ BHR Academy จะเข้ามาเติมเต็มในเรื่องนี้  และจะต้องได้รับความร่วมมือจากกลุ่มพันธมิตรที่ช่วยกันสนับสนุน รวมไปถึงภาคประชาสังคม โดยอาจมีการจับคู่กับภาคธุรกิจรายใหญ่และรายเล็ก เพื่อตรวจสอบในด้านสิทธิมนุษยชนด้วย

ด้าน ดร. เสรี นนทสูติ สมาชิกคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กล่าวถ้อยแถลงว่า BHR Academy เป็นจิ๊กซอร์ตัวสุดท้ายที่ประเทศไทยได้เติมเต็มตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2011 โดยจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจและประเทศไทย ได้ตระหนักและนำหลักการชี้แนะนี้ไปปฏิบัติตามใน 3 ประเด็นสำคัญ  คือ  การจัดทำนโยบายเคารพสิทธิมนุษยชน การตรวจสอบรอบด้านว่าตนเองและผู้ค้าไม่ได้มีส่วนร่วมละเมิดสิทธิมนุษยชนใคร  และการจัดการผู้ค้าอย่างเป็นระบบ  สิ่งเหล่านี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นกับโลกตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือความเสี่ยงที่ธุรกิจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าทาสสมัยใหม่  ซึ่ง BHR Academy จะช่วยทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้นว่า ธุรกิจตระหนักว่าตนเองมีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงนี้หรือไม่ และจะต้องมีบทบาท ทั้งป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และแสดงความรับผิดชอบหากความเสี่ยงนั้นเกิดขึ้นด้วย

ทั้งนี้ สถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน มีแผนจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกระบวนการตรวจสอบรอบด้าน (HRDD : Human Rights Due Diligence)  ในแพลตฟอร์มที่หลากหลาย โดยปรับตามความเหมาะสมในบริบทและสถานการณ์ อาทิ การฝึกอบรมขั้นพื้นฐานธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การสัมมนาขั้นปฏิบัติการ หรือ virtual workshop เพื่อสร้างเครือข่ายและระบบนิเวศ (Eco-System) ภาคเอกชน ร่วมกับภาครัฐและภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม BHR Forum หรือ virtual webinar เพื่อเชื่อมโยงผู้ปฏิบัติงาน ทิศทางและแนวโน้มประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน นโยบาย และภาพรวมกระบวนการตรวจสอบรอบด้าน (HRDD) และการดูงาน ณ สถานประกอบการขององค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน  เป็นต้น

สำหรับหลักสูตรแรก จะครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน  หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs)  กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน กระบวนการตรวจสอบรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) การแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนในองค์กรต่างๆ ถึงเทคนิค วิธีการตรวจหา และจัดลำดับความสำคัญของผลกระทบที่ธุรกิจมีต่อสิทธิมนุษยชน หน้าที่ของบริษัทที่ต้องลงมือปฏิบัติในเรื่องของสิทธิมนุษยชน วิธีการลงมือปฏิบัติ ติดตามผล และสื่อสารเรื่องผลกระทบที่ธุรกิจมีต่อสิทธิมนุษยชน วิธีการรับมือและหาทางออก เมื่อเกิดผลกระทบเชิงลบและการมีกลไกการร้องทุกข์ที่มีประสิทธิภาพ 
ภาคธุรกิจที่สนใจสามารถดูรายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/wPFT3H9Ag7HJAPHx7

ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้