ทุกวันนี้ ทั่วโลกให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบ ทุกภาคส่วนล้วนต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ลงมือช่วยลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน เพราะเราต่างรับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้น ภัยพิบัติจากธรรมชาติ หรือปัญหาฝุ่น PM 2.5
ในส่วนของภาคธุรกิจ เราต่างตระหนักกันแล้วว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การลงทุน การผลิต ไปจนถึงการบริการ ล้วนมีส่วนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม หากเราเดินไปถึงวันที่สิ่งแวดล้อมของโลกถูกทำให้เสื่อมสภาพลงจนเกินเยียวยา ผลกระทบจากการไม่คำนึงถึงความยั่งยืนนี้จะทำให้กิจกรรมต่างๆ ของโลกต้องหยุดชะงัก และเมื่อถึงวันนั้น ภาคเศรษฐกิจก็ไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้เช่นกัน
หัวใจขับเคลื่อนที่ทำให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้า คือภาคการเงินที่เป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบ ดังนั้นเพื่อผลักดันความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริงๆ เราจึงต้องทำความเข้าใจและพัฒนา “การเงินเพื่อความยั่งยืน” หรือ Sustainable Finance เพราะในท้ายที่สุด นี่คือปัจจัยที่จะช่วยให้โลกธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะส่งผลต่อมาสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของเราทุกคน
GCNT ชวนอ่านบทสรุปจากงาน “GC Circular Living Symposium 2022: Together To Net Zero” เปิดมุมมองเกี่ยวกับอนาคตการเงินเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการนำพาเศรษฐกิจผ่านวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
มองการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของ Sustainable Finance ยุโรป
เมื่อมองไปยังภูมิภาคยุโรปที่เผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนที่สุดในรอบ 400 ถึง 500 ปี ปัจจุบันทุกภาคส่วนจึงหันมาใส่ใจภาวะโลกร้อนรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกมิติ ตั้งแต่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความเสี่ยงร้ายแรงแก่ภาคการเงิน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับระบบเศรษฐกิจทั้งหมด เราจึงเห็นความร่วมมือในการผลักดันแนวทางการพัฒนาการเงินเพื่อความยั่งยืน พร้อมการลงมือปฏิบัติอย่างรวดเร็วทันท่วงทีของหลายๆ ประเทศในยุโรป นับเป็นต้นแบบให้ภูมิภาค อื่นๆ ของโลกเริ่มขยับตัวและก้าวเดินบนเส้นทางนี้เช่นกัน
โดยกลุ่มรัฐบาลประเทศยุโรป มีการกำหนดนโยบายและเป้าหมายที่ชัดเจน ตั้งแต่การสร้างกลไกสนับสนุนผ่านเงินอุดหนุนต่างๆ มีการจัดเก็บภาษีเพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการทำธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคและนักลงทุนชาวยุโรปเองก็ตระหนักถึงปัญหาอย่างเข้าอกเข้าใจ จึงเกิดความต้องการลงทุนในธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนกันมากขึ้น
เมื่อทุกภาคส่วนมองเห็นอนาคตในทิศทางเดียวกัน มาตรฐานใหม่ที่ทุกธุรกิจ “จำเป็นต้อง” คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนจึงฝังรากลึกอย่างมั่นคง ภาคการเงินซึ่งเป็นฟันเฟืองให้ธุรกิจต่างๆ จึงต้องพยายามคิดค้นวิธีการที่จะตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจยั่งยืน โดยพวกเขารวมกลุ่มทางธุรกิจการเงินในต่างประเทศ เพื่อสร้างข้อผูกมัดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ โดยสร้างข้อแม้ว่า หากธุรกิจใดดำเนินการโดยปราศจากการคำนึงถึงความยั่งยืน ธุรกิจนั้นก็จะหาแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้นทวีคูณ
กลไกนี้สร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ทำให้ Sustainable Global Bond Market เติบโตจนมีมูลค่าเกินหนึ่งล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เช่นเดียวกับ Sustainable Global Loan Market ที่เติบโตจนมีมูลค่าเกินเจ็ดแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
สิ่งที่ทั่วโลกเรียนรู้จากภูมิภาคยุโรปก็คือ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือถ่วงเวลาในการพัฒนาด้านความยั่งยืน เพราะประเด็นความยั่งยืนทุกวันนี้เป็นเรื่องที่ทั้งจำเป็นและเร่งด่วน ดังนั้นเมื่อมองในมุมของธุรกิจ “ผู้ที่ลงมือก่อน ย่อมสร้างโอกาสได้อย่างมหาศาล” และต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค นักลงทุน ภาครัฐ หรือภาคการเงิน จึงจะไปสู่เป้าหมายในการสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงได้
ย้อนมองเส้นทาง Sustainable Finance ไทยที่ยังต้องไปต่ออีกไกล
ประเทศไทยไม่ต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ทุกวันนี้ประเด็นความยั่งยืนยังถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมน้อยกว่า รวมทั้งความตระหนักรู้ที่ยังไม่แพร่หลายเท่าในประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นการกระตุ้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในช่วงแรกจึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก
อย่างที่เห็นจากบทเรียนของยุโรป การจะผ่านพ้นไปได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ นักลงทุน และภาคการเงิน โดยทุกคนต้องมีวิสัยทัศน์และกรอบการคิดที่ถูกต้องตรงกัน ริเริ่มลงมือทำตามแนวทาง พร้อมมองไปยังอนาคตร่วมกัน จึงจะสามารถสร้างแผนการพัฒนาและปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สู่เป้าหมายที่ชัดเจนได้
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดทิศทางการดําเนินงานที่สําคัญ เพื่อสนับสนุนบทบาทของภาคการเงินให้สามารถตอบโจทย์ภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบุแนวทางขับเคลื่อนสำคัญ 5 ข้อ
01 แนะนำให้สถาบันการเงินปรับกระบวนการทำธุรกิจและวัฒนธรรมขององค์กร ให้มีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนอย่างแท้จริง
02 จำแนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับความยั่งยืนอย่างชัดเจน (Taxonomy) โดยแยกแยะว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจใดที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่าอะไรเป็นสิ่งที่กรีนจริงๆ และอะไรเป็นการฟอกเขียว (Green Washing)
03 สร้างฐานข้อมูลที่เป็นระบบ เข้าถึงได้ รวมถึงมีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน เพื่อให้ทุกกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนมีความโปร่งใส และตรวจสอบได้
04 ส่งเสริมผลักดันและสร้างแรงจูงใจที่ส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น จากต้นทุนที่ถูกกว่า หรือโอกาสทางธุรกิจที่ดีขึ้น เป็นต้น
05 ให้ความสำคัญกับบุคลากรที่มีคุณภาพ มีทักษะ องค์ความรู้ และความเข้าใจในความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพื่อผลักดันเรื่อง Sustainable Finance อย่างเห็นผลและเป็นรูปธรรม โดยต้องสามารถให้ความรู้กับคนในองค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ซึ่งต้องการคำแนะนำและการสนับสนุนเป็นอย่างมาก
ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือการพัฒนาต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะบางธุรกิจอาจต้องมีการเปลี่ยนผ่าน ปรับตัว เพื่อให้มีการดำเนินการอย่างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และในระหว่างกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ อาจต้องใช้เงินทุนอย่างมาก ดังนั้นต้องดูความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดเป็นภาระกับภาคธุรกิจจนเกินไป
ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ “ทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ การเงินไทย”
บทบาทภาคการเงินการธนาคารในฐานะตัวกลาง
ข้อมูลจากการศึกษาระบุว่า เราต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลเมื่อต้องการที่จะลดผลกระทบจากโลกร้อนแม้เพียงแค่บางส่วน ดังนั้นธนาคารจึงมีความสำคัญในฐานะผู้ขับเคลื่อนเงินลงทุนไปยังโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินการเหล่านี้ รวมทั้งธนาคารยังสามารถช่วยสนับสนุนโดยขับเคลื่อนเม็ดเงินไปยังโครงการที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นตัวแปรสำคัญในการนำพาธุรกิจไปสู่การแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เครื่องมือของธนาคารคือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนในทุกมิติ เช่น Sustainability-Linked Bonds, Green Loans และ Green Deposit ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนให้กับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบแนวคิดการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล
นอกจากนี้บทบาทอีกด้านของภาคการเงิน คือการช่วยผลักดันมาตรฐานที่สำคัญ เช่น Taxonomy หรือการสร้าง KPI ในการติดตามผลด้านความยั่งยืนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้กู้และผู้ฝากเงิน
ตลาดทุนเชื่อมโยงผู้ลงทุนกับธุรกิจที่ยั่งยืน
ตลาดทุนต้องมีความพยายามในการพัฒนาสองด้าน ด้านแรกคือทำให้นักลงทุนอยากลงทุนในธุรกิจที่ยั่งยืน ส่วนด้านที่สองคือการทำให้ธุรกิจเห็นว่าการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมีความสำคัญ จากนั้นจึงทำให้ทั้งสองด้านมาบรรจบกันให้ได้
Invest to Express คือเทรนด์ของนักลงทุนสมัยใหม่ ที่เป็นการลงทุนเพื่อแสดงตัวตน เพราะอัตลักษณ์สำคัญของคนยุคใหม่คือการใส่ใจในเรื่องของโลก สังคม และความโปร่งใส (ESG)
นอกจากนี้ ในอนาคตข้อมูลด้านกิจกรรมความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนจะแพร่หลายมากขึ้น โดยกิจกรรมดังกล่าวจะต้องสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เพราะข้อมูลจะถูกนำมาสร้างเป็น Investment Matrix สำหรับใช้เป็นปัจจัยในการพิจารณาเลือกลงทุน รวมทั้งจะมีการสร้างดัชนี (Index) ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน อีกทั้งยังเป็นแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับนักลงทุนที่ใส่ใจในประเด็นความยั่งยืน
Sustainable Finance สำหรับภาคธุรกิจคือการลงมือทำจริง
ภาคธุรกิจมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะกิจกรรมทางธุรกิจส่งผลโดยตรงต่อภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยธุรกิจขนาดใหญ่สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำและริเริ่มการเปลี่ยนแปลงได้ทันที เนื่องจากมีทรัพยากรด้านต่างๆ พรั่งพร้อมกว่าธุรกิจขนาดเล็ก จึงมีศักยภาพที่จะลงทุนในโครงการที่สร้างความยั่งยืนได้ ธุรกิจขนาดใหญ่ยังสามารถปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจของตนได้อย่างรวดเร็วกว่า
การก้าวขึ้นมาเป็นต้นแบบให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเดินตามแนวทางได้ ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อน Sustainable Finance ในภาพรวมทั้งหมดให้เกิดขึ้น
อย่างกรณีศึกษา แนวทางตัวอย่างของ PTT Global Chemical ซึ่งให้ความสำคัญกับสามแนวทาง อย่างแรกคือ Efficiency-driven การใช้ทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจอย่างคุ้มค่า ไม่สิ้นเปลือง เพราะทรัพยากรมีอยู่จำกัด ต่อมาคือ Portfolio-driven การเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีความยั่งยืนเช่นธุรกิจคาร์บอนต่ำ และสุดท้าย Compensation-driven หรือการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้เพื่อทำประโยชน์โดยไม่ปล่อยสู่ธรรมชาติ เช่น เอาไปผลิตสินค้าอื่นเพิ่มเติม เป็นต้น
สำหรับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ บทบาทในการเป็นผู้ผลักดันด้านความยั่งยืนในกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดเล็กกว่าถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้โดยสร้างมาตรฐานการทำธุรกิจภายในห่วงโซ่อุปทาน โดยคาดว่าในอนาคต เราจะได้เห็นการดำเนินธุรกิจรายย่อยที่เปลี่ยนไปโดยหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น โดยนี่ถือเป็นโอกาสดีต่อธุรกิจที่มีแนวคิดใส่ใจในสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจขนาดเล็กยังคงต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคการเงิน อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าภาครัฐจะต้องมีแนวทางสร้างแรงจูงใจผ่านการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ในขณะที่ภาคการเงินก็จะต้องสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนในหลากหลายมิติมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ลงทุนต่อไป
มาถึงในวันนี้ สิ่งที่ทุกธุรกิจต้องตระหนัก ไม่ว่าคุณจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ คือการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอนในอีกไม่ช้า ดังนั้นการปรับตัว เปลี่ยนแปลง ตั้งรับ เตรียมพร้อม เพื่อดำเนินธุรกิจอย่างสอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืนยิ่งขึ้น จะทำให้สามารถเปิดประตูสู่โอกาสทางธุรกิจได้อีกมากมาย ทั้งยังจะได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องการผลักดันภูมิทัศน์ความยั่งยืนอีกด้วย
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับหลายเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงไม่มีทางที่เราจะสามารถผลักดันความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้จากหน่วยงานหรือภาคเศรษฐกิจใดเพียงอย่างเดียว
เวลานี้คือเวลาที่เหมาะสม ที่เราจะร่วมกันคนละไม้คนละมือ ลงมือทำทันทีเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อคงไว้ซึ่งโลกอันอุดมสมบูรณ์ ที่ซึ่งความยั่งยืนมิติต่างๆ เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจโลกอย่างมั่นคง