9 กุมภาพันธ์ 2566: สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย(UN Global Compact Network Thailand) ร่วมกับสหประชาชาติในประไทย (United Nations Thailand) จัดงาน CEO Forum on Sustainable Finance: Scaling Up Sustainable Finance Solutions for Accelerating Progress on the SDGs หรืองานประชุมผู้นำธุรกิจ ว่าด้วยการยกระดับการเงินที่ยั่งยืน เพื่อเร่งความก้าวหน้า SDGs ที่รวมซีอีโอ ผู้นำสหประชาชาติ สถาบันการเงิน นักลงทุน และหน่วยงานกำกับดูแลจากประเทศไทยร่วมมือยกระดับการเงินที่ยั่งยืน ชี้กลยุทธ์ทางการเงินและการตัดสินใจลงทุน เป็นปัจจัยเร่งความก้าวหน้าการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้านผู้นำ UNGC ประกาศเชื่อมั่นศักยภาพภาคธุรกิจในเอเชีย เล็งตั้ง UNGC Hub ระดับภูมิภาคที่กรุงเทพฯ
นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Suphachai Chearavanont Chairman of UN Global Compact Network Thailand) กล่าวว่า UNGCNT รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการ
จัดงาน CEO Forum ว่าด้วยการเงินที่ยั่งยืน เพราะภาคการเงินและนักลงทุนกำลังให้ความสนใจการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีอิทธิพลต่อธุรกิจมากขึ้น โดยกำลังพัฒนาเครื่องมือทางการเงินและการลงทุน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เพราะทุนทางธรรมชาติของเรา เป็นรากฐานของเศรษฐกิจโลกประมาณครึ่งหนึ่ง หากไม่มีระบบนิเวศทางธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพเพียงพอ การรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจและรับประกันความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรโลกจะเป็นเรื่องยาก โดยได้เสนอ 5 กลยุทธ์ ที่สามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ คือ การสร้างความตระหนักด้วยการกำหนดเป้าหมายและสื่อสารให้ชัดเจน การใช้กลไกตลาดเพื่อดึงดูดผู้บริโภค และมีส่วนร่วมกับพนักงาน รวมทั้งพันธมิตรในห่วงโซ่คุณค่า การมีผู้นำที่มุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อขับเคลื่อนองค์กร การเสริมพลังให้คนรุ่นใหม่รับมือกับความท้าทายด้านความยั่งยืน และการมีวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม
“ผมเชื่อว่าธุรกิจมีความรับผิดชอบและมีพลังที่จะลงมือทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ทั้งการลดการปล่อยมลพิษ การปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายศุภชัย กล่าว
นางซานด้า โอเจียมโบ ผู้ช่วยเลขาธิการ ซีอีโอ และผู้อำนวยการบริหาร ยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็ก (Sanda Ojiambo – Assistant Secretary-General and CEO of UN Global Compact) เปิดเผยว่า ไม่ว่าโลกจะมีความขัดแย้ง ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การขาดแคลนอาหารและพลังงาน รวมทั้งอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นกำลังกัดกร่อนความสำเร็จในการพัฒนาในทศวรรษที่ผ่านมา ความคืบหน้าเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้หยุดลง และในบางกรณี ถึงขั้นกลับตาลปัตร มนุษยชาติอยู่ในรหัสสีแดงและไม่มีเวลาให้เสียเปล่าอย่างแท้จริง แน่นอนว่า ภาคธุรกิจยังคงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องร่วมกันยกระดับการเงินที่ยั่งยืนให้เป็นหนึ่งในกลไกเร่งความก้าวหน้าของ SDGs แม้จะมีสถานการณ์เช่นนี้ เราเชื่อว่ามีเงินทุนมากมายในโลกที่จะจัดสรรได้ถึง 5-7 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อการบรรลุเป้าหมายระดับโลก โดยภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อน ด้วยประชากรมากกว่า 60% ของโลกและมากกว่า 2 ใน 3 ของการเติบโตทั่วโลกที่คาดการณ์ไว้ เห็นได้ชัดถึงศักยภาพในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงและทิศทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ UN Global Compact ที่มุ่งขยายพื้นที่ รวมทั้งเสริมสร้างการเติบโตของภูมิภาค โดยเตรียมเปิดตัว ศูนย์กลางของยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็ก สำหรับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย (UN Global Compact Asia & Oceania Reginal Hub) ที่กรุงเทพฯ เร็วๆนี้
“เราทราบดีว่าธุรกิจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้โดยลำพัง ศูนย์กลางระดับภูมิภาคแห่งใหม่ของเราในกรุงเทพฯ จะช่วยสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับธุรกิจ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสหประชาชาติ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนทั่วทั้งภูมิภาค” นางซานด้า กล่าว
ด้านนางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (Gita Sabharwal – United Nations Resident Coordinator in Thailand) กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นโอกาสในการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงความเป็นผู้นำของภาคธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียวในระดับประเทศและภูมิภาค สิ่งที่จะทำให้สามารถบรรลุการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้ ก็คือ การบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อเพิ่มการหมุนเวียน (Circularity) และลดรอยเท้าคาร์บอนทั่วทั้งกระดาน ซึ่งสหประชาชาติ กำลังช่วยเหลือความพยายามเหล่านี้ โดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และจัดประชุมให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อน
“ขณะนี้ เราอยู่กึ่งกลางของเส้นทางสู่เป้าหมาย SDGs ในปี 2030 และภาคธุรกิจจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการเร่งความสำเร็จของ SDGs ในประเทศไทย สิ่งสำคัญ คือ นักการเงินการธนาคาร นักลงทุน และผู้จัดการสินทรัพย์ จำเป็นต้องแสดงความเป็นผู้นำ ด้วยการปลดล็อกการจัดหาเงินทุนภายในประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” นางกีต้า กล่าว
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (Ruenvadee Suwanmongkol, Secretary-General of the Securities and Exchange Commission) กล่าวว่า ในขณะที่ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียว เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)ให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็วนั้น ภาคเอกชนก็มีบทบาทสำคัญในการจัดการและประเมินค่าความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ
มีการจัดสรรเงินทุนไปสู่โครงการที่เป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนดังกล่าวต่อสาธารณะ ซึ่งจะช่วยให้มีจำนวนบทวิเคราะห์ด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การมี Taxonomy ในระดับประเทศและภูมิภาคจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับระบบนิเวศทางการเงิน นอกจากนี้ ความร่วมมือของหน่วยงานภาคการเงินและตลาดทุน จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Economy) อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในโครงการสีเขียวและการบรรลุเป้าหมาย SDGs ต่อไป
งาน CEO Forum ครั้งนี้ ยังมีการเสวนาโต๊ะกลม (CEO Roundtable) โดยมีซีอีโอจากองค์กรสมาชิก UNGCNT มากกว่า 20 องค์กรร่วมพูดคุยถึงโอกาสและความท้าทายในการยกระดับกลยุทธ์ด้านการเงินและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน อาทิ กลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเอสเอชบีซี โดยผู้นำธุรกิจส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า ขณะนี้ ความยั่งยืน คือใบอนุญาตที่แต่ละธุรกิจจะต้องบริหารจัดการ นอกเหนือจาก ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของงาน (Key Performance Indicator) องค์กรต้องให้ความสำคัญกับดัชนีชี้วัดเป้าหมายความยั่งยืน (Key Impact Performance) โดยการเปลี่ยนผ่านนี้ต้องเกิดขึ้นทั่วองค์กร และขยายขอบเขตไปทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุด คือ การบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่มีความท้าทายใหญ่อยู่ที่การบริหารจัดการ Scope 3 ดังนั้น การส่งเสริมเรื่องการเงินที่ยั่งยืน จึงต้องครอบคลุมถึง suppliers ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาสามารถปฏิบัติตามแนวทางของความยั่งยืนได้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืน เทคโนโลยี และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งองค์กรขนาดใหญ่ และ SMEs เอง เพราะปัจจุบัน ผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ทั้งในประเด็นของจริยธรรมและการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยิ่งไปกว่านั้น ภาคการเงิน ธนาคาร และนักลงทุน ก็สนใจที่จะลงทุนในโครงการที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนมากขึ้น
โดยหากภาคการเงินสามารถทำงานคู่ไปกับภาคธุรกิจ จะสามารถระดมเงินทุนจำนวนมากได้ ดังเช่น ความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรสถาบันการเงินที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Just Energy) หรือความร่วมมือเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ของบริษัทจัดการสินทรัพย์ที่จัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า Climate Asset Management ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเป็นบริษัทจัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มุ่งเน้นการลงทุนในธรรมชาติ (Natural Capital) และโครงการคาร์บอนต่ำ
CEO Forum ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งคิดเป็น 90% ของธุรกิจและมากกว่า 50% ของการจ้างงานทั่วโลก
เป็นเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานที่กว้างขวาง ที่ได้รับการยอมรับว่ามีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมถึงในประเทศไทย ในช่วง SME Roundtable มีตัวแทนจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ร่วมแลกเปลี่ยน โดยผู้นำ SMEs ได้ตอกย้ำถึงบทบาทในการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน แต่มีข้อจำกัดด้านเงินทุนที่ไม่ได้มีมากเท่ากับ
ภาคธุรกิจใหญ่ จึงมีความยากในการปรับเปลี่ยน และเห็นว่าควรสนับสนุนให้ SMEs วางแผนระยะยาว เพื่อเพิ่มมูลค่ามากกว่าหาผลกำไรระยะสั้น อย่างไรก็ตาม SMEs ก็ยังต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้น และเห็นว่าหากสามารถทำให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินที่มากขึ้น จะกระตุ้นให้สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิต ความรู้ และเครื่องมือที่ดีขึ้น เพื่อปรับปรับผลผลิตให้ยั่งยืนยิ่งขึ้นด้วย