ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) หมายถึง การมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดอาศัยอยู่ในขอบเขตพื้นที่เดียวกัน ความหลากหลายทางชีวภาพนำมาซึ่งบริการทางระบบนิเวศ ซึ่งเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ตั้งแต่อาหาร เชื้อเพลิง น้ำสะอาด ยารักษาโลก ตลอดจนการผลิตออกซิเจนในบรรยากาศ การหมุนเวียนสารอาหาร และการควบคุมระบบภูมิอากาศ ทั้งหมดล้วนเป็นประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับจากระบบนิเวศทั้งสิ้น
ความหลากหลายทางชีวภาพนับเป็น “ต้นทุน” ที่มีคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การมีทรัพยากรที่หลากหลายนับเป็นจุดขายสำคัญ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการผลิต ความอุดมสมบูรณ์ของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ คือหัวใจสำคัญของการมีวัตถุดิบที่หลากหลาย สำหรับใช้ผลิตและต่อยอดเป็นสินค้ามากมาย
ความน่ากังวลก็คือ ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง ไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา จำนวนพืชและสัตว์ในหลายพื้นที่ลดลงเป็นประวัติการณ์ บางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์และระบบเศรษฐกิจโลก
GCNT ชวนถอดรหัสการปรับตัว เมื่อความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็น “ต้นทุนทางเศรษฐกิจ” แขวนอยู่บนเส้นด้าย คนทำธุรกิจต้องปรับ-เปลี่ยน-พลิกโฉมอย่างไร ให้ทั้งธุรกิจของคุณและเศรษฐกิจโลกยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้
01 ต้นทุนทรัพยากรที่กำลังวิกฤต
วิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) นับเป็น 1 ใน 3 วิกฤตฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมของโลกควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหามลภาวะ
Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services (IPBES) คือองค์กรอิสระระหว่างรัฐบาลชี้ว่าในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมา 75 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นผิวดินที่ปราศจากน้ำแข็งของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ มหาสมุทรส่วนใหญ่มีมลพิษ และพื้นที่ชุ่มน้ำมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ได้ถูกทำลายลง
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดิน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผืนป่าจำนวนมากทั่วโลกเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว การตักตวงผลผลิตจากทรัพยากรธรรมชาติมากและเร็วกว่าที่จะฟื้นฟูตามธรรมชาติได้ และการแพร่กระจายของชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
World Wide Fund for Nature (WWF) ที่ได้ศึกษาวิจัยข้อมูลสัตว์ป่ากว่า 5,000 สปีชีส์เป็นเวลาเกือบ 50 ปี ระบุว่าปัจจุบันประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลง 69 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 2 ใน 3 นับตั้งแต่ปี 1970 โดยพื้นที่ที่เผชิญปัญหามากที่สุดคือประเทศในแถบลาตินอเมริกา และคาริบเบียนที่ประชากรสัตว์ป่าลดลงไปแล้วถึง 94 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เอเชียและแปซิฟิกลดลง 55 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ ภาวะโลกร้อน การแปรปรวนของฤดูกาลต่างๆ ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพยิ่งแย่ลง เพราะมันได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในพื้นที่ต่างๆ เช่น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย มหาสมุทรเป็นกรด ภูมิประเทศกลายเป็นทะเลทราย ทำให้เกิดการสูญเสียสายพันธุ์ท้องถิ่น เพิ่มความเสี่ยงของโรคต่างๆ ส่งผลให้พืชและสัตว์จำนวนมากล้มตาย
02 ทิศทางเศรษกิจโลกที่ต้องโฟกัสมากกว่าเรื่องเงิน
ตามที่ United Nations Environment Programme (UNEP) ประเมินไว้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลกกว่าครึ่งหนึ่งต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ วิกฤตนี้จึงไม่เพียงส่งผลต่อพืชและสัตว์ แต่จะส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เช่น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนำไปสู่การลดลงของความอุดมสมบูรณ์ของดิน การผสมเกสร และการควบคุมศัตรูพืช ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ล้วนจำเป็นต่อการผลิตพืชผล หากไม่มีปัจจัยังกล่าว ผลผลิตทางการเกษตรจะลดลง และนำไปสู่การขาดแคลนอาหารในที่สุด
ในขณะเดียวกัน ประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวอย่างประเทศไทย ซึ่งเคยมีความหลากหลายทางชีวภาพมากมาย เมื่อความอุดมสมบูรณ์เหล่านั้นลดลง ความสวยงามทางธรรมชาติและสัตว์ป่าที่เป็นเอกลักษณ์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวอาจหายไป ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้จากการท่องเที่ยว นอกจากนี้ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพยังลดการปกป้องทางธรรมชาติ ทำให้พื้นที่เปราะบางต่อภัยพิบัติมากขึ้น โดยน้ำท่วม ดินถล่ม หรือพายุ ที่เกิดถี่และรุนแรงขึ้น จะสร้างความเสียหายต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคม
ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการพัฒนาธุรกิจให้เศรษฐกิจโลกยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้ เราจึงต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม (Transformative Change) ให้เกิดขึ้น
ในระดับโลก การประชุมสมัชชาองค์การสหประชาชาติ สมัยที่ 73 ได้การกำหนดวิสัยทัศน์ปี 2050 เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้องและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ รวมถึงประกาศให้ปี 2021 ถึง 2030 เป็นศตวรรษแหงการฟื้นฟูระบบนิเวศ (UN Decade on Ecosystem Restoration) และเมื่อปีที่ผ่านมา ณ การประชุมสมัชชาภาคีว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสมัยที่ 15 (CBD COP 15) ก็มีการรับรอง กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลกขึ้น
โดยสาระสำคัญของกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ มีการกำหนดเป้าประสงค์ไว้ 3 ข้อ คือ
สำหรับประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) คือหน่วยงานหลักของทุกภาคส่วนในการจัดทำกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพ (NBSAP) ซึ่งเป็นแผนระยะ 5 ปี ควบคู่ไปกับการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาว เพื่อบูรณาการการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพเชื่อมโยงกับการแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
โดยล่าสุด สผ. ได้ร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดเวิร์คช็อปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาส ความท้าทาย และช่องว่างในการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯขึ้น เพื่อจัดลำดับความสำคัญว่าประเทศไทยควรให้น้ำหนักกับการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพในทิศทางใดบ้าง ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวต่อเนื่องไปสู่ปี 2050
03 ธุรกิจของคุณคือกุญแจสู่ระบบนิเวศที่ยั่งยืน
ในมุมของภาคเอกชน ความหลากหลายทางชีวภาพอาจเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในแผนการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตามวิกฤตฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ผลักดันให้โลกเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลง และธุรกิจที่นำแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพมาใช้อย่างจริงจังจะได้เปรียบทางการแข่งขันในอนาคต เพราะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่ทำกำไรควบคู่ไปกับการสนับสนุนระบบนิเวศได้ นอกจากนี้ เมื่อธุรกิจตอบสนองความต้องการของสาธารณะในการมุ่งสู่ความยั่งยืน ธุรกิจนั้นๆ ก็จะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ ได้มากขึ้นอีกด้วย
ในปัจจุบัน บริษัทต่างๆ ควรให้ความรู้แก่พนักงานและพันธมิตรทางธุรกิจ เกี่ยวกับความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และฝึกอบรมให้ทุกคนตัดสินใจด้วยการให้น้ำหนักกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ขณะเดียวกันผู้บริหารมีหน้าที่ที่จะต้องรวมเป้าหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เข้ากับกลไกการกำกับดูแลที่มีอยู่เพื่อให้แน่ใจว่าในเป้าหมายสีเขียวเหล่านี้ได้รับความสนใจเช่นเดียวกับ KPI ด้านการเงิน และมันสำคัญมากที่บริษัทจะต้องร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจในการแบ่งปันความรู้ รวบรวมทรัพยากร เพื่อเอาชนะอุปสรรคด้านต้นทุนและเทคโนโลยี
Boston Consulting Group (BCG) นำเสนอขั้นตอนการดำเนินการใน 3 ด้าน เพื่อสร้างธุรกิจที่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ
ด้านที่ 1 รอยเท้าความหลากหลายทางชีวภาพ บริษัทต่างๆ ควรกำหนดเป้าหมายในการบรรเทาผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีลำดับชั้น (Mitigation Hierarchy) เริ่มจากพยายามหลีกเลี่ยงการแทรกแซงความหลากหลายทางชีวภาพในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ บริษัทควรหาทางชดเชยผลกระทบดังกล่าว ด้วยการฟื้นฟูระบบนิเวศหรือสนับสนุนการฟื้นฟูตามธรรมชาติ รวมถึงสนับสนุนให้ซัพพลายเออร์และผู้มีส่วนได้เสีย ใช้ที่ดินและดําเนินงานในทุกพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรับผิดชอบ
ด้านที่ 2 การประยุกต์นวัตกรรม ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีล้ำสมัยช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง รวมถึงลดการส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศได้
เช่น การเพาะพันธุ์พืชที่มีความทนทานต่อแมลงศัตรูพืชมากขึ้นและมีการดูดซึมปุ๋ยที่ดีขึ้นของบริษัทด้านการเกษตร ช่วยลดการใช้สารเคมีที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้ของบริษัทบรรจุภัณฑ์ และการเลิกใช้วัสดุเป็นพิษในบริษัทแฟชันที่ช่วยลดปริมาณ microfibers ที่จะตกค้างในระบบนิเวศตามธรรมชาติ
ด้านที่ 3 การสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพเชิงรุก ภาคเอกชนควรทำงานสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพที่นอกเหนือไปจากธุรกิจหลักของตัวเองด้วย ผ่านการรับผิดชอบการดูแลผืนป่าหรือท้องทะเลในพื้นที่ที่เฉพาะเจาจง โดยทำการจัดหาเงินทุน ขับเคลื่อนการแบ่งปันความรู้และทำงานร่วมกับชุมชนรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เช่น Marks & Spencer บริษัทค้าปลีกรายใหญ่สัญชาติอังกฤษ ประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกับ WWF และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก โดยได้เข้าไปแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำรวมถึงปรับปรุงธรรมาภิบาลในการจัดการน้ำ (Water Governance) ในหลายภูมิภาค ทั้งยังขับเคลื่อนการทำไร่สตรอเบอรี่อย่างยั่งยืนในประเทศสเปน
ที่ผ่านมากิจกรรมของมนุษย์มุ่งเน้นไปที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลักดันให้เกิดการทำลายล้างและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนเป้าหมายในการขับเคลื่อนพลวัตของโลก ให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อมกับเศรษฐกิจ อาศัยความเข้าใจในธรรมชาติ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพเป็นฐาน คือหัวใจเดียวที่จะทำให้ธุรกิจของคุณและโลกมุ่งไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
ข้อมูลอ้างอิง