Sustainable Finance ระบบการเงินโลกที่เปลี่ยนไป คือหัวใจของเศรษฐกิจและธุรกิจที่ยั่งยืน

Article


ทุกวันนี้ ทั่วโลกให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบ ด้วยกระแสหลักใหม่ที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจ และหัวใจของการขับเคลื่อนนี้ก็คือ Sustainable Finance หรือการเงินเพื่อความยั่งยืน

การเงินเพื่อความยั่งยืนคือการลงทุนที่มอบคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และมูลค่าทางเม็ดเงินจากการประกอบธุรกิจ สร้างผลตอบแทนในระยะยาวและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกใบนี้ เนื่องจากภาคการเงินคือตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบ ดังนั้นการเงินเพื่อความยั่งยืนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริงในระยะยาว 

ทุกวันนี้คงเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนั้น ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งภาคธุรกิจและการเงิน อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันภาคธุรกิจและการเงินก็เป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการลงมือทำในเรื่องนี้ 

นี่จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านการเงินและการลงทุนที่ทุกธุรกิจหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการเงินต้องให้คุณค่าและปรับตัว ก่อนเสียโอกาสในโลกอนาคต



01 ระเบียบการเงินโลก และแนวการลงทุนที่เปลี่ยนไป

ในระดับโลก สหภาพยุโรปมีการกำหนดนโยบายและเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน ซึ่งเป็นต้นแบบให้ประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ปรับตัวตาม โดยปี 2023 เป็นวาระครบรอบ 5 ปี ของ Sustainable Finance Action Plan (SFAP) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อปรับกระแสเงินทุนไปสู่การลงทุนที่ยั่งยืน จัดการความเสี่ยงทางการเงินที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การร่อยหรอของทรัพยากร ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และปัญหาสังคม รวมถึงส่งเสริมความโปร่งใสในกิจกรรมทางการเงินและเศรษฐกิจ 

และนี่คือตัวอย่างกฎระเบียบทางการเงินใหม่ๆ ที่หน่วยงานกำกับดูแลของสหภาพยุโรปนำมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมาย SFAP ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

  • Sustainable Finance Disclosure Regulation (SFDR) เกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลการลงทุนอย่างยั่งยืนที่นำเสนอกรอบการทำงานที่มุ่งเน้นที่สาระสำคัญมากกว่าทางการเงินเท่านั้น เช่น ผลกระทบของความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่มีต่อองค์กร

  • Green Taxonomy การกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจโดยอ้างอิงจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อช่วยประเมินว่ากิจกรรมใดเป็นการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

  • Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) ข้อกำหนดให้องค์กรขนาดใหญ่เผยแพร่รายงานการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อประเมินผลประกอบการที่ไม่เกี่ยวกับการเงิน มีผลบังคับใช้กับองค์กรที่มีรายได้สุทธิ 40 ล้านยูโร และมีพนักงานมากกว่า 250 คน โดยมีองค์กรที่เข้าเกณฑ์นี้มากถึง 50,000 องค์กร ในปีต่อๆ ไป CSRD จะขยายไปยังบริษัทขนาดเล็ก และบริษัทนอกภูมิภาคที่ซื้อขายในตลาดภายใต้กฎหมายของยุโรป
  • EU Climate Transition Benchmarks และ EU Paris-Aligned Benchmarks เครื่องมือทางการเงินเพื่อส่งเสริมการไหลเวียนของเงินทุนไปสู่กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนที่กว้างขึ้นของสหภาพยุโรป โดยถูกออกแบบมาเพื่อวัดความเข้มข้นของคาร์บอนในพอร์ตการลงทุน และเพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนสอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีสเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามลำดับ

นอกจากการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแล ปัจจุบันนักลงทุนในสหภาพยุโรปมีความตื่นตัวและใส่ใจเรื่องการเงินเพื่อความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพวกเขาลูกค้าต้องการผลิตภัณฑ์และโซลูชันการลงทุนที่ยั่งยืนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกองทุน พอร์ตการลงทุน ตลอดจนกลยุทธ์การลงทุนที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาที่ยั่งยืน และการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ

เช่นเดียวกับกลุ่มคนทั่วไป พวกเขามีส่วนร่วมในการผลักดันให้บริษัทและอุตสาหกรรมต่างๆ ทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ผ่านการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เลิกสนับสนุนผลิตภัณฑ์หรือบริษัทที่ไม่ยั่งยืน และสนับสนุนองค์กรที่นำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้อย่างจริงจัง



02 Thailand Taxonomy ธุรกิจไทยต้องจับตาและตามให้ทัน

นโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศมุ่งเป้าไปที่การดูแลสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน สำหรับประเทศไทย แม้ความตระหนักยังไม่แพร่หลายเท่าประเทศพัฒนา และโครงสร้างพื้นฐานก็มีความพร้อมน้อยกว่า แต่การขับเคลื่อนการเงินเพื่อความยั่งยืนก็นับว่ามีความก้าวหน้า 

เมื่อปี 2021 ได้มีการเผยแพร่แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) เพื่อกำหนดกรอบและทิศทางในการขับเคลื่อนที่สอดคล้องกัน โดยมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจและสังคมในระยะยาว รวมถึงสนับสนุนการดําเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี (ESG) 

ที่ผ่านมาก็มีแผนส่งเสริมกิจกรรม ESG ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เช่น การออกหลักเกณฑ์สำหรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) แม้จะมีการตื่นตัวในเรื่องนี้ แต่ความท้าทายคือปัจจุบันแต่ละภาคส่วนมีความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ทําให้การขับเคลื่อนการดําเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดสรรเงินทุนยังไม่ตรงจุด และอาจนําไปสู่การกล่าวอ้างเกินจริงว่ามีการดําเนินการด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว (Greenwashing) 

ล่าสุดเมื่อปี 2022 จึงมีการออกร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (Thailand Taxonomy) ฉบับแรกขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจตรงกันและมีจุดอ้างอิงในการกําหนดนโยบาย วางแผนเชิงกลยุทธ์ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริการอย่างมีมาตรฐาน ช่วยกําหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสอดคล้องกับบริบทของไทย รวมถึงช่วยจัดสรรเงินทุนให้ภาคธุรกิจที่ต้องการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่าน

สถาบันการเงิน สามารถนํา Taxonomy ไปใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ กระบวนการประเมินความเสี่ยง และการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม 

ภาครัฐและผู้กํากับดูแล สามารถใช้ Taxonomy ออกแบบมาตรการจูงใจด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มประเภทธุรกิจ 

ภาคเอกชน สามารถใช้ Taxonomy ประเมินสถานะความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและหาทางเลือก รวมถึงวางแผนในการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม 

แม้หลายประเทศจะกำหนด Taxonomy ขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ด้วยบริบทที่แตกต่างกัน ไทยจึงไม่สามารถนำเกณฑ์เหล่านั้นมาใช้ได้ทั้งหมด ร่าง Taxonomy ของไทยเป็นแบบจัดหมวดหมู่ตามเกณฑ์การคัดกรองทางเทคนิค (Technical Screening Critiria-Based Taxonomies) ใกล้เคียงกับของสหภาพยุโรป 

โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Mitigation) ครอบคลุมทั้งหมด 22 กิจกรรมจาก 2 ภาคเศรษฐกิจ ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 68 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งประเทศ นั่นคือ ภาคการขนส่งและภาคพลังงาน เช่น การขนส่งทางรถไฟฟ้า การขนส่งทางบกและการขนส่งทางทะเล การผลิต การส่ง และการจ่ายไฟฟ้า 

ร่าง Taxonomy จะแบ่งการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมต่างๆ ออกเป็น 3 ระดับ คือ สีเขียว กิจกรรมที่ทำให้ก๊าซเรือนกระจกลดลง เช่น ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ไฟฟ้าพลังงานลม และรถไฟฟ้า EV สีเหลือง กิจกรรมที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การบินระยะไกล และการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ สีแดง กิจกรรมที่ไม่ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ถ่านหิน และน้ำมัน โดยหลังจากดำเนินงานในระยะแรกที่มุ่งเน้น ภาคการขนส่งและภาคพลังงาน คณะทำงานจะเริ่มพิจารณาถึงระยะที่ 2 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะขยายไปสู่ภาคการผลิตและภาคเกษตร



03 ลงทุน ESG สร้างตลาดและโอกาสใหม่ให้ธุรกิจ 

ในระดับธุรกิจ ตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญต่อ Sustainable Finance คือตำแหน่ง CFO ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในการนำเงินบริษัทมาลงทุนให้เป็นรูปธรรม ปัจจุบัน CFO จากหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในบ้านเราได้เปลี่ยนบทบาทการทำงานมาจาก Chief Finance Officer มาเป็น Chief of Sustainability เพื่อนำปัจจัยด้าน ESG มาบริหารการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ 

  • โอกาสในตลาดการแข่งขัน การเงินที่ยั่งยืนไม่เพียงช่วยจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ธุรกิจ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทของคุณในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ช่วยเพิ่มชื่อเสียงในหมู่ลูกค้า นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าแบรนด์
  • โอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ปัจจุบันนักลงทุนจำนวนมาก รวมถึงนักลงทุนสถาบันและผู้จัดการสินทรัพย์ ต่างรวมปัจจัยด้าน ESG เข้ากับการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น การปฏิบัติตามหลักการเงินที่ยั่งยืน จะดึงดูดนักลงทุนและทำให้บริษัทเข้าถึงเงินทุนที่เน้นการลงทุนที่ยั่งยืนโดยเฉพาะ

ลองตอบคำถามเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อเน้นย้ำความแน่วแน่ในการนำปัจจัยด้าน ESG มาบริหารการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ 

  • บริษัทของคุณมีพนักงานและทีมผู้บริหารที่หลากหลายหรือไม่?
  • บริษัทของคุณให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมและโอกาสที่เท่าเทียมกับพนักงานทุกระดับหรือไม่?
  • สภาพแวดล้อมในการทำงานปราศจากการเลือกปฏิบัติและการคุกคามทุกรูปแบบหรือไม่?
  • บริษัทของคุณดำเนินตามแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่? เช่น ริเริ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน วางแผนใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การดำเนินธุรกิจของคุณเป็นไปอย่างโปร่งใสต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนพนักงาน ผู้บริโภค ผู้ขาย และนักลงทุนหรือไม่?

ในระยะอันใกล้ เราจะได้เห็นการเงินเพื่อความยั่งยืนเกิดขึ้นในธุรกิจทุกขนาดทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอนในอีกไม่ช้า ดังนั้นการปรับตัว เปลี่ยนแปลง ตั้งรับ เตรียมพร้อม เพื่อดำเนินธุรกิจอย่างสอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืนยิ่งขึ้น จะทำให้สามารถเปิดประตูสู่โอกาสทางธุรกิจได้อีกมากมาย 



ข้อมูลอ้างอิง

ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้