ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การส่งเสริมการดำเนินงานและสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นหัวข้อสนทนาที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างเร่งด่วนในด้านความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคธุรกิจในประเทศไทยจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และปกป้องสิทธิมนุษยชน
ภายในงานสัปดาห์ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (BBHR Week) ประจำปี 2566 ผู้แทนของภาคธุรกิจได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน วัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร และอสังหาริมทรัพย์ได้ร่วมเสวนากันในหัวข้อ “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน: ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความท้าทายและความร่วมมือ เพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม” แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่บริษัทได้มีการดำเนินงานที่ผ่านมา ความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือเพื่อโลกที่ดีและยั่งยืนยิ่งขึ้น
ความร่วมมือเพื่อโลกที่ดีกว่า
เพื่อจัดการกับความท้าทายที่ซับซ้อนที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ รัฐบาล ภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญ ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทยล้วนมีบทบาทสำคัญและได้เปิดรับแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืน และร่วมมือกันในการแก้ปัญหา ประสานความร่วมมือในหลายรูปแบบ
บริษัท สิงห์ เอสเตท จํากัด (มหาชน) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจที่พักอาศัย ธุรกิจโรงแรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ธุรกิจอาคาร สำนักงาน ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า “...ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มมูลนิธิโลกสีเขียว และ IUCN เพื่อการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพป้องกัน Biodiversity Loss ให้ความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ อาทิ สัตว์หายาก โดยให้ความรู้กับชุมชนผ่านตัวอย่างใกล้ตัว แทนการพูดเรื่องที่ชุมชนเข้าถึงยากอย่าง Net Zero”...คุณศิริธร ธํารงนาวาสวัสดิ์ ผู้อํานวยการฝ่ายภาพลักษณ์องค์กร และการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท สิงห์ เอสเตท จํากัด (มหาชน)
รวมทั้งโครงการบริหารจัดการขยะ ตั้งเป้า Zero to Landfills มีการทำตารางขยะ ป้องกันขยะออกสู่ทะเลและแม่น้ำลำคลองในทุกกลุ่มธุรกิจ การก่อสร้างในเมืองสามารถส่งผลกระทบถึงทะเล รวมถึงการบริหารจัดการนํ้า Zero discharge เน้นการใช้ทรัพยากรน้ําอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกโครงการของบริษัท ไม่มีการปล่อยน้ำลงในพื้นที่น้ำแหล่งน้ำธรรมชาติ
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) ร่วมกับศุภาลัย พัฒนานวัตกรรมที่อยู่อาศัยสีเขียว บ้านและคอนโด ศุภาลัย สู่สังคมรักษ์โลก ขับเคลื่อนสินค้า SCG Green Choice เข้าสู่ value chain ช่วยลดโลกร้อน ลด CO2 จากกระบวนการผลิตวัสดุ 564 ตัน เทียบเท่าปริมาณ ดูดซับ CO2 ของต้นไม้ 47,000 ตัน ภายใน 1 ปี และลดการใช้น้ําในครัวเรือน 516,787,053 ลิตร/ต่อปี ประหยัดน้ําจากการผลิตวัสดุ 7,650,132 ลิตร ช่วยลดคาร์บอนที่ใช้ในการก่อสร้าง
จากช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมา บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) ได้มีความพยายามลดความเหลื่อมล้ำผ่านโครงการต่างๆ อาทิ พลังชุมชน ช่วยสร้างอาชีพคนตกงาน กลุ่มแม่บ้านใกล้โรงงานกระจายผลิตภัณฑ์สู่ตลาด เช่น จำหน่ายคุกกี้ อาหารผ่านแพลตฟอร์ม market place รวมถึงคนขับแท็กซี่ที่ตกงานในช่วงโควิด มีโครงการยกระดับ up skill สู่ทักษะขับรถบรรทุกผ่านโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ ซึ่งเป็น Network ของบริษัท โดยตั้งเป้าพัฒนาทักษะจำเป็น สร้างงานกว่า 20,000 อัตรา สู่ชุมชนและ SMEs ภายในปี 2025
นวัตกรรมและการวิจัย เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว พลังงานหมุนเวียน และวัสดุที่ยั่งยืนสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ การทำงานร่วมกันระหว่างธุรกิจ สถาบันวิจัย และหน่วยงานของรัฐสามารถส่งเสริมการพัฒนาและการนำนวัตกรรมไปใช้ได้
“แอปพลิเคชันเกษตรเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนให้เกษตรกร” คือความร่วมมือระหว่าง บริษัท ซันสวีท จํากัด (มหาชน) กับ บริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) จำกัด นำเทคโนโลยีประมวลผลและจัดการข้อมูลเกษตรกรพยากรณ์อากาศล่วงหน้า เพื่อจัดการโรค แมลงและการใช้สารเคมีให้เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ภัยน้ำท่วม ซึ่งส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรโดยตรง
“สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงมีผลกระทบโดยตรงกับกลุ่มเกษตรกร จึงเกิดความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเกษตรกรให้เก็บเกี่ยวผลผลิตมากขึ้น มีการสร้างข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท ล็อกซเล่ย์ จํากัด (มหาชน) ในการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยํา (Precision Agriculture) และระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะ IoT Sensor (Internet of Things Sensor) เพื่อวิเคราะห์การให้น้ำอย่างเหมาะสมประหยัดปริมาณน้ำ รวมทั้งพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์สํารวจระยะไกลด้วยอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) หรือ โดรน ซึ่งร่วมมือกับ บริษัท สกาย วีไอวี จํากัด พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลภาพถ่าย และข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อใช้สนับสนุนระบบการเพาะปลูกข้าวโพดหวานแบบอุตสาหกรรม ในอดีตการโดรนใช้พ่นยามีราคาสูง จึงมีการรวมกลุ่มตัวแทนกลางให้บริการโดรนพ่นยากับเกษตรกรช่วยประหยัดจากเดิม 500-600 บาท เหลือราคาต่ำกว่า 100 บาท” …คุณพัลลภ บุญถึง ผู้อํานวยการฝ่ายบริหารทั่วไป บริษัท ซันสวีท จํากัด (มหาชน)
การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงชุมชนท้องถิ่น ชนพื้นเมือง และองค์กรพัฒนาเอกชน มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของการดำเนินธุรกิจ การปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมที่มีความหมายสามารถนำไปสู่การตัดสินใจอย่างรอบรู้ที่ดีขึ้น และการระบุเป้าหมายและวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน
ปัจจุบัน บริษัท ซันสวีท จํากัด (มหาชน) ได้สร้างหลักสูตรวิชาข้าวโพดหวาน โดยความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ กับศูนย์การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อําเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวโพดหวานทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติแก่เกษตรกรและชุมชนภายในพื้นที่ 50 กิโลเมตร รอบโรงงาน ได้เรียนวิชาข้าวโพดหวานคุณภาพ โดยความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ กับสหกรณ์การเกษตรดอยหล่อ พัฒนา จํากัด
สิงห์ปาร์ค ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท สิงห์ เอสเตท จํากัด (มหาชน) บนพื้นที่ 9,000 ไร่ เป็นโครงการพื้นที่ป่ารอยต่อกับอุทยานแห่งชาติ มีความสำคัญเป็นแนวกันไฟในกรณีเกิดไฟป่า ป่ารอยต่อจะทำหน้าที่ป้องกันไฟไม่ให้ลามไปยังพื้นที่ชุมชน เป็นความร่วมมือกับจังหวัด อุทยาน และยังเป็นแหล่งบึงน้ำขนาดใหญ่ในกรณีที่มีไฟป่าสามารถใช้น้ำในการรดน้ำดับไฟป่า
การสนับสนุนด้านนโยบาย
ธุรกิจสามารถสนับสนุนความคิดริเริ่มด้านนโยบายที่ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การดำเนินการด้านสภาพอากาศ และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมกับผู้กำหนดนโยบายและสนับสนุนกรอบการกำกับดูแลที่ส่งเสริมการปฏิบัติที่ยั่งยืนสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ธุรกิจเติบโตในขณะที่ลดผลกระทบด้านลบให้น้อยที่สุด
คุณมลิวัลย์ ธนะบรรณ ผู้จัดการ-บริการงานทรัพยากรบุคคล ได้นำเสนอถึง กลุ่มบริษัท ไทยออยล์ จํากัด (มหาชน) ซึ่งนำหลักเกณฑ์ UN Guiding principles มาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการการบริหารงานภายในองค์กร ตั้งแต่วิสัยทัศน์จนถึงการจัดทำรายงาน มีการบูรณาการเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดําเนินงานเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ของกลุ่มไทยออยล์
ยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก (Enhance Clean Environment) ควบคู่ไปกับการสร้างความผูกพัน ตลอดจนสร้างคุณค่าต่อชุมชนและสังคม เพื่อเติบโตร่วมกันในระยะยาว (Engage Society) ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคม พร้อมเสริมสร้างศักยภาพองคนในชุมชนรอบโรงกลั่นและสังคม ทั้งด้านการศึกษา การสร้างอาชีพ วิถีชีวิต ระบบสาธารณสุขและการเข้าถึงพลังงานสะอาดตลอดจนการเสริมสร้างความสัมพันธ์ และคุณภาพชีวิตที่ดีต่อชุมชนและสังคม
ในส่วนของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) ได้ดำเนินนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนด้วย SCG's 4 Core Values “...เน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเป็นสำคัญ รวมถึงประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพหากปราศจากนโยบายจากภาครัฐมาสนับสนุน Equality Diversity Inclusiveness การอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย และความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมไปด้วยกัน ความรู้ความเข้าใจที่ต้องทำให้เกิดขึ้น เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายอันสามารถสร้างอิมแพคมากกว่าในสังคมเชิงกว้าง”...คุณณัฐวุฒิ อินทรส ผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาอย่างยั่งยืน สํานักงานพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน)
บทสรุป
ธุรกิจในประเทศไทยมีหน้าที่รับผิดชอบในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการโอบรับแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน การส่งเสริมนวัตกรรม การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการสนับสนุนนโยบายสนับสนุน ภาคธุรกิจสามารถมีส่วนร่วมในโลกที่ดีขึ้นสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต การทำงานร่วมกันและความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ รัฐบาล ภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่นมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การปกป้องสิทธิมนุษยชน และสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราสามารถสร้างภาคธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ซึ่งไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังปกป้องสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง