รู้จัก ‘Capital Approach’ การจัดการทรัพยากรมนุษย์ ทุนทางสังคม และทุนธรรมชาติ เพื่อพัฒนาธุรกิจให้ยั่งยืน

Article


การเปลี่ยนแปลงระบบอาหารคือความท้าทายที่สําคัญ ปี 2050 โลกจะมีประชากรประมาณ 9 พันล้านคน เราจึงต้องสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อให้เพียงพอกับจํานวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสมดุลธรรมชาติไปพร้อมกับการสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและสังคมที่สงบสุข

หนึ่งในเส้นทางสู่การพัฒนาระบบผลิตอาหารให้มีความยั่งยืนและเท่าเทียม คือ ‘การทำให้คุณค่าของธรรมชาติปรากฏให้เห็น’ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา โครงการริเริ่มระดับโลกอย่าง TEEB (Economics of Ecosystems and Biodiversity) โดย UNEP ได้ขับเคลื่อนมาโดยตลอด

และต่อมาโครงการได้เปิดตัว TEEB เพื่อการเกษตรและอาหาร (TEEBAgriFood) เพื่อให้มีการใช้หลักการและวิธีการของ TEEB กับภาคเกษตรกรรม โดยคํานึงถึงผลกระทบและการพึ่งพาของภาคส่วนนี้ต่อธรรมชาติและการดํารงชีวิตของมนุษย์

UNGCNT สรุปกรณีศึกษาธุรกิจการเกษตรจากหลากหลายประเทศที่เข้าร่วมอบรม ‘กรอบการประเมินทฤษฎีทุนของ TEEBAgriFood’ ซึ่งกำหนดให้ธรรมชาติและคนเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร 

โดยในบทความนี้จะเปิดเผยว่า แนวทางด้านทุน (Capital Approach) ช่วยให้องค์กรต่างๆ สร้างความยืดหยุ่น สร้างแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และมีส่วนร่วมในระบบอาหารที่ยั่งยืนมากขึ้นได้อย่างไร? 


01 ความสัมพันธ์ของทุน 4 รูปแบบ

โครงการริเริ่มศรษฐศาสตร์ด้านระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ TEEB ใช้ข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นคุณค่าของธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในแง่เศรษฐกิจ และช่วยให้ผู้มีอํานาจตัดสินใจในนโยบายด้านต่างๆ ตระหนักถึงประโยชน์อันหลากหลายที่ได้รับจากระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ธุรกิจเอกชนที่มีผลผลิตจากภาคการเกษตรและอาหารคือหนึ่งในกุญแจสำคัญ โดยหลักการและวิธีการของ TEEB จะช่วย ‘จัดการทรัพยากรและทุน’ ทำให้ธุรกิจต่างๆ รับทราบข้อมูลเชิงลึก มองเห็นความเสี่ยงและโอกาสได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน

โดยทุนประกอบไปด้วย 4 รูปแบบ คือ

  • ทุนทางธรรมชาติ (Natural Capital) ทรัพยากรที่หมุนเวียนและไม่หมุนเวียน (เช่น พืช สัตว์ อากาศ น้ํา ดิน แร่ธาตุ) ซึ่งรวมกันและทำให้เกิดประโยชน์หมุนเวียนมาสู่คน 
  • ทุนมนุษย์ (Human Capital) ความรู้ ทักษะ ความสามารถ และคุณลักษณะของคน 
  • ทุนทางสังคม (Social Capital) เครือข่ายและการแบ่งปัน บรรทัดฐาน ค่านิยม และความเข้าใจของผู้อยู่ในเครือข่าย
  • ทุนที่ผลิตได้ (Produced Capital) สินค้าที่มนุษย์สร้างขึ้น ตลอดจนสินทรัพย์ทางการเงินทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการที่สังคมบริโภค


ทุนทั้ง 4 ประเภทสร้างมูลค่าได้และมีความเกี่ยวข้องกัน ผลประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์ที่ธุรกิจได้รับนั้นเป็นผลจากการทํางานร่วมกันของทั้ง 4 ทุน โดยผลกระทบของทุนประเภทหนึ่งมักจะส่งผลทางอ้อมต่อทุนประเภทอื่นๆ เช่น หากคุณตัดสินใจฟื้นฟูระบบนิเวศและจัดการน้ำเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัย ก็จะส่งผลให้ผู้คนมีสุขภาพดีขึ้น เนื่องจากมีน้ําสะอาดเพื่อการบริโภค 

ธุรกิจมักให้ความสําคัญกับทุนที่ผลิตได้ โดยเฉพาะทุนทางการเงิน และหลายครั้งมักไม่คํานึงถึงผลประโยชน์ของทุนประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ตามการมองข้ามความเกี่ยวข้องของทุนแต่ละประเภท ละเลยการ ‘จัดการทรัพยากรมนุษย์และทุนทางสังคมควบคู่ไปกับทุนธรรมชาติ’ อาจทำให้ ‘ธุรกิจพลาดโอกาสทั้งในระยะสั้นและระยะยาว’


กรณีศึกษา 

บริษัท Biovert Protein ประเทศไทย

Biovert Protein มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นวัสดุชีวภาพตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้โซลูชันจากธรรมชาติในการดึงสารอาหารจากขยะอินทรีย์ในน้ําเสียในฟาร์มมารีไซเคิลเป็นโปรตีน สำหรับใช้เพาะเลี้ยงตัวอ่อนแมลงวันเพื่อเป็นอาหารปลา

Biovert Protein ดําเนินการนําร่องในภูมิภาคลุ่มน้ําโขงใน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลานํ้าจืดที่สําคัญของโลก บริษัทเข้าร่วมอบรม ‘กรอบการประเมินทฤษฎีทุนของ TEEBAgriFood’ และใช้แนวทางการประเมินทุนหลายประเภท (Multi-capital assessment) เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจที่มีต่อธรรมชาติและผู้คน 

โดยวัตถุประสงค์ของการประเมินคือการหาความแตกต่างในด้านต้นทุนการผลิต การผลิตของเสีย สุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคงทางอาหารของทางเลือกใหม่ๆ เมื่อเทียบกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ําแบบเดิมๆ โดยผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าบริษัทลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับทุนหลายประการ คือ

  • ทุนธรรมชาติ ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการใช้แนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยั่งยืนและการบําบัดน้ําเสีย 
  • ทุนมนุษย์ ลดการสัมผัสโรคและปรับปรุงสุขภาพของแรงงาน
  • ทุนทางสังคม สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนท้องถิ่นที่เดิมอาศัยการจับปลาและไก่จากแม่น้ําโขง
  • ทุนที่ผลิตได้ ลดต้นทุนและความเสี่ยงในการผลิต ป้องกันโรคปลาด้วยการทําความสะอาดน้ําในฟาร์ม และดําเนินการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

02 ความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

แนวทางด้านทุนนั้นเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนร่วมทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นบุคคล องค์กร ภาคส่วน หรือชุมชนใด ๆ ที่มีความสนใจ หรือมีส่วนได้ส่วนเสียจากผลลัพธ์ของการตัดสินใจหรือกระบวนการ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลัก คือ

  • บุคลากร 
  • ผู้ปฏิบัติงานในห่วงโซ่คุณค่า
  • ชุมชนที่ได้รับผลกระทบหรืออาจได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางธุรกิจ 
  • บุคคลที่ได้รับผลกระทบหรืออาจได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์และบริการ 


กรณีศึกษา

บริษัท Aires de Campo ประเทศเม็กซิโก

Aires de Campo ดําเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ตั้งแต่สัตว์ปีก กาแฟ ผลิตภัณฑ์นม ไข่ น้ําผึ้ง น้ํามัน ผัก ไปจนถึงเมล็ดพืช โดยให้ความสําคัญกับทุนธรรมชาติอย่างมาก บริษัทเข้าร่วมอบรม ‘กรอบการประเมินทฤษฎีทุนของ TEEBAgriFood’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุผลกระทบและการพึ่งพาของธุรกิจต่อทุนทางสังคมและทุนมนุษย์ 

Aires de Campo ทำการสํารวจและรวบรวมข้อมูลเชิงลึกของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอก (ฝ่ายบริหาร พนักงาน นักลงทุน ผู้รับประโยชน์ ลูกค้า ผู้บริโภค) โดยมุ่งเน้นไปที่การประเมินผลกระทบต่อซัพพลายเออร์รายย่อย การสร้างงานใหม่ การพัฒนาสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากร

การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประเมินทุนทางสังคมและทุนมนุษย์ ทำให้ Aires de Campo สามารถรวบรวมข้อมูลอันเป็นประโยชน์ซึ่งนําไปสู่การเปิดตัวโปรแกรมฝึกอบรมด้านความยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้าใจด้านความยั่งยืนในหมู่พนักงานและลูกค้า ปรับปรุงสภาพการทํางานในศูนย์การผลิต และปรับโครงสร้างแผนกภายในเพื่อสร้างทีมที่หลากหลาย 


03 ผลกระทบที่สร้างมูลค่าหรือสูญเสียทุน

แนวทางด้านทุนนั้นเกี่ยวข้องกับชุดวิธีการที่หลากหลาย ตั้งแต่การเก็บรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม มนุษย์ และสังคมไปจนถึงการวิเคราะห์ด้านนิเวศวิทยา พิษวิทยา โภชนาการ และการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ 

เพื่อให้ขั้นตอนการประเมินทฤษฎีทุนสมบูรณ์ คุณอาจต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านโภชนาการ ด้านความปลอดภัย นักสร้างแบบจําลองทางเศรษฐกิจ นักสร้างแบบจําลองทางสุขภาพและความปลอดภัย หรือนักสร้างแบบจําลองทางระบบนิเวศ หรือ นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ชุดวิธีการที่หลากหลายนั้นสําคัญอย่างยิ่งต่อการทําความเข้าใจผลกระทบของกิจกรรมทางธุรกิจต่อการสร้างมูลค่าหรือสูญเสียทุน ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจและสังคมโดยรวม 



กรณีศึกษา 

บริษัท ASYX ประเทศอินโดนีเซีย

ASYX ให้บริการแก่ธุรกิจต่างๆ ในการช่วยกำหนดแนวทางปฏิบัติด้านห่วงโซ่อุปทานแบบบูรณาการและดิจิทัล ตั้งแต่เศรษฐกิจหมุนเวียน ไปจนถึงกลยุทธ์การจัดซื้อที่ยั่งยืนทางธุรกิจ

ในปี 2020 ASYX ร่วมกับบริษัทในเครือ PT Candra Naya Lestari นําใบสับปะรดเหลือใช้มาแปรรูปเป็นเส้นใยสำหรับผลิตเส้นด้ายที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดย ASYX ได้จัดท่าแผนที่ห่วงโซ่คุณค่าของเส้นใยใบสับปะรด เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบเชิงบวกที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ รวมถึงหาโอกาสในการสร้างตลาดใหม่ในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายของเส้นใยใบสับปะรด

ในการเข้าร่วมอบรม ‘กรอบการประเมินทฤษฎีทุนของ TEEBAgriFood’ ASYX ได้วิเคราะห์การพึ่งพาและผลกระทบของทุนแต่ละประเภท ทําให้สามารถระบุการมีส่วนร่วมที่หลากหลายของ ASYX ได้ คือ

  • ทุนมนุษย์ ขยายและสร้างงานที่มีความปลอดภัย โดยเพิ่มพนักงาน จาก 3 เป็น 15 ตําแหน่งในศูนย์การผลิตแต่ละแห่ง เกิดการเสริมสร้างศักยภาพทางเพศผ่านการจ้างงานผู้หญิงมากขึ้น 
  • ทุนธรรมชาติ ใช้น้ําอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
  • ทุนที่ผลิตได้ ใช้ใบสับปะรดที่สูญเปล่าให้เกิดประโยช โดยพัฒนาการผลิตเส้นใยจาก 10 กิโลกรัมเป็น 600 กิโลกรัมต่อเดือน ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค 

ASYX ใช้ผลลัพธ์การประเมินในการสื่อสารกับผู้ซื้อและนักลงทุนในอุตสาหกรรมแฟชั่น ส่งผลให้สามารถขยายห่วงโซ่อุปทานวัสดุธรรมชาติที่ยั่งยืนได้กว้างไกลขึ้น ผลลัพธ์การประเมินยังช่วยให้ Candra Naya Lestari บรรลุเป้าหมายในการสร้างคุณค่า ความเจริญรุ่งเรือง และความเป็นอยู่ที่ดีแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย


04 ข้อควรระวังในการประเมินทุน

ในการประเมินมูลค่าสิ่งใดก็ตาม ความผิดพลาดในการประเมินมูลค่าเกินจริงอาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในการประเมินมูลค่าทุนทางธรรมชาติ มนุษย์ และสังคม

เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการประเมินมูลค่าที่มีนัยสําคัญ  เราต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงใช้วิธีการและแนวปฏิบัติที่ผ่านการทดสอบ และควรใช้ข้อสันนิษฐานที่ ‘สมเหตุสมผลที่สุด’ แทนข้อสันนิษฐานที่ ‘ดีที่สุด’ หรือ ‘เลวร้ายที่สุด’ 



กรณีศึกษา 

บริษัท Shengmu Organic Milk ประเทศจีน

Shengmu Organic Milk เป็นบริษัทนมออร์แกนิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ซึ่งผลิตน้ํานมดิบด้วยระบบหมุนเวียนที่ผสมผสานการปลูกและการเลี้ยงวัวในทะเลทราย  

บริษัทเข้าร่วมอบรม ‘กรอบการประเมินทฤษฎีทุนของ TEEBAgriFood’ โดยเริ่มวิเคราะห์ผลกระทบของทุนทางธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2022 ครอบคลุมพื้นที่สํานักงานใหญ่ บริษัทในเครือ ตลอดจนทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และเขตการผลิตทั้งหมดในทะเลทรายอูลานบูห์ 

Shengmu ได้ประเมินมูลค่าต้นทุนและผลประโยชน์ของกิจกรรมของบริษัท ทั้งจากมุมมองทางธุรกิจและทางสังคม และพบโอกาสในการลดต้นทุนการดําเนินงานและการเงิน ได้แก่

  • การกํากับดูแลสิ่งแวดล้อมทําให้บริษัทสามารถเข้าถึงสินเชื่อสีเขียวได้ง่ายขึ้น
  • การผลิตจากธรรมชาติยังช่วยเพิ่มรายได้ เนื่องจากนมออร์แกนิกมีราคาสูงกว่านมทั่วไปถึง 21.7 เปอร์เซ็นต์ 
  • มูลค่าทางนิเวศวิทยาของบริษัทถูกแปลงเป็นมูลค่าแบรนด์บางส่วน เนื่องจากมูลค่าแบรนด์ Shengmu เพิ่มขึ้นจาก 12 เป็น 17 พันล้านหยวนใน 3 ปี

อย่างไรก็ตาม ข้อควรพิจารณาและข้อควรระวังในการประเมินทุนธรรมชาติก็คือ แม้ Shengmu จะดําเนินการแก้ไขความเสี่ยงด้านทุนธรรมชาติ อย่างการปลูกต้นไม้และพุ่มไม้ที่หลากหลาย 90 ล้านต้น สร้างอ่างเก็บน้ําขนาดใหญ่ และผลิตปุ๋ยหมักมูลวัว 600,000 ตารางเมตรต่อปีเพื่อทดแทนปุ๋ยเคมี กระนั้นบริษัทก็ตระหนักถึงความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าโดยเฉพาะด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

โดย Shengmu แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันกลยุทธ์ด้านคาร์บอนและความหลากหลายทางชีวภาพมักเป็นการทำงานแบบแยกส่วน และยังไม่มีมาตรการด้านกฎระเบียบใดที่แสดงให้เห็นว่าควรบูรณาการกลยุทธ์เหล่านั้นเข้ากับระบบการจัดการที่เหนียวแน่นอย่างไร

ท้ายที่สุดแล้ว บริษัทนมกําลังขยายขอบเขตการประเมินทุนหลายประเภทให้ครอบคลุมผลกระทบและการพึ่งพาทุนมนุษย์และทุนทางสังคม โดยมุ่งเน้นที่การมีส่วนร่วมเพื่อประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่น การบรรเทาความยากจน การสร้างงาน และการสนับสนุนภาษี


สรุป

จากกรณีศึกษาของธุรกิจการเกษตรในหลากหลายประเทศเบื้องต้น แสดงให้เห็นว่าการประเมินทุนสามารถนําธุรกิจไปสู่ความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับทุนทางธรรมชาติ สังคม และมนุษย์ โดยการประเมินอาจท้าทายรูปแบบหรือกระบวนการจัดการเดิมธุรกิจที่มีอยู่ รวมถึงอาจเปิดเผยความเสี่ยงและชี้ให้เห็นโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจทำให้บริษัทเติบโตได้ไกลและยั่งยืนขึ้นกว่าเดิม

อ่านรายงาน ‘TEEB สำหรับภาคเกษตรกรรมและอาหาร: แนวทางปฏิบัติสำหรับภาคธุรกิจ’ ฉบับเต็มได้ที่นี่

ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้