โมเดลธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียนกับ 15 ตัวอย่างจากทั่วโลกที่ใช้แล้วตอบโจทย์ ESG

Article

ในโลกที่ต้องต่อสู้กับความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแนวคิด Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียนได้เริ่มเปลี่ยนระบบอุตสาหกรรมด้วยเป้าหมายการสร้างวงจรที่สามารถนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิลอย่างต่อเนื่อง แตกต่างจากเศรษฐกิจแบบเส้นตรงแบบดั้งเดิม (Linear Economy) ที่นำทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบ (take) มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ (make) ใช้เพียงชั่วคราวก็ถูกทิ้งเป็นของเสีย (waste) เศรษฐกิจรูปแบบเดิมก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและสร้างขยะตามมาจนทรัพยากรไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงทุกชีวิตบนโลกรวมถึงลูกหลานในอนาคต เราจึงไม่สามารถปล่อยให้เศรษฐกิจเติบโตเช่นนี้ได้อีกต่อไป
 
ในเชิงธุรกิจมีผู้ประกอบการจำนวนมากเริ่มนำหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ จัดการความเสี่ยงและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมช่วยให้ขยายมุมมองไปได้ไกลกว่าการแยกขยะหรือบำบัดของเสียในโรงงานการปรับกระบวนการคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนทำให้ธุรกิจสามารถครอบคลุมเรื่องESGครบทุกด้านทั้งจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วนสร้างนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ และใส่ใจความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมอีกด้วย


หลักการสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนคืออะไร
?
ตามนิยามของ Ellen Macarthur Foundation ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และถูกนำไปใช้กำหนดนโยบายระดับโลก ได้กำหนดหลักการสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนไว้ 3 ข้อ
1. ออกแบบเพื่อลดขยะและมลพิษ: ผลิตภัณฑ์ถูกออกแบบอย่างรอบคอบ เพื่อลดขยะและลดมลพิษตั้งแต่เริ่มต้น
2. รักษาผลิตภัณฑ์และวัสดุให้อยู่ในการใช้งาน:ทำให้วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และวัสดุขยายออกไปด้วยกลยุทธ์ต่างๆ เช่น การใช้ซ้ำ การซ่อมแซม การปรับปรุงใหม่ และการรีไซเคิล เพื่อรักษาคุณค่าให้ได้มากที่สุด
3. ฟื้นฟูระบบธรรมชาติ: ระบบเศรษฐกิจต้องทำงานให้สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและปรับปรุงความหลากหลายทางชีวภาพ

เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้เข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างไรบ้าง
?
1. ใช้หลักการออกแบบหมุนเวียน:
  • Design for Longevity: ออกแบบเพื่อความคงทน โดยสร้างผลิตภัณฑ์ที่ทนทาน สามารถซ่อมแซมและอัพเกรดได้ เพื่อยืดอายุการใช้งาน
  • Use Sustainable Materials: เลือกใช้วัสดุที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่สามารถทดแทนได้ รีไซเคิล หรือย่อยสลายได้ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • Plan for End-of-Life: วางแผนตั้งแต่เริ่มผลิตไปจนถึงจุดจบของผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน ตรวจสอบให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์สามารถแยกชิ้นส่วนและรีไซเคิลได้ง่ายเมื่อหมดอายุการใช้งาน
2. ใช้โมเดลธุรกิจหมุนเวียน
  • Product as a Service (PaaS): เปลี่ยนจากการขายผลิตภัณฑ์มาเป็นการให้บริการ โดยผู้ผลิตยังคงเป็นเจ้าของและรับผิดชอบในการบำรุงรักษา จัดการผลิตภัณฑ์เมื่อหมดอายุการใช้งาน
  • Reverse Logistics: พัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพในการเก็บรวบรวม ปรับปรุงสภาพการใช้งาน และรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว
  • Collaborative Consumption: ส่งเสริมการแบ่งปัน การเช่า และสร้างแพลตฟอร์มการใช้งานระหว่างกัน เพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์
3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร:
  • Closed-Loop Manufacturing: คิดกระบวนการที่สามารถรีไซเคิลขยะและผลพลอยได้กลับเข้าสู่การผลิต เพื่อลดการใช้วัตถุดิบใหม่
  • Industrial Symbiosis: ร่วมมือกับบริษัทอื่น ๆ เพื่อส่งต่อของเสียจากธุรกิจหนึ่งให้กลายเป็นวัตถุดิบของอีกธุรกิจหนึ่ง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในทุกอุตสาหกรรม
4. ลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยี:
  • Research and Development: ลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ ๆ ที่ส่งเสริมการปฏิบัติทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น เทคนิคการรีไซเคิลขั้นสูงและนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียน
  • Digitalization: ใช้เครื่องมือดิจิทัล เช่น IoT, AI และ blockchain เพื่อปรับปรุงการติดตาม สร้างความโปร่งใส และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
5. มีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสร้างความร่วมมือ:
  • Consumer Education: สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ วิธีการหมุนเวียนสิ่งของ และส่งเสริมนิสัยการบริโภคที่ยั่งยืน
  • Supplier Collaboration: ทำงานใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์ เพื่อให้แน่ใจว่าการจัดหาวัตถุดิบสอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่อุปทาน
  • Policy Advocacy: ส่งเสริมการกำหนดนโยบายและกฎระเบียบที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน



15 ตัวอย่างธุรกิจหมุนเวียนจากทั่วโลก เปลี่ยนการขายสินค้าเป็นการให้บริการ (Product as a Service หรือ PaaS) 

  • Philips Lighting: แทนที่จะขายหลอดไฟ Philips จัดหาแสงสว่างในลักษณะการให้บริการแทน ลูกค้าจ่ายเฉพาะแสงสว่างที่ใช้ ในขณะที่ Philips ยังคงเป็นเจ้าของอุปกรณ์ รับกลับคืนมาเมื่อลูกค้าไม่ต้องการใช้งานอีกต่อไป หรือ ซ่อมแซม นำกลับมาใช้ใหม่อยู่เสมอ [ลิงก์:Philips Lighting]
  • Interface:ผู้ผลิตกระเบื้องปูพื้นระดับโลกเสนอรูปแบบการเช่าซื้อ(leasing)ที่ลูกค้าจ่ายเฉพาะการใช้งานกระเบื้องปูพื้น แทนที่จะซื้อขาด แน่นอนว่า Interface รับคืนกระเบื้องเมื่อสิ้นสุดการใช้งาน จัดการซ่อมแซมตกแต่ง และนำกลับมาใช้ใหม่ [ลิงก์:Interface]
  • Caterpillar:ผู้ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้างนี้มีบริการนำเครื่องยนต์และชิ้นส่วนที่ผ่านการใช้งานแล้วมาปรับสภาพให้ใกล้เคียงกับของใหม่อีกครั้ง(Remanufacturing service)ลูกค้าสามารถคืนชิ้นส่วนที่ใช้แล้ว เพื่อนำกลับเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน ลดของเสียและประหยัดค่าใช้จ่าย [ลิงก์: Caterpillar]

การรีไซเคิลแบบวงจรปิด (Closed-Loop Recycling)

  • Patagonia: บริษัทเสื้อผ้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งสัญชาติอเมริกัน สนับสนุนให้ลูกค้าส่งคืนเสื้อผ้าใช้แล้ว และนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และยังมีโปรแกรม Worn Wear ที่ส่งเสริมการซื้อเสื้อผ้าใช้แล้วและสอนการซ่อมแซมอุปกรณ์เพื่อยืดอายุการใช้งาน [ลิงก์:Patagonia Worn Wear]

  • Loop Industries: บริษัทเทคโนโลยีด้านการรีไซเคิลพลาสติกใช้กระบวนการเฉพาะในการแยกขยะพลาสติกPETและเส้นใยโพลีเอสเตอร์ให้กลับคืนเป็นสารเคมีพื้นฐานที่สามารถผลิตเป็นพลาสติก PET คุณภาพเทียบเท่าของใหม่ได้ [ลิงก์:Loop Industries]
  • TerraCycle: โรงงานรีไซเคิลอเมริกันแห่งนี้ร่วมมือกับบริษัทต่างๆ เพื่อรวบรวมและจัดการขยะที่รีไซเคิลยาก เช่น ก้นบุหรี่ ถ้วยแคปซูลกาแฟ และห่อขนม แปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ม้านั่งในสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น [ลิงก์:TerraCycle]

การพึ่งพาอาศัยกันทางอุตสาหกรรม (Industrial Symbiosis)

  • Kalundborg ในเดนมาร์ก: ของเสียหรือผลพลอยได้ของบริษัทหนึ่ง จะกลายเป็นวัตถุดิบของอีกบริษัทหนึ่ง เช่น ไอน้ำเสียจากโรงไฟฟ้า ถูกนำมาใช้ให้ความร้อนแก่บ้านเรือนและฟาร์มปลาโดยรอบแสดงให้เห็นถึงแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรภายในสวนอุตสาหกรรม [ลิงก์: Kalundborg]
  • National Industrial Symbiosis Programme (NISP) ในสหราชอาณาจักร: โปรแกรมระดับประเทศนี้ช่วยอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนวัสดุ พลังงาน และน้ำระหว่างอุตสาหกรรม เพื่อลดของเสียและปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เช่น ความร้อนส่วนเกินจากโรงงานเหล็กถูกนำมาใช้ในโรงงานเคมีใกล้เคียง [ลิงก์: NISP]
  • Kwinana Industrial Area ในออสเตรเลีย: ศูนย์อุตสาหกรรมอายุกว่า 60 ปีแห่งนี้ หมุนเวียนก๊าซเสียจากโรงงานปุ๋ยเพื่อไปเป็นวัตถุดิบในโรงงานเคมีใกล้เคียง และน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจากโรงกลั่นน้ำมันถูกใช้โดยโรงไฟฟ้าในพื้นที่ [ลิงก์: Kwinana]

การออกแบบโมดูลาร์ให้ปรับเปลี่ยนได้ไม่สิ้นสุด (Modular Design)

  • Fairphone: บริษัทสัญชาติดัทช์ที่ออกแบบสมาร์ทโฟนให้ลูกค้าสามารถซ่อมแซมและอัพเกรดได้ด้วยตนเอง ส่วนประกอบในโทรศัพท์สามารถแกะแยกชิ้นส่วน สั่งซื้อใหม่เฉพาะบางชิ้น ลดความจำเป็นในการทิ้งทั้งเครื่อง เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งเสียไป [ลิงก์:Fairphone]

  • IKEA: ชุดเฟอร์นิเจอร์ DELAKTIG ที่แปลเป็นไทยว่า “การมีส่วนร่วม” ของ IKEA ได้ร่วมมือกับ Tom Dixon ในการเสนอระบบการประกอบเฟอร์นิเจอร์แบบโมดูลาร์ที่สามารถเพิ่ม เปลี่ยน ปรับแต่งชิ้นส่วนได้ง่าย เพื่อยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ [ลิงก์:IKEA DELAKTIG]

เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy)

  • Airbnb and Zipcar: แพลตฟอร์มเหล่านี้อำนวยความสะดวกในการแบ่งปันสินทรัพย์ที่ใช้ไม่เต็มที่ เช่น บ้านที่มีห้องว่าง หรือรถที่จอดทิ้งไว้ ลดความต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่และเพิ่มการใช้สินค้าที่มีอยู่ให้มากที่สุด [ลิงก์: Airbnb และ Zipcar]
  • BlaBlaCar: แพลตฟอร์มการแบ่งปันการเดินทางที่เชื่อมต่อคนขับที่มีที่นั่งว่างกับผู้โดยสารที่เดินทางในเส้นทางเดียวกัน เพิ่มความคุ้มค่าการใช้รถยนต์และลดจำนวนรถบนถนน [ลิงก์: Blablacar]
  • ห้องสมุดเครื่องมือ: ห้องสมุดการยืมเครื่องมือที่ตั้งอยู่ในชุมชน ให้สมาชิกยืมเครื่องมือและอุปกรณ์แทนการซื้อ ส่งเสริมการใช้งานร่วมกันและลดความต้องการเครื่องมือใหม่ [ลิงก์:Zero Waste Scotland - Tool Library]

เหมืองในเมือง (Urban Mining)

  • Umicore: บริษัทสกัดโลหะมีค่าจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และวัสดุเศษอื่นๆที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเป้าหมายฟื้นฟูทรัพยากรที่อาจถูกทิ้งอย่างน่าเสียดายลงสู่หลุมฝังกลบ ลิงก์:Umicore
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการหมุนเวียนขยะเปียกหรือขยะชีวภาพ ให้กลายเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ ตามวิถีธรรมชาติที่ของเสียจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งย่อมเป็นประโยชน์กับสิ่งมีชีวิตอื่นเสมอ ตัวอย่างของการใช้ประโยชน์จากสารอาหารชีวภาพ (Biological Nutrients) เช่น Agricultural Composting: การเปลี่ยนขยะอินทรีย์จากครัวเรือนและธุรกิจเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อเติมสารอาหารในดินสำหรับการเกษตร ลดความจำเป็นในการใช้ปุ๋ยเคมี Aquaponics: ระบบการเลี้ยงปลาและการปลูกพืชแบบไฮโดรโพนิกส์เพื่อสร้างระบบนิเวศวงจรปิด ของเสียจากปลาช่วยให้สารอาหารแก่พืช ในขณะที่พืชช่วยกรองและทำความสะอาดน้ำในบ่อปลา

เศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยส่งเสริม ESG อย่างไรบ้าง?

  1. ประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม
  • Reduction in Waste: การส่งเสริมการใช้ซ้ำ ซ่อมแซม และรีไซเคิล ช่วยลดปริมาณขยะที่ลงสู่หลุมฝังกลบและมหาสมุทร
  • Lower Carbon Emissions: การรีไซเคิลแบบวงจรปิด ลดการสกัดทรัพยากรใหม่ และใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มหาศาล
  • Resource Conservation: การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการรีไซเคิลและระบบซัพพลายเชนที่ยั่งยืน ช่วยรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ
  1. ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
  • New Business Models: รูปแบบธุรกิจใหม่ เช่น เปลี่ยนสินค้าเป็นบริการ (PaaS) และแพลตฟอร์มเศรษฐกิจแบ่งปัน ช่วยสร้างรายได้และโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ
  • Cost Savings: บริษัทสามารถประหยัดต้นทุนผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร ลดขยะ และจัดการห่วงโซ่อุปทานให้ดีขึ้น
  • Job Creation: เศรษฐกิจหมุนเวียนส่งเสริมการเติบโตของงานสีเขียวในภาคส่วนต่างๆ เช่น การซ่อมแซม การรีไซเคิล และการผลิตติดตั้งพลังงานหมุนเวียน
  1. ประโยชน์ทางสังคม
  • Community Empowerment: โครงการแบ่งปันสิ่งของหรือโครงการรีไซเคิลในท้องถิ่น ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนและส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคม
  • Enhanced Consumer Value: ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อความคงทนและใช้ซ้ำได้นาน ย่อมให้คุณค่าที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภค ในการส่งเสริมวัฒนธรรมการบริโภคอย่างมีสติ ไม่ใช้แล้วทิ้งอย่างง่ายดาย
  • Healthier Living Environments: เราทุกคนย่อมอยากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ การลดมลพิษและของเสียทำให้อากาศ น้ำ และดินสะอาดขึ้น เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวม

การเดินทางสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนต้องได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจในการนำเสนอสินค้าหรือบริการแบบใหม่ที่ชวนให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมตามมีธุรกิจจำนวนไม่น้อยได้เริ่มออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของตนเท่านั้น แต่ยังสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมีส่วนช่วยให้โลกสุขภาพดีขึ้นด้วย

หากผู้ประกอบการใดสนใจออกแบบโมเดลธุรกิจหมุนเวียนอย่างเป็นขั้นตอน ด้วยกระบวนการ CIRCO หนึ่งในหลักสูตรที่ดีที่สุดในการส่งเสริม Circular Economy จาก European Enterprise Promotion Awards 2023 สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ CIRCO Hub Thailand

ที่มา: Ellen Macarthur Foundation, James Mendes


 



ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้