“ความสวยเป็นภัยคุกคามจริงหรือไม่?”คำถามนี้ยังเป็นข้อถกเถียงในมุมกว้างแต่หากทุกคนสวมเลนส์นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า“ความสวยกำลังทำร้ายโลก”เนื่องจากอุตสาหกรรมความงามคือหนึ่งในตัวแสดงที่ผลิตขยะพลาสติกมากที่สุดโดยเฉพาะขยะที่มาจากบรรจุภัณฑ์ ข้อมูลเชิงสถิตสะท้อนให้เห็นถึงตัวเลขที่น่าตกใจ คือ อุตสาหกรรมความงามผลิตขยะมากกว่า 120 พันล้านชิ้นต่อปี
ทว่าขยะที่สามารถผ่านกระบวนการรีไซเคิลได้มีแค่ร้อยละ 5 เท่านั้นณจุดนี้ท่านผู้อ่านคงมีข้อข้องใจเกี่ยวกับขยะอีกร้อยละ 95 ที่เหลืออยู่ ใช่แล้วค่ะ ขยะที่เหลือถูกนำไปทิ้งเพื่อรอวันย่อยสลายซึ่งกินระยะเวลานานกว่า 100 ปี โดยขยะเหล่านั้นกลายเป็นต้นตอสำคัญของ “ภาวะโลกร้อน”ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติแต่ยังนำอันตรายมาสู่มนุษย์โดยตรงอีกด้วยเช่น การเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิโลกทำให้พื้นที่ในหลายทวีปทั่วโลกแห้งแล้ง ผู้คนในทวีปนั้นจึงเปราะบางต่อภาวะทุพโภชนาการ เป็นต้น ดังนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมความงามมีบทบาทสำคัญในการทำร้ายโลกและพวกเขากำลังจูงมือมวลมนุษยชาติไปสู่หายนะที่กำลังเข้ามาใกล้ทุกที
การละทิ้ง‘ความงาม’เพื่อ‘ความยั่งยืน’ไม่ใช่ตัวเลือกที่น่าพึงพอใจสำหรับใครหลายคนนักจึงเกิดเป็นความพยายามแสวงหาการเลือกใหม่ที่สามารถสร้างสมดุลระหว่าง‘ความงาม’และ‘ความยั่งยืน’โดยคำตอบต่อสมการดังกล่าวคือแนวคิดที่เรียกว่า“ความงามเชิงนิเวศ” หรือ “Green Beauty” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของบริษัทอุตสาหกรรมความงามที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม กลุ่มบริษัทเหล่านี้ยืดหยัดว่ากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ความงามของพวกเขาจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยหนึ่งในตัวอย่างของบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ในข้างต้น คือ บริษัท L’Oréal ที่ใช้ส่วนผสมจากทรัพยากรหมุนเวียนในผลิตภัณฑ์ความงาม พร้อมยังออกแบบบรรจุภัณฑ์โดยยึดตามหลัก 3R อันได้แก่ Reuse Replace และ Recycle ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จาก L’Oréal สามารถลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการลดขยะพลาสติกที่ไม่จำเป็นจากบรรจุภัณฑ์
กล่าวได้ว่าการผลิตเช่นนี้ คือ แม่แบบการผลิตที่สอดคล้องไปกับเป้าหมาย SDGs ในข้อที่ 12 อย่าง “การสร้างรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน” ดังนั้น Green Beauty จึงเป็นทางเลือกใหม่สู่ความยั่งยืนที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะสามารถหาทางออกให้กับ “ภัยความสวยที่กำลังคุกคามโลก” ได้ นอกจากนี้ Green Beauty ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยตอกย้ำ “ความคู่ควร” ดังสโลแกนของ L’Oréal ที่ว่า “คุณค่าที่คุณคู่ควร” ซึ่งสามารถตีความได้ว่าเราต่างคู่ควรที่จะสามารถดูแลความงามร่างกายไปพร้อมกับการดูแลความงามของสิ่งแวดล้อมด้วย
การพัฒนาไปสู่โลกที่ยั่งยืนยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยอุตสาหกรรมความงามเป็นเพียงแขนงย่อยหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น หากท่านผู้อ่านต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนเพิ่มเติมก็สามารถเข้าร่วมบูธกิจกรรมในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 16-25 สิงหาคมนี้ ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี แล้วอย่าลืมมาเสริมความรู้ที่คู่ควรกันนะคะ
อ้างอิง: https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/green-beauty/
https://blog.cleanhub.com/beauty-industry-environmental-impact
:: SDGs Young Creator ทีม fifth harmony ::