สภาวะการณ์ปัจจุบัน ประชากรโลกส่วนใหญ่ดำเนินกิจกรรมทางด้านธุรกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว โดยขาดความตระหนักถึงผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาสภาวะโลกร้อนจึงได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดย เมื่อปี 2566 “โลก” มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มว่าในอนาคตอุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ระบบนิเวศเกิดความแปรปรวน สภาพอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว เกิดภัยพิบัติธรรมชาติที่มีความรุนแรง ฉับพลัน สิ่งมีชีวิตล้มตาย และสูญพันธุ์
ความพยายามในการลดภาวะโลกร้อนได้กระทำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดทำพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) และความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งเน้นให้ประเทศสมาชิกเกิดการเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยประเทศไทยได้ให้ข้อเสนอการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกกับประชาคมโลก โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 20–25 ภายในปี พ.ศ. 2573
กล่าวได้ว่า ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน คือ ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas : GHG) ที่ปล่อยสู่บรรยากาศมากเกินไป ซึ่งเกิดจากทั้งธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ มีทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่ 1) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศมากที่สุด เกิดจากควันเสียรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้ฟอสซิล และการตัดไม้ทำลายป่า 2) ก๊าซมีเทน (CH4) เกิดจากการทิ้งขยะด้วยวิธีฝังกลบ การทำฟาร์มปศุสัตว์ และการทำเกษตรกรรม 3) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) เกิดจากฟ้าผ่า ฟ้าแลบ ภูเขาไฟระเบิด การย่อยสลายอินทรียวัตถุ และอุตสาหกรรมพลาสติก 4) ก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCS) เกิดจากกระบวนการถลุงอลูมิเนียม 5) ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) เกิดจากอุตสาหกรรมผลิตฉนวนไฟฟ้า 6) ก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) เกิดจากกระบวนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ7) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCS) เกิดจากสารในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และสเปรย์
กระบวนการจัดการกับก๊าซเรือนกระจกที่ยั่งยืน ที่เรียกว่า Net Zero คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หมายถึง การทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับกลับมามีค่าเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาก่อนหน้า ซึ่งทำให้เกิดภาวะสมดุล และไม่มีก๊าซเรือนกระจกส่วนเกินที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนหรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ วิธีการทำ Net Zero ไปสู่ความยั่งยืนให้เริ่มที่ตัวเรา เช่น 1) การประหยัดพลังงานในชีวิตประจำวัน ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน ใช้พาหนะที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ 2) การเลือกใช้พลังงานทดแทน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม 3) ลดการสร้างขยะ และนำขยะมารีไซเคิล 4) การบริโภคอย่างพอดี เพื่อประหยัดทรัพยากร 5) การรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่า เพื่อให้ป่าดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผลลัพธ์ของ Net Zero จะทำให้โลกหยุดการเกิดภาวะโลกร้อน และนำไปสู่สังคมที่ยั่งยืนได้
แนวคิด “NET Zero สร้างสังคมที่ยั่งยืน เริ่มต้นที่ตัวเรา” ได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจที่เป็นองค์กรเครือข่ายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของสหประชาชาติ ให้ความตระหนักกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยั่งยืน คิดค้น นำเสนอนวัตกรรม ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 วันที่ 16 – 25 สิงหาคม 2567 ณ Hall 9-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ที่บูธสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) เครือข่ายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลกขององค์การสหประชาชาติ ภายใต้นิทรรศการ THE GLOBE VENGERS #ฮีโร่พิทักษ์ความยั่งยืน ปลุกฮีโร่ในตัวคุณ ด้วยพลัง Sustainable Intelligence เพื่อโลกยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประเด็น อาทิเช่น
SCBX : สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด ACT TO ZERO พร้อมมีเกมส์ให้เล่นสนุก ได้แก่ Match to Zero และ Net Zero Country
CP ALL : ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า NEOLIX เป็นการขนส่งไร้คนขับ รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า EV Bike และ Green Cement คอนกรีตที่ทำจากขยะพลาสติก
CP Axtra : สถานีลดการใช้พลาสติก โดยทำสิ่งของเครื่องใช้จากกระดาษลัง
TRUE : ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด มุ่งเน้นพัฒนาโครงข่ายที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แล้วคุณล่ะ..ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก..หรือยัง
:: SDGs Young Creator ทีม Gangstaboy_IM ::