“การดำเนินธุรกิจและดูแลทรัพยากรด้วยความรับผิดชอบ เพื่อเป็นแหล่งอาหารและอาชีพให้กับประชากรโลกรุ่นต่อไป ถือเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อพวกเราทุกคน”
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ไทยยูเนี่ยนเชื่อว่าการบรรลุเป้าหมายต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำกัดปริมาณของเสียให้น้อยที่สุด รวมถึงฟื้นฟูระบบนิเวศ และเพื่อให้มั่นใจว่าจะทำให้เกิดงานที่ปลอดภัย มีคุณค่าและเท่าเทียม ให้เกิดขึ้นจริงตลอดห่วงโซ่มูลค่า
(ref: https://www.thaiunion.com/th/newsroom/press-release/1629)
ลดการปล่อยก๊าซในโรงงาน จัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบ
พันธกิจสำคัญที่นับเป็นความท้าทายของ SeaChange® 2030 คือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 42% ภายในปี 2030 สู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยไทยยูเนี่ยนเป็นบริษัทอาหารทะเลระดับโลกบริษัทแรกที่กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับแนวทางขององค์กร Science Based Targets initiative (SBTi) ซึ่งไทยยูเนี่ยนให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโรงงานและในกระบวนการจัดหาวัตถุดิบทั้งหมด เช่น โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในฟาร์มกุ้ง โดยลดการใช้พลังงาน มุ่งสู่การใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น และเพิ่มการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นก้าวสำคัญเพื่อช่วยอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการสร้างความสมดุลต่อระบบนิเวศ
ยกระดับคู่ค้าสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ
ไทยยูเนี่ยนยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ CHOW Energy ในโครงการฟาร์มกุ้งคาร์บอนต่ำ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบยั่งยืน ด้วยการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ให้กับคู่ค้าและเกษตรกรกุ้งในประเทศของไทยยูเนี่ยนที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ รวมกว่า 30 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 2 ปี (2024-2025) เพื่อช่วยเหลือให้คู่ค้าและเกษตกรกุ้งของบริษัทสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีจากพลังงานสะอาดและนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการยกระดับบริษัทคู่ค้าและภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ
ฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง เพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอน
ภายใต้กลยุทธ์ SeaChange® 2030 ไทยยูเนี่ยนได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับมูลนิธิ Earth Agenda ใน “โครงการรักษ์ทะเล” เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังและระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยสนับสนุนงบประมาณจำนวน 3 ล้านบาท สำหรับการดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี (2023-2025) เพื่อผลิตปะการังเทียม 210 ชิ้น (ปีละ 70 ชิ้น) ครอบคลุมพื้นที่ 60 ตารางเมตรต่อปี หรือรวม 180 ตารางเมตร
“โครงการรักษ์ทะเล” ดำเนินการโดยมูลนิธิ Earth Agenda เป็นความร่วมมือระหว่าง ไทยยูเนี่ยน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเอสซีจี โดยการนำนวัตกรรม CPAC 3D Printing Solution ซึ่งผลิตจากปูนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล มาขึ้นรูปเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังที่มีรูปทรงสวยงาม มีความกลมกลืนกับธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์
ทั้งนี้ ข้อมูลในรายงานความยั่งยืนประจำปีล่าสุด ไทยยูเนี่ยนประกาศว่า สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 และ 2 ลง 7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2021 (ref: https://www.thaiunion.com/th/newsroom/press-release)
ไทยยูเนี่ยนยืนยันว่า ความยั่งยืนกับการทำธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งเป็นความเร่งด่วนที่จะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และต้องลงมือทำทันทีตั้งแต่วันนี้ ถือเป็นพันธกิจท้าทายที่ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล องค์กร รวมไปถึงภาคประชาชน ที่จะช่วยกันทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจริง