ดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ETI ชี้ทั่วโลกทำได้ดีขึ้น ประเทศไทยอยู่อันดับ 60 จาก 120 ประเทศทั่วโลก

Article
แม้ทั่วโลกกำลังเดินหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกันในการใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น แต่โมเมนตัมของการเปลี่ยนผ่านพลังงานกลับถูกถ่วงด้วยปัญหาของความเสมอภาค ราคาพลังงานที่สูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และปัญหาเงินเฟ้อ ยิ่งทำให้เห็นความไม่เท่าเทียมชัดขึ้นในแต่ละมุมโลก การเปลี่ยนผ่านพลังงานจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาด แต่ต้องทำให้ทุกคน ทุกพื้นที่ สามารถเข้าถึงการใช้งานได้จริง
รายงาน Fostering Effective Energy Transition 2024 โดย World Economic Forum ได้จัดทำดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition Index: ETI) มากว่า 14 ปี ซึ่งเป็นดัชนีวัดประสิทธิภาพของระบบพลังงานใน 120 ประเทศ พิจารณาจาก

1. สมรรถนะของระบบพลังงาน (System Performance)ในด้านความเท่าเทียม ความยั่งยืน ความมั่นคง มีน้ำหนัก 60%
2. ความพร้อมของการเปลี่ยนผ่าน (Transition Readiness) ที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งนโยบาย การกำกับดูแล โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม การศึกษา ทุนมนุษย์ การเงินการลงทุน มีน้ำหนัก 40%



จากปี 2015 ถึง 2024 คะแนนเฉลี่ยทั่วโลกสำหรับ ETI เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2024 ดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (ETI) มีคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประเทศที่ติด 10 อันดับสูงสุดส่วนใหญ่เป็นประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าจากทวีปยุโรปเหนือ โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันเพียง 1% ของทั้งโลก เป็นผู้จัดหาพลังงานเพียง 3% ของโลก และมีประชากรรวมกันคิดเป็น 2% ของประชากรโลก ประเทศแถบนอร์ดิกครองทั้ง 3 อันดับแรก ได้แก่ สวีเดน เดนมาร์ก และฟินแลนด์ แต่อันดับ ETI ของนอร์เวย์ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและการก่อสร้างพลังงานหมุนเวียนลดลง

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รายชื่อประเทศที่ทำผลงานได้ดีในดัชนี ETI มีอันดับค่อนข้างคงที่ แต่มีบางประเทศที่ขยับอันดับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น จีน บราซิล และชิลี ที่เข้ามาอยู่ในกลุ่ม 20 อันดับแรก จากความพยายามในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ต่อเนื่องมาหลายปี ประเทศเหล่านี้มีลักษณะร่วมกัน ได้แก่
  • ความมั่นคงด้านพลังงานเพิ่มขึ้นจากการสร้างพันธมิตรการนำเข้าพลังงานที่หลากหลาย
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานและลดการปล่อยคาร์บอน
  • เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในส่วนผสมเชื้อเพลิง
  • มีกลไกกำหนดราคาคาร์บอน
  • มีกฎหมายที่แข็งแกร่งและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 60 จาก 120 ประเทศ ด้วยคะแนนดัชนี 55.8 จุด ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกที่ 56.5 จุด

จาก 120 ประเทศ มี 107 ประเทศที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยมี 30 ประเทศที่คะแนนเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% โดยเฉพาะจีนและบราซิล เนื่องจากการเพิ่มขีดความสามารถในพลังงานหมุนเวียนอย่างการพึ่งพาพลังงานน้ำเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งมุ่งมั่นที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และลม

นอกจากนี้ มีประเทศกว่า 28% รวมถึงคูเวต ไนจีเรีย บังกลาเทศ โมซัมบิก และแทนซาเนีย กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานที่สมดุลมากขึ้น จากที่เคยมีคะแนนต่ำสุดในด้านความเสมอภาค ความมั่นคง และความยั่งยืน ตัวอย่างเช่น เลบานอนลดเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานแสงอาทิตย์กระจายไปในทุกพื้นที่ ส่วนเอธิโอเปียได้เริ่มโครงการไฟฟ้าแห่งชาติในปี 2017 กำหนดเป้าหมายไปสู่การเข้าถึงพลังงานอย่างทั่วถึงภายในปี 2025 และตั้งเป้าหมายเฉพาะในการจัดหาพลังงานนอกระบบสายส่งให้กับประชากร 35%

ในบรรดาเศรษฐกิจหลักทั่วโลก ประเทศที่มีโมเมนตัมแข็งแกร่งที่สุด ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย บราซิล และ แคนาดา สำหรับประเทศออสเตรเลีย ได้ออกพรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2022 สะท้อนความมุ่งมั่นทางการเมืองในการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืน และเพิ่มความมั่นคงโดยลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิง ประเทศจีนยังคงเป็นผู้เล่นหลักในการผลิตเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และทุบสถิติการเร่งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (PV) ทั่วประเทศทุกปี ประเทศอินโดนีเซียได้เพิ่มการเข้าถึงพลังงานในพื้นที่ชนบท จนประชาชนเข้าถึงพลังงานได้ในอัตรา 98% ในปี 2023 เทียบกับอัตรา 93% ในปี 2022 นอกจากนี้ ประเทศแคนาดาได้อนุญาตให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเชิงพาณิชย์ได้ ผ่านระบบการซื้อขายก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading Systems) ในปี 2021 เช่น เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) และคลีนไฮโดรเจน

ภูมิภาคเอเชียที่เต็มไปด้วยประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ มีคะแนนดัชนี ETI ที่สูงขึ้นเฉลี่ย 8% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดความเข้มข้นของการใช้พลังงาน และมีนโยบายเสริมสร้างกรอบการกำกับดูแลให้แข็งแกร่งขึ้น ประเทศอินเดียมีความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาด โดยมีพลังงานหมุนเวียนและชีวมวลคิดเป็น 42% ของกำลังผลิตทั้งหมด ทำให้อินเดียเป็นตลาดพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก ด้วยการลงทุนประจำปีเกือบ 10,000ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะนี้ อินเดียกำลังผลักดันยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) และการผลิตกรีนไฮโดรเจน อย่างไรก็ตาม จีนและอินเดียยังคงพึ่งพาถ่านหินอย่างหนัก ทำให้ความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนยังอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ การเติบโตของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดมีอัตราชะลอลงในช่วง 3 ปีล่าสุด จากสภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง ประเทศกำลังพัฒนาเผชิญความยากลำบากในการลงทุนโครงสร้างพลังงานที่ยั่งยืนจากต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นจากปัจจัยหลายประการ เช่น  ความต้องการที่เพิ่มขึ้นหลังการฟื้นตัวจากโควิด-19 ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ นำไปสู่ตลาดพลังงานที่ตึงตัว เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เสมอภาค

Top 10 Actions!

“การลงมือทำอย่างจริงจัง” จะนำไปสู่ภาคพลังงานที่มีความมั่นคง ความเท่าเทียม และความยั่งยืน เพื่อให้ประเทศที่มีคะแนนดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (ETI)  ในระดับต่ำเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น มาดู 10 ข้อแนะนำจากรายงาน Fostering Effective Energy Transition 2024 กันเลย

1. มีกฎระเบียบสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอน พันธสัญญาทางการเมืองที่แข็งแกร่งจะทำให้เกิดความต่อเนื่องในนโยบายลดคาร์บอน รวมถึงนโยบายสนับสนุนการขยายพลังงานหมุนเวียน กำหนดราคาคาร์บอน กระตุ้นเศรษฐกิจสีเขียว และลดเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล
2. สร้างความเท่าเทียมด้านพลังงานสำหรับกลุ่มเปราะบาง สวัสดิการหรือมาตรการชดเชย เช่น การให้เงินอุดหนุนครัวเรือนเพื่อลดต้นทุนพลังงาน เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงพลังงานที่เป็นธรรม ป้องกันความยากจนที่เกิดจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน (Energy Poverty)
3. เพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาด เม็ดเงินการลงทุนในพลังงานสะอาดสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2023 แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายการลงทุน 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030 นอกจากนี้ การลงทุนยังคงกระจุกตัวอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนประเทศกำลังพัฒนากำลังขาดแคลนเงินทุนและขาดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน เช่น เชื้อเพลิงสะอาด ไฟฟ้า และเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน
4. ลงทุนในทางเลือกใหม่สำหรับการประหยัดพลังงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย COP28 ของการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานเป็นสองเท่าภายในปี 2030 บริษัทเอกชนจำเป็นต้องลงทุนอย่างเร่งด่วนในด้านพลังงาน โดยผู้บริหารระดับสูงต้องมีการตัดสินใจที่ชัดเจน ให้ความสำคัญกับเรื่องประหยัดพลังงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าผ่านการทำงานร่วมกัน ในขณะที่ภาครัฐต้องช่วยสร้างแรงจูงใจทางการเงินให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น
5. อัพเกรดความสามารถของโครงข่ายระบบสายส่งกำลังไฟฟ้า ด้วยการเพิ่มขึ้นของการใช้ไฟฟ้า บทบาทของสายส่งมีความสำคัญและต้องการเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น กริดไฟฟ้าต้องเสถียรในขณะที่เชื่อมต่อไฟทั้งจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนและแหล่งพลังงานดั้งเดิม
6. เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนและประเทศต่าง ๆ การจัดหาแหล่งเงินลงทุนสำหรับโครงการพลังงานสะอาด ทำได้ตั้งแต่ส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรการกุศล สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา และนักลงทุนเอกชนเพื่อกระตุ้นการเติบโตในภาคพลังงานสะอาด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยยังคงเป็นต้นทุนที่สูงในบางประเทศ ภาครัฐต้องช่วยหาจัดแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากทั้งในและนอกประเทศ
7. ลดความเข้มข้นของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การเปลี่ยนจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติจะช่วยลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในเบื้องต้น แต่ในระยะยาวควรพยายามลดการสกัดน้ำมันและก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิลให้มากที่สุดจนเหลือศูนย์
8. ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ พลังงานลมนอกชายฝั่ง กรีนไฮโดรเจนสำหรับภาคขนส่งและการผลิตเหล็ก ล้วนเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีการใช้งานจริงแล้วแต่ยังขาดการเข้าถึงในวงกว้าง การลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งใช้ประโยชน์จาก AI และ GenAI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างฐานข้อมูล ซึ่งจำเป็นต่อการจัดทำรายงานการปล่อยมลพิษและสร้างมาตรฐานสีเขียว
9. เร่งจัดการคาร์บอนในอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก (hard-to-abate sectors) ความพยายามลดคาร์บอนมักเกิดได้ช้ามากในอุตสาหกรรมหนักที่ปล่อยคาร์บอนสูง จำเป็นต้องมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยลดต้นทุนให้อุตสาหกรรมเหล่านี้เข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี สร้างตลาดที่เสริมสร้างกลไกกรีนพรีเมียม กำหนดกฎระเบียบและมาตรฐานที่ชัดเจน
10. พัฒนาทักษะแรงงานสำหรับภาคพลังงาน เนื่องจากตำแหน่งงานในภาคพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนสูงจะลดลงอย่างต่อเนื่อง บริษัทและผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องช่วยให้พนักงานได้รับทักษะใหม่เพื่อเปลี่ยนไปสู่งานพลังงานสะอาด

สาระสำคัญจาก ETI ในปีนี้ชัดเจนว่า เราไม่สามารถเสียเวลาไปมากกว่านี้แล้ว ผู้มีอำนาจตัดสินใจทั่วโลกต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดและร่วมมือกันเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตด้านพลังงานที่เท่าเทียม มั่นคง และยั่งยืน อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ Fostering Effective Energy Transition 2024



ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้