UN Global Compact Network Thailand ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจไทยที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยได้จัดทำเนื้อหาฉบับภาษาไทยและเผยแพร่ตัวอย่างเคสธุรกิจภายใต้โครงการ EU SWITCH-Asia บทความในตอนที่ 2 นี้กับโมเดลการทำธุรกิจหมุนเวียนของโรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ
แม้ภาคการท่องเที่ยวได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน แต่ความสำเร็จนั้นต้องแลกด้วยต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่สูงมาก ธุรกิจโรงแรมเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ใช้พลังงานและน้ำอย่างเข้มข้น ข้อมูลจากวารสาร Quality Assurance in Hospitality & Tourism ชี้ว่า โรงแรมปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่าง 160-200 กิโลกรัมคาร์บอนต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตรของห้องพัก นอกจากนี้ ในปี 2020 ประเทศไทยสร้างขยะทั้งหมด 28 ล้านตัน เป็นขยะที่ไม่ได้จัดการถึง 5.8 ล้านตัน โดยเป็นขยะอาหารกว่า60% หรือ 3.5 ล้านตัน แน่นอนว่าแหล่งขยะสำคัญมาจากห้องครัวของโรงแรม การนำแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในโรงแรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวในปัจจุบันสนับสนุนโรงแรมที่มีแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนมากขึ้น ทาง Booking.com รายงานว่า 78% ของลูกค้าต้องการที่พักที่ยั่งยืน และ 65% ของลูกค้าชอบพักในโรงแรมที่มีพื้นที่สีเขียว ขณะที่ Traveloka ระบุว่า 80% ของลูกค้าชอบพักในโรงแรมที่ได้รับการรับรองสถานะการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ภารกิจของโรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นแรกในปี 2008 จนถึงรุ่นที่สามในปัจจุบัน คือการรักษาแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนให้เป็นโรงแรมสีเขียวใจกลางกรุงเทพ ปัจจุบัน โรงแรมได้รับการยอมรับในฐานะแบรนด์ยั่งยืนด้านการสร้างสมดุลระหว่างคุณค่าและเป้าหมายทางธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมุ่งเน้น 4 ส่วนหลัก ได้แก่
Innovation
โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการรักษามาตรฐานการให้บริการในระดับสูง ทุกห้องสวีททั้ง 75 ห้องของโรงแรมได้ติดตั้งอุปกรณ์ให้แสงสว่างแบบ LED และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานประสิทธิภาพสูงสุด โรงแรมใช้เครื่องปรับอากาศที่มีระบบควบคุมการไหลของสารทำความเย็น (VRF) และสารทำความเย็นชนิด R410 ที่ช่วยลดการใช้น้ำ ภายในห้องน้ำมีการติดตั้งอุปกรณ์ปรับการไหลของน้ำและฝักบัวที่ประหยัดน้ำ สระว่ายน้ำใช้ระบบคลอรีนจากเกลือที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง และน้ำเสียจากโรงแรมถูกนำกลับมาใช้รดน้ำต้นไม้รวมถึงสวนผักสมุนไพรบนดาดฟ้า ภายนอกของโรงแรมถูกออกแบบด้วยหน้าต่างเต็มกรอบเพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในอาคาร และเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน
สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงแรมคำนึงถึงการไม่สร้างขยะ ใช้ขวดแชมพูและสบู่ที่สามารถเติมได้ ไม่ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ใช้หลอดพลาสติก น้ำดื่มถูกบรรจุในขวดแก้วที่รีไซเคิลได้ และใช้แก้วที่ย่อยสลายซึ่งผลิตจากวัสดุพืช ในปี 2018 โรงแรมได้ดำเนินการปรับปรุงครั้งใหญ่มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท โดยใช้ซัพพลายเออร์และผู้รับเหมาในท้องถิ่น ทำให้ทุกอย่างถูกออกแบบและผลิตในประเทศไทย
โรงแรมได้จัดหาอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค และใช้นโยบายขยะเป็นศูนย์ (zero-waste)มาตั้งแต่ปี 2016 พัฒนาระบบสั่งอาหารที่มีความแม่นยำโดยร่วมมือกับเกษตรกรและผู้ผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดของเหลือ โรงแรมยังมีระบบการติดตามสต็อกอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มผลกำไรและทำให้จัดการกระแสเงินสดดีขึ้น แต่หากมีอาหารเหลือจะถูกนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในสวนผักบนดาดฟ้า และนำผักเหล่านั้นมาเป็นวัตถุดิบในเมนูเครื่องดื่มและสลัดของโรงแรมต่อไป ขยะอาหารบางส่วนถูกนำไปเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (BSF) ในฟาร์มของโรงแรม ซึ่งหนอนเหล่านี้ถูกนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ในฟาร์มออร์แกนิกที่ส่งวัตถุดิบให้โรงแรม
Circular Economy impact
กิจกรรมในโรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ มีส่วนช่วยเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เช่น วัสดุ พลังงาน น้ำ และการฟื้นฟูของเสีย ให้ทรัพยากรหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ต่อได้ ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร โรงแรมลดการใช้พลังงานลง 10% ลดขวดพลาสติกได้ 120,200 ขวดต่อปี ลดขวดแชมพูและสบู่ 96,000 ขวด และลดหลอดพลาสติก 9,000 ชิ้น ปริมาณขยะทั้งหมดของโรงแรมลดลง 46% จากปี 2017 ถึง 2018 (จาก 103 เป็น 56 เมตริกตัน)
ในปี 2023 วัตถุดิบอาหารของโรงแรม 70% เป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ขณะที่การหมุนเวียนทรัพยากรจากขยะอาหารตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2023 ทำให้มีเปลือกไข่จำนวน 62,500 ฟองถูกส่งกลับไปยังฟาร์มไก่ออร์แกนิกเพื่อนำไปทำเป็นอาหารไก่ และรีไซเคิลถาดไข่ประมาณ 6,000 ถาดต่อปี ขยะอาหารจำนวน 600 กิโลกรัมต่อเดือนถูกแยกประเภทเพื่อนำไปเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (BSF) จำนวน 33 กิโลกรัมต่อเดือน
โรงแรมได้รับรางวัลมากมายจากความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อม เช่น รางวัลโรงแรมสีเขียวระดับยอดเยี่ยมในปี 2016 รางวัลโรงแรมสีเขียว G-Gold ในปี 2020 จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (DEQP) ใบรับรองความเป็นกลางทางคาร์บอนและฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ในปี 2017 จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) รางวัล Zero Carbon Resorts ในปี 2019 จากโครงการ SWITCH-Asia ของสหภาพยุโรป และรางวัล PATA Gold Award 2023 ในด้านความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมจากสมาคมการท่องเที่ยวแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (PATA)
ในด้านประโยชน์ทางธุรกิจ รายได้รวมของโรงแรมเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ในปี 2022 และรายจ่ายลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการประหยัดน้ำ ไฟ และจัดการระบบอาหาร เช่น การประหยัดต้นทุนจากฟาร์มไก่ออร์แกนิกผ่านการนำภาชนะกลับมาใช้ใหม่อยู่ที่ประมาณ 24,000 บาทต่อปี การซื้อสินค้าตรงจากเกษตรกรโดยไม่ผ่านคนกลางทำให้ค่าอาหารลดลง 30.7% ในปี 2023 โรงแรมศิวาเทลได้กลายเป็นโรงแรมที่ไม่มีของเสียจากอาหารเหลือทิ้ง และภายในสิ้นปี 2024 โรงแรมตั้งเป้าที่จะไม่มีของเสียเหลือทิ้งสู่หลุมฝังกลบ
Stakeholders
ด้วยนโยบายอาหารเพื่อสุขภาพและการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารเคมี โรงแรมได้สนับสนุนเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นมากกว่า 40 รายทั่วประเทศไทย ผ่านการสร้างเครือข่ายเพื่อนเกษตรกรศิวาเทลกรุงเทพขึ้นและมีแนวปฏิบัติการค้าที่เป็นธรรม (fair trade) มีการฝึกอบรมและเรียนรู้การทำงานร่วมกับโรงแรม และมีส่วนร่วมจำหน่ายสินค้าในตลาดที่จัดขึ้นเดือนละครั้งในบริเวณล็อบบี้ของโรงแรม
นอกจากนี้ โรงแรมได้จัดทำโครงการธนาคารขยะเพื่อช่วยกระตุ้นให้พนักงานส่งคืนขยะแลกกับเงินสด ส่งเสริมนวัตกรรมการแพทย์แผนไทยและสปาธรรมชาติบำบัด อีกทั้งสร้างความร่วมมือกับองค์กรภายนอก เช่น โครงการ Chula Zero Waste ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการฝึกอบรมการเลี้ยงหนอนแมลงวันลายกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Implementation
คุณหนิง-อลิสรา ศิวยาธร CEO โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ เชื่อว่าภาคเอกชนควรเป็นผู้นำโดยปฏิบัติเป็นตัวอย่าง ไม่ควรรอหรือพึ่งพาโครงการรัฐ โรงแรมขยายผลการปฏิบัติไปทั่วพื้นที่ใกล้เคียงย่านเพลินจิตซึ่งเป็นที่ตั้งของธุรกิจชั้นนำ โดยมีกิจกรรมการตลาดทางสังคมสำหรับแบรนด์ที่ยั่งยืน เช่น ตลาดยั่งยืนของศิวาเทลทุกเดือน ทัวร์สวนดาดฟ้าศิวาเทล และวัน Sivatel's Farmer Friends เพื่อต่อยอดแบรนด์ที่ยั่งยืนร่วมกับพันธมิตรอื่น แม้การอุดหนุนผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกจะมีปริมาณจำกัดและมีความไม่แน่นอน แต่การสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคและบริษัทที่สนใจในแนวทางสีเขียว เกี่ยวกับความผันผวนของห่วงโซ่อุปทานอาหารออร์แกนิก เช่น ความแตกต่างตามฤดูกาล เป็นสิ่งสำคัญ
โรงแรมศิวาเทลได้แบ่งปันบทเรียนที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกลไกและการดำเนินงานเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งภายในโรงแรมและองค์กรภายนอกซึ่งรวมถึงการเยี่ยมชมสถานที่ เป้าหมายของโรงแรมคือการสร้างสถานที่ทำงานที่มีความสุขผ่านการเรียนรู้ทีละขั้นตอน โดยมีส่วนผสมสำคัญในการสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน ได้แก่
ยังมีตัวอย่างธุรกิจหมุนเวียนอื่น ๆ ในอาเซียนที่น่าสนใจจากโครงการ EU SWITCH-Asia สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่ หรือหากใครสนใจเริ่มต้นการออกแบบโมเดลธุรกิจหมุนเวียนเพื่อการจัดการทรัพยากรที่ดีขึ้นตลอดห่วงโซ่คุณค่า ติดตามรายละเอียดการอบรม Circular Business Design ในประเทศไทยได้ทาง CIRCO Hub Thaialnd
Acknowledgements
กรณีศึกษาทางธุรกิจนี้จัดทำขึ้นภายใต้กรอบโครงการ Technical Advisory project: Mobilising Business Action for Circular Economy in the ASEAN countries ภายใต้โครงการสนับสนุนนโยบาย EU SWITCH-Asia โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกและวิเคราะห์ประสบการณ์ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน กรณีศึกษานี้ผลิตโดย ดร.จุฑาทิพย์ มณีพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญประจำประเทศไทย ตรวจสอบโดย Rene Van Berkel และ Thomas Thomas ผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาค อ้างอิงข้อมูลที่จัดทำและผ่านการรับรองโดยโรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ
Disclaimer
เนื้อหาของบทความนี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของโรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ และทีมผู้เชี่ยวชาญ บทความนี้ไม่ถือเป็นการรับรองหรือสะท้อนมุมมองต่อโรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ โดยสหภาพยุโรปหรือพันธมิตรของโครงการสนับสนุนนโยบาย SWITCH-Asia
ลิขสิทธิ์: © 2024 SWITCH-Asia