แมลงกินได้ (edible insect) กำลังได้รับความสนใจจากสถาบันวิจัยทั่วโลก พวกมันสามารถนำไปพัฒนาเป็นพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นพลังงานชีวมวล และแน่นอนแมลงจะเป็นอาหารจานเยี่ยมของคุณในมื้อถัดๆ ไป
หนึ่งในบริษัทที่บุกเบิกการแปรรูป ‘แมลงวัน’ ที่ถึงขนาดทำเป็นฟาร์มอยู่ใจกลางกรุงลอนดอนคือบริษัท Entocycle ที่มีเป้าหมายท้าทายว่า จะพยายามผลักดันให้เกิดการส่งออกอาหารที่แปรรูปจากแมลงวันไปทั่วโลก โดยทำลายความรู้สึกน่ารังเกียจนั่นลงเสีย (แวะชมได้ที่ www.entocycle.com ถ้าคุณไม่รังเกียจหน้า homepage ที่มีหนอนแมลงวันดิ้นดุกดุ๋ย ซึ่งคิดว่าเขาตั้งใจให้คุณเจอแมลงยุบยับตั้งแต่หน้าแรกที่เข้าไปเพื่อ ‘ปรับทัศนคติ’ เบื้องต้น)
แค่ประโยค Intro แรกในหน้าเว็บก็ทำให้เรารู้สึกกำลังก้าวไปสู่อาณาเขตแห่งความท้าทายใหม่ ฟาร์ม Entocycle เลี้ยงแมลงวันสายพันธุ์คัดพิเศษชื่อว่า ‘Black soldier fly’ หรือบ้านเรารู้จักกันในชื่อ ‘หนอนแมลงวันลาย’ หรือ ‘หนอนแม่โจ้’ ที่มีการเพาะเลี้ยงกันสักพักแล้วในกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือและอีสาน ซึ่งพัฒนาสายพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้
แต่ทำไมบริษัท Entocycle ถึงสนใจแต่สายพันธุ์หนอนแมลงวันลาย มีหลายปัจจัยที่ทำให้พวกมันเป็นพระเอกในอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานทดแทน เนื่องจากขนาดตัวใหญ่กว่าแมลงวันบ้านทั่วไป แต่เคลื่อนไหวเชื่องช้า หากเลี้ยงเพียง 2 สัปดาห์จะมีขนาดใหญ่ได้ถึง 5,000 เท่า ไม่เป็นพาหะโรคให้กับมนุษย์ ไม่เป็นศัตรูพืช รวมถึงเป็นผู้ย่อยสลายตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ
แต่ช่วงที่เราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด คือช่วงที่ยังเป็นตัวหนอน (Larvae) ซึ่งสามารถทำให้แห้งแล้วป่นเป็นอาหารสัตว์ ช่วยลดการใช้ถั่วเหลืองได้หลายตันเนื่องจากให้พลังงานโปรตีนสูง (เกษตรกรไทยเราทำแบบนี้มานานแล้ว) นอกจากนั้น หนอนแมลงวันลายยังเป็นนักย่อยสลายตัวยง พวกมันกินขยะของมนุษย์ได้เกือบทุกประเภทที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ตัวมันเองยังสามารถแปรรูปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นเพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ หรือการใช้ประโยชน์ที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุดคือการ ‘กิน’ พวกมันดื้อๆ นี่แหละ
หนอนแมลงวันลายสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายประเภท เนื้อของมันสามารถนำมาบดแล้วทำให้สุกได้ หากทาขนมปังแล้วจะมีรสชาติและเนื้อสัมผัสคล้ายเนยถั่ว ซึ่งเป็นรสกลางๆ ที่ปรุงเพิ่มหรือดัดแปลงเป็นรสชาติอื่นได้ สามารถทำเป็นเนื้อโปรตีนเลียนแบบเนื้อสัตว์ หรือโปรตีนเกษตรที่น่าตาดูดีจนคุณลืมไปเลยว่าพวกมันเคยเป็นแมลง
มีการคาดการณ์ว่าในปีค.ศ. 2050 ประชากรโลกต้องการโปรตีนมากถึง 2 เท่าจากปริมาณในปัจจุบัน ดังนั้นโปรตีนจากแมลงจึงเป็นความหวังใหม่ อย่างน้อยพวกมันก็จะถูกแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ เพื่อลดการใช้ผลผลิตทางการเกษตรซึ่งพึ่งพาทรัพยากรสูง ลดการแผ้วถางพื้นที่ในการปลูกพืชที่ให้ผลผลิตต่ำ
ไม่นานมานี้ในปีค.ศ. 2017 สหภาพยุโรปมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรใช้โปรตีนแมลงในอุตสาหกรรมสัตว์ได้มากขึ้น โดยอนุญาตให้ใช้เพื่อเลี้ยงในฟาร์มปลาสำหรับบริโภคได้ และคาดว่าในปีค.ศ. 2020 จะขยายผลไปถึงฟาร์มหมูและไก่ด้วยเช่นกัน โดยจะสามารถส่งออกได้โดยไม่ติดข้อบังคับความปลอดภัยอาหารของ EU ธุรกิจเลี้ยงแมลงกินได้จึงเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างสดใส ท้าทาย และโดดเด่น อย่างน้อยก็อาจจะก้าวเป็นธุรกิจกระแสหลักภายใน 10 ปีข้างหน้าได้อย่างสบายๆ
ทุกๆ วันจะมีอาหารเหลือทิ้งจำนวนมากที่ทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ได้บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ขยะสดเหล่านี้แท้จริงแล้วมีคุณค่ามาก แต่เมื่อทิ้งไว้จะปล่อยก๊าซมีเทน (methane) ปริมาณมหาศาลที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ขยะสดเน่าเปื่อยจึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แม้จะฝังกลบในดินแล้วก็ตาม มีการประเมินว่าหากนำปริมาณมีเทนที่เกิดจากกากอาหารเหลือทิ้งของทั้งโลกมารวมกัน จะมีปริมาณมีเทนเข้มข้นเทียบเท่ากับประเทศทั้งประเทศที่ปล่อยภาวะเรือนกระจกอันดับ 3 รองจากจีนและสหรัฐอเมริกา
แมลงกินได้โดยเฉพาะแมลงวันลายจึงเป็นตัวเลือกน่าสนใจของกระบวนการย่อยสลาย เพราะหนอนเหล่านี้เมื่อทำการย่อยสลายกากอาหารจะไม่ปล่อยมีเทนออกมา เนื่องจากร่างกายหนอนจะเปลี่ยนองค์ประกอบคาร์บอนให้กลายเป็นโปรตีนที่อยู่ในเนื้ออ้วนๆ ของพวกมัน และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพียงนิดหน่อยเท่านั้น
ปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์พบว่า การย่อยสลายขยะของหนอนแมลงวันลายนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการทำปุ๋ยหมักชีวภาพถึง 47 เท่า และที่เจ๋งไปกว่านั้นเราไม่ได้แค่ปุ๋ย แต่ได้อาหารทดแทน (โปรตีนในตัวหนอน) ด้วย จากการย่อยสลายด้วยเหล่าหนอนแมลงวันลาย ทำให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าของกระบวนการรีไซเคิลที่ครบวงจรและน่าจะเป็นทางออกที่คุ้มค่าที่สุด ณ ขณะนี้
หนอนแมลงวันลายยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในการนำไปผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) เมื่อนำหนอนมาบด แล้วปรับด้วยสูตรทางเคมีให้เข้ากับเครื่องยนตร์ดีเซล สามารถทำให้เครื่องจักรมีประสิทธิภาพการเผาไหม้ดีขึ้น 20% และปล่อยไอเสียในระดับต่ำ
หรือคุณยังสามารถนำโปรตีนของหนอนไปผสมกับกลีเซอรอล (glycerol) ของเหลวหนืดที่ปราศจากกลิ่น ไม่มีสี มีกลิ่นหวาน และปลอดสารพิษ เพื่อนำไปทำเป็นแผ่นบางๆ คล้ายพลาสติก เพื่อใช้แทนถุงพลาสติกในอุตสาหกรรมอาหารได้ โดยใช้เวลาย่อยสลายในธรรมชาติไม่นาน ส่วนในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่มีการใช้สารไคทิน (chitin) ที่มักได้จากเปลือกหอย กุ้ง ปู ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นยาสีฟัน ครีมทาหน้าลดริ้วรอย แชมพูสระผม ก็ยังเปลี่ยนมาใช้ไคทินที่ได้จากหนอนทดแทนซึ่งมีอรรถประโยชน์ยืดหยุ่นกว่า และคงสภาพผลิตภัณฑ์ได้นานกว่าจากสัตว์ทะเล
ธุรกิจฟาร์มหนอนกินได้ อาจจะกลายเป็นธุรกิจที่ Disrupt ในทุกอุตสาหกรรมอย่างน่าตื่นเต้น เป็นธุรกิจที่บูมอย่างยั่งยืนในช่วงที่โลกต้องการพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้ปัจจุบันประชากรแมลงทั่วโลกกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่เรากลับต้องการพวกมันมากที่สุด
Illustration by Kodchakorn Thammachart
ที่มา: https://thematter.co/science-tech/edible-insect-will-save-the-world/84094
อ้างอิงข้อมูลจาก
Black Soldier Fly Biowaste Processing
Black soldier fly larvae for organic waste treatment – prospects and constraints