โกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ผนึกกำลังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ UNDP
และ AICHR จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน ด้วยมาตรการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน”
ภายใต้กิจกรรมสัปดาห์ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ประจำปี ๒๕๖๕
(Bangkok Business and Human Rights Week 2022)
วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐ – ๑๓.๐๐
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme - UNDP) ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Thai Representative to ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จัดกิจกรรมสัปดาห์ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ประจำปี ๒๕๖๕ หวังขับเคลื่อนทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานและสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย
คุณเทอดเกียรติ พร้อมมูล อุปนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงาน
องค์กรภาคธุรกิจ นอกจากจะมีบทบาทหน้าที่ในการประกอบกิจการของตนเองเพื่อสร้างผลกำไรตอบแทนแก่เจ้าของกิจการ สร้างรายได้แก่บุคลากรของกิจการ ด้วยการส่งมอบสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสังคมแล้ว ในการดำเนินธุรกิจ จำเป็นจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ หนึ่งในการแสดงความรับผิดชอบดังกล่าว คือ การป้องกันมิให้การดำเนินกิจการของตนเอง สร้างผลร้ายต่อบุคคลใดก็ตามที่อาจได้รับผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรธุรกิจนั้น รวมไปถึงผลกระทบจากกิจกรรมอื่นๆ ที่แม้จะไม่ได้กระทำการโดยองค์กรธุรกิจนั้นก็ตาม แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตหรือทำให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการที่องค์กรธุรกิจนั้นนำไปจัดจำหน่ายหรือนำไปเป็นวัตถุดิบ
การสร้างผลร้ายต่อผู้ได้รับผลกระทบนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีตามธรรมชาติ มีความเป็นสากลและได้รับการรับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือกติกา อนุสัญญา ข้อตกลงต่างๆ ระหว่างระหว่างประเทศ ด้านสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศต่างๆ ให้การรับรอง
ในปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อภาคธุรกิจมีความคาดหวังที่ชัดเจนยิ่งขึ้นให้องค์กรธุรกิจเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในการดำเนินกิจการ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงินและนักลงทุน ผู้บริโภค นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ล้วนแต่แสดงความต้องการให้ภาคธุรกิจนำแนวคิดและมาตรการ
ด้านสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติ ความต้องการนี้อาจมีได้หลายรูปแบบ เช่น การออกกฎหมายซึ่งมีผลบังคับใช้ไปถึงคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน เกณฑ์การพิจารณาของสถาบันลงทุนหรือเจ้าของเงินกู้ การกำหนดเกณฑ์การจัดอันดับผลการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจ (เช่น DJSI, FTSE Russell’s ESG Rating) และมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูล (เช่น มาตรฐาน GRI มาตรฐาน One-Report ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.))
ในประเทศไทย กระทรวงยุติธรรม ได้เผยแพร่แผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่ส่งเสริมให้ภาครัฐคุ้มครองและภาคเอกชนเคารพสิทธิมนุษยชน พร้อมกับการพิจารณาการเยียวยาแก่ผู้เสียหายร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกัน มีหลักฐานปรากฏให้เห็นชัดเจนว่าองค์กรธุรกิจที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนไม่เพียงสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กรตนได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนยังเป็นโอกาสทางธุรกิจ (business case) สามารถสร้างคุณค่าร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งในพื้นที่ของการดำเนินธุรกิจและตลอดห่วงโซ่คุณค่า ดังนั้น ธุรกิจสามารถใช้กระแสที่เกิดขึ้นนี้ เป็นโอกาสทางธุรกิจได้เช่นกัน
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย มีพันธกิจส่งเสริมให้องค์กรภาคธุรกิจในประเทศไทย ทั้งที่เป็นสมาชิก และไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจอย่างสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและเป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UN SDGs) 17 ประการ โดยมียุทธศาสตร์สร้างความร่วมมือ เพิ่มการตระหนักรู้และเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในภาคธุรกิจไทย สมาคมฯ จึงมีความตั้งใจพัฒนาหลักสูตร “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ภาคปฏิบัติ” นี้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ และพันธมิตรจากหลายภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแก่ผู้บริหารองค์กรธุรกิจในประเทศไทย และพัฒนาศักยภาพในการนำหลักการและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนที่ดีไปดำเนินการให้เกิดผลได้จริง
ในสถานการณ์ที่องค์กรและพนักงานอยุ่ใน ช่วงฟื้นตัวจาก โควิด-19 โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งนี้ เอกชนไทยจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้ประเทศสามารถก้าวผ่านระยะการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคำนึงถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ซึ่งภาคธุรกิจขนาดใหญ่สามารถเป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนให้กับภาคธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็กได้ อีกทั้งภาคธุรกิจของประเทศไทย ในฐานะที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจในภูมิภาค สามารถเป็นต้นแบบให้กับประเทศต่าง ๆ เพื่อยืนยันบทบาทของประเทศไทยในการเป็นผู้นำเรื่องนี้ในระดับภูมิภาค ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในระดับระหว่างประเทศอีกด้วย
มีความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชน ด้านแรงงานในไทย รวมทั้งประเด็นที่อาจถูกมองข้าม อาทิ สุขภาพจิตของแรงงานที่ยังอยู่ในองค์กรและแรงงานที่ต้องพ้นสภาพ ขณะเดียวกัน ในการส่งเสริมประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้เป็น “เรื่องง่าย” ที่ธุรกิจทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถ “เข้าถึง” “เข้าใจ” และ “นำไปปฏิบัติจริง” เกิดผลลัพธ์ที่สามารถวัดผลได้
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอกรอบการดำเนินงานสำหรับรัฐบาลและภาคธุรกิจ โดยภาครัฐมีหน้าที่ปกป้องประชาชนจากผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษกับผู้ที่เปราะบางและด้อยโอกาส อาทิ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ หรือผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือทางสังคมน้อย ในขณะที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน แม้อยู่ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุข เพราะการตรวจสอบรอบด้านในเชิงสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิภาพจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับองค์กรต่างๆ ในการระบุความเสี่ยง เพื่อทำให้สามารถหลีกเลี่ยงและลดผลกระทบต่อแรงงาน ซึ่งองค์กรสมาชิกของสมาคม ได้สร้างเครื่องมือประเมินตัวเองที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อช่วยองค์กรธุรกิจในการพิจารณาและจัดการผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากโควิด-19 และเพื่อขับเคลื่อนแผนการฟื้นฟูนี้ ภาคธุรกิจจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยบรรเทาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ และสร้างอนาคตที่ครอบคลุมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมคุณภาพของสังคม การคุ้มครองแรงงานตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน วิกฤตการณ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ สร้างความปกติใหม่ หรือ New normal บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนและแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
การสร้างภูมิคุ้มกันในอนาคตควรมีเรื่องของการพัฒนาและเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจ ที่ไม่เพียงแต่เรื่องโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือในยุคดิจิทัล (digital disruption) ที่จะทำให้การทำงานในอนาคตเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมด้านชีวภาพ (Bio Economy) จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยต้องมีการวางแผนฟื้นฟูให้มีการสนับสนุนสินค้าไทย เน้นการพัฒนาความมั่นคงของอุปทาน (Supply Security) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรและอาหาร สนับสนุนด้านการจ้างงาน การจ้างผู้สูงอายุ สนับสนุนมาตรการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และส่งเสริมให้การพัฒนาแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ
สมาคมจัดให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเครื่องมือสำหรับภาคธุรกิจ ที่จะช่วยให้สามารถประเมินศักยภาพขององค์กร ได้รับคำแนะนำในการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการฟื้นฟูและการสร้างภูมิคุ้มกัน ได้แก่ การเจรจาทางสังคม หรือ Social dialogue ซึ่งหมายถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้างในประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจและนโยบายทางสังคม พร้อมกับกำหนดทางเลือกร่วมกัน โดยบริษัทอาจใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพยายามลดต้นทุนทางสังคม และลดผลกระทบต่อแรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง และรักษาระดับค่าจ้าง ตลอดจนการติดตามประเมินผล โดยจะต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายและแนวปฏิบัติต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของแรงงาน เนื่องจากเป็นการส่งเสริมความโปร่งใส ความไว้เนื้อเชื่อใจ ที่เกื้อหนุนต่อปรับเปลี่ยนให้เกิดผลได้
สุดท้ายนี้ผมขออำนวยพรให้การจัดงานสัปดาห์ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนประจำปี 2565
BBHR WEEKสัปดาห์ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Bangkok Business and Human Rights Week: BBHR Week) ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามความคาดหวังทุกประการ