เมื่อ Climate Change กระทบเศรษฐกิจโลก ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะอยู่รอด?

Article

  • Video of Climate Change 2022: Impacts, Adaptation & Vulnerability, the Working Group II contribution to the IPCC Sixth Assessment Report.

บทบรรยายภาษาไทย แปลโดย ดร. สุวิน ซันดู

ทุกชีวิตบนโลก – ตั้งแต่ระบบนิเวศไปจนถึงอารยธรรมมนุษย์ – กำลังได้รับความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนจากฝีมือมนุษย์ได้ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส และแม้เราจะพยายามปรับตัวกันอย่างไร เหตุการณ์รุนแรงจากสภาพอากาศที่เกิดถี่ขึ้น กำลังส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและชีวิตของผู้คนกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนเหนือผิวดินและในมหาสมุทร น้ำท่วมเฉียบพลัน รวมถึงภัยแล้ง  ภัยธรรมชาติเหล่านี้ได้กลายเป็นเรื่องปกติในหลายพื้นที่ทั่วโลก ส่งผลรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตผู้คน สังคมเมือง ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน และมันกำลังจำกัดโอกาสของอนาคตที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ความรู้ใหม่ๆ ด้านวิทยาศาสตร์บ่งบอกชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์มีผลโดยตรงต่อเหตุการณ์จากภัยธรรมชาติที่รุนแรงเหล่านี้

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 2022: ผลกระทบ, การปรับตัว และความเปราะบาง


รายงานการประเมินของ IPCC ฉบับนี้มีความสำคัญ ฉันคิดว่ามันได้เน้นย้ำถึงข้อเท็จจริงจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนอย่างปราศจากข้อสงสัย เห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน อันที่จริงก็ต่อความเป็นอยู่ที่ดีของทั้งโลกเลยเชียวล่ะ ใจความหลักที่รายงานนี้ได้นำเสนอคือเราไม่สามารถแยกสองสิ่งออกจากกันได้ สิ่งแรกคือสังคมมนุษย์จะมีความเป็นอยู่ที่ดีได้ก็ขึ้นอยู่กับความเป็นอยู่ที่ดีของโลก และสิ่งที่สองคือพลังขับเคลื่อนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบของมัน รวมทั้งการตอบสนองของเราต่อความท้าทายนั้น 


นับตั้งแต่รายงานการประเมินครั้งก่อน เรามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น โดยอิงจากการสังเกตผลกระทบที่ระบบนิเวศและสังคมมนุษย์กำลังเผชิญภายใต้อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เราเห็นความสูญเสียและความเสียหายต่อทั้งสองฝ่าย เรามีตัวอย่างเฉพาะที่บ่งบอกถึงกลไกที่ส่งผลต่อความเสียหายนั้น และเรากำลังเรียนรู้จากสิ่งนั้นในขณะที่ภาวะโลกร้อนกำลังดำเนินไป เราจะคาดหวังอะไรได้บ้างสำหรับอนาคต ความสูญเสียและความเสียหายในอนาคตจะเป็นอย่างไร หากเราไม่สามารถหยุดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงได้

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีมากกว่าที่เคยประเมินไว้ในรายงานการประเมินครั้งก่อน ทั้งในเชิงขอบเขตและขนาด ความเสี่ยงที่คาดการณ์ไว้สำหรับอนาคตก็มีมากกว่าเช่นกัน ผลกระทบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการหยุดชะงักอย่างรุนแรงและแพร่หลายต่อธรรมชาติและต่อสังคม เช่นลดความสามารถของเราในการปลูกพืชอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ หรือในการจัดหาน้ำดื่มสะอาด

 

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดล้วนมาจากชุมชนที่ยากจน เนื่องจากพวกเขามีความสามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้น้อยที่สุด การประเมินของเราระบุว่ามีผู้คนจำนวน 3.3 ถึง 3.6 พันล้านที่อาศัยอยู่ในจุดเสี่ยงดังกล่าว พวกเขาอยู่กระจายไปส่วนต่างๆ ของแอฟริกา เอเชียใต้ อเมริกากลางและใต้ หมู่เกาะขนาดเล็ก ไปจนถึงอาร์กติก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเปรียบเสมือนตัวทวีคูณความเครียดของผู้คนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเหล่านี้ เนื่องจากพวกเขามีข้อจำกัดในเรื่องปัจจัยพื้นฐานหลายด้าน ทั้งการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด สุขอนามัย และการศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขายังขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่อ่อนไหวต่อสภาพอากาศเป็นอย่างมาก เช่น การทำฟาร์มและการประมง พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเพียงพอ มีรัฐบาลที่ไม่สามารถตรวจสอบได้และไม่รับผิดชอบ ทำให้พวกเขาขาดความไว้วางใจต่อรัฐบาลของตน แม้แต่ความแตกต่างทางเพศก็ยังส่งผลให้ผู้คนได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แตกต่างกัน เนื่องจากเพศสภาพมีผลต่อบทบาทที่แตกต่างกันในสังคม


รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทุกแบบทั่วโลก ตั้งแต่บนภูเขาสูงไปจนถึงมหาสมุทรลึก จากแนวปะการังเขตร้อนไปจนถึงพื้นที่น้ำแข็งในบริเวณอาร์กติก ไม่ว่าเราไปแห่งหนใด เราก็ได้เห็นรอยประทับของภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปทุกที่ รายงานยังได้แสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์สุดโต่งที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบของมันก็ได้ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั่วทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนในทะเล คลื่นความร้อนบนบก พายุ เหตุการณ์เหล่านี้กำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศและพืชพันธุ์ที่จำเป็นต่อชีวิตเรา พืชพันธุ์นานาชนิดกำลังถูกผลักให้ไปเติบโตในย่านที่เข้าถึงลำบาก ทั้งบนพื้นที่ในระดับความสูงที่มีความเยือกเย็นตลอดปีหรือลงสู่แหล่งน้ำเย็นที่ลึก ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นผลกระทบที่ต่อเนื่องไปทั่วทั้งระบบนิเวศ และต่อวิถีชีวิตและสังคมที่พึ่งพิงอยู่กับระบบนิเวศเหล่านี้ และเมื่อระบบนิเวศและพืชพันธุ์ดังกล่าวเข้าใกล้ขีดจำกัดในการปรับตัวของตัวมันเอง เราก็เสี่ยงที่จะข้ามจุดเปลี่ยน ที่เรียกว่าจุดพลิกผัน ซึ่งเป็นจุดวิกฤตภายในระบบที่ทำให้ยากต่อการย้อนกลับมาอยู่ในสภาวะแวดล้อมแบบเดิม

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีมากในสังคมเมืองที่มีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกอาศัยอยู่ คลื่นความร้อนทำให้เมืองเปรียบเสมือนเตาอบขนาดใหญ่ มลพิษทางอากาศส่งผลต่อสุขภาพของผู้คน ภัยธรรมชาติที่รุนแรงทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต้องหยุดชะงัก เช่น ระบบขนส่ง น้ำ สุขาภิบาล และพลังงาน เมืองที่อยู่ชายฝั่งทะเลยิ่งมีความสุ่มเสี่ยงมาก เพราะมันอยู่แนวหน้าที่ต้องประจันกับอันตรายที่หลากหลายมากกว่า เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และการทำลายระบบนิเวศชายฝั่งที่คอยปกป้องผู้คนจากพายุลมฝนรุนแรง

เราจะปรับตัวอย่างไรต่อความเสี่ยงในปัจจุบันและอนาคต?


ความอันตรายที่เกิดขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพอากาศส่งผลต่อเนื่องเป็นโดมิโน ยิ่งนานวันผลกระทบเหล่านี้ยิ่งมีความซับซ้อน และเป็นการยากมากขึ้นในการจัดการ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อธรรมชาติและผู้คนอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับระดับและความเร็วของภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น และการปรับตัวของพวกเรา

รายงานของคณะทำงานที่ 2 ของ IPCC แสดงให้เห็นว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งจะแย่ลงในสิ่งแวดล้อมที่แหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลาย การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปแบบไม่ยั่งยืน การตัดไม้ทำลายป่า การเติบโตของเมืองและประชากร ในรายงานยังพบด้วยว่าการขยายตัวของเมืองในภูมิภาคแอฟริกาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบแบบรุนแรง โดยเฉพาะในเมืองตามพื้นที่ชายฝั่งทะเลของแอฟริกามีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากโอกาสทางเศรษฐกิจ พวกเขาได้ย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานชั่วคราวในพื้นที่ชายขอบที่เปราะบางและมีความเสี่ยงสูง และเมื่อผนวกกับภัยคุกคามที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งระบบนิเวศและผู้คนในพื้นที่เหล่านี้ก็พลอยได้รับผลกระทบที่รุนแรงไปด้วย

รายงานยังบ่งบอกด้วยว่าเราได้มีการดำเนินการเพื่อปรับตัวต่อภาวะอากาศแปรปรวนในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่ความคืบหน้าในแต่ละภูมิภาคไม่เท่ากัน อันที่จริง เรายังไม่ได้พยายามมากเท่าที่ควรเพื่อไปถึงจุดที่จำเป็นเมื่อเทียบกับระดับของภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีรายได้น้อย เช่น ประเทศของฉันเอง กัวเตมาลา ซึ่งเราเห็นว่าอุปสรรคสำคัญไม่ได้มีเฉพาะการขาดแคลนเงินทุนเพียงเท่านั้น แต่ยังมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างอีกด้วย ข่าวดีก็คือเราสามารถพยายามปรับตัวให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อลดระดับความเปราะบางของเรา และพร้อมกันนั้นก็ดำเนินการทางด้านลดระดับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะโลกร้อนเพื่อบรรเทาผลกระทบควบคู่กันไป


เรายังมีหลักฐานของการปรับตัวที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย มันคือการดำเนินการปรับตัวที่อาจส่งผลอย่างอื่นที่คาดไม่ถึง เช่น การสร้างเขื่อนและพนังกั้นน้ำที่ส่งผลต่อการทำลายระบบนิเวศชายฝั่งทะเล หรือการปัดความเสี่ยงจากสภาพอากาศในภูมิภาคหนึ่งไปยังภูมิภาคอื่น หรือไปยังกลุ่มอื่นๆ ในสังคม หรือแม้แต่การเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็อาจเกิดขึ้นได้หากเราปรับตัวแบบไม่เหมาะสม รายงานของเรายังแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวที่ไม่เหมาะสมมากที่สุดคือชนเผ่าพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อย ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ผู้ที่อาศัยในถิ่นฐานชั่วคราว และผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ ในสังคม น่าเสียดายที่การปรับตัวที่ไม่เหมาะสมนี้จะยิ่งตอกย้ำความไม่เท่าเทียมในสังคมให้แย่ลงไปกว่าที่เราเห็นในปัจจุบัน

 

ความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับการลดความเสี่ยง

ในรายงานแสดงให้เห็นว่าธรรมชาติมีศักยภาพอย่างมาก ทั้งในการลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศ การช่วยเราจัดการกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน แต่เรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเท่าที่ควร อีกทั้งธรรมชาติยังจำเป็นต้องได้รับการปกป้องและฟื้นฟูเพื่อให้มันสามารถกลับมาช่วยเราได้


หากเราฟื้นฟูพื้นที่ระบบนิเวศของโลกทั้งบนบกและในมหาสมุทรเพียง 30 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ มันจะช่วยให้สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกมีความยืดหยุ่นต่อความปรวนแปรทางสภาพอากาศมากยิ่งขึ้น มันสามารถช่วยเราควบคุมสภาพอากาศ จัดหาน้ำสะอาด ควบคุมศัตรูพืชและโรค ผสมเกสรพืชเพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มันสามารถช่วยให้เราปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไปพร้อมๆ กับการพัฒนาที่ยั่งยืน การใช้แนวทางธรรมชาติผสมผสานกับวิศวกรรมเพื่อเป็นกลยุทธ์ในการปรับตัว พร้อมไปกับการจัดให้มีโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม จะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่เราได้ในวงกว้าง ทั้งด้านสุขภาพ ความมั่นคงด้านอาหาร และระบบนิเวศ อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่อการปรับตัวคงไม่เพียงพอในการสร้างโลกที่น่าอยู่สำหรับทุกคน เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราด้วย และเราจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ หากเราอยากมีโอกาสประสบความสำเร็จ

สิ่งที่ทำให้รายงานฉบับนี้มีความแตกต่างคือการคำนึงถึงสปีชีส์มนุษย์ คำนึงถึงมนุษยชาติภายใต้บริบทที่เกี่ยวข้อง และเน้นย้ำว่าเราไม่สามารถละทิ้งบริบทนี้ได้ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างกันของทั้งสามระบบ ได้แก่ ภูมิอากาศ สังคมมนุษย์ และความหลากหลายทางชีวภาพ รายงานนี้ยังบอกด้วยว่าระบบทั้งสามมีอิทธิพลต่อกันอย่างไร สังคมมนุษย์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสามระบบนี้ก็ยังเป็นรากฐานของการแก้ปัญหาอีกด้วย โดยการปรับเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เราก็สามารถกลับไปอยู่ในพื้นที่แห่งความยั่งยืนได้ดังนั้น ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญคือเราจะไม่เพียงแต่พูดถึงปัญหาที่มาจากความเสี่ยงที่เราเผชิญเท่านั้น แต่เรากำลังเสาะหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงนั้นด้วย แต่การกำหนดเพียงวิธีการในการแก้ปัญหาคงไม่เพียงพอ สิ่งที่เราต้องทำคือพิจารณาทางเลือกของวิธีการเหล่านั้นด้วย เช่นวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้และประสิทธิผลของมัน แล้วต่อด้วยการเสาะหาแนวทางเพื่อนำไปใช้ในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้มีแนวทางดำเนินการให้แก่ผู้ปฏิบัติ เรามีข้อแนะนำที่ชัดเจน เช่น การปกป้องระบบนิเวศและกิจกรรมในสังคมเมืองในลักษณะที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

 

ความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์เป็นที่แน่ชัดแล้ว ความล่าช้าใดๆ ในการร่วมมือกันของพวกเราทุกคนเพื่อดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะหมายถึงการปิดตัวลงอย่างรวดเร็วของประตูที่จะนำเราไปสู่อนาคตที่น่าอยู่

 

รายงานฉบับนี้ได้เตือนเราถึงผลอันน่ากลัวที่จะตามมาหากเรายังคงดึงเวลาอยู่อีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความเป็นอยู่ที่ดีของสิ่งมีชีวิตทั้งปวง การกระทำของพวกเราในวันนี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิถีที่ธรรมชาติจะตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านสภาพอากาศที่เพิ่มขึ้น การประเมินของ IPCC ในรายงานฉบับนี้ได้ทำให้เราตระหนักอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนถึงการพึ่งพากันระหว่างสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และสังคมมนุษย์ โดยการผสมผสานความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ สังคม และเศรษฐกิจเข้าไว้ด้วยกัน มันได้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนของการดำเนินการเพื่อจัดการกับความเสี่ยงด้านสภาพอากาศแบบถึงรากถึงโคน มาตรการครึ่งๆ กลางๆ แบบที่เราเคยทำนั้นไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป


รายงานของ IPCC นำเสนอความรู้ใหม่ๆ ด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อที่ผู้กำหนดนโยบายจะสามารถนำไปใช้ในกระบวนการตัดสินใจในด้านนี้ นักวิทยาศาสตร์หลายร้อยคนทั่วโลกได้ใช้ความเชี่ยวชาญในการผลิตรายงานฉบับนี้โดยสมัครใจ รายงานของเราได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญและรัฐบาลเพื่อให้ได้คุณภาพสูงสุด กระบวนการนี้ทำให้ข้อแนะนำจากรายงานของเรามีความสอดคล้องกับนโยบายจริง พร้อมทั้งมีความเป็นกลางทางนโยบายอีกด้วย

ที่มาภาพประกอบบทบรรยายภาษาไทย
Photo credit: Kai Assawaweroonhakarn
©Unsplash /Easton Mok /Dustan Woodhouse /Dulana Kodithuwakku

อ้างอิง: Climate Change 2022: Impacts, Adaptation and Vulnerability

https://www.ipcc.ch/report/sixth-assessment-report-working-group-ii/

 
ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้