แนวโน้มสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำท่วม ภัยแล้ง ความแปรปรวน ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั้งหลาย ล้วนเป็นผลกระทบจากสภาวะโลกรวน
ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา ในประเทศไทย อุณหภูมิเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 องศา และถ้าเราไม่ทำอะไรเลย จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเป็นประมาณ 2 องศา ในปี 2050 ตัวเลขอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นแปรผันตรงต่อความเป็นไปของสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ความเป็นกรดของน้ำในหมาสมุทรคุณภาพดิน ความรุนแรงของลม ปริมาณน้ำฝน ประเทศไทยจะประสบกับความแห้งแล้งที่ยาวนาน และทวีความซับซ้อนต่อการรับมือด้วยการเกิดน้ำท่วมฉับพลันเป็นระยะ
ผลกระทบเชิงลบที่ตามมา คือ เรื่องของเศรษฐกิจที่เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ Global Risk Index จัดอันดับให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากโลกรวนเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยเรามีความเสี่ยงต่อภัยแล้งสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่มีขีดความสามารถในการรับมืออยู่ในอันดับที่ 39 จาก 48 ประเทศ
ผลการศึกษาจาก Swiss Re Institue รายงานว่า หากไทยยังไม่มีมาตรการปรับตัวใดๆ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกรวน หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น 2 องศา GDP ของเราจะลดลง 4.9% และหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 3.2 องศา GDP ของเราจะลดลงถึง 43.6% จึงกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือภัยคุกคามของประเทศไทย กระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการเกษตร รวมถึงกระทบต่อความเป็นอยู่ของเราทุกคน
แม้ประเทศไทยมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างหนักหนาสาหัส แต่เรากลับยังไม่มีแผนดำเนินการที่รัดกุม จริงจัง และเป็นรูปธรรม เราเพียงเริ่มแสดงเจตจำนงว่า “จะมี” กลไกการรับมือ และพยายามจะสร้างความตระหนักรู้เพื่อพัฒนาธุรกิจไปสู่คาร์บอนต่ำ แต่ “ยังไม่ไปในทางที่จริงจัง” เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าแค่การถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตเลย
01 ทำไมไทยต้องตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ปัญหาสภาวะโลกรวนทวีความรุนแรงขึ้น และเราจำเป็นที่จะต้องพัฒนาศักยภาพของประเทศเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อปี 2015 ไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสตามกรอบ UNFCCC ส่งผลให้ต้องดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการรายงานบัญชีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิด และปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งดูดซับ ดังนั้นไทยในฐานะประชาคมโลกจึงต้องมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นด้วยการกำหนด “เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ” เพื่อเป้าหมายหลัก 3 ข้อ ตามที่ได้ให้สัตยาบันคือ
01 ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศา เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม โดยต้องพยายามควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศา
02 เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมภูมิต้านทาน รวมถึงความสามารถในการฟื้นตัว
03 ทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนที่มีความสอดคล้องกับแนวทางสู่การพัฒนาคาร์บอนต่ำ ที่มีภูมิต้านทานและความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
02 แผนปฏิบัติการระดับชาติ ไทยไปถึงไหนแล้ว?
ที่ผ่านมาประเทศไทยได้นำความตกลงตามกรอบ UNFCCC มาบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งยังสร้างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2015-2050 ที่จะใช้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีโครงสร้างของแผนปฏิบัติการระดับชาติต่างๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว แต่ปัจจุบัน ณ กลางปี 2022 ไทยก็ยังไม่กำหนด “แผนปฏิบัติการเพื่อให้ไปได้ถึงเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ” สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะนำไปสู่การลงมือทำจริงอย่างเป็นรูปธรรมของภาคส่วนและอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างภาคพลังงานในระดับการผลิตและบริโภค ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของประเทศไทยในสัดส่วน 70%
นอกเหนือจากอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงนักธุรกิจบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้เล็งเห็นการลงทุนอย่างชาญฉลาด มองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นโอกาสและภาระหน้าที่ของทุกคน จึงขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการดำเนินธุรกิจของตัวเอง ภาครัฐต้องผลักดันให้ภาคประชาชน ตลอดจนภาควิชาการมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้เช่นกัน เพื่อเยียวยาภาวะโลกรวน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปพร้อมๆ กับประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศให้ยังเติบโตต่อไป
อย่างสหราชอาณาจักร ที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2018 นั้นต่ำกว่าระดับในปี 1990 ถึง 44% เท่ากับว่าพวกเราสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับที่เศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ดี
โดยสหราชอาณาจักรได้ปรับปรุงกฏหมาย จนเกิดเป็นพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 2008 (The 2008 Climate Change Act) เพื่อวางกรอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยระบุอย่างชัดเจนถึงภารกิจของรัฐมนตรีต่างประเทศที่จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า บัญชีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหราชอาณาจักรในปี 2050 นั้นมีระดับต่ำกว่าปี 1990 อย่างน้อย 100%
03 ประเทศไทยต้องเริ่มติดกระดุมเม็ดไหน
การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเกิดขึ้นแล้ววันนี้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนทั้งในด้านการมุ่งลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 2 องศา รวมถึงในด้านการปรับตัวและตั้งรับภัยพิบัติต่างๆ ที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
กระดุมเม็ดที่ 1
ผลักดันให้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ประเทศไทยต้องมีกฏหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งกำหนดทิศทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและเอกชน
โดยต้องบังคับให้มีเปิดเผยและจัดส่งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายโรงงาน (คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร) จากโรงงานทุกภาคอุตสาหกรรมที่มีปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงตามที่กำหนด
กระดุมเม็ดที่ 2
สร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อพัฒนาระบบการวัดผลได้ การรายงานผล และการตรวจสอบพิสูจน์ผลได้ (Measurable, Reportable and Verifiable หรือ MRV) ให้การตรวจวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทุกๆ อุตสาหกรรมดำเนินงานบนมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและสะท้อนข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงอย่างเที่ยงตรง พร้อมทั้งพัฒนาระบบติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กระดุมเม็ดที่ 3
มอบความรู้ความเข้าใจในการตรวจวัดและรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแก่ภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคธุรกิจ ทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SME)
นอกจากนี้ เราต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเกษตรกรรมมีส่วนร่วมในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เพราะแผนแม่บทของภาครัฐในปัจจุบันแทบจะยังไม่มีการทำแผนที่ชัดเจนสำหรับการเกษตร ทั้งๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วนอันดับที่ 2 รองจากภาคพลังงานก็ตาม
กระดุมเม็ดที่ 4
สนับสนุนมาตรการส่งเสริมการดำเนินงานด้านบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับสนับสนุนการดำเนินงานด้านการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น บทบาทของตลาดทุนผ่านการออกพันธบัตรสีเขียว บทบาทของธนาคารพาณิชย์ในการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนที่เป็นรายเล็กมีโอกาสรับการสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติม
รวมถึงส่งเสริมสร้างมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ที่ช่วยสนับสนุนการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้นทุนต่ำอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
การภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เครื่องมือซึ่งเป็นไปตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter-pays-principle) ซึ่งผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องจ่ายค่าปล่อย โดยรัฐบาลสามารถกำหนดเป็นอัตราภาษีต่อปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เกิดขึ้น
มาตรการราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) เครื่องมือปรับราคาตลาดของสินค้าและบริการให้สะท้อนต้นทุนของผลกระทบจากการปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการยอมรับเทคโนโลยีที่สะอาด ซึ่งมีต้นทุนของผลกระทบจากการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า
ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอน (Emission Trading Scheme หรือ ETS) เครื่องมือกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap) ของผู้ผลิต โดยรัฐจะจัดสรรสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ผู้ผลิตแต่ละรายในรูปของใบอนุญาต (Allowance) หากผู้ผลิตรายใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าจำนวนในใบอนุญาต ก็สามารถขายต่อใบอนุญาตที่เหลือแก่ผู้ผลิตรายอื่นได้ ในทางกลับกันหากผู้ผลิตรายใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินโควต้าที่ได้รับ ก็ต้องซื้อใบอนุญาตต่อจากผู้ผลิตรายอื่น ถือเป็นระบบที่จำกัดปริมาณแล้วแลกเปลี่ยน (Cap-And-Trade)
กระดุมเม็ดที่ 5
ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเช่น Carbon Capture ในราคาที่สมเหตุสมผล
รวมถึงเพิ่มความตระหนักและศักยภาพให้ประชาชน เกี่ยวกับการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมความยืดหยุ่นของสังคม (Resilient)
กระดุมเม็ดที่ 6
สร้างมาตรการเชิงรุกให้สอดคล้องกับผลการประเมินความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) เช่น ปรับปรุงพันธุกรรมของข้าว พร้อมทั้งฟื้นฟูระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในทุกมิติ
เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตลอดจนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นประเด็นที่ซับซ้อน และต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งยังต้องใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจวัด รายงานผล พิสูจน์และหาหนทางแก้ไขปัญหา
แม้โลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะดูเหมือนไกลตัว ไกลออกไปในอนาคต แต่วิกฤตินั้นมาเร็วกว่าที่คิดแน่นอน หากประเทศไทยยังไม่กำหนด “เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ” ไม่มีแผนแม่บทที่มีทิศทางชัดเจนและรัดกุม ผลกระทบที่คืบคลานเข้ามานั้นเลวร้ายในทุกมิติ ตั้งแต่เศรษฐกิจไปจนถึงความเป็นอยู่ของผู้คน
เริ่มวันนี้ด้วยกระดุมเม็ดแรก ปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวให้เข้มข้นและเป็นรูปธรรม สร้างความร่วมมืออย่างจริงจังของทุกภาคส่วน ส่งเสริมความตระหนัก ความรู้ความเข้าใจ และการเข้าถึงทรัพยากรรวมถึงแหล่งทุน เพื่อเปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาสสู่ความยั่งยืน
__
ข้อมูลอ้างอิง