นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ของ United Nations Global Compact มุ่งหวังจะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมความรู้และแนวปฎิบัติด้านความยั่งยืนจากเครือข่ายทุกภาคส่วน จึงได้จัดทำข้อมูล “5 SDGs Mega Trends 2021” ขึ้นเป็นปีที่สอง โดยคัดเลือกประเด็นเด่น 5 ประเด็นเกี่ยวกับความยั่งยืนจากแหล่งข้อมูลชั้นนำทั่วโลกที่ควรให้ความสำคัญในปีนี้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและให้ความตระหนักรู้ต่อภาคเอกชนในการร่วมแก้ไขปัญหาสังคมระดับโลก สนับสนุนต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs
สำหรับ 5 ประเด็นเด่นในปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังเป็นเรื่องสำคัญที่สุด สิ่งที่ต่างไป คือ ปีนี้จะเป็นปีที่เราเห็นทั้งผลกระทบที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วอย่างเต็มรูปแบบ ในด้านที่อาจถูกมองข้ามอย่าง สิทธิมนุษยชน เรื่องนี้จึงจัดอยู่ในอันดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ยังมีทางออกต่างๆ ที่จะช่วยให้เราพ้นจาก COVID-19 ทั้งในเชิงเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเงิน ได้รับความสนใจเป็นอันดับที่สองและสาม ส่วนประเด็นที่สี่และห้าว่าด้วยการฟื้นตัวแบบยั่งยืน (Green Recovery) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามลำดับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาใหญ่ของโลกที่ยังคงอยู่กับเรานั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“วันนี้คำถามสำคัญของภาคธุรกิจ คือ เมื่อเห็นทั้งแนวโน้มและปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นรอบตัวเราแล้ว “ทำไมเรา
ไม่ลงมือทำ” และลุกขึ้นมาพัฒนาองค์กรให้เป็น “ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง” แล้วมองวิกฤติ COVID-19 เป็นโอกาสแห่งการลงมือทำอย่างจริงจัง โดยใช้ศักยภาพของภาคธุรกิจที่ได้เปรียบในเชิงความต่อเนื่องของนโยบายและความแข็งแกร่งในการบริหารจัดการมาร่วมแก้ไขปัญหาสังคมในระดับโลก เพื่อร่วมกันสร้างแบบแผนการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ ที่ทำให้มนุษยชาติเติบโต ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพดีกว่าเดิม สมดุลกว่าเดิม บนต้นทุนเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่น้อยลง” นายศุภชัย กล่าว
นอกจากข้อมูล 5 SDGs Mega Trends 2021 รายงานปีนี้ ยังได้นำเสนอตัวอย่างวิถีคิดของผู้นำและแนวปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรธุรกิจชั้นนำ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยและของโลก ได้แก่ “เอสซีจี” (SCG) กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน การลงทุนอย่างรับผิดชอบเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนของ “บ้านปู” (BANPU) “เครือเจริญโภคภัณฑ์” (CPG) กับการตั้งเป้าหมาย Zero Carbon Footprint และ Zero Waste การร่วมมือกับพันธมิตรขยายผลเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยแนวคิด “มีทางออกให้กับทุกคน” ของ “จีซี” (GC) และวิสัยทัศน์ “อาหารแห่งอนาคต” Plant-based food ของ“เอ็นอาร์เอฟ” (NRF) รวมทั้งทิศทางการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ก.ล.ต. จะร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นบทบาทของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในฐานะผู้นําบริษัท (tone from the top) ควบคู่ไปกับการผลักดันให้ผู้ลงทุนให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นของบริษัทหรือผลิตภัณฑ์การเงินที่ออกโดยบริษัท
ที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและผนวก ESG ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าของระบบนิเวศในตลาดทุนอย่างยั่งยืน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจะช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกสนับสนุนให้กิจการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก อันนำไปสู่การเสริมสร้างให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. มีบทบาทแข็งขันในการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนนำแนวทางการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ไปผนวกเป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจด้วย"
นางกีตาร์ ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ในฐานะที่สหประชาชาติเป็นหน่วยงานหลักอีกหน่วยงานหนึ่งที่ขับเคลื่อน SDGs ได้เปิดมุมมองต่อบทบาทของภาคเอกชนว่า “ภาคเอกชน เป็นแกนกลางในการทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นจริง แม้ว่าบทบาทของธุรกิจ คือ การสร้างงาน แต่ธุรกิจก็สามารถแสวงหาทางออกอย่างมีนวัตกรรมให้กับปัญหาด้านการพัฒนาในปัจจุบัน สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ คือการพิทักษ์โลกและลดความเหลื่อมล้ำไปด้วยกัน ในฐานะพันธมิตร เราร่วมมือกันได้ เพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม”
องค์กรธุรกิจและผู้สนใจการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
ดาวน์โหลด “5 SDGs Mega Trends 2021”
อ่านอีบุ๊ค click to read ebook
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand): เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งในไทย 15 บริษัท ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 60 องค์กร โดยโกลบอลคอมแพ็ก ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ของโครงการสำคัญในระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ UN Global Compact เครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุด
ในโลก ซึ่งรณรงค์ให้บริษัททั่วโลกวางกลยุทธ์และยึดหลักการทำงานที่สร้างเศรษฐกิจยั่งยืนครอบคลุมการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การต่อต้านทุจริต ตลอดจนดำเนินกิจกรรมที่ช่วยผลักดันเป้าหมายของสังคมในวงกว้าง ภายใต้หลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact เพื่อบรรลุเป้าหมายของสหประชาชาติ อาทิ เป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมไปถึงข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement)