ปัจจุบันทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในระดับนานาชาติ รวมทั้งประเทศไทยในฐานะภาคีเครือข่ายที่ประกาศเจตนารมณ์ลดก๊าซเรือนกระจก 40 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 และกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ภายในปี 2065
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ที่มีการลงทุนใน 17 ประเทศ และส่งออกสินค้ามากกว่า 40 ประเทศ ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประกาศเป้าหมายมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050
เส้นทางสู่ Net-Zero ของซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร ที่เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ (Feed) การเลี้ยงสัตว์ (Farm) และการแปรรูปอาหาร (Food) ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ ควบคู่กับแนวทางการดำเนินธุรกิจตาม BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
พีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิศวกรรมกลาง ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟได้แสดงความมุ่งมั่นต่อองค์กร Science Based Target Initiative (SBTi) ช่วยภาคธุรกิจในการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกโดยอ้างอิงจากหลักการภูมิอากาศวิทยา (climate science) สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไว้ให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยที่ซีพีเอฟ ได้กำหนดให้ใช้ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของซีพีเอฟทั่วโลกในปี 2020 เป็นปีฐาน เพื่อวางแผนและกำหนดเป้าหมายของซีพีเอฟทั่วโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ Net-Zero
หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงคิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก ซึ่งซีพีเอฟเป็นบริษัทแรกในไทย ที่ประกาศยกเลิกใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับกิจการในประเทศไทย ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 190,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบกับการปลูกต้นไม้ 18 ล้านต้น หรือ 88,000ไร่ โดยใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) ประเภทไม้สับ ซึ่งเป็นไม้โตเร็วในเขตร้อนชื้น เป็นเชื้อเพลิงใน boilers เพื่อผลิตไอน้ำทดแทนการใช้ถ่านหินในโรงงานผลิตอาหารสัตว์ทั้งหมด 12 โรงงาน
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) โดยปัจจุบัน สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 27 เปอร์เซ็นต์ ของการใช้พลังงานทั้งหมด ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 690,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือ เทียบกับการปลูกต้นไม้ จำนวน 73 ล้านต้น
ถือเป็น 1 ใน 5 องค์กรในประเทศไทย ที่ดำเนินธุรกิจด้านอาหารและมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงที่สุด โดยพลังงานหมุนเวียนที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิต ได้แก่ พลังงานชีวมวล (Biomass) พลังงานชีวภาพ (Biogas) และพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ 65 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายเพิ่มเป็น 100 เมกะวัตต์ ในปี 2568
ซีพีเอฟ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในฟาร์มสุกร โดยนำระบบไบโอแก๊ส (Biogas) มาเปลี่ยนมูลสัตว์เป็นพลังงานทดแทน เป็นต้นแบบของแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ใหักับหน่วยธุรกิจอื่นๆ และถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรรายย่อย (คอนแทรค ฟาร์มมิ่ง) เพื่อร่วมกันผลักดันภาคปศุสัตว์มีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนให้กับโลกอย่างยั่งยืน โดยนำมาเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม ช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าในฟาร์มสุกรของบริษัททั้ง 98 แห่ง ได้ถึง 50-80 เปอร์เซ็นต์ ของค่าไฟฟ้าทั้งหมด
เช่นเดียวกับในคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ 7 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา ร้อยเอ็ด อุดรธานี จันทบุรี และสงขลา ผลิตไบโอแก๊สจากมูลไก่เป็นกระแสไฟฟ้าใช้เองในสถานประกอบการ ช่วยลดกลิ่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าลง 70-80 เปอร์เซ็นต์ โดยทั้งในส่วนของฟาร์มสุกรและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ ที่มีการติดตั้งระบบไบโอแก๊ส ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 490,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ซีพีเอฟ มุ่งมั่นพัฒนาการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Products) ในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น หมู ไก่ กุ้ง และอาหารสัตว์ ซึ่งปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์กว่า 700 รายการ ได้รับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรือ อบก. และ 30 รายการ ได้รับรองฉลากลดโลกร้อน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1.483 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ล่าสุด อบก.รับรองฉลากลดโลกร้อน “ผลิตภัณฑ์ไข่ไก่สด” ของซีพีเอฟ 25 รายการ ได้แก่ ไข่ไก่ เคจฟรี และไข่ไก่สดปลอดสารขนาดบรรจุต่างๆ ซึ่งประมาณการผลิตภัณฑ์ไข่ไก่สดสามารถช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มขึ้นกว่า 532,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
การวัดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์และจัดทำฉลากลดโลกร้อนของผลิตภัณฑ์ ทำให้ในปี 2022 บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์สีเขียว (CPF Green Revenue ) ที่ 33 เปอร์เซ็นต์ พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย Net - Zero ภายในปี ค.ศ. 2050
อีกด้านหนึ่ง บนเส้นทางสู่ Net-Zero ของซีพีเอฟ ชูนโยบายร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ประกาศนโยบายต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 รวมไปถึงการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน
เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สำหรับทำอาหารสัตว์ มาจากแหล่งผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ช่วยปกป้องพื้นที่ป่าไม้ได้ถึง 2 ล้านไร่ และภายในปี 2573 วัตถุดิบหลักอื่นๆ ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง จะมาจากแหล่งผลิตที่ไม่ตัดไม้ทำลายป่าทั้งหมดเช่นกัน โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอนตลอดกระบวนการ