เป็นที่พิสูนจ์แล้วว่าการประกอบธุรกิจด้วยรูปแบบและวิธีการอย่างที่เป็นมา ส่งผลกระทบทางลบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่แค่ธรรมชาติเท่านั้นที่ถูกทำลาย แต่ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของมนุษย์ก็ถูกทำลายไปด้วย และนับวัน ผลกระทบด้านลบเหล่านี้ก็มีแต่จะสะสมและรุนแรงมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) หรือกรอบความคิดในการทำธุรกิจเสียใหม่ ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ การเติบโตของธุรกิจ จะต้องสอดคล้องกับสุขภาพที่ดีของโลก
UN Global Compact Network Thailand ชวนพูดคุยกับคุณคริส ออสเตอริช (Chris Oestereich) และคุณไอลีน ชานต์ (Eileen Chant) ผู้ก่อตั้ง Linear to Circular ที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปสู่ความยั่งยืน ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และที่ผ่านมาได้ช่วยให้องค์กรมากมายเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ บริการ และการดำเนินธุรกิจ
ตอนนี้ Linear to Circular ได้สร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันชื่อ Morph ออกสู่ตลาด โดยวัสดุที่ใช้ ล้วนมาจากของเหลือในอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งสิ้น
“เรามุ่งหวังที่จะพิสูจน์ให้ผู้ผลิตอื่นๆ เห็นว่าโมเดลธุรกิจของ Morph ซึ่งทรัพยากรต่างๆ ได้รับการอนุรักษ์และถูกใช้ซ้ำอย่างคุ้มค่า ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อได้เปรียบในเชิงเศรษฐกิจด้วย”
“หากเราไม่เร่งปรับเป้าหมายทางการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ความสำเร็จทางธุรกิจใดๆ ที่เกิดขึ้นวันนี้ ล้วนเป็นเพียงสิ่งชั่วคราว การเปลี่ยนกระบวนทัศน์คือสิ่งจำเป็นสำหรับอนาคตที่ดีกว่า และหากมันไม่เกิดขึ้น การทำธุรกิจในวันหน้าจะยากลำบากกว่านี้แน่นอนครับ”
01 หมดยุค take-make-waste
“ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องเลิกใช้แนวทาง 'take-make-waste' สิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นแค่ทรัพยากรอันมีค่าที่ต้องได้รับการปกป้อง แต่ยังเป็นเงื่อนไขของชีวิตบนโลก และเป็นพื้นฐานของสังคมมนุษย์ ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าทุกธุรกิจจำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน และไม่ใช่แค่การเปลี่ยนของเสียให้เป็นผลิตภัณฑ์เท่านั้นนะครับ แต่เราจะต้องคิดใหม่ทั้งระบบและห่วงโซ่คุณค่า” คุณคริสอธิบาย
คุณไอลีนเสริมต่อว่า “ธุรกิจต่างๆ ต้องหยุดปฏิบัติต่อโลกเหมือนเป็นที่ทิ้งขยะ และเริ่มปฏิบัติต่อโลกดังผู้มอบสรรพสิ่งอย่างที่มันเป็นจริงๆ ที่ผ่านมา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเจริญงอกงามของธรรมชาติจะต้องเป็นไปอย่างสมดุลกัน กล่าวคือธุรกิจต้องดูแลทรัพยากรและปกป้องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการดำเนินกิจการ”
แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่เพียงบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยปลดล็อกธุรกิจสู่โอกาสใหม่ๆ เช่น ช่วยลดต้นทุนจากการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อการจัดการธุรกิจและทรัพยากร
เมื่อธุรกิจให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนต่างๆ ของการดำเนินงาน จะสามารถเปลี่ยนการสร้างความเสียหาย ไปสู่สถานะเป็นกลาง และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธรรมชาติได้ในที่สุด
Morph คือธุรกิจย่อยของ Linear to Circular ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และพิสูจน์แล้วว่ามันสามารถทำได้จริง โดยวัสดุที่นำมาสร้างผลิตภัณฑ์ของ Morph เป็นเศษทรัพยากรจากบริษัทอื่นๆ ที่เหลือจากการใช้งาน และเกือบถูกนำไปทิ้งไปหลุมฝังกลบ
เช่น กระเป๋าสะพายทำจากไนลอนเหลือทิ้งจากผู้ผลิตป้ายแบนเนอร์ และกล่องแว่นตายางทำจากวัสดุที่เหลือจากการผลิตชุดดำน้ำ ผลิตภัณฑ์ของ Morph แต่ละอันจึงมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากวัสดุนั้นมาจากหลากหลายแหล่งนั้นเอง
คุณคริสและคุณไอลีนคาดหวังว่า Morph จะสามารถจุดประกายให้คนเปลี่ยนมุมมองต่อการใช้ทรัพยากร และปรับการใช้ชีวิตให้โอบรับวิถีแบบหมุนเวียน ซึ่งทุกสิ่งถูกใช้ซ้ำเป็นวงกลมกันมากขึ้น โดยหัวใจคือการโอบรับและทำให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของแต่ละคน เป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ทุกคนจะรู้สึกดีกับสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่
“หนึ่งในเป้าหมายของเราคือการ Connect Those Dots เชื่อมผู้คนในภาคส่วนต่างๆ เข้าหากัน เพื่อให้สิ่งที่เราทำกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในอนาคต” ทั้งคู่กล่าว
02 ความยั่งยืนไม่ใช่ภาระ แต่คือขุมทรัพย์
คุณคริสอธิบายว่าธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนกรอบความคิดของตนใหม่ จากโฟกัสแค่ผลกำไรระยะสั้นไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว เพาะตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป
ธุรกิจต้องนำแนวทาง 3 ประการมาใช้ มุ่งเน้นมากกว่าแค่กำไร แต่ให้ความสำคัญกับผู้คนและโลกด้วย—เพื่อให้ธุรกิจของคุณ ประสบความสำเร็จทั้งในเชิงตัวเลข ขณะเดียวกันก็แสดงความรับผิดชอบต่อการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อทุกๆ ธุรกิจในอนาคต
เช่น ผู้ผลิตจะต้องพิจารณาวงจรชีวิตทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ใช่แค่ผลิตแล้วจบไปอย่างที่เป็นมา แต่ต้องรับผิดชอบไปจนถึงการใช้งาน และหลังการใช้งานของผู้บริโภค ในอนาคต ไม่เพียงกฏระเบียบและข้อบังคับต่างๆ จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิตที่ดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดยั่งยืน แต่การหมุนเวียนทรัพยากรยังช่วยลดต้นทุนของธุรกิจได้มหาศาล
“ที่ Morph แทนที่จะมองว่าสิ่งที่เราทำอยู่คือการทำให้ขยะมีมูลค่า เราเลือกที่จะคิดในทางกลันกัน ว่านี่คือการรักษาหรือช่วยเหลือทรัพยากรอันมีค่าไม่ให้กลายเป็นขยะ” คุณคริสกล่าว
“เรามุ่งหวังที่จะพิสูจน์ว่า โมเดลธุรกิจของ Morph ที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม นั้นยังเป็นข้อได้เปรียบในเชิงเศรษฐกิจด้วย” คุณคริสอธิบาย เมื่อทรัพยากรถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ มันคือแหล่งกำไรและประสิทธิภาพระยะยาวในแง่ของการแข่งขัน ความยั่งยืนไม่ใช่ภาระค่าใช้จ่ายอย่างที่เข้าใจผิดกัน"
“ก่อนหน้านี้ผมเคยทำโครงการ Zero Waste ให้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในสหรัฐฯ ช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ พนักงานที่ไม่ได้ทำงานกับทีมของผมโดยตรง คิดว่าโครงการของเราสร้างต้นทุนเพิ่มให้บริษัท ทั้งที่จริงแล้วโครงการของเราช่วยธุรกิจให้รอดพ้นจากช่วงเวลาที่ท้าทาย ทำให้พนักงานยังมีงานทำอยู่ต่างหาก”
“ธุรกิจของเราประหยัดเงินและสร้างกำไรได้หลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการลดของเสียผ่านการรีไซเคิล แทนที่จะจ่ายเงินเพื่อให้สิ้นเปลืองทรัพยากร เราได้รับผลตอบแทนจากการรักษาคุณค่าของมัน ผู้นำธุรกิจไม่เห็นสิ่งนี้เพราะไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาเคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่เมื่อเม็ดเงินเริ่มหลั่งไหลเข้ามา พวกเขาก็เปลี่ยนใจอย่างรวดเร็ว”
03 สร้างเครือข่ายเพื่อขยายการหมุนเวียน
นอกจาก Linear to Circular ที่ช่วยให้องค์กรต่างๆ เปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน คุณคริสยังสอนในโครงการกิจการเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และร่วมก่อตั้ง Circular Design Lab พื้นที่สร้างนวัตกรรมเพื่อจัดการกับปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านการคิดเชิงระบบ (Systemic) และการออกแบบที่ทำให้เกิดการหมุนเวียน (Circular Design)
“Linear to Circular เน้นสร้างแบบจำลองธุรกิจและกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่วน Circular Design Lab เป้าหมายคือการปรับปรุงระบบภายในชุมชน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองส่วนเหมือนกันตรงที่เราสนับสนุนและให้คำแนะนำการบูรณาการหลักหมุนเวียน ลดของเสียและเพิ่มการรีไซเคิล”
คุณไอลีนเสริมว่า “เราพร้อมที่จะเข้าไปให้คำปรึกษาและแสดงให้องค์กรต่างๆ เห็นถึงความมหัศจรรย์ของหลักการหมุนเวียน เปลี่ยนจากแนวคิดแบบเส้นตรงไปเป็นแบบวงกลม เพื่อปลดล็อกโอกาสใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการเงิน”
ที่ผ่านมา คุณคริสและคุณไอลีนช่วยบริษัทต่างๆ แก้ปัญหาความท้าทายด้านของเสีย โดยร่วมสร้างนวัตกรรมและแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับความต้องการ แบ่งปันตัวอย่างองค์กรที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว Linear to Circular ช่วยองค์กรเขียนตำราธุรกิจขึ้นมาใหม่ ซึ่งพลิกโฉมรูปแบบธุรกิจไปเลย!
คุณคริสชี้ให้เห็นว่า “มีการรับรู้ว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืนเป็นสิ่งที่บริษัทขนาดใหญ่และรัฐบาลควรจัดการ เพราะพวกเขามักจะมีทรัพยากรมากกว่าสำหรับสิ่งเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม ผมอยากชวนให้คนในธุรกิจขนาดเล็กและกลางสละเวลาสักเล็กน้อย เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดนี้ และดูว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อนำไปประยุกต์ใช้”
คุณไอลีนกล่าวทิ้งท้ายถึงการเริ่มก้าวกระโดดสู่การเปลี่ยนแปลงว่า “สำหรับบริษัทขนาดเล็กถึงขนาดกลาง คุณมีทรัพยากรในการลงทุน-ลงแรงเพื่อเปลี่ยนไปสู่ระบบหมุนเวียนน้อยกว่า แต่ในทางกลับกัน ก็มีความท้าทายในการจัดการที่ซับซ้อนน้อยกว่าน้อย แต่ฉันเข้าใจค่ะว่ามันก็ไม่ง่ายอยู่ดี
“ฉันจึงอยากแนะนำให้ลองขอความช่วยเหลือและค้นคว้าแนวทางที่ต้องทำร่วมกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมหรือที่เกี่ยวข้อง คุณอาจพบความเป็นไปได้ที่น่าสนใจจากพื้นที่อื่นๆ ของโลก ซึ่งมีความท้าทายคล้ายๆ กันอยู่ คุณไม่มีทางรู้เลยว่าจะพบโซลูชั่นดีๆ ได้จากที่ไหน ดังนั้นอย่าหยุดมองหาความพยายามที่เกี่ยวข้องเหล่านั้น”