น่าเสียดายที่ในอดีตธุรกิจส่วนใหญ่ในสนามเศรษฐกิจของไทย ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการเน้นการ “ทำมากแต่ได้น้อย” ไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการของตัวเอง ทั้งๆ ที่ทรัพยากรของไทยเรานั้นไม่ธรรมดา ชนิดที่คนทำธุรกิจชาติอื่นๆ ต่างอิจฉา
อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมาถ้าคุณจับตาทิศทางนโยบายภาครัฐอย่างใกล้ชิด ต้องเคยได้ยินคำว่า “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ” ซึ่งเป็นรูปแบบอุตสาหกรรมที่อาศัยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดตลอดห่วงโซ่ เน้นผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง พูดง่ายๆ คือ “ทำน้อยแต่ได้มาก”
เพราะรัฐบาลจับทางได้แล้วว่า หากต้องการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเฟื่องฟูอย่างยั่งยืนอีกครั้ง จะมุ่งผลิตปริมาณมากและจบกระบวนการแค่ที่เกษตรกรอย่างที่เป็นมาไม่ได้อีกแล้ว ต้องพลิกเกมส์ใหม่ทั้งกระดาน โดยจับเอาสินค้าเกษตรเดิมๆ มาประยุกต์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานยาวขึ้น ตลอดกระบวนการตั้งแต่ต้น กลาง และปลายน้ำ ก็จะเกิดการสร้างงานสร้างรายได้กับคนจำนวนมากขึ้น
รัฐบาลเอาจริงกับการกำหนดอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เห็นได้จากการที่นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพถูกเชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอีกหลายๆ นโยบายสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และไม่ใช่แค่รัฐบาลไทยเท่านั้น รัฐบาลทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ ต่างให้สปอตไลท์กับเศรษฐกิจชีวภาพกันทั้งนั้น
อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทย การพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เป็นน่านน้ำใหม่แห่งโอกาสทองที่ผู้ผลิตต้องจับตาให้ดีๆ เพราะนับจากนี้นโยบายต่างๆ ตลอดจนการสนับสนุนการลงทุนจะเบนเข็มมาทางนี้อย่างเต็มอัตรา
เพื่อช่วยให้เจ้าของธุรกิจ นักลงทุน และผู้ประกอบการเข้าใจมากขึ้น ถึงโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนแนวโน้มทิศทางของตลาดโลก GCNT สรุปสิ่งที่คุณต้องรู้เพื่อไม่พลาดคว้าโอกาสในการหมุนวงล้ออุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งไทยได้เปรียบและมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ เรียกได้ว่าวันนี้ ใครจับทางได้ก่อน เริ่มลงทุนก่อน ย่อมได้เปรียบกว่า
4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ โอกาสของผู้ผลิตรายใหม่
ที่ผ่านมาสินค้าเกษตรที่ไทยผลิตและส่งออกส่วนใหญ่ จะอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์แปรรูปขั้นต้นที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูงมากนัก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้น้อย เห็นได้จากสัดส่วนมูลค่าสินค้าเกษตรในภาพรวมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยที่อยู่ในระดับ 8-12% มาเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปีและมักประสบปัญหาความผันผวนของราคาค่อนข้างสูง
เทคโนโลยีชีวภาพคือเครื่องมือสำคัญ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร ลดผลกระทบจากความผันผวนของราคา และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร เมื่อวัตถุดิบทางการเกษตรถูกเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าสูง แนวโน้มความต้องการของตลาดก็เพิ่มมากขึ้น
เช่น เมื่อนำอ้อยมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงถึง 100-220 เท่า หรือเมื่อนำปาล์มน้ำมันมาผลิตเป็นวิตามินก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงถึง 20-45 เท่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตนี้จะส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้กระจายสู่ท้องถิ่น ทำให้เศรษฐกิจไทยมั่นคงแข็งแรงขึ้น
อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีผู้ประกอบการในห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพไม่มากนักด้วยข้อจำกัดด้านต้นทุนเทคโนโลยีการผลิตที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับข้อกฎหมายและกฎระเบียบด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน ทั้งที่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพของไทยยังมีโอกาสอีกมากสำหรับผู้ผลิตรายใหม่ที่จะเข้ามาพัฒนาและแข่งขันในอุตสาหกรรม
ลองพิจารณาผลิตภัณฑ์ 4 กลุ่มตามข้อมูลด้านล่าง เหล่านี้คือสินค้าจากอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพนั้นมีมากมายไม่จำกัด
โดยผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพแต่ละกลุ่มนั้นจะใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีชีวภาพในการแปรรูปและมีมูลค่าเพิ่มที่แตกต่างกัน เช่น ผลิตภัณฑ์กลุ่มชีวเภสัชภัณฑ์ให้มูลค่าเพิ่มสูงสุด ในขณะที่ผลิตภัณฑ์กลุ่มเชื้อเพลิงกลับมีมูลค่าค่อนข้างต่ำ เพราะชีวมวลถูกใช้เป็นแค่เชื้อเพลิงในการเผาไหม้ ทั้งที่จริงพวกมันยังสามารถนำไปแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้อีก ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ อาหารและอาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของสารสำคัญที่เป็นประโยชน์
3 กลุ่มพืชเศรษฐกิจไทย สร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย เรามีพืชเศรษฐกิจหลายชนิดที่ส่งออกติดอันดับโลก แต่สินค้าเกษตรที่ไม่ถูกดัดแปลงสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง มักประสบปัญหาความผันผวนของราคาค่อนข้างสูง ทั้งๆ ที่พวกมันมีศักยภาพในการเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพอย่างมาก เราจึงแบ่งพืชเศรษฐกิจเหล่านั้นออกเป็น 3 กลุ่ม ให้ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนด้านนี้ เห็นภาพกว้างขึ้นถึงโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ
ข้าวเป็นพืชที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยวมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพืชในกลุ่มเดียวกัน อย่างไรก็ตามข้าวให้ผลผลิต ต่อไร่ต่ำที่สุดอยู่ที่ 467 กิโลกรัม ส่วนมันสำปะหลังและอ้อยโรงงานมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าอยู่ที่ 3,586 กิโลกรัม และ 10,749 กิโลกรัม ตามลำดับ นอกจากนี้ข้าวยังมีระดับราคาที่ค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 10,323 บาท ซึ่งมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่สูงมากหากนำข้าวมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น
ในขณะที่อ้อยโรงงานมีราคาจำหน่าย ณ ไร่นา อยู่ที่ตันละ 601 บาท ดังนั้น อ้อยโรงงานจึงมีความเหมาะสมในแง่ของปริมาณและราคาผลผลิต ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าชีวภาพประเภทเดียวกัน พบว่าพืชวัตถุดิบต่างชนิดกันจะมีความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มต่างกัน เช่น การผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพจากมันสำปะหลังจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น 45-100 เท่า แต่หากใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากอ้อยโรงงานจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 160-370 เท่า
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชวัตถุดิบที่มีความพร้อมและความเหมาะสมมากกว่าถั่วเหลืองค่อนข้างมาก เนื่องจากมีพื้นที่เก็บเกี่ยว 5.6 ล้านไร่ และให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงถึง 2,994 กิโลกรัม ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการผลิตถั่วเหลืองไม่เพียงพอ ต่อความต้องการใช้ภายในประเทศและยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากบราซิลและสหรัฐฯ เป็นหลัก
อีกข้อได้เปรียบนแง่ของต้นทุนการผลิตคือ ราคาผลปาล์มทั้งทะลาย ณ ไร่นา ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ามาก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงการเกิดมูลค่าเพิ่มในการผลิตสินค้าชีวภาพกลุ่มอาหารเสริมโภชนาการ (Nutrition) จะพบว่าสารสกัดเลซิติน (Lecithin) จากถั่วเหลืองสามารถสร้างมูลค่าให้กับพืชวัตถุดิบตั้งต้นได้สูงกว่าวิตามินจากปาล์มน้ำมัน
แม้ยางพาราจะเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อแปรรูปเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง และมีข้อได้เปรียบในแง่ของพื้นที่กรีดยาง แต่ราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ทำให้ยางพาราอาจยังไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยต่างพยายามคิดค้นนวัตกรรมด้วยการใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติเฉพาะของน้ำยางพาราธรรมชาติ เช่น ผลิตหุ่นจำลองลดความเสี่ยงจากการฉายรังสีสำหรับใช้ตรวจสอบปริมาณรังสีในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือเฝือกประคองข้อเท้าสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว
นักลงทุนและผู้ประกอบการจะเห็นได้ว่า จากการวิเคราะห์ศักยภาพของพืชเศรษฐกิจทั้ง 3 กลุ่มข้างต้น แต่ละกลุ่มมีความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่ม มีความพร้อมด้านปริมาณผลผลิตและความเหมาะสมด้านราคาที่แตกต่างกัน อย่างอ้อยโรงงานและปาล์มน้ำมัน มีความได้เปรียบด้านปริมาณผลผลิตและระดับราคาที่เหมาะสม ทั้งยังสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงได้หลากหลายประเภท
4 ห่วงโซ่คุณค่า หมุนวงล้ออุตสาหกรรมชีวภาพไทย
จากปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน มลพิษ ตลอดจนภัยแล้ง ส่งผลให้เกือบทุกประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปที่ประชากรมีรายได้สูง ตื่นตัวในการลดปัญหาที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม
ผลิตภัณฑ์ชีวภาพจึงมีความต้องการในตลาดโลกสูงขึ้น เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติและใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการผลิต
เทคโนโลยีการผลิตในอุตสาหกรรมชีวภาพในปัจจุบันมีความก้าวหน้าและทันสมัย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ผลิตได้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก สามารถใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์เดิมได้ ในขณะที่ก็มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เช่น พลาสติกชีวภาพ ที่ผลิตจากอ้อย น้ำมันหล่อลื่นหรือสารลดแรงตึงผิวที่ผลิตจากปาล์มน้ำมัน ในอนาคตผลิตภัณฑ์ชีวภาพจะถูกใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนี่คือโอกาสทองของผู้ประกอบการที่เริ่มต้นในอุตสาหกรรมนี้ก่อน
โดยเฉพาะผู้ประกอบการในประเทศไทย ซึ่งมีจุดแข็งที่สำคัญคือการเป็นแหล่งวัตถุดิบชีวมวลจากภาคการเกษตรทั้งปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลัง นอกจากนี้ยังมีวัตถุดิบชีวมวลที่เหลือจากกระบวนการผลิตในภาคการเกษตรเป็นจำนวนมาก เช่น ใบอ้อย ชานอ้อย ใบมัน เหง้ามัน ทะลายปาล์ม ดังนั้นเราจึงมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่ใช้ผลผลิตเหล่านี้เป็นวัตถุดิบ
เราอยากให้คุณลองทำความเข้าใจห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) อุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศไทยว่าแต่ละส่วนนั้นเกี่ยวข้องกัน และมีศักยภาพในการสร้างผลกำไรที่มากกว่าการขายสินค้าแบบเดิมได้อย่างไร
คือ ชีวมวลที่เป็นผลผลิตหรือชีวมวลเหลือทิ้งซึ่งเป็นผลพลอยได้ จากภาคการเกษตร และเป็นพืชที่มีศักยภาพที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมชีวภาพได้ เช่น ปาล์มน้ำมัน ทะลายปาล์ม อ้อย ชานอ้อย ใบอ้อย มันสำปะหลัง ใบมัน เหง้ามัน เปลือกมัน
คือ อุตสาหกรรมที่ใช้ผลผลิตจากภาคการเกษตรเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรม เช่น โรงสกัดน้ำมันปาล์ม โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงหีบอ้อย โรงงานน้ำตาล โรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง
โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้จะใช้เทคโนโลยี เครื่องจักร และกระบวนการผลิตขั้นต้นที่ไม่มีความซับซ้อน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้มีราคาไม่สูง เช่น น้ำมันปาล์มดิบ ไขสบู่ น้ำตาลทราย มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมัน รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้ผลพลอยได้จากภาคการเกษตรเป็นวัตถุดิบด้วย เช่น โรงงานผลิตชีวมวลอัดเม็ด โรงงานผลิตปุ๋ย โรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงไฟฟ้าชีวมวล
คือ อุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมขั้นต้นเป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยใช้เทคโนโลยี เครื่องจักร และกระบวนการผลิตที่เริ่มมีความซับซ้อนต้องอาศัยกระบวนการทางเคมี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีราคาสูงขึ้น อุตสาหกรรมในส่วนนี้จะสามารถแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คืออุตสาหกรรมผลิตสินค้าเพื่อการบริโภค และอุตสาหกรรมผลิตสินค้าเพื่อเป็นวัตถุดิบเชิงอุตสาหกรรม
โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมผลิตสินค้าเพื่อการบริโภค เช่น น้ำมันพืชกลั่นบริสุทธิ์ มาการีน เนยขาว กรดมะนาว กรดน้ำส้ม สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล และตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมผลิตสินค้าเพื่อเป็นวัตถุดิบเชิงอุตสาหกรรม เช่น กรดไขมันประเภทต่าง ๆ เอสเทอร์ของกรดไขมัน แอลกอฮอล์ของกรดไขมัน กลีเซอรีน กรดแลกติก กรดซักซินิก เอทานอล ไบโอดีเซล
คืออุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมขั้นกลางเป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยใช้เทคโนโลยี เครื่องจักร และกระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อน เงินลงทุนสูงรวมถึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้มีราคาสูง อุตสาหกรรมในส่วนนี้ เช่น อุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีจากปาล์มน้ำมันขั้นสูง
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จากอุตสาหกรรมในส่วนนี้ เช่น เม็ดพลาสติกชีวภาพชนิดที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพและชนิดไบโอเบส อิท็อกซิเลทจากน้ำมันเม็ดในปาล์ม กลีเซอรีนกลั่นบริสุทธิ์ อิพิคลอโรไฮดริน เอมีน และอาไมด์ จากน้ำมันปาล์ม
สิ่งที่ต้องตระหนักคือ แม้ห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมชีวภาพไทยจะเปี่ยมศักยภาพ แต่ก็ยังมีจุดอ่อน นั่นคือส่วนของอุตสาหกรรมขั้นกลางและส่วนของอุตสาหกรรมขั้นปลาย ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้สูงที่สุด เพราะอุตสาหกรรมทั้งสองส่วนต้องใช้เทคโนโลยี เครื่องจักร และกระบวนการผลิตที่มีความสลับซับซ้อน ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงต้องใช้เงินลงทุนและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้ทุกวันนี้เรายังมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ไม่มากนัก
ซึ่งนี่เป็นโจทย์ที่ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคการศึกษาต้องทำการบ้านต่อ เพื่อพลิกเศรษฐกิจไทยไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพให้ได้ ไม่ว่าจะในแง่การวางแผนการดำเนินงานหรือกำหนดนโยบาย เพื่อขจัดจุดอ่อนและสร้างจุดแข็งให้กับอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยตลอดห่วงโซ่คุณค่า
แต่หากจะรอให้ภาครัฐเตรียมทุกอย่างให้พร้อมสรรพ อาจเสียโอกาสที่จะได้เริ่มต้นวิจัย ผลิต ทำตลาด และสร้างผลกำไรเร็ว ผู้ประกอบการอาจเริ่มด้วยการสร้างต้นแบบ (Prototype) ของผลิตภัณฑ์ชีวภาพขึ้นมาก่อน โดยปัจจุบันมีหน่วยงานและสถาบันของไทยจำนวนไม่น้อยที่สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ ทำให้อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น
สุดท้ายนี้ นอกจากในมุมของผู้ผลิตและผู้ประกอบการแล้ว การกระตุ้นความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ชีวภาพในประเทศไทย ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ เพราะสิ่งนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ ผู้บริโภคชาวไทยยังไม่รับรู้ถึงประโยชน์และข้อดี ผลิตภัณฑ์ชีวภาพจึงยังมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปและไม่สามารถทำตลาดในประเทศได้
แน่นอนว่าการสร้างความตระหนักเป็นหนึ่งในหน้าที่ของผู้วางนโยบาย ที่จะต้องวางแผนและจัดการ แต่อย่างไรก็ตาม พวกเราในฐานะผู้บริโภคก็สามารถช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพผลิบานในเมืองไทยเร็วขึ้นได้เช่นกัน ด้วยการช่วยสนับสนุน รวมถึงส่งเสียงเพื่อสร้างความรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพให้คนใกล้ตัว เสียงเล็กๆ ที่ขยายวงกว้างออกไป จำนวนผู้บริโภคที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ คือหนึ่งในกุญแจที่ผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่องและหลากหลายนั่นเอง
__
เรียบเรียงจาก “รายงานพิจารณาศึกษา เรื่องอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ โดยคณะกรรมาธิการพาณิชย์และการอุตสาหกรรมวุฒิสภา”