“ก๊าซเรือนกระจก” แก้เท่าไหร่ก็ไม่จบสิ้นจริงหรือ ?
เป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ก็ไม่แน่ใจนัก ที่จู่ๆ ในรอบเดือนที่ผ่านมา ผู้นำประเทศสองประเทศพูดถึง “ก๊าซเรือนกระจก” ในระยะเวลาใกล้ๆ กันแบบไม่ได้นัดหมาย ประเทศแรกคือ นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งนิวซีแลนด์ ดันกฎหมายเก็บภาษีมลพิษจากปศุสัตว์สำเร็จเป็นที่แรกของโลก โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นิวซีแลนด์มีประชากรแกะ 26 ล้านตัว วัว 10 ล้านตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า ผลสำรวจพบว่า มูลที่สัตว์ปล่อยออกมา รวมถึงทุกๆ การ "เรอ" และการ "ตด" ของวัวและแกะในนิวซีแลนด์ สามาถทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และได้ส่งผลกระทบไปยังปัญหา Climate change หรือ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วย
ถัดมาไม่นาน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ย้ำทุกหน่วยงานว่าต้องเตรียมความพร้อมที่จะเติบโตด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทั้งเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับอุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน เพื่อให้เป็นไปตามที่ประเทศไทยได้ประกาศกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ในการประชุมสุดยอดผู้นำเวทีโลกใน COP26 โดยมีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065)
ปัญหา “ก๊าซเรือนกระจก” ไม่เคยถูกลืม และเป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศหลายๆ ประเทศตระหนักอยู่เสมอ เพียงแต่วิธีการแก้ปัญหาของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันออกไป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้นำในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานของประเทศ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ จึงขอพาท่านสำรวจตรวจสอบปัญหา “ก๊าซเรือนกระจก” ในประเทศไทย ว่าหนักหน่วงมากเพียงใด แล้วเราจะมีส่วนช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง
ในประเทศไทย ปัญหาของก๊าซเรือนกระจกก็ใกล้เคียงกับที่อื่นๆ โดยก๊าซส่วนใหญ่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ภาคการเกษตรเป็นรอง และระดับครัวเรือนตามมาเป็นอันดับสาม การแก้ไขปัญหานี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งระดับมหภาคจากรัฐบาลเป็นแกนนำ และระดับจุลภาคหรือระดับครัวเรือนเป็นตัวเสริม ในระดับมหภาคนั้น รัฐบาลไทยได้ปรับโครงสร้างพลังงาน ลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงขยายแนวคิดการใช้พลังงานหมุนเวียนให้เป็นพลังงานทดแทนในทุกภาคส่วน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย รวมทั้งเรื่องของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ซึ่งรัฐบาลกำหนดแผนที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ในประเทศในปี 2573
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังส่งเสริมการปลูกและเพิ่มพื้นที่ป่า และการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอน เป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยรัฐบาลมีแผนในการเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าในประเทศ จากร้อยละ 31.8 เป็นร้อยละ 40 ในปี 2579 เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
ในระดับครัวเรือน เราสามารถเริ่มต้นที่ตัวเรา โดยลดความอยากให้น้อยลง อย่าอยากกินของไกลเกินตัวที่ต้องนำเข้าหรือขนส่งในระยะทางไกล มันสิ้นเปลื้องน้ำมัน อย่าอยากกินเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะเราจะกลายเป็นผู้ร่วมมือปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และอย่าอยากใช้ของใหม่ตลอดเวลา ยิ่งในสภาวะที่น้ำมันแพงและข้าวของแพงด้วยแล้ว ใช้เท่าที่มีจะทำให้เราเป็นกำลังสำคัญในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างจริงจัง