รู้ไหมว่า ในอนาคตผู้ประกอบการที่ไม่ยอมเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีสะอาด ทำการผลิตสินค้าและบริการโดยไม่สนใจที่จะลดใช้พลังงานและทรัพยากร จะต้องจ่ายภาษีและค่าธรรมเนียมแพงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังเข้าถึงเงินทุนตลอดจนโอกาสต่างๆ ในการทำธุรกิจได้น้อยลง ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?
กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์เป็นต้นเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หลายทศวรรษที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจและการผลิตแบบเดิมๆ ทำให้ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกถึงระดับที่ไม่ปลอดภัย เป็นที่มาของสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเกษตรกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก ซึ่งนับจากนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
มิติทางเศรษฐศาสตร์มองว่า ผู้ผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษจากกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการ คือผู้สร้างผลกระทบต่อสังคมโดยไม่มีการรับผิดชอบใดๆ นั่นก็เพราะในการทำธุรกิจที่ผ่านมา พวกเขาไม่ได้คิดถึงต้นทุนผลกระทบภายนอกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งที่ก๊าซเรือนกระจกสร้างผลกระทบมหาศาลต่อโลกใบนี้
ในปัจจุบันประเทศต่างๆ กำลังเร่งดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รัฐบาลทั่วโลกจึงจริงจังและเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ กับการใช้ “เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์” ทำให้สินค้าและบริการสะท้อนต้นทุนให้ครบทุกมิติ โดยเฉพาะต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำธุรกิจ ให้การผลิตไปจนถึงการบริโภคสินค้า สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยไม่จำเป็นต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
GCNT ชวนคุณทำความเข้าใจ “เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์” ประเภทต่างๆ ที่ภาครัฐจะนำมาใช้ เพื่อให้มีความรู้ว่าต้องปรับตัวอย่างไร จึงจะได้เปรียบกว่าในการทำธุรกิจ เพราะในอนาคตจะส่งผลต่อการประกอบธุรกิจอย่างแน่นอน ไม่ว่าคุณจะค้าขายภายในประเทศหรือส่งออกไปยังทวีปอื่นๆ จะบอกว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องไกลตัว หรือเม็ดเงินกับสิ่งแวดล้อมเป็นคนละเรื่องกันไม่ได้อีกต่อไป เพราะมันส่งผลโดยตรงต่อผลกำไรของธุรกิจคุณเอง
01 ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่ฟรีอีกต่อไป
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักผลิตสินค้าหรือบริการโดยพิจารณาเฉพาะต้นทุนส่วนตัว เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าพลังงานต่างๆ แต่ไม่ได้คิดถึงต้นทุนผลกระทบภายนอกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้การผลิตสินค้าหรือบริการมีต้นทุนที่ต่ำจากความเป็นจริง ส่งผลให้เกิดการผลิตสินค้าจำนวนมาก ยิ่งกว่านั้นกลุ่มผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็ใช้สินค้ามากเกินความจำเป็น สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
ทุกวันนี้รัฐบาลทั่วโลกต่างมุ่งมั่นในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายที่สอดคล้องตามหลักวิทยาศาสตร์ (Science-Based Target) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปี ผ่านการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ทำให้สินค้าและบริการต่างๆ สะท้อนต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชนให้มีการผลิตสินค้าและบริการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าและใช้พลังงานที่มาจากพลังงานหมุนเวียน และกระตุ้นให้ผู้คนหันมาใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า
อย่างที่เห็นจาก European Green Deal ของสหภาพยุโรป ที่จะบังคับใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ) เต็มรูปแบบในปี 2026 โดยจะปรับราคาสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศให้สะท้อนถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงที่เกิดจากกระบวนการผลิตของสินค้านั้นๆ
ไม่เฉพาะสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มกำลัง ปัจจุบันหลายประเทศในทวีปเอเชียก็เริ่มออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเต็มที่ เช่น โยบาย Green Plan ของประเทศสิงคโปร์ นโยบาย Green New Deal ของประเทศเกาหลีใต้ และ Green Growth Strategy ของประเทศญี่ปุ่น
มาตรการและนโยบายเหล่านี้กระทบต่อผู้ประกอบการไทยแน่นอน เพราะส่งผลต่อต้นทุนและเงื่อนไขในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศนั้นๆ นี่จึงเป็นความท้าทายของภาคเอกชนไทยที่ต้องเตรียมการรับมือ ปรับรูปแบบการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับทิศทางที่โลกกำลังมุ่งไป เพื่อเปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส
02 ได้เปรียบคู่แข่งด้วยเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์
เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Instruments) แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามกลไกการทำงานนั่นคือเครื่องมือที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจและเครื่องมือที่ลดแรงจูงใจ
เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่สร้างแรงจูงใจ (Economic Incentives) จะอาศัยการมอบผลตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์บางอย่าง ให้ผู้ประกอบการกระตือรือร้นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ออกมาตรการยกเว้นด้านภาษี (Tax Exemptions) มาตราการลดหย่อนทางภาษี (Tax Reduction) เสนอความช่วยเหลือด้านการเงินและการลงทุน (Financial Subsidies) ไปจนถึงให้สิทธิพิเศษด้านการลงทุนหากผู้ประกอบการเปลี่ยนมาผลิตสินค้าและบริการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ผู้ประกอบการที่ติดตามความเคลื่อนไหวของมาตรการจากภาครัฐ และปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องไปกับโครงสร้างภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ย่อมได้เปรียบกว่า อย่างการที่ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งลดภาษีนำเข้า ลดภาษีสรรพสามิต รวมถึงสนับสนุนสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า
ในขณะเดียวกันก็ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งแน่นอนว่ารถยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันต้องจ่ายภาษีแพงกว่า นี่คือแนวทางที่ผู้ประกอบการยานยนต์ต้องมองให้ขาดว่าในอนาคตอีกไม่ไกล การทำธุรกิจรถยนต์สันดาปภายในใช้น้ำมันแบบเดิมอาจไม่คุ้มทุนอีกต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการและภาคส่วนต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น สินเชื่อสีเขียวโดยธนาคารพาณิชย์ เพื่อเพิ่มเงินทุนให้เอกชนรายย่อยสามารถวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้
03 ยิ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ยิ่งต้องจ่ายมาก
ต่อมาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ลดแรงจูงใจ (Economic Disincentives) ตั้งอยู่บนหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle) และราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) เพื่อปรับราคาตลาดของสินค้าและบริการให้สะท้อนต้นทุนของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกกลายเป็นสิ่งที่มีต้นทุนต้องจ่าย ไม่ใช่สิ่งที่จะปล่อยได้ฟรีๆ อีกต่อไป ก็จะกระตุ้นให้ผู้ผลิตหันไปใช้เทคโนโลยีสะอาด ซึ่งมีต้นทุนของผลกระทบน้อยกว่านั่นเอง
โดยมีทั้งการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon tax) และการเก็บค่าธรรมเนียมมลพิษ (Pollution Tax) ที่มีหลักการเรียบง่ายนั่นคือยิ่งผู้ผลิตปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมลพิษมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องจ่ายภาษีหรือค่าธรรมเนียมมากขึ้นเท่านั้น ไปจนถึงเครื่องมือที่ซับซ้อนกว่าอย่างการซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอน (Emission Trading Scheme หรือ ETS)
ETS คือ การกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap) ของผู้ผลิต โดยผู้ผลิตแต่ละคนจะได้รับโควต้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาครัฐ ในรูปของใบอนุญาต หากปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าจำนวนในใบอนุญาต ผู้ผลิตคนนั้นๆ ก็สามารถขายต่อใบอนุญาตที่เหลือแก่ผู้ผลิตคนอื่นได้ ในทางกลับกันหากผู้ผลิตรายใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินโควตาที่ได้รับ ก็ต้องซื้อใบอนุญาตต่อจากผู้ผลิตคนอื่น ถือเป็นระบบที่จำกัดปริมาณแล้วแลกเปลี่ยน (Cap-And-Trade)
หลายปีที่ผ่านมา ETS ถูกพูดถึงมากขึ้นในเวทีโลก เพราะมีฟังก์ชันที่เหนือกว่าการจัดเก็บภาษีคาร์บอนแบบปกติ กล่าวคือ ในการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ผู้ผลิตสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเท่าที่ต้องการโดยไม่มีเพดานจำกัด ในขณะที่ระบบ ETS ภาครัฐสามารถกำหนดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของผู้ผลิตทั้งประเทศ ที่อนุญาตให้ปล่อยได้ ซึ่งเป็นผลดีกว่าอย่างมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อม
04 ผลิตและบริโภคแบบ Win-Win ด้วยกันทุกฝ่าย
สำหรับผู้ประกอบการและผู้ผลิต การที่ภาครัฐนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ เพื่อจูงใจและสร้างแรงกดดันให้เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ไม่ใช่แค่เรื่องของต้นทุนเท่านั้น เราอยากชวนคุณมองในแง่ของการสูญเสียโอกาส หากคุณเมินเฉยต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่คิดจะเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เท่ากับคุณเสียโอกาสในการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ เสียโอกาสค้นหาธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจของโลกใหม่ที่สนับสนุนการปล่อยคาร์บอนต่ำจนถึงปล่อยเป็นศูนย์
ก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้าและบริการหลักๆ มาจากพลังงานที่ใช้ในบริษัทและโรงงาน ดังนั้นคุณควรเริ่มจากการคำนวณออกมาก่อนว่าโรงงานของคุณปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่ จึงจะสามารถประเมินได้ว่าต้อง Take Action ต่ออย่างไร ซึ่งมีหลากหลายวิธีการตั้งแต่เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและกำจัดของเสีย ลงทุนในการวิจัยสินค้าและบริการที่ต่อยอดจากห่วงโซ่คุณค่าของโรงงานเอง ไปจนถึงปลูกต้นไม้หรือซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ถอยออกมามองในภาพรวมของสังคมและสิ่งแวดล้อม เมื่อสินค้าและบริการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง มีต้นทุนสูงขึ้นจากภาษีที่เรียกเก็บ รัฐบาลก็สามารถนำเงินที่ได้ไปใช้กระตุ้นการลงทุนในสินค้าและบริการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เพื่อให้พวกเราสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น คงไม่มีผู้บริโภคคนไหนปฏิเสธสินค้าและบริการที่ทั้งราคาเป็นมิตร คุณภาพดี แถมยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและสร้างความยั่งยืนให้โลกได้อย่างแน่นอน
__
ข้อมูลอ้างอิง