วัลแคน โคอะลิชั่น (Vulcan Coalition) คือ สตาร์ทอัพเพื่อสังคม ที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนา AI แต่มิติที่ไม่ธรรมดายิ่งกว่าเรื่องเทคโนโลยีคือ “ทรัพยากรบุคคล” ผู้อยู่เบื้องหลังสตาร์ทอัพแห่งนี้ คือผู้พิการ 100 เปอร์เซ็นต์
อัลเบิร์ต ไอน์สไตล์เคยกล่าวไว้ว่า “ทุกคนเป็นอัจฉริยะ แต่ถ้าคุณตัดสินปลาด้วยความสามารถในการปีนต้นไม้ ปลาจะใช้ทั้งชีวิตของมันด้วยความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า” ในทางกลับกัน ถ้าเราให้ปลาได้ว่ายน้ำ มันก็จะปลดปล่อยศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ และนั่นคือจุดมุ่งหมายของวัลแคน โคอะลิชั่นที่ต้องการเป็นแม่น้ำอันกว้างใหญ่ ซึ่งผู้พิการสามารถดึงศักยภาพของตัวเองมาใช้ในการทำงานได้อย่างเต็มที่
การสร้างงานให้ผู้พิการ ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของวัลแคน โคอะลิชั่น ไม่เพียงสร้างรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ แต่ยังสร้างความภาคภูมิใจจากการได้ทำงานที่มีคุณค่าและความหมาย แล้วงานพัฒนา AI ของวัลแคน โคอะลิชั่นคืออะไร?
สองผู้ก่อตั้ง คุณเมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ และ คุณนิรันดร์ ประวิทย์ธนา อธิบายให้ฟังว่า “การประมวลผลข้อมูลในคอมพิวเตอร์แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือการประมวลผลแบบตรง และการประมวลผลแบบซับซ้อนซึ่ง ต้องใช้วิจารณญาณมาเป็นส่วนประกอบ โดยอย่างหลังนี้เองที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เช่น การจดจำใบหน้าเจ้าของโทรศัพท์ การระบุใบหน้าลูกค้าประจำของร้านอาหาร หรือการรับคำสั่งด้วยเสียงที่ AI ต้องฟังประโยคพูดที่มีหลากหลายสำเนียง”
หัวใจของ AI คือคลังข้อมูล ยิ่งเราป้อนข้อมูลคุณภาพให้ AI จำนวนมากเท่าไหร่ ความเก่งกาจของ มันก็จะยิ่งเพิ่มพูนขึ้นตามขนาดของคลังบรรจุข้อมูล ถึงขนาดที่ว่าวันหนึ่งวิจารณญาณของ AI ในบางเรื่องอาจทัดเทียมความสามารถของมนุษย์เราได้เลย และงานของวัลแคน โคอะลิชั่นก็คือการให้บริการจัดทำข้อมูลสำหรับป้อน AI ที่ว่านี้ โดยมีผู้พิการทำหน้าที่เป็น AI Trainer หรือคนป้อนข้อมูลเพื่อสอนให้ AI มีความคิดและเข้าใจภาษามนุษย์นั่นเอง”
ทุกวันนี้อุตสาหกรรม AI ในประเทศไทยขาดแคลนข้อมูล เนื่องจากไม่มีคนทำงานมากพอ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ลดลง ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีผู้พิการกว่า 400,000 คนที่อยู่ในวัยทำงานแต่ยังไม่ได้รับโอกาสในการจ้างงาน วัลแคน โคอะลิชั่นจึงออกแบบแพลตฟอร์มป้อนข้อมูลหลายรูปแบบที่ผู้พิการแต่ละประเภทได้ใช้ ‘ศักยภาพเฉพาะ’ ที่โดดเด่นของตัวเอง มาเป็นเครื่องมือทำงาน AI Trainer
อย่างเช่นผู้พิการทางสายตา ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการป้อนข้อมูลเสียง เนื่องจากพวกเขาสามารถระบุแหล่งที่มาของเสียงได้ละเอียดกว่า เพราะสมองจัดการทำงานให้ประสาทสัมผัสส่วนอื่นทำงานแทนการมองเห็น จึงฟังประโยคที่พูดด้วยความเร็วมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า เรียกได้ว่าประสิทธิภาพและความเร็วในการป้อนข้อมูลเสียงให้ AI ของผู้พิการทางสายตานั้นเหนือกว่า หรือผู้พิการทางการได้ยินที่สามารถมองเห็นได้กว้างขวางและเก็บรายละเอียดได้ดีกว่าคนทั่วไป
ทุกวันนี้ คนทำงานที่ขับเคลื่อนธุรกิจของวัลแคน โคอะลิชั่น มีทั้งผู้พิการทางสายตา ทางการได้ยิน ทางการเคลื่อนไหว และทางสติปัญญา ไม่เฉพาะตำแหน่ง AI Trainer แต่ยังมีผู้พิการในตำแหน่ง Software Developer ซึ่งทำหน้าที่พัฒนาโมเดล AI และแอปพลิเคชั่นต่างๆ รวมแล้วมีผู้พิการทำงานในสตาร์ทอัพแห่งนี้อยู่ถึง 200 คน
ตามปกติแล้วบริษัทด้านเทคโนโลยีจะต้องเสียเงินมหาศาล ในการจ้างคนจัดเตรียมข้อมูลป้อน AI แต่วัลแคน โคอะลิชั่น มีต้นทุนที่ถูกกว่าและแข่งขันได้ในระดับโลก เพราะใช้โมเดล Quota Partner ที่อ้างอิงกฏหมายซึ่งกำหนดให้บริษัทต้องจ้างงานโดยมีสัดส่วนพนักงานผู้พิการ 1 คน ต่อลูกจ้างทุกๆ 100 คน บริษัทที่มีโควต้ารับผู้พิการเป็นลูกจ้าง แต่ไม่สามารถจ้างงานพวกเขาได้ อาจด้วยข้อจำกัดของตำแหน่งงานหรือสถานที่ปฏิบัติการ ในแต่ละปีจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนประมาณ 1 แสนบาทต่อคน
เพราะฉะนั้น แทนที่จะส่งเงินเข้ากองทุน บริษัทสามารถนำเงินนั้นมาจ้างงานผู้พิการผ่าน Quota Partner กับทางวัลแคนโคอะลิชั่นได้ ซึ่งนับว่าวิน-วิน กันทุกฝ่าย ทั้งบริษัทที่ได้รับข้อมูลคุณภาพสูง และผู้พิการที่ได้ทำงานจากศักยภาพตัวเอง
โดยในปี 2022 นี้ เนื่องจากวัลแคน โคอะลิชั่นมี Quota Partner มาเข้าร่วมมากกกว่า 60 บริษัท ทำให้ได้โควต้ามาจ้างงานผู้พิการเป็น AI Trainer กว่า 600 คน ซึ่งทุกๆ คนจะได้รับการเทรนด์ทักษะจัดเตรียมข้อมูลป้อน AI ด้วยแพลตฟอร์มพิเศษที่ออกแบบมาสำหรับทำงานด้วย ‘ศักยภาพเฉพาะ’ ที่โดดเด่นของตัวเองอย่างที่กล่าวถึงไปข้างต้นนั่นเอง
ไม่เพียงความล้ำของเทคโนโลยีในการทำงาน แต่ในแง่นโยบายการดูแลพนักงานของที่นี่ก็ล้ำหน้า นอกจากเงินเดือนประมาณ 9,000 บาท (ทำงาน 4 ชั่วโมงต่อวัน) ซึ่งเป็นรายได้หล่อเลี้ยงชีพ วัลแคน โคอะลิชั่นต้องการสร้างความยั่งยืนทางรายได้ให้ผู้พิการในระยะยาว จึงกำหนดนโยบายปันส่วน 30 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ทั้งหมดให้แก่ผู้พิการตลอดชีพ
เพราะข้อมูลผู้พิการแต่ละคนป้อนให้ AI ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้นเมื่อทรัพย์สินทางปัญญาถูกนำไปใช้สร้างรายได้ แม้จะเกษียณอายุหรือเลิกทำงานไปแล้ว ผู้พิการก็สมควรได้รับเงินปันส่วนนี้เป็น Passive Income เพื่อช่วยให้พวกเขาเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน
“เราเป็นโซลูชั่นที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพพัฒนาเทคโนโลยี AI ได้เร็วขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง และยิ่งมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเรามากขึ้น การให้บริการของเรายิ่งไปได้ไกล นั่นเท่ากับเรากำลังส่งเสียงบอกสังคมถึงศักยภาพของคนพิการ เพื่อเป้าหมายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม AI ของไทยไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งผู้พิการไว้ข้างหลัง” ผู้ก่อตั้งทั้งสองกล่าว
__
นอกเหนือจากการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนของผู้พิการ ผ่านการจ้างงานอย่างเป็นธรรมและเคารพในศักยภาพของมนุษย์ทุกคนของวัลแคน โคอะลิชั่น จริงๆ แล้วบริษัทและองค์กรทุกแห่งในสังคมจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน โดยดำเนินกิจการอย่างไม่ละเมิดสิทธิ และทำให้แน่ใจว่าลูกจ้างทุกคนได้รับการปฏิบัติ ได้รับค่าจ้าง รวมถึงได้รับความคุ้มครองเพียงพอ
GCNT ชวนตั้งคำถามถึงสิทธิมนุษยชนของพนักงานในองค์กร และหาคำตอบว่า “เราจะดำเนินธุรกิจอย่างเคารพสิทธิมนุษยชนของลูกจ้างทุกคนได้อย่างไร” ผ่านหลักสูตร Business and Human Rights: HRDD Practical Guides Training ซึ่งจะช่วยชี้ให้เห็นภาพรวมในประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน
อัตราลงทะเบียนท่านละ15,000 บาท
อบรมระหว่างวันที่ 29 - 31 สิงหาคม 2565 เวลา 9:00 - 16:15 น.
ณ ห้องประชุม Auditorium อาคาร AIA Capital Center ชั้น 31
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 095-935-3863
ลงทะเบียนได้ที่นี่ https://forms.gle/wPFT3H9Ag7HJAPHx7
เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึง 26 สิงหาคม 2565 หรือจนกว่าจะครบ 25 ท่าน และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธ์เข้าเรียน วันที่ 27 สิงหาคม 2565