ร้านค้าปลีกและผู้บริโภคต้อง “เปลี่ยน” อย่างไร เมื่อสินค้าที่วางขายในท้องตลาดคือตัวการทำ “โลกรวน”

Article


ตัวการทำโลกรวนอยู่ในทุกกิจกรรมและการใช้ชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่เรากินใช้กันอยู่ทุกวัน พวกมันผ่านกระบวนการผลิต ขนส่ง จัดเก็บแช่เย็น บริโภค และทิ้งเป็นขยะ ทั้งหมดที่กล่าวไปนั้นล้วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 

จึงไม่น่าแปลกใจที่แค่ระบบอาหารอย่างเดียว ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก หรือจะเทียบให้เห็นภาพ เจาะจงลงไปที่การเลี้ยงวัวเพื่อนำมาผลิตอาหารให้มนุษย์ หากนับประชากรวัวทั่วโลกเป็นประเทศๆ หนึ่ง ประเทศแห่งนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงติดอันดับ 1 ใน 3 เลยทีเดียว

ดังนั้นจึงพูดได้เต็มปากว่าถ้าผู้บริโภคเปลี่ยนมากินใช้สินค้ายั่งยืน ที่ผลิตด้วยกระบวนการซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง นั่นก็สร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาลให้วิกฤติโลกรวนแล้ว และจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของวิถีบริโภคยั่งยืนไม่ใช่ใครอื่น แต่คือ “ร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ต” นั่นเอง

GCNT สรุปรายงานวิจัยล่าสุดจาก Mckinsey&Company บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจอันดับ 1 ของโลกที่ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจค้าปลีกจะต้องให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความยั่งยืนอย่างจริงจัง เพื่อต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Mckinsey ยังกล่าวอีกด้วยว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นทั้งไฟลต์บังคับและโอกาส เพราะมันผสมผสานสิ่งที่ดีต่อโลกและสิ่งที่ดีต่อการเติบโตของธุรกิจ เห็นได้จากการที่ธุรกิจค้าปลีกชั้นนำทั่วโลกสามารถใช้แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงเป็นแต้มต่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด 


ทำไมธุรกิจค้าปลีกต้อง “เปลี่ยน”

วิถีการใช้ชีวิตของผู้คนกำลังเปลี่ยนแปลงไป เมื่อความตระหนักเรื่องโลกรวนเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง การสำรวจของ McKinsey พบว่า ทุกวันนี้ 37 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวยุโรปใส่ใจเรื่องความยั่งยืนอย่างลึกซึ้ง ผู้บริโภคจำนวนมากยินดีจ่ายเงินแพงขึ้น เพื่อซื้อสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าและผลิตอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม 

พูดง่ายๆ ก็คือจากนี้ไป ลูกค้าจะยิ่งเลือกซื้อของที่พวกเขาพิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและโลกใบนี้ ดังนั้นถ้าร้านค้าปลีกยังเพิกเฉย เลือกขายแต่สินค้าเดิมๆ ที่ไม่ยั่งยืน พวกเขาก็จะทยอยสูญเสียลูกค้าไปเรื่อยๆ นั่นเอง

นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้ กฏหมายและมาตรการของประเทศต่างๆ เพื่อกดดันให้แต่ละภาคส่วน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น อย่างประเทศเนเธอแลนด์ ที่ออกแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ทำให้เกษตรกรผู้เป็นซัพพลายเออร์ส่งสินค้าเนื้อสัตว์-นมโคต้องเปลี่ยนวิธีผลิตให้กรีนขึ้นเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ส่งผลต่อเนื่องไปสู่ธุรกิจค้าปลีกและซูเปอร์มาเก็ตที่ต้องปรับตัวตามไปด้วย ไม่อย่างนั้นการค้าขายก็เสี่ยงที่จะชะลอตัวลง

อาจดูเหมือนไฟลต์บังคับ แต่เจ้าของธุรกิจค้าปลีกที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลจะรู้ได้ทันทีว่านี่คือโอกาส เพราะการบริหารธุรกิจด้วยแนวคิดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ นำมาซึ่งการประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายในหลายๆ ทาง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและพลังงาน 

แถมเทรนด์การลงทุนในปัจจุบันยังนำเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมาปรับใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้นักลงทุนพร้อมทุ่มเงินให้บริษัทที่ใส่ใจความยั่งยืน ยิ่งเพิ่มโอกาสในการขยับขยายธุรกิจ


“ก๊าซเรือนกระจก” ในอุตสาหกรรมค้าปลีก

ถ้าคุณไม่เคยทำความเข้าใจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจใดๆ มาก่อน เราขออธิบายแบบกระชับให้เข้าใจว่า ในทุกอุตสาหกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ขอบเขตคือ

  • ขอบเขตที่ 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งในที่นี้หมายถึงส่วนต่างๆ ของร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาเก็ต
  • ขอบเขตที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตพลังงานและไฟฟ้า ที่ถูกใช้ในร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาเก็ตนั้นๆ
  • ขอบเขตที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากจากปัจจัยอื่นๆ ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูปอาหาร ขนส่ง จัดเก็บแช่เย็น ไปจนถึงการบริโภค และของเสียที่เกิดขึ้นหลังการบริโภค

McKinsey วิเคราะห์การปล่อยก๊าซก๊าซเรือนกระจกทั้ง 3 ขอบเขต โดยพิจารณาห่วงโซ่คุณค่าของร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก 40 แห่ง พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 และ 2 มีสัดส่วนเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยทั้งหมด ในขณะที่อีก 93 เปอร์เซ็นต์มาจากการปล่อยในขอบเขตที่ 3 ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องมากมายและอยู่นอกเหนือการควบคุมโดยตรงของร้านค้าปลีก

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า เจ้าของธุรกิจค้าปลีกไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะเข้าไปเอี่ยวกับการขจัดก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 3 McKinsey ระบุว่าร้านค้าปลีกคือตัวกลางที่สำคัญมาก ในห่วงโซ่คุณค่าระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เพราะคุณคือคนจัดหาสินค้าต่างๆ จึงมีอำนาจต่อรองรวมถึงอำนาจในการเลือกสินค้าที่จะไปอยู่บนชั้นวาง

การที่ร้านของคุณสนับสนุนผู้ผลิตและสินที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ สร้างตัวเลือกที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมให้ลูกค้า ก็เท่ากับทำให้ระบบอาหารในภาพรวมปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงนั่นเอง


ร้านค้าปลีกที่อยู่รอดต้องใส่ใจ “ความยั่งยืน”

อย่างที่อธิบายไปข้างต้นว่า ทุกวันนี้ผู้บริโภคชาวยุโรปเริ่มตระหนักต่างวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม และใส่ใจความยั่งยืนอย่างลึกซึ้ง จึงไม่น่าแปลกใจที่ร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาเก็ตชั้นนำในยุโรปล้วนกำหนดเป้าหมาย Net Zero กันเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 และ 2 ซึ่งแต่ละร้านสามารถดำเนินการได้เลยทันที 

ร้านค้าปลีกเจ้าหนึ่งในยุโรปถึงกับทุ่มเงิน 1 พันล้านยูโรหรือราว 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อผลักดันร้านของตัวเองให้ไปถึงเป้าหมายนี้ในปี 2040 จากการสำรวจความเปลี่ยนแปลงของพวกเขาพบว่า แค่ปรับปรุงระบบแสงสว่าง ระบบทำความเย็น เครื่องทำความร้อน การระบายอากาศ การปรับอากาศในร้าน ก็ลดการใช้พลังงานและก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว 30-50 เปอร์เซ็นต์ 

อย่างไรก็ตามเพื่อไปให้ถึงเป้า Net-Zero นอกจากส่วนของร้านค้าแล้ว พวกเขาจะต้องผลักดันส่วนโกดัง ระบบขนส่ง และการผลิตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วย แผนของพวกเขามีทั้งการออกแบบศูนย์กระจายสินค้า ให้เป็นเครือข่ายที่ลดระยะทางจากโกดังสินค้าไปยังร้านค้า ตลอดจนเปลี่ยนรถบรรทุกเครื่องยนต์ใช้น้ำมันแบบเดิม ไปเป็นยานพาหนะไฟฟ้า เช่นเดียวกับผู้นำร้านค้าปลีกแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนรถแทรกเตอร์ 10,000 คันและรถพ่วง 80,000 คัน ไปใช้เทคโนโลยีขนส่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าแทน

สำหรับร้านค้าปลีกเจ้าใหญ่ๆ ที่มีสินค้าตราห้าง (House Brand) เป็นของตัวเอง สิ่งที่ต้องคำนึงเพิ่มคือกระบวนการผลิตสินค้าแต่ละชนิดที่ต้องทำให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนขึ้น เช่น ลดหรือรีไซเคิลของเสีย ตลอดจนนำความร้อนที่เกิดขึ้นจากการกระบวนการไปผลิตไฟฟ้า ซึ่งล้วนมีผลต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น

ในแง่ผู้ประกอบการอาจมองว่าการลงทุนเพื่อเพื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ลดก๊าซเรือนกระจก อาจไม่คืนทุน แต่ McKinsey ยืนยันหนักแน่นว่าในท้ายที่สุดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมแต่ยังเพิ่มพูนผลกำไร และช่วยลดต้นทุนอย่างแน่นอน


บทความตอนต่อไป GCNT ชวนเจ้าของธุรกิจค้าปลีกที่ต้องการวางแผนและลงมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปเรียนรู้กลยุทธ์ทรงประสิทธิภาพจาก Mckinsey&Company เพื่อสร้างธุรกิจค้าปลีกยั่งยืนที่เป็นมิตรกับโลก ปรารถนาดีต่อผู้บริโภค และเติบโตระยะยาว 

__


สรุปและเรียบเรียงจาก https://www.mckinsey.com/industries/retail/our-insights/decarbonizing-grocery

ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้