Circular Mark หรือ “ฉลากผลิตภัณฑ์หมุนเวียน” ที่ปรากฏบนสินค้าหลายๆ แบรนด์ในตลาดเมืองไทย คือเครื่องหมายที่บ่งบอกให้รู้ว่าสินค้านั้นๆ ผลิตขึ้นภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม
นับจากนี้ผู้บริโภคจะยิ่งให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อยๆ การสำรวจของ Mckinsey&Company บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจอันดับ 1 ของโลก พบว่าทุกวันนี้ 37 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวยุโรปใส่ใจความยั่งยืนอย่างลึกซึ้ง โดยยินดีจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่ผลิตอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับรายงานล่าสุดจาก Bain&Company ที่ระบุว่าผู้บริโภคในแถบเอเชียแปซิฟิกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เต็มใจจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อสินค้ายั่งยืน แต่เพราะข้อมูลและสินค้าในตลาดที่ไม่เพียงพอ ทำให้พวกเขาซื้อสินค้าได้ไม่เต็มที่ต่อความต้องการ
ดังนั้นหากได้รับ Circular Mark แน่นอนว่าจะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ลูกค้าอุดหนุนสินค้าของคุณ
มองไปให้ไกลกว่านั้น Circular Mark คือเครื่องการันตีที่จะสร้างความเข้มแข็งและจุดยืนให้แบรนด์ของคุณ เพราะกฏหมายและมาตรการของประเทศต่างๆ รวมถึงนักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์ในปัจจุบันล้วนสนับสนุนบริษัทที่เดินหน้าเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจังและจริงใจ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไม Circular Mark เล็กๆ ฉลากนี้ จะช่วยสร้างโอกาสขยายตลาดให้สินค้าของคุณไปสู่กลุ่มผู้ซื้อใหม่ๆ ที่มีขนาดใหญ่และแข็งแกร่งขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
เมื่อพูดถึงสินค้า สิ่งที่ตามมาคือบรรจุภัณฑ์หรือแพคเกจจิ้ง ตราบใดที่ผู้ประกอบการยังมีการผลิตและขนส่งสินค้าและผู้บริโภคยังมีการจับจ่ายใช้สอย บรรจุภัณฑ์จะยังเป็นส่วนสำคัญในการปกป้องผลิตภัณฑ์ให้ส่งถึงมือผู้บริโภคได้อย่างถูกสุขอนามัยและปลอดภัย และ SCG Packaging ผู้นำโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรของอาเซียนก็เห็นความสำคัญของ Circular Mark เช่นกัน
01 หัวใจของผู้ผลิตและผู้บริโภคยุคใหม่
ทุกวันนี้บรรจุภัณฑ์นั้นเต็มไปด้วยนวัตกรรม SCG Packaging ไม่ได้ผลิตแค่กระดาษหรือกล่องลูกฟูกแบบเดิมๆ แต่นำเสนอบรรจุภัณฑ์ล้ำสมัยมากมายที่มีการออกแบบอย่างสวยงาม มีฟังก์ชันหลากหลายขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าที่บรรจุภัณฑ์นั้นๆ ไปห่อหุ้ม ทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce)
อย่างไรก็ตามหนึ่งในฟังก์ชันที่สำคัญที่สุดของบรรจุภัณฑ์ยุคใหม่ “ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
ผู้บริโภคยุคใหม่ ต้องการสินค้าที่ผ่านเกณฑ์ประเมินการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีการคำนึงถึงวัฏจักรการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างคุ้มค่า (Life Cycle Thinking) ตลอดจนมีการนำหลัก 12R มาปรับใช้ เช่น Reduce การลดปริมาณขยะ, Reuse การนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำ, Recycle การหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ไปจนถึง Reject การหลีกเลี่ยงของเสียที่เป็นมลพิษ
ดังนั้นในมุมมองของ SCG Packaging แค่ความสวยงามและการใช้งานจึงไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เพียงพออีกต่อไป เพราะผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงเท่านั้น ภาครัฐในหลายประเทศล้วนมีมาตรการส่งเสริมความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นควบคุมการบริหารจัดการขยะที่เข้มงวด การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้สอดรับกับมาตรการภาครัฐ และเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ต้องตอบสนองความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ทัน SCGP จึงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการผลิตสินค้า บริการ และโซลูชันที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทั้งด้านการรีไซเคิล การลดการใช้ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถนำมารีไซเคิลได้
02 หมุนเวียนทุกสิ่ง ให้กลับมาใช้ได้ทุกอย่าง
หลักดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนของ SCG Packaing ซึ่งประกอบไปด้วยกิจการย่อยหลากหลาย จะเน้นไปที่
(1) แนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Concept design) ที่คำนึงถึงการหมุนเวียนวัสดุกลับคืนสู่การผลิต รวมถึงการลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติลง แต่ยังคงได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานเดิม
(2) กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ โดยจะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดให้มากขึ้น พร้อมทั้งปรับปรุงระบบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพขึ้นเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำลง
โดยไม่เพียงหมุนเวียนวัตถุดิบกลับสู่กระบวนการผลิต แต่ SCG Packaging ตั้งเป้าหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิต และจัดการของเสียโดยการใช้ประโยชน์จากของเสียให้ได้มากที่สุด ตามนโยบาย Zero Waste to Landfill พูดง่ายๆ ก็คือพวกเขาตั้งใจจะหมุนเวียนทุกสิ่งกลับมาใช้ใหม่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้เหลือขยะไปฝังกลบเลย
นอกจากจัดการองค์ประกอบต่างๆ ในส่วนการผลิต ทุกวันนี้ยังมี SCGP reXycle โปรเจกต์ที่พยายามสร้างการมีส่วนร่วมให้ผู้บริโภคสามารถนำขยะวนกลับไปสู่ต้นทางเพื่อรีไซเคิล เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งของใช้แล้วที่เราได้คัดแยกจะไม่ถูกนำไปรวมกัน และได้หมุนเวียนไปเกิดใหม่จริง เพียงนำกล่องกระดาษ กระป๋องอลูมิเนียม หรือขวดน้ำพลาสติก ไปทิ้งตามจุด Drop Point หรือนำไปฝากที่ธนาคารขยะใกล้บ้าน ผ่านเว็บแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah)
03 Circular Mark ฉลากที่มีความหมายต่อโลก
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและเป็นไปตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันทั้งจากหน่วยงานส่วนกลางของ SCG Packaing สายการผลิตของโรงงาน และหน่วยงานด้านการขายสินค้า ซึ่งต้องอาศัยการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจภายในองค์กร และที่สำคัญไม่แพ้กันคือการสื่อสารต่อผู้มีส่วนได้เสียภายนอก เช่น ลูกค้าหรือคู่ธุรกิจ เพื่อให้เห็นทิศทางที่กำลังมุ่งไปตรงกัน
ความตั้งใจทั้งหมดสะท้อนผ่านการได้รับ Circular Mark ซึ่งเป็นฉลากการันตีมาตรฐานความยั่งยืนที่ทุกฝ่ายในองค์กรร่วมกันสร้างขึ้น อีกหนึ่งผลพลอยได้ของการได้รับ Circular Mark คือการลงทะเบียนแบบอัตโนมัติในฐานข้อมูลด้านความยั่งยืนอื่นๆ ที่สามารถนำไปใช้ประชาสัมพันธ์ รับรองความโปร่งใส ที่ยิ่งสร้างความเข้มแข็งให้แบรนด์ได้รับความเชื่อมั่นและการยอมรับจากผู้บริโภค คู่ค้า รวมถึงนักลงทุนในระดับประเทศและนานาชาติ
ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) มาตรการบัตรเดียวเขียวทั่วไทย (Green Card Application) ระบบฐานข้อมูลสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (Thai Eco Product Directory) ห้องสมุดออนไลน์ด้านวัสดุก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อมสำหรับงานอาคารเขียว (Thai Green Building Material Database ) และ ศูนย์กลางวัสดุหมุนเวียน (Circular Material Hub)
การที่ SCG Packaging ซึ่งเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ของอาเซียน มุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงสินค้า ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนกระบวนการผลิต เพื่อให้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ ใช้ซ้ำได้ หรือสลายตัวได้ มีสัดส่วน 100 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดภายในปี 2025 คือสิ่งยืนยันว่าแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นสำคัญต่อการทำธุรกิจจริงๆ
ดังนั้นหากคุณเป็น “ผู้ผลิต” คุณควรศึกษาข้อกำหนดของฉลาก Circular Mark แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการทำธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และสนับสนุนความยั่งยืนได้แล้ว เพราะนี่คือทิศทางการค้าที่โลกกำลังมุ่งไป ไม่เช่นนั้นรู้ตัวอีกทีจะตกขบวน
ขณะเดียวกัน หากคุณเป็น “ผู้บริโภค” เราอยากให้คุณตระหนักว่าการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของคุณนั้นส่งผลต่อโลกขนาดไหน แค่เลือกผลิตภัณฑ์ที่ทำให้โลกดีขึ้น ก็เท่ากับช่วยสนับสนุนการคงอยู่ของธุรกิจที่จัดการด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยต่อเติมความสมบูรณ์ของโลกใบนี้ให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต