ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างไร? เมื่อ “โลกรวน” อาจทำการท่องเที่ยวไทยพัง

Article



“การท่องเที่ยว” คือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย เป็นแหล่งรายได้มหาศาลที่ขับเคลื่อนการสร้างอาชีพและการพัฒนามากมาย โดยหัวใจสำคัญที่ทำให้เราเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกคือภูมิทัศน์และภูมิอากาศที่เปรียบดั่ง “สวรรค์บนดิน” เรามีท้องทะเลและผืนป่าที่ชอุ่มสมบูรณ์และเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งยังรุ่มรวยไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การท่องเที่ยวคือภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม นี่คือปัญหาใหญ่ที่ทุกคนต้องรับรู้และเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจท่องเที่ยว หรือนักเดินทางที่ชื่นชมความงดงามของสถานที่ต่างๆ

เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้สถานการณ์และแนวโน้มความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้น อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น การกัดเซาะของชายฝั่ง ภาวะภัยแห้ง อุทกภัย ไปจนถึงปัญหามลพิษ ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ ความสวยงามและบรรยากาศของสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งแน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะสั่นคลอนเสาหลักของเศรษฐกิจของประเทศไทย

GCNT สรุปรายงานเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ภาคการท่องเที่ยว” โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกและบริษัทการค้าระหว่างประเทศ เพื่อชวนคุณทำความเข้าใจความเสี่ยงของการท่องเที่ยวไทย และเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยจะนำมาใช้ เพื่อเร่งให้ภาคธุรกิจปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ



01 สวรรค์บนดินที่จะหายไป

สถานที่ท่องเที่ยวแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ นั่นคือแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและแหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม 

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติที่เปราะบาง ลองนึกภาพแนวปะการังสีสดใสในทะเลอันดามัน ที่ต่อมาเมื่ออุณหภูมิมหาสมุทรเพิ่มขึ้น พวกมันก็เกิดการฟอกขาวจนเหลือเพียงโครงสร้างหินปูนโล้นๆ ไร้สีสัน เมื่อสิ่งที่ดึงดูดการท่องเที่ยวเสื่อมโทรมลง แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อความนิยมของสถานที่นั้นๆ

ส่วนแหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม มรดกเก่าแก่อย่างโบราณสถานสมัยสุโขทัยและอยุธยาที่ตกทอดมานับร้อยๆ ปี ก็เสี่ยงต่อการเสียหายเมื่อระดับอุณหภูมิ ความชื้น แม้แต่รังสียูวีเพิ่มขึ้น และอาจถึงขั้นพังทลายลงได้เลย หากเกิดน้ำท่วมหรือพายุรุนแรง 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ เกิดถี่และรุนแรงขึ้น ไม่เพียงส่งผลต่อความปลอดภัยของมรดกเก่าแก่ แต่ยังทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก เพราะส่งผลต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาอีกด้วย

สำหรับคนทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นกิจการโรงแรม ร้านอาหาร รถเช่า หรือข้าวของที่ระลึก สิ่งที่ต้องตระหนักคือผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติต่างๆ นั้นสัมพันธ์กันทั้งหมด ตั้งแต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ไปจนถึงเชื้อเพลิงและวัตถุดิบที่ราคาแพงขึ้น ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยว


02 ภัยพิบัติจากโลกรวน

ข้อมูลโดย Inform Risk Index ระบุว่าภัยพิบัติที่น่ากังวลที่สุดของสำหรับประเทศไทยคืออุทกภัย ซึ่งเรามีความเสี่ยงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ทั้งน้ำหลากจากแม่น้ำ น้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วมจากชายฝั่ง โดยเหตุวิกฤติที่ในอดีต 100 ปีมีครั้ง อาจเกิดขึ้นทุก 50 หรือ 25 ปีแทน ทั้งหมดนี้คิดเป็นมูลค่าความเสียหายปีละกว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ การศึกษาของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและมหาวิทยาลัยนเรศวรได้มีการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2055 และความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การท่องเที่ยวที่คนในอุตสาหกรรมนี้ต้องเตรียมพร้อมรับมือ 

อุทกภัย พื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ของไทยจะเกิดสถานการณ์น้ำท่วมบ่อยขึ้น ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมอาจเกิดการทรุดตัวจากการกัดเซาะ และยังส่งผลโดยตรงต่อกิจกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงการเดินทางที่ต้องหยุดชะงัก

ความแห้งแล้ง พื้นที่ภาคอีสานตอนบนและภาคเหนือจะเผชิญกับความแห้งแล้งที่รุนแรงและยาวนานขึ้น อาจทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวอย่างน้ำประปาเกิดความขาดแคลน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายหาดและภูเขา ที่สำคัญประเพณีของไทยที่เกี่ยวข้องกับน้ำจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด เราอาจสูญเสียแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งไปเลยจากภาวะแห้งแล้ง

ความร้อนสูง โดยรวมประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันออก ความร้อนที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อสถานที่ท่องเที่ยวแบบเปิดโล่งและกิจกรรมกลางแจ้งประเภทต่างๆ นอกจากนี้ที่พักและร้านรวงก็ต้องเตรียมรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นของระบบปรับอากาศ


03 การปรับตัวที่ต้องเริ่มเดี๋ยวนี้

ย้อนกลับมายังคำถามตั้งต้นที่ว่า หากนับจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแต่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ภาคการท่องเที่ยวต้องปรับตัวกันอย่างไร?


ขั้นแรก คือการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้คน ต้องมีการสื่อสารการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะที่มีผลต่อการท่องเที่ยว เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจแก่นักท่องเที่ยว (Media for Tourism)

นอกจากนี้ รายงานสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ที่แม่นยำและเข้าใจง่าย (Weather Information) ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงสถานการณ์สภาพอากาศและภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงต้องมีการพัฒนาความพร้อมรองรับสถานการณ์วิกฤติ (Alert System) เพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้อย่างกะทันหัน เช่น ระบบเตือนภัยและป้ายบอกเส้นทางอพยพ 


ขั้นต่อมา คือการพัฒนาระบบจัดการสถานที่ท่องเที่ยว ภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การสร้างความหลากหลายของรูปแบบการท่องเที่ยว (Tourism Diversity) เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด และ สถานที่ท่องเที่ยวไม่แบกรับจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเกินศักยภาพ ไปจนถึงการส่งเสริมการจัดการการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ เช่น การท่องเที่ยวช่วงพลบค่ำหรือกลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงความร้อนจัดในเวลากลางวัน (Night Your Pattern )


ขั้นสำคัญที่สุด คือสร้างความยั่งยืนให้การท่องเที่ยวทุกรูปแบบ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบต่อการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามเมื่อมองในมุมย้อนกลับ กิจกรรมต่างๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็สร้างก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังปล่อยมลพิษและมีส่วนทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม


04 รัฐบาลกำลังเอาจริง

เพื่อเร่งให้ตลาดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเติบโตเร็วขึ้น ปัจจุบันหลายประเทศจึงนำมาตรการทางเศรษศาสตร์มาปรับใช้ อย่างประเทศไทยเองในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็มีการระบุว่าจะทำเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้เช่นกัน เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบต่อต้นทุนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปจากการท่องเที่ยว ซึ่งคนทำธุรกิจและนักท่องเที่ยวต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นเหล่านี้ เช่น

การจัดเก็บภาษีท่องเที่ยว เพื่อนำรายได้ภาษีมาใช้ในการจัดการและบำรุงทรัพยากรทางธรรมชาติในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น การเก็บภาษี ณ สถานที่พักแรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ทุกวันนี้ประเทศไทยมีเพียงมาตรการที่ใกล้เคียงกับ “ภาษีการท่องเที่ยว” เท่านั้น อย่างค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินที่เก็บเงินในอัตรา 200 บาท สำหรับการเดินทางภายในประเทศ และ 500 บาทสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ

การจัดเก็บภาษีมลพิษทางน้ำ มาตรการจัดการมลพิษทางน้ำของไทยไม่ส่งเสริมให้เกิดความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยีในการบำบัดน้ำเสียให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เพราะแค่บำบัดให้ได้มาตรฐานก็เพียงพอแล้ว “การจัดเก็บภาษีมลพิษทางน้ำ” ที่ยิ่งปล่อยมลพิษลงแหล่งน้ำมากก็ยิ่งต้องจ่ายมาก จะช่วยแก้ไขจุดบกพร่องนี้ 

อย่างที่เกิดขึ้นที่เมืองพัทยา ซึ่งได้มีการก่อสร้างศูนย์กำจัดน้ำเสีย และบังคับให้อาคารรวมถึงสถานประกอบการต้องต่อท่อระบายน้ำเสียมายังศูนย์นี้ ผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้เมืองนำรายได้ไปใช้ดูแลและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียต่อไป

การเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าใช้ จากนักท่องเที่ยวหรือผู้เยี่ยมชมพื้นที่เป็นแบ่งเบาต้นทุน (บางส่วน) ในการบริหารจัดการและอนุรักษ์พื้นที่ แทนที่จะให้ภาระเหล่านั้นตกอยู่กับภาครัฐหรือชุมชนที่ดูแลเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม อัตราค่าธรรมเนียมเข้าใช้อุทยานแห่งชาติของไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำเกินกว่าจะสะท้อนผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติได้ดีนัก ปัจจุบันนักวิชาการหลายฝ่ายจึงพยายามปรับเสนอให้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเหล่านั้น นอกจากนี้การเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าใช้ที่เหมาะสม จะช่วยจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอีกด้วย


05 ถนนทุกสายมุ่งสู่ความยั่งยืน

World Travel and Tourism Concil รายงานว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 8 ถึง 11 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซโดยกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจาก 934 ล้านคน เป็น 1,468 ล้านคน ต่อปี

เพื่อสร้างความยั่งยืนให้การท่องเที่ยวทุกรูปแบบและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง แน่นอนว่าบางส่วนต้องได้รับการจัดการโดยภาครัฐ​เช่น ระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม เพื่อจูงใจให้ผู้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเองก็เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ เช่น การเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้วัสดุใช้ซ้ำหรือย่อยสลายได้ เป็นต้น


ทุกวันนี้ สถาบันการเงินต่างๆ เริ่มทยอยออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนธุรกิจที่ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น (อ่านบทความเกี่ยวกับ Sustainable Finance ได้ที่นี่) เพราะเล็งเห็นว่าธุรกิจเหล่านี้มีโอกาสที่จะเติบโตในระยะยาว และจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค

สอดคล้องกับรายงาน Sustainable Travel Report โดย Booking.com รวบรวมข้อมูลเชิงลึกของนักท่องเที่ยวกว่า 30,000 คน จาก 32 ประเทศ เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า 71 เปอร์เซ็นต์ต้องการเดินทางโดยคำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น โดย 51 เปอร์เซ็นต์ ตั้งใจทำกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เช่น ปั่นจักรยานหรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะไปยังจุดท่องเที่ยวต่างๆ แทนการนั่งรถยนต์ รวมถึงพกขวดน้ำส่วนตัวเพื่อลดการใช้ขวดพลาสติก

การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนกำลังจะกลายเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องขยับตัวตามให้ทัน ไม่เช่นนั้นจะตกขบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ 

ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้