การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อโลกของเรา ด้วยระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น สภาพอากาศที่รุนแรงและถี่ขึ้น ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศและสัตว์ป่า เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว โลกจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
Green Job งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคืองานที่เหมาะสมซึ่งมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นงานในภาคส่วนแบบดั้งเดิม เช่น การผลิตและการก่อสร้าง หรือในภาคส่วนสีเขียวที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น พลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ที่จะมีลักษณะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานและวัตถุดิบ จำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดของเสียและมลพิษให้เหลือน้อยที่สุด ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งสนับสนุนการปรับตัวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสายงานอาชีพที่มีจุดประสงค์หลัก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จากนี้ไปสู่อนาคต คนทำงานสีเขียวจะมีบทบาทอย่างมากในโลกธุรกิจยั่งยืน
01 ก้าวกระโดดสู่งานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในการประชุม COP27 ที่ผ่านมา รัฐบาลจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้เน้นย้ำถึงการสนับสนุนทางการเงินจากประเทศพัฒนาแล้วให้กับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ประเทศที่ยากจนกว่าสามารถปรับตัวและเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ นอกจากนี้ยังมีหัวข้อเกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ และการลดใช้เชื้อเพลิงถ่านหินซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนปริมาณมากในแต่ละปี
ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ซึ่งแน่นนอนว่าความต้องการของตลาดแรงงานต่อ Green Job หรืองานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยอย่างต่อเนื่อง
เมื่อปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มเครือข่ายอาชีพและธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Linkedin ได้ออกรายงาน Global Green Skills Report 2022 ซึ่งระบุว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประกาศรับสมัครงานที่ต้องใช้ทักษะด้านสิ่งแวดล้อมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี และส่วนแบ่งของผู้มีความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศที่มีรายได้สูง ก็เพิ่มขึ้นถึง 39 เปอร์เซ็นต์ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวนงานด้านพลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นสูงถึง 237 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่พนักงานด้านน้ำมันและก๊าซเติบโตขึ้นเพียง 19 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
หนึ่งในสายงานที่สำคัญที่สุดคือพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา การผลิต การติดตั้ง และการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ลม พลังน้ำ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ ตามรายงานล่าสุดของ International Renewable Energy Agency (IRENA) ตำแหน่งงานเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนจะมีสูงถึง 42 ล้านตำแหน่งภายในปี 2050 การเติบโตนี้จะได้แรงหนุนจากการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
งานที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เป็นอีกหนึ่งสายงานที่จะเติบโตอย่างมาก เช่นงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงอาคารให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น งานติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น งานในภาคการเกษตรและป่าไม้อย่างยั่งยืน การจัดการของเสียและการรีไซเคิล การขนส่งอย่างยั่งยืน ตลอดจนการเงินและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
02 โอกาสสายงานใหม่ที่ใครชักช้าจะตกขบวน
สถานการณ์งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยเอง ก็มีจุดชี้ชัดว่ากำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ภาคธุรกิจที่กำลังปรับตัวก่อนใครในบ้านเรา ประกอบไปด้วย 4 ภาคธุรกิจด้วยกัน ได้แก่ ภาคธุรกิจด้านพลังงานและเคมี ภาคธุรกิจด้านอาหารและเกษตร ภาคธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ และภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม เพราะที่ผ่านมาภาคธุรกิจเหล่านี้ได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการดำเนินธุรกิจเยอะกว่าภาคธุรกิจอื่น รวมถึงการปล่อยมลพิษ หากไม่ปรับตัวตอนนี้ ในอนาคตอาจสูญเสียกำไรเม็ดเงินและโอกาสในการเติบโตในอนาคตเป็นอย่างมาก
ทุกวันนี้ รัฐบาลไทยพยายามสนับสนุนให้เกิดตำแหน่งงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านนโยบายต่างๆ ที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการทุกภาคอุตสาหกรรมลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น เช่น งดเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร ผลักดันธนาคารให้ปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ไปจนถึงสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ตลอดจนแหล่งผลิตพลังงานสะอาดอื่นๆ และเก็บภาษีเพิ่มขึ้นหากบริษัทนั้นปล่อยมลพิษสูง
โดยสิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องทำเพื่อปรับตัว เพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน และสร้างธุรกิจสีเขียวให้ตอบโจทย์ตลาดในอนาคต คือการลงทุนบุคคลผู้เป็นอนาคตขององค์กร ด้วยการจัดอบรมให้มีทัศนคติและอุปนิสัยด้านการพัฒนา เสริมทักษะให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อมเท่าทันโลก อย่างบริษัท CPN บริษัทยักใหญ่ของไทยที่เอาจริงด้านนี้ พนักงานตำแหน่ง CFO ต้องรับหน้าที่ดูแลเรื่องความยั่งยืน กำกับดูแลกิจการและธรรมาภิบาล ผ่านการสนับสนุนกลไกการดูแลสิ่งแวดล้อมจากการลงทุน สร้างให้เกิดธุรกิจยั่งยืนที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในโลกอนาคต ทุก stakeholder ก็สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน
จากรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในปี 2020 เศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทยคิดเป็นประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ ของการจ้างงานทั้งหมดของประเทศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 6 เปอร์เซ็นต์ รายงานยังระบุว่าเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศไทยมีศักยภาพที่จะสร้างงานเพิ่มอีก 1.2 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030
ในเวลานี้ พนักงานที่ทำงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยยังคงขาดตลาดมากจนค่าตัวพุ่งสูงขึ้น 3 เท่าจากเดิม โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และด้านพลังงานสะอาด เช่น เจ้าหน้าที่จัดการการท่องเที่ยวฟื้นฟูป่า ช่างเทคนิคที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกังหันลม ช่างติดตั้งโซลาร์เซลล์ ที่ปรึกษาด้านการใช้พลังงานสะอาด ไปจนถึงช่างเย็บกระเป๋าหนังอีโค่ ตัวอย่างอาชีพเหล่านี้คือโอกาสใหม่ของทุกคน
03 ตามทันโลกด้วย upskilling และ reskilling
ในมุมมองเชิงบุคคล งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มจะให้ค่าจ้างและสวัสดิการที่แข่งขันได้ ตลอดจนโอกาสในการพัฒนาทักษะและความก้าวหน้าในอาชีพ ขณะที่ในมุมมองเชิงสังคม งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ปรับปรุงคุณภาพอากาศและน้ำ และสร้างชุมชนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาปรับตัวเข้ากับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น
หนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการเติบโตของงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือการทำให้มั่นใจว่าทุกคนจะสามรถเข้าถึงตำแหน่งงานที่จะเกิดขึ้นเหล่านั้นได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะคนกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนชายขอบ และผู้ที่มาจากชุมชนด้อยโอกาส รวมถึงมีการ upskilling และ reskilling กลุ่มแรงงานที่เคยทำงานในอุตสาหกรรมคาร์บอนสูงให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปทำงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
สำหรับประเทศไทย ความท้าทายต่างๆ เช่น เงินทุนจำกัด การขาดความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสีเขียวยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนางานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นของประเทศในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บ่งชี้ว่าสถานการณ์งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เมื่อมองไปยังโลกอนาคต เราจะเห็นว่ามีอีกหลายตำแหน่งอาชีพในสายงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรมซึ่งต้องการแรงงานที่มีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากสายงานต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถต่อยอดจากสายงานดั้งเดิมได้ อย่างอาชีพเกษตรกรที่นำ Big Data มาประยุกต์กับการทำเกษตรกรรม ใช้โดรนหรือเทคโนโลยีอื่นๆ เก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์พื้นที่และสภาพอากาศ ให้การเพาะปลูกที่ได้ผลผลิตแม่นยำ ลดการใช้น้ำ ลดอัตราการสูญเสียอาหาร (Food Loss) หรือสถาปนิกที่เน้นออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน ใช้ทิศทางแสงแดดและลมมาเกื้อหนุนผู้อยู่อาศัย แทนที่จะต้องเปิดไฟและเครื่องปรับอากาศ
ในภาพใหญ่ นี่เป็นเรื่องของทุกคนทุกฝ่ายที่ต้องร่วมมือกัน ภาครัฐต้องลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ผ่านนโยบายด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยต้องสร้างบุคคลกรคนรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจด้านความยั่งยืน รวมถึงบริษัทต่างๆ ก็ลงทุนด้านเทรนนิ่งแรงงานด้วย ประเทศไทยจึงสามารถก้าวสู่โลกแห่งความยั่งยืนได้อย่างมั่นคง
ข้อมูลอ้างอิง