โลกของเรากำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ทั้งความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหามลพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งหมดเป็นวิกฤตที่เชื่อมโยงกันแบบไร้พรมแดนและส่งผลกระทบลึกซึ้งต่อทุกชีวิตบนโลก
ต้นตอของวิกฤตสิ่งแวดล้อมทั้งหมด มาจากรากปัญหาเดียวนั่นคือการใช้ทรัพยากรแบบล้างผลาญและการทำลายธรรมชาติ
ในอดีตเราแก้ปัญหาด้วยการใช้ทรัพยากรเพิ่ม ยิ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง เราก็ยิ่งสร้างโครงสร้างต่างๆ มากมายเพื่อกีดกันธรรมชาติออกจากการใช้ชีวิต เช่น เราทำลายแนวกันคลื่นตามธรรมชาติอย่างป่าโกงกาง แทนที่ด้วยเขื่อนคอนกรีตขนาดมหึมาที่ทำลายระบบนิเวศน้ำตื้นไปจนหมด
แต่มนุษย์ก็เรียนรู้และตระหนักได้ในที่สุด – หลายปีที่ผ่านมา แนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน หรือ Nature-based Solution ได้รับการยอมรับและถูกนำไปใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะท้ายที่สุดแล้ว การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุดคือการแก้ตั้งแต่ที่ต้นตอ นั่นคือเราต้องฟื้นฟูธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพที่ถูกทำลายไปให้กลับคืนมา
หากระบบค้ำจุนชีวิตอย่างธรรมชาติล่มสลาย เราก็อยู่ไม่ได้ – การฟื้นฟูธรรมชาติจึงเป็นวาระเร่งด่วนที่ทั่วโลกเร่งดำเนินการ ทุกวันนี้หลายประเทศตั้ง Nature-based Solution เป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาและระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่าภาคธุรกิจต้องจับตามองและตั้งรับให้ทัน เพราะจากนี้นโยบายรวมถึงกฏกติกาต่างๆ จะเปลี่ยนไปอ้างอิงธรรมชาติ และผู้เล่นที่ปรับตัวตามทันเท่านั้น จะเป็นผู้นำในสนามการค้า
01 Solution เลียนแบบธรรมชาติ ทางแก้ปัญหาที่คุ้มค่าทุกมิติ
Nature-based Solution ถูกนิยามขึ้นโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เมื่อ 20 ปีก่อน โดยตั้งอยู่บนหลักการว่าธรรมชาติคือระบบที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม Nature-based Solution จึงเป็นแนวทางที่เลียนแบบกระบวนการทางธรรมชาติเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ไปจนถึงความมั่นคงของน้ำและพื้นดิน
โดย Nature-based Solution นับเป็นแนวทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คุ้มค่า ราคาไม่แพง ต้องการค่าบำรุงรักษาต่ำ และให้ประโยชน์ครอบคลุมทุกมิติแก่ผู้คนและสิ่งแวดล้อม แตกต่างจากการแก้ปัญหาแบบดั้งเดิมที่ต้องใช้ต้นทุนมหาศาลในการก่อสร้าง โดยสามารถนำไปปรับใช้ในในหลายสเกล ตั้งแต่โครงการขนาดเล็กในครัวเรือนและองค์กร ไปจนถึงโครงการระดับภูมิภาค เช่น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการแก้ปัญหาตามแนวทาง Nature-based Solution ยังมีความท้าทายอยู่ เช่น ขาดมาตรฐานในการประเมินและติดตามผลลัพธ์ จึงยากที่จะเปรียบเทียบประสิทธิภาพของโครงการนั้นๆ นอกจากนี้ ในการดำเนินโครงการ Nature-based Solution ให้ได้ประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ จำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ซึ่งก็เป็นพันธกิจของรัฐบาลในการสร้างแรงจูงใจทางการเงินและพัฒนากรอบการกำกับดูแล เพื่อสนับสนุนการนำแนวทาง Nature-based Solution ไปปฏิบัติอย่างมีศักยภาพ
02 เมื่อทั่วโลกบูรณาการธรรมชาติ เข้ากับนโยบายทุกด้าน
ในระดับนานาชาติ สหภาพยุโรปได้รับรองยุทธศาสตร์ Biodiversity Strategy for 2030 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปกป้อง ฟื้นฟู และปรับปรุงความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนบริการทางระบบนิเวศในสหภาพยุโรป โดยหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์คือ การบูรณาการ Nature-based Solution เข้ากับนโยบายด้านอื่นๆ ทั้งหมด เช่น ด้านการเกษตร ผลักดันให้เกษตรกรเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากสารเคมีตกค้างและการปนเปื้อนของสารเคมีในดิน น้ำ และอากาศ
หรือในด้านการพัฒนาเมือง กลยุทธ์ดังกล่าวสนับสนุนการรวมโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure) เข้ากับการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ เพื่อนำธรรมชาติกลับคืนสู่ชุมชนเมืองและสร้างความยืดหยุ่นให้เมืองรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น โดยโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวนับเป็น Nature-based Solution แนวทางหนึ่งเช่นกัน
หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่ใหญ่และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศมากที่สุดในยุโรปคือ The European Greenbelt เครือข่ายพื้นที่คุ้มครองความยาวกว่า 12,500 กิโลเมตร พาดผ่าน 24 ประเทศจากชายแดนรัสเซีย-นอร์เวย์ตอนเหนือไปจรดทะเลดำตอนใต้ พื้นที่นี้เคยเป็นแนวชายแดนที่เรียกว่า “ม่านเหล็ก” ซึ่งแบ่งแยกยุโรปตะวันออกและตะวันตกออกจากกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสงครามสิ้นสุด แนวรั้วจึงถูกถอนออกไป และพื้นที่ก็ได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นเครือข่ายระบบนิเวศที่สัตว์ป่าสัญจรได้อย่างอิสระบนภูมิประเทศที่หลากหลายของยุโรป
อีกโครงการที่โดดเด่นคือสวนสาธารณะ The High Line ในเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ พื้นที่สีเขียวขนาดยาวซึ่งเชื่อมต่อหลายย่านของแมนฮัตตันเข้าหากันด้วยพืชนานาพรรณนี้ พัฒนาขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่ถูกทิ้งร้างอย่างเส้นทางรถไฟยกระดับ ทุกวันนี้ The High Line ไม่เพียงช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้เมือง แต่สวนแห่งนี้ยังดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ และช่วยฟื้นฟูย่านที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง
เช่นเดียวกันโครงการฟื้นฟูคลองเก่าแก่ของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้อย่าง The Cheonggyecheon River จากเดิมที่ถูกปล่อยให้เน่าเสียและปิดทับไว้ด้วยทางด่วน คลองแห่งนี้ได้รับการบำบัดและพัฒนาภูมิทัศน์โดยรอบใหม่จนกลายเป็นสวนสาธารณะริมคลองใสสะอาด เป็นปอดของเมืองที่สัตว์ป่าได้มาอาศัยและดึงดูดผู้คนให้ออกมาใช้ชีวิตใต้ร่มเงาธรรมชาติ ที่สำคัญโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวแห่งนี้ทำให้มูลค่าที่ดินในย่านเพิ่มขึ้น 30-50 เปอร์เซ็นต์
สำหรับประเทศไทย มีการนำแนวคิด Nature-based Solution มาสร้างสรรค์โครงสร้างพื้นฐานสีเขียวแล้วเช่นกัน อย่างการออกแบบสวนป่าเบญจกิติที่อ้างอิงภูมิศาสตร์ดั้งเดิมของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยสวนแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นฟองน้ำ (sponge) ซึมซับน้ำที่ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ทันและอาจท่วมขังพื้นที่เมือง นอกจากนี้พรรณไม้แบบป่าชายเลน แบบที่ลุ่มน้ำ และแบบบึงน้ำจืดที่ปลูกผสมผสานกันยังช่วยบำบัดและเพิ่มออกซิเจนให้น้ำที่ถูกกักเก็บไว้อีกด้วย
03 ยกระดับมาตรฐานการเงินใหม่ ให้อ้างอิงธรรมชาติ
ที่ผ่านมาการดำเนินธุรกิจโดยมีธรรมชาติเป็นพื้นฐานอาจไม่ใช่แนวทางหลักที่องค์กรส่วนใหญ่ให้น้ำหนัก อย่างไรก็ตามวิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คือตัวเร่งปฏิกิริยาให้รัฐบาลทั่วโลกต้องพลิกโฉมนโยบาย ข้อกฏหมาย รวมถึงข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของทุกภาคส่วน
Taskforce on Nature-related Financial Disclosures (TNFD) คือความคิดริเริ่มระดับนานาชาติที่มีเป้าหมายในการพัฒนากรอบการทำงานเพื่อให้บริษัทและองค์กรต่างๆ เปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ “ธรรมชาติ” ทั้งการพึ่งพาและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนวิธีจัดการกับปัญหาของบริษัทนั้นๆ คล้ายคลึงกับกรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ “สภาพภูมิอากาศ” หรือ Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) ที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้
TNFD เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2021 และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนากรอบการทำงาน ซึ่งคาดว่าจะเผยแพร่ภายในปี 2023 คำถามคือ TNFD จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อโลกธุรกิจในด้านใดบ้าง?
ในมุมมองระดับองค์กร TNFD จะช่วยผลักดันให้บริษัทเห็นโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเติบโตและสร้างผลกำไรระยะยาว ในขณะเดียวกันก็ช่วยปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติ ส่วนในภาพใหญ่ กรอบการทำงานที่มีหัวใจเป็นธรรมชาตินี้ จะช่วยปรับระบบการเงินโลกให้สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีสและอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อโลกธรรมชาติและเศรษฐกิจสามารถเติบโตไปด้วยกันได้อย่างสมดุล
ข้อมูลอ้างอิง