ทำอย่างไร ESG จึงจะเกิดขึ้นจริง? ทางรอดธุรกิจในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทาย

Article

ที่ผ่านมาธุรกิจนำคำว่า “ความยั่งยืน” มาต่อท้ายเป้าหมายองค์กร ทั้งที่คนทำธุรกิจจำนวนไม่น้อย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความยั่งยืนคืออะไร ความท้าทายในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป บังคับให้ธุรกิจต้องเรียนรู้เรื่องความยั่งยืนอย่างลึกซึ้งและไม่ฉาบฉวย เพื่อให้องค์กรรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ไปให้ได้ 

นักลงทุนเรียนรู้ว่าธุรกิจที่มุ่งเน้นแต่การทำกำไร ไม่สนใจสังคมและความท้าทายรอบด้านที่กำลังก่อตัวขึ้น ไม่อาจรับมือ ดำเนินธุรกิจ และสร้างผลกำไรระยะยาวต่อไปได้ ดังนั้นเพื่อให้ธุรกิจเติบโตและคงความแข็งแกร่ง ภาคเอกชนต้องคำนึงมากกว่าแค่ตัวเลขผลประกอบการ 

หลายปีที่ผ่านมา ESG มีบทบาทและเป็นที่กล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ มันสัมพันธ์อย่างไรกับการสร้าง “ความยั่งยืน” ให้เกิดขึ้นกับองค์กร ทำไมมันจึงเป็นทางรอดของธุรกิจ และเพื่อทำให้ ESG เกิดขึ้นจริงได้ ผู้นำธุรกิจควรตั้งกลยุทธ์ วางวิสัยทัศน์ และเริ่มลงมือทำอย่างไร?


01 ความท้าทายที่เปลี่ยนโลกธุรกิจ

ภาวะโลกรวนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากมาย หลายสิ่งที่เคยอธิบายได้ก็อธิบายไม่ได้ โลกอ่อนแอลง เศรษฐกิจชะลอตัว เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต ปัญหาสังคมรุนแรง ธรรมาภิบาลก็บิดเบี้ยว 

  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้ภาคเอกชนเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจและห่วงโซ่อุปทาน
  • การหยุดชะงักทางเทคโนโลยี อาจขัดขวางรูปแบบธุรกิจแบบดั้งเดิมและทำให้อุตสาหกรรมบางประเภทล้าสมัย 
  • ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินขององค์กรและความสามารถในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ 
  • ความไม่แน่นอนทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงนโยบายและข้อบังคับของรัฐบาล อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและผลกำไรขององค์กร 

ESG คือทางรอดของธุรกิจ เพราะเป็นกรอบการบริหารจัดการที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดย ESG คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก

  • Environmental การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ
  • Social การจัดการด้านสังคม การบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ตั้งแต่พนักงาน ลูกค้า ชุมชน และผู้ที่ทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน
  • Governance การจัดการด้านธรรมาภิบาล การมีนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดี ดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ต่อต้านการทุจริต และดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย

การรวมปัจจัย ESG เข้ากับการดำเนินธุรกิจไม่เพียงนำไปสู่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคมและการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้น แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพทางการเงินและมูลค่าระยะยาวให้กับบริษัท

ปัจจุบันนักลงทุนทั่วโลกใช้ ESG พิจารณาประกอบการลงทุน เพื่อประเมินความยั่งยืน และความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของบริษัท ESG คือกติกาใหม่ในการทำธุรกิจ ซึ่งหลายประเทศก็เริ่มกำหนดให้ ESG เป็นมาตรฐานและหลักปฏิบัติในการดำเนินงานแล้ว 

เช่น การจัดทำนโยบายธรรมภิบาลการลงทุนของสหราชอาณาจักร (UK Stewardship Code) ซึ่งกำหนดให้นักลงทุนสถาบันเปิดเผยการนำ ESG มาประกอบการตัดสินใจในการลงทุน โดยต่อมา Stewardship Code ได้กลายเป็นต้นแบบที่หลายประเทศนำไปอ้างอิง ทั้งญี่ปุ่น มาเลเซีย และแอฟริกาใต้ 

ขณะเดียวกันในมุมของผู้บริโภค ความต้องการของตลาดส่วนใหญ่ได้ให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากผู้คนเริ่มตระหนักถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการตัดสินใจซื้อมากขึ้น โดยผลสำรวจของ McKinsey เมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า 37 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวยุโรปใส่ใจเรื่องความยั่งยืนอย่างลึกซึ้ง พวกเขายินดีจ่ายเงินแพงขึ้น เพื่อซื้อสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าและผลิตอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม 

02 มูลค่าและคุณค่าของ ESG

การลงทุนที่คำนึงถึง ESG ให้ผลตอบแทนดีแค่ไหน? นี่คือคำถามใหญ่ในใจนักลงทุนรวมถึงผู้นำธุรกิจ

Moore Global สำรวจความคิดเห็นผู้นำธุรกิจ 1,262 แห่ง ในประเทศออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ เกี่ยวกับ ESG และดำเนินงานของธุรกิจ พบว่าระหว่างปี 2019 และ 2020 ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ESG มีผลกำไรเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 9.1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนบริษัทที่เพิกเฉยต่อ ESG มีกำไรเพิ่มขึ้น 3.7 เปอร์เซ็นต์ 

โดย 80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้นำธุรกิจกล่าวว่า ESG สำคัญมากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยโควิด-19 เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุด


ข้อมูลจาก MSCI ESG Research หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและความน่าเชื่อถือในด้านดัชนี ESG ระดับนานาชาติ ระบุว่าจากการประเมินความสามารถในการบริหารความเสี่ยงด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลของบริษัทต่างๆ ออกมาเป็นคะแนน MSCI ESG Rating 

บริษัทที่ได้รับการประเมินอยู่ในระดับ Leader ทำกำไรได้ดีกว่าบริษัทในระดับ Average และ Laggard อย่างมีนัยยะสำคัญ สำหรับประเทศไทย บางจากเป็นบริษัทรายเดียวที่ได้รับการประเมิน MSCI ESG Rating ที่ระดับ AA (ระดับ Leader) นับเป็นระดับสูงสุดขององค์กรไทยในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน 

นอกจากนี้ ข้อมูลยังระบุอีกด้วยว่าบริษัทที่ทำธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG ทั้ง 3 มิติ แบบครอบคลุม มีผลตอบแทนที่สูงกว่าบริษัทที่คำนึงถึงเรื่อง E หรือ S หรือ G เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

แม้มูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ที่มุ่งเน้นเรื่อง ESG ของไทยยังต่ำกว่าทวีปยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือ แต่ก็นับว่ากำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาไทยเพิ่งเริ่มเดินหน้าดำเนินงานด้าน ESG และส่วนใหญ่จะเน้นไปที่มิติการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (E) มากกว่าการจัดการทางสังคม (S) ซึ่งเป็นมิติที่มีสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา UN Global Compact และที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี Accenture ออกรายงาน CEO Study ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจทั่วโลกเกี่ยวกับความยั่งยืน ประกอบไปด้วยซีอีโอและเจ้าของบริษัทกว่า 2,600 คน จาก 18 อุตสาหกรรมใน 128 ประเทศ ข้อมูลจากรายงานดังกล่าวระบุถึงการเพิ่มขึ้นของการจัดการทางสังคม (S) ใน ESG ที่ปัจจุบันกำหนดบทบาทใหม่ให้ธุรกิจทั่วโลก

โดย 91 เปอร์เซ็นต์ของผู้นำธุรกิจที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เชื่อว่าบทบาทของพวกเขาคือการปกป้องชุมชนท้องถิ่น ในภูมิภาคที่บริษัทของพวกเขากำลังดำเนินงานอยู่ ซึ่งอาจคร่อมเส้นแบ่งระหว่างความรับผิดชอบของภาครัฐและเอกชน

"บทบาทของซีอีโอไม่ใช่เพียงการบรรลุเป้าหมายและกิจกรรมของบริษัทอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังรวมถึงการมีส่วนร่วมเชิงบวกของบริษัทกับชุมชนที่กว้างขึ้นทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก” Lara Olsen กรรมการผู้จัดการของบริษัทจัดหาน้ำดื่ม South East Water ให้ความคิดเห็น

03 ESG ที่หล่อหลอมอยู่ในกระบวนการทำธุรกิจ

แม้จะเป็นการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน แต่แก่นแท้ของ ESG นั้นต่างจาก CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งบริษัทในประเทศไทยคุ้นเคยกันดีอย่างสิ้นเชิง

CSR คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สะท้อนออกมา ผ่านกิจกรรมไม่แสวงหาผลกำไรนอกเหนือธุรกิจหลัก ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรต้องการพัฒนาสังคมด้านไหน ต่างจาก ESG ซึ่งเป็นกรอบการบริหารจัดการที่จะฝังอยู่ในแนวคิดและวิธีดำเนินธุรกิจ รวมถึง Business Model ขององค์กรนั้นๆ

เช่น Patagonia บริษัทเสื้อผ้าและอุปกรณ์กลางแจ้งที่มีชื่อเสียงอย่างมากในการรวม ESG เข้าในกระบวนการต่างๆ ของธุรกิจ

  • Environmental ลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ชดเชยการปล่อยมลพิษ ส่งเสริมการรีไซเคิลโดยใช้วัสดุรีไซเคิลจากผลิตภัณฑ์ของบริษัท และเสนอบริการซ่อมแซมเพื่อยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้า
  • Social ร่วมมือกับซัพพลายเออร์สร้างมาตรฐานจริยธรรมและความปลอดภัย ส่งเสริม Diversity และ Inclusion สร้าง Outdoor Community ที่กว้างขวาง
  • Governance มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แบ่งปันความคืบหน้าในการดำเนินการความยั่งยืนอย่างเปิดเผย

หรือในประเทศไทย บริษัทกระเบื้องตราเพชร (DRT) ได้ปรับกระบวนการผลิตใหม่ โดยนำฝุ่นซึ่งเป็นของเสียจากการผลิตกระเบื้อง มาอัด-ขึ้นรูปใหม่เป็นอิฐตัวหนอน เพิ่มรายได้ 4 ล้านบาท รวมถึงนำเศษกระดาษใช้แล้วมาเยื่อกระดาษ ซึ่งช่วยลดต้นทุนถึง 25 ล้านบาทต่อปี 

สำหรับผู้นำธุรกิจ คำถามเกี่ยวกับ ESG ในปัจจุบันไม่ใช่ What & Why อีกต่อไป แต่เป็น How & When เพราะโจทย์ไม่ใช่การสร้างความตระหนัก แต่คือการเร่งลงมือทำเพื่อแข่งกับเวลา นับวันกฎกติกาด้าน ESG มีแต่จะเปลี่ยนไปหรือเพิ่มขึ้น ผู้ที่เข้าใจและลงมือทำเพื่อรับมือและคว้าโอกาสใหม่ๆ ด้าน ESG ก่อน ย่อมมีความได้เปรียบกว่าในสนามการค้า


การประวิงเวลาหรือหลีกเลี่ยงการริเริ่มงานด้าน ESG มีแต่จะทำให้องค์กรเสียโอกาสและความได้เปรียบ ไม่ว่าจะในแง่การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้ห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนการเตรียมรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่กำลังจะมาถึง

นอกจากนี้บริษัทยังมีโอกาสจะถูกกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ เสียโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุน รวมถึงเสียโอกาสในการเสริมสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของแบรนด์แก่ผู้บริโภคอีกด้วย อย่างเช่นกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

  • Environmental เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงมหาสมุทรของบริษัทแห่งหนึ่ง ทำให้เกิดมูลค่าความเสียหาย 6.2 แสนล้านบาท 
  • Social ภาพยนตร์โฆษณาของบริษัทเสื้อผ้าแฟชัน H&M นำเสนอในมุมมองที่ค่อนข้างเหยียดสีผิว ทำให้มูลค่าหุ้นหายไปถึง 2.9 แสนล้านบาท 
  • Governance 
    • บริษัทเทคโนโลยี Meta ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Facebook โดนโทษปรับเรื่องข้อมูลรั่วไหล 1.55 แสนล้านบาท 
    • บริษัทสายการบิน  Boeing โดนฟ้องเรียกค่าเสียหายไปทั้งสิ้น 6,600 ล้านบาท จากเหตุการณ์เครื่องบินตกที่ประเทศอินโดนีเซียและเอธิโอเปีย ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทยังถูกฟ้องในคดีอาญาด้วย

04 ความมุ่งมั่นด้าน ESG ที่มีหลายระดับ

บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ McKinsey & Company นำเสนอวิธีเริ่มต้นดำเนินงานด้าน ESG สำหรับบริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งแม้จะอยู่ภายใต้บริบทที่ไม่เหมือน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ “วิสัยทัศน์” ต่อการรับมือกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยปัจจุบันแนวปฏิบัติด้าน ESG สามารถจัดกลุ่มได้ 3 ระดับตามความมุ่งมั่นและลงมือทำ

ระดับที่ 1 Minimum Practice บริษัทสามารถเริ่มลงมือทำได้ทันทีโดยไม่มีความเสี่ยงสูง

  • ตอบสนองเทรนด์ที่ส่งผลต่อธุรกิจ เช่น เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์สินค้าที่ย่อยสลายได้ ลดการใช้พลังงาน
  • รับมือกับความเปราะบางจากภายนอก เช่น สถานการณ์โควิด-19 
  • บริจาคทรัพยากร ทั้งด้านการเงิน สิ่งของ อาสาสมัคร
  • ดำเนินการและรายงานตามมาตรฐานอย่างโปร่งใส
  • ให้คำมั่นสัญญาในระดับความมุ่งมั่นขั้นต่ำ

ระดับที่ 2 Common Practice บริษัทเริ่มนำ ESG ไปปรับใช้ในส่วนต่างๆ ของธุรกิจมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่นอกเหนือไปจากธุรกิจหลัก

  • ติดตามเทรนด์โลกที่ส่งผลต่อธุรกิจ พร้อมเตรียมแผนสำรอง
  • สร้างมูลค่าเพิ่ม จากจุดแข็งของธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมาย ESG
  • ปฏิบัติตามข้อกำหนดโดยสมัครใจ ให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม 
  • สร้างนโยบายความยั่งยืนที่ครอบคลุม
  • ดำเนินการด้าน HR อย่างครอบคุลมคนทุกกลุ่ม
  • ดำเนินโครงการการกุศล ที่มีกลยุทธ์ สร้างอิมแพ็กสูง
  • มีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน

ระดับที่ 3 Next Level Practice บริษัทนำ ESG ฝังเข้าไปใช้ในกลยุทธ์ และผสมผสานอยู่ในการดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ 

  • ใช้ “superpowers” หรือความเชี่ยวชาญพิเศษของบริษัทในการขับเคลื่อนให้เกิดมาตรฐานด้าน ESG ขึ้นในอุตสาหรรมของตัวเอง
  • เพิ่มอิมแพ็กทางสังคมผ่านนวัตกรรม ตลาดการค้า และทางเลือกของลูกค้า
  • ใช้ ESG สร้างความแตกต่างและใช้เป็นกลยุทธ์หลักขององค์กร
  • เพิ่ม ESG เข้าไปในเงินทุนและการจัดสรรทรัพยากรขององค์กร
  • ผสาน ESG เข้าเป็นรางวัลจูงใจในการทำงานและการประเมินพนักงาน
  • ปรับปรุงผลลัพธ์ด้านความยั่งยืนทั้งภายในและภายนอกองค์กร
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการเปิดเผยข้อมูล ESG ครอบคลุมการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัท

หนึ่งในองค์กรไทยที่โดดเด่นคือบริษัท SCG ซึ่งดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องมายาวนาน มีความมุ่งมั่นและลงมือทำด้าน ESG ทั้ง 3 มิติ แบบครอบคลุม

  • Environmental 
    • SCG ตั้งเป้า Net Zero ภายในปี 2050 โดยเดินหน้าวิจัยและลงทุนใน Deep Technology เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า การใช้ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ตลอดกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ
    • สร้างมาตรฐาน SCG Green Choice ซึ่งเป็นฉลากรับรองผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดนสินค้าที่ผ่านมาตรฐานนี้ เช่น SCG Solar Roof Solution และ SCG Green Polymer
  • Social 
    • SCG ดำเนินการพัฒนาทักษะอาชีพแก่ SMEs โดยตั้งเป้าจะสร้างงานสร้างอาชีพให้คนมากกว่า 20,000 คน ภายในปี 2025
    • พัฒนาแพลตฟอร์ม Q-Chang เพื่อเป็นช่องทางที่ให้ผู้บริโภคได้ค้นหาช่าง SMEs
  • Governance
    • จัดทำ “จรรยาบรรณ เอสซีจี เคมิคอลส์” เพื่อเป็นคู่มือให้พนักงานทุกระดับในองค์กร
    • พนักงานทุกระดับต้องผ่านแบบทดสอบ “Ethics e-Testing และ e-Policy e-Testing” และมีระบบให้คำปรึกษาด้านจรรยาบรรณแก่พนักงาน เรียกว่า GRC Helpline

05 ทำอย่างไร ESG จึงจะเกิดขึ้นได้จริง?

McKinsey & Company ระบุว่า การเดินหน้าด้าน ESG จำเป็นต้องพิจารณาความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสังคมในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลกระทบภาพนอก เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งทำให้การดำเนินการ ESG เป็นไปด้วยความท้าทายยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม บริษัทต่างๆ ควรมุ่งเน้นไปที่กระบวนการของ ESG มากกว่ามองแค่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น โดยมีแนวปฏิบัติ 4 ขั้นตอนที่บริษัทสามารถนำไปให้เป็นแนวทางในการดำเนินการ ESG ได้


ขั้นตอนที่ 1 ทำแผน (Mapping)

  • พิจารณาว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร มีส่วนได้ส่วนเสียกับอะไรบ้าง
  • ระบุให้ได้ว่าจุดอ่อนและจุดแข็ง-ความพิเศษขององค์กรคืออะไร 
  • เปรียบเทียบการดำเนินงาน สินค้าและบริการ กับองค์กรอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอและรอบคอบ

ขั้นตอนที่ 2 กำหนดรูปแบบ (Defining) 

  • เลือกว่าจะดำเนินการแบบ High Jump หรือ Long Jump 
    • Walmart มีเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่แข็งแกร่ง และตั้งเป้าทำเรื่องนี้ทั้งห่วงโซ่อุปทานระยะยาวแบบ Long Jump
  • คิดอย่างเป็นระบบว่าองค์กรจะได้หรือต้องเสีย (Trad-offs) อะไรบ้างจากการทำ ESG
  • วัดและประเมินผลอย่างประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด ให้ความสำคัญกับ KPI ที่มีความหมาย

ขั้นตอนที่ 3 ฝัง ESG เข้าไปในองค์กร (Embedding)

  • ผสาน ESG เข้ากับการดำเนินงานส่วนต่างๆ ขององค์กร ผ่าน กลยุทธ์ 5 P ที่นำไปปรับใช้ได้
    • Portfolio Strategy and Product ผสานในกลยุทธ์การลงทุนและการผลิตสินค้า
    • People and Culture ใช้ ESG ผสานในการขับเคลื่อนคนและวัฒนธรรมองค์กร
    • Processes and Systems ผสานในกระบวนการและระบบ
    • Performance Metrics ผสานในการวัดผลประสิทธิภาพการทำงาน
    • Positions and Engagement ผสานในจุดยืนและการมีส่วนร่วม
  • ติดตามความคืบหน้า เพื่อให้แน่ใจถึงอิมแพ็กที่เกิดขึ้น
  • แยกให้ออกว่าตัวชี้วัดหรือการจัดอันดับใดเกี่ยวกับการทำ ESG หรือไม่

ขั้นตอนที่ 4 สร้างการมีส่วนร่วม (Engaging)

  • สื่อสารการดำเนินการด้าน ESG เพื่อปรับปรุงกลยุทธ์ทางธุรกิจ 
    • Dick’s Sporting Goods ยกเลิกการขายอาวุธปืนในปี 2018 ส่งผลให้ยอดขายและราคาหุ้นตกลง กระนั้นบริษัทยังคงมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยกับผู้บริโภค พนักงาน และนักลงทุน โดยยึดมั่นในวัตถุประสงค์ ต่อมารายได้และมูลค่าหลักทรัพย์ก็กลับมา และสูงกว่าก่อนหน้านี้ด้วย
  • สื่อสารกับนักลงทุนถึงแผน ESG ที่วางแผนไว้ในธุรกิจ
  • สื่อสารเรื่อง ESG ในจังหวะที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ 
    • เมื่อ ESG เป็นหัวใจสำคัญของโมเดลธุรกิจ หากคุณรายงานผลดำเนินงานด้าน ESG ล่าช้า อาจถูกตีความว่าคุณมีความมุ่งมั่นในเรื่องนี้น้อยเกินไป
ท้ายที่สุดนี้ ผู้นำธุรกิจคือหัวใจขององค์กรที่ควรมีแพสชันในการทำ ESG เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมและตัววัดผลงาน โดยต้องมีเป้าหมายและการสื่อสารให้ชัดเจนทั้งคำพูดและการกระทำ

“ผู้นำต้องรีเซ็ตมุมมอง รวมถึงรีเซ็ตจินตนาการและการดีไซน์ใหม่ ซึ่งหมายถึงการคิดหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำกระบวนการนั้น เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต ที่สำคัญผู้นำต้องสร้างวัฒนธรรมนี้ให้เกิดขึ้นในองค์กรให้ได้”
ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้