สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) จัดการประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 7 ภายใต้ประเด็น “เปิดรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน”
นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวเปิดการประชุมครั้งนี้ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ กับประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และได้ร่วมกับทุกภาคส่วนจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และคณะรัฐมนตรีได้มีมติ รับทราบแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยได้กำหนดประเด็น การเพิ่มทักษะแรงงานให้สามารถเข้าถึง และใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าแรงงาน และความสามารถการแข่งขัน เป็นสิ่งที่รัฐต้องส่งเสริม และทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเร่งแก้ไข
“บริษัทจะต้องกำหนดเป้าหมาย โดยการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนธุรกิจให้ยั่งยืน และสามารถบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วย” นายเรืองศักดิ์ กล่าว
ด้านคุณเรโนลด์ เมเยอร์ (Renaud Meyer) ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยกล่าวว่า แม้ว่าเทคโนโลยีจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถให้กับบุคคลและส่งเสริมนวัตกรรม แต่ปัจจุบันไทยกำลังเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การสอดแนมทางดิจิทัล ภัยคุกคามต่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย และการเซ็นเซอร์ออนไลน์ ขณะนี้ การกระทำที่เสี่ยงที่สุด ก็คือการเผยแพร่ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ รวมถึงการเผยแพร่หลักฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสื่อ ภารกิจของภาครัฐและความรับผิดชอบของภาคเอกชนในขณะนื้ จึงต้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและมาตรฐานสากล
“คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนและสมัชชาใหญ่ยืนยันว่า สิทธิแบบเดียวกับที่ผู้คนมีในโลกออฟไลน์จะต้องได้รับการคุ้มครองในโลกออนไลน์ด้วย” นายเรโนลด์ กล่าว
ส่วน ดร. เนติธร ประดิษฐ์สาร เลขาธิการและกรรมการบริหาร UNGCNT กล่าวถึงการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล ในหลายประเด็น ได้แก่ การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ โดยส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษา และบริการสาธารณสุขของแรงงาน การพัฒนาทักษะแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง การยุติภัยคุกคาม ทั้งทางกายภาพและโลกออนไลน์ การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการผลิตด้วยเทคโนโลยี และการสร้างความโปร่งใสและความผิดชอบ ทั้งในแง่การตรวจสอบย้อนกลับและการรายงานผลการดำเนินงาน
“ในอีก 5 ปี โครงสร้างตลาดแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว จะเปลี่ยนสูงถึงร้อยละ 23 ของตำแหน่งงาน ดังนั้น ภายในปี 2570 แรงงาน 6 ใน 10 คน ต้องได้รับการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลที่จำเป็น” ดร. เนติธร กล่าว
หลังพิธิเปิด มีการบรรยาย หัวข้อ “แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยสู่สังคมดิจิทัล กับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน” โดย ดร. เสรี นนทสูติ กรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ ได้นำเสนอว่าปัจจุบัน ผู้คนเข้าถึงแพล็ตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ภาคธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยสามารถดำเนินงานตามหลักการชี้แนะว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNGP : UN Guiding Principles on Business on Human Rights) ซึ่งมี 5 เครื่องมือที่ชัดเจน ประกอบด้วย การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน การประกาศนโยบายระดับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน การเยียวยา แก้ไข และป้องกันผลกระทบ การมีกลไกการร้องทุกข์สำหรับผู้ได้รับผลกระทบ และการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้ง รายงานผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อสาธารณชน โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของรายการความยั่งยืนประจำปี นอกจากนี้ ดร. เสรี ยังได้นำเสนอแนวคิด ความรับผิดชอบด้านดิจิทัลขององค์กร หรือ Corporate Digital Responsibility เพื่อให้ภาคธุรกิจนำไปประยุกต์ใช้ ประกอบด้วย ด้านสังคม (social) การตรวจสอบว่ามีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้กับพนักงาน/ผู้บริโภคหรือไม่ ด้านเศรษฐกิจ (Economic) การตรวจสอบว่าถ้ามีการใช้เทคโนโลยีแล้ว จะต้องมีการเลิกจ้างพนักงานหรือไม่ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) การตรวจสอบว่ามีกระบวนการ recycle ผลิตภัณฑ์อย่างไร และด้านเทคโนโลยี (Technological) การตรวจสอบว่า AI ขององค์กรมีจริยธรรมหรือไม่
“ในวันที่โลกพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง “Corporate Digital Responsibility” ต้องพัฒนาตามไปด้วย แต่ถ้าองค์กรใช้ 5 เครื่องมือ UNGP มาเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน ผมมั่นใจว่าท่านได้ Approve เรียบร้อยแล้ว” ดร. เสรี กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการนําเสนอแนวคิดในการเปิดรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนใน 2 มุมมอง 2 หัวข้อเสวนา หัวข้อแรก “บทบาทของรัฐกับการสนับสนุนภาคธุรกิจ ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน ผู้ร่วมเสวนา คือ ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล คุณมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ คุณธนธรรศ บำเพ็ญบุญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย คุณนิธิภัทร ศรีธัญญา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน คุณวรพจน์ ประสานพานิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ทุกหน่วยงานได้แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน อาทิ การสร้างความตระหนักรู้ การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะดิจิทัล เพื่อสร้างงานด้านดิจิทัลและผ่านแพล็ตฟอร์มดิจิทัล การจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการทำธุรกรรมทางการเงิน การเปิดกว้างให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลตามสิทธิ์ของผู้ใช้บริการ (Open Data for Customer Empowerment) และการส่งเสริมผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งยังคงต้องการความช่วยเหลือด้านเงินทุน ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง BGC - Bio Circular Green Economy โดยชี้ว่าความท้าทายและการดำเนินงานต่อไปในเรื่องนี้ ก็คือ การผลักดันให้ภาคเอกชนร่วมดูแลกลุ่มเปราะบางให้เท่าทันการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ การกำหนดมาตรฐาน (Standard) ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝีมือแรงงาน ค่าตอบแทน การพัฒนานิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น
หัวข้อที่สอง “การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน” ได้ตัวแทนจากองค์กรธุรกิจ ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณณัฐภัทร ทวีกาจนญ์ Learning & Productivity Project Manager บริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น จำกัด คุณศศินทร์ ซานไทโว ผู้จัดการแผนกสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์จำกัด คุณเดวิด ลามาส (David Llamas) Chief Digital Officer บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
แต่ละองค์กรได้แบ่งปันประสบการณ์ในการเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนธุรกิจ โดยคำนึงถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้การเข้าถึงเอกสารเป็นไปได้ให้ง่ายขึ้น โดยคำนึงถึงกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ การพัฒนาแพล็ตฟอร์มให้บริการด้านสุขภาพอัจฉริยะ เพื่อให้บริการ Telemedicine ที่ต้องคำนึงถึงกฎหมาย PDPA การบริหารจัดการข้อมูลสำคัญของผู้บริโภค ร่วมกับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้าได้ดำเนินการตามกฎหมายและแนวทางที่องค์กรวางไว้
ทั้งนี้ ตัวแทนภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณ และลดขั้นตอนที่ซับซ้อน และย้ำว่าภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลและคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชนในฐานะผู้บริโภค โดยภาครัฐและภาคธุรกิจควรร่วมมือกัน เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้