Bangkokpack นักออกแบบบรรจุภัณฑ์กระดาษ กับความท้าทายในอุตสาหกรรมออกแบบไทย

Article
การออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้วัสดุให้น้อยที่สุด เป็นสารตั้งต้นสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) แต่มักถูกกล่าวถึงน้อยมากเมื่อเทียบกับกระแสการแปรรูปขยะ หรือ Recycle ในประเทศไทยที่ระบบการจัดการขยะยังไม่พร้อมรองรับ วัสดุที่ควรรีไซเคิลได้จึงมักไปจบที่หลุมฝังกลบขยะอย่างน่าเสียดาย
 
CIRCO Hub Thailand ได้เปิดอบรมการออกแบบธุรกิจหมุนเวียน เพื่อช่วยภาคธุรกิจมองเห็นโอกาสในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ในครั้งนี้ เราได้ชวนหนึ่งใน CIRCO Alumni คุณต่าย-ภัทรา คุณวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท บางกอกแพค จำกัด มาพูดคุยถึงความท้าทายในการออกแบบบรรจุภัณฑ์
 
คุณต่ายเคยเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ดาวรุ่งพุ่งแรง แต่อิ่มตัวกับการออกแบบตามใจฝ่ายการตลาด ด้วยนิสัยส่วนตัวที่ชอบเดินป่า จึงรักการทำงานที่สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ มากกว่าการทำตามความต้องการของคนที่ไม่มีที่สิ้นสุด
 

“อาชีพ Industrial Designer เป็นนึ่งในอาชีพที่อันตรายที่สุด”
Victor Papanek นักออกแบบอุตสาหกรรมชื่อดังระดับโลกเคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 1970

 

คุณต่ายเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้อย่างถึงที่สุด และยอมรับว่านักออกแบบอุตสาหกรรมยังไม่ค่อยคำนึงถึง Life Cycle ของผลิตภัณฑ์รวมถึงทุกชีวิตที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มกระบวนการไปจนถึงการกำจัด
 
“วิชาออกแบบที่เราเรียนกันมาคือ ออกแบบเพื่อ Linear Design อยากได้ผลลัพธ์แบบไหน ค่อยไปหาวัสดุมาทำให้เกิดสิ่งนั้น แต่ถ้าเราจะออกแบบให้ Circular ต้องดูว่ามีวัสดุอะไรอยู่แล้วบ้าง แล้วเราจะทำอย่างไรกับมันให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด”
 
เมื่อแต่งงานกับสามีที่เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงพิมพ์ คุณต่ายได้เริ่มนำศาสตร์ Paper Engineering มาต่อยอด เป็นการออกแบบเชิงโครงสร้างบนกระดาษด้วยการพับ  ให้กระดาษขัดกันเองโดยไม่ต้องติดกาว เพื่อลดเวลาบรรจุ ลดน้ำหนัก ลดของเสีย กลายเป็นจุดเด่นทางธุรกิจที่ทลายขีดจำกัดของโรงพิมพ์ดั้งเดิม
 
Bangkokpack ก่อตั้งเมื่อปี 2008 พร้อมกับปณิธานที่จะให้บริการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เน้นการใช้วัสดุน้อยชิ้นแต่พอดี เหมาะสมกับกำลังการผลิต ไม่มีชิ้นส่วนสิ้นเปลือง อีกทั้งลดการเคลือบผิวด้วยพลาสติก และยังคำนึงถึงการขนส่ง สร้างระบบการจัดการบรรจุภัณฑ์ประเภทกันกระแทกที่ช่วยลดปัญหาการใช้เศษกระดาษ
 
ปัจจุบัน Bangkokpack เป็นที่พึ่งของแบรนด์ต่าง ๆ เมื่อมีไอเดียแต่ไม่รู้จะทำออกมาอย่างไร ตั้งแต่กล่องโชว์ ชั้นวางสินค้า ช่อดอกไม้ กล่องรับบริจาค นิทรรศการ ผนังเวที เมื่อใช้งานเสร็จสามารถนำกลับมาหมุนเวียนซ้ำได้ไม่รู้จบ ในยามคับขันที่ประเทศไทยเผชิญกับกระแพร่ระบาดของโควิด-19 คุณต่ายได้ร่วมออกแบบ “หน้ากาก Face Shield เราจะชนะ” กับมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่หายใจสะดวกไม่เป็นฝ้า ถอดล้างทำความสะอาดใช้ซ้ำได้ และรีไซเคิลได้ 100% ช่วยลดปริมาณขยะติดเชื้อในสถานพยาบาล แจกจ่ายกว่า 60,000 ชิ้นทั่วประเทศ 

 

นอกจากนี้ ยังมีผลงาน “พวงหรีดกระจายเป็นบุญ” หนึ่งในนวัตกรรมการออกแบบที่พลิกวงการงานศพ ช่วยลดการผลิตพวงหรีดที่ใช้โฟมและดอกไม้จำนวนมหาศาล เปลี่ยนมาเป็นกระดาษเพียงไม่กี่แผ่นตัดแต่งซ้อนทับกัน สวยงามไม่แพ้ดอกไม้จริง จนคว้ารางวัลระดับประเทศและมีผู้นำไปผลิตต่ออย่างแพร่หลาย ในต่างประเทศ เราก็สามารถพบเห็นผลงานของ Bangkokpack เช่น ชั้นวางสินค้าในดิสนีแลนด์ หรือชั้นวางสินค้าน็อกดาวน์ตามบูธต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ส่งออก เนื่องจากกระดาษลูกฟูกมีน้ำหนักเบา ขนส่งข้ามประเทศได้ง่าย สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง หรือหากไม่อยากขนกลับ ก็สามารถเคลมเป็นวัสดุรีไซเคิล ทิ้งในประเทศนั้น ๆ ได้เลย

 

บรรจุภัณฑ์แบบใดยั่งยืนที่สุด?

แม้คุณต่ายจะอยู่ในวงการกระดาษ และสามารถเนรมิตให้กระดาษแข็งแกร่งมากกว่าที่คิด แต่วัสดุประเภทเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกอย่าง กระดาษมาจากต้นไม้ ใช้เวลากว่า 20 ปีถึงจะมาเป็นกระดาษ คนชอบมองว่าเป็นวัสดุที่ปลูกใหม่ได้ แต่หากเราใช้เยอะเกินไป ยังไงก็ไม่ยั่งยืน
 
กระดาษเหมาะกับบรรจุภัณฑ์ที่ “อายุการใช้งานสั้น” และต้องการ “การสื่อสาร”
กระดาษคุยได้ทุกภาษา และจับต้องได้
กระดาษหนึ่งแผ่น พับได้สารพัด อยู่ชั่วคราวก็ย่อยสลายไป
กระดาษหลายแผ่น อัดแน่นเรียงกันก็กลายเป็นไม้ที่แข็งแรงได้
 
“ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเอากระดาษมาทำเฟอร์นิเจอร์ เคยลองทำแล้วและคงจะไม่ทำอีก ทำให้เรารู้ว่าใช้วัสดุเยอะมาก ถ้าเหตุผลที่ทำเพราะสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ต้องการเตียงด่วนหลายพันเตียง กระดาษอาจจะตอบโจทย์ แต่ไม่อยากให้ทำเพียงเพื่อการแสดงออกทางนวัตกรรมว่ากระดาษทำอะไรก็ได้” คุณต่ายเสริม
 
ในขณะเดียวกัน พลาสติกที่ถูกมองเป็นผู้ร้าย ก็ยังมีความจำเป็นในการใช้งาน โดยเฉพาะอาหารแปรรูป เพราะสามารถห่อหุ้มของเหลวและมีความปลอดภัยเมื่อผลิตแบบ food grade หากสังคมมีระบบการจัดการขยะที่ดี และมีออกแบบให้จัดการได้ง่ายขึ้น พลาสติกก็ไม่ใช่ปัญหา
 
คุณต่ายเล่าพลางหยิบถ้วยโยเกิร์ตที่เก็บมาจากประเทศอังกฤษมาให้ดู เป็นถ้วยโยเกิร์ตพลาสติกที่ห่อหุ้มด้วยกระดาษอีกชั้น ตัวถ้วยพลาสติกสีขาวทึบไม่มีการพิมพ์อะไรลงไปทั้งสิ้น ส่วนกระดาษที่ทำหน้าที่สื่อสารแบรนด์สามารถดึงออกได้โดยง่าย คนแยกขยะปลายทางแทบไม่ต้องออกแรง ในขณะที่ถ้วยลักษณะนี้ในประเทศไทย ยังใช้พลาสติกแบบบางห่ออย่างแน่นหนา หรือ พิมพ์สีลงบนพลาสติก ทำให้ยากต่อการรีไซเคิล
 
บ่อยครั้งที่ลูกค้าถามหาวัสดุที่ยั่งยืนมากขึ้น แม้ Bangkokpack จะดีไซน์ได้หมด แต่เราอยู่ในประเทศที่ไม่มีการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ] ลูกค้าวาดฝันว่าอยากได้บรรจุภัณฑ์แก้วเพื่อใช้ซ้ำได้ แต่โรงงานผลิตต้องให้สั่งขั้นต่ำแสนชิ้น ทำให้ผู้ประกอบการท้อถอยไปเสียก่อน
 
การขนส่ง เป็นอีกโจทย์ใหญ่สำหรับผู้ประกอบการต่างจังหวัด หลายต่อหลายครั้งที่บรรจุภัณฑ์สวยหรู ถูกออกแบบโดยดีไซเนอร์มืออาชีพ กลับถูกใช้เพียงครั้งเดียว เพราะค่าพิมพ์และขนส่งจากกรุงเทพ ท่วมต้นทุนจนทำต่อไม่ไหว คุณต่ายวิเคราะห์ว่า “หากบรรจุภัณฑ์ต้องออกมาจากโรงพิมพ์เท่านั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับเกษตรพันธะสัญญา”
 
ครั้งหนึ่ง คุณต่ายไปสอนการออกแบบที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กับกลุ่มศิลปาชีพทำลูกประคบ พบว่าในพื้นที่มีโรงงานผ้าปาเต๊ะ ที่มีทั้งเศษผ้าและกระดาษลังเหลือจำนวนมาก จึงสอนให้ชาวบ้านตัดกระดาษอย่างง่าย พับ เจาะรู คาดผ้าปาเต๊ะเข้าไป กลายเป็นบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร เมื่อกลับไปเยือนในอีกหลายปีถัดมา ชาวบ้านก็ยังใช้แบบเดิมอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
 

Relearn to redesign (before recycle)

คุณต่ายได้มาร่วมเรียนกับ CIRCO Hub Thailand ถึงสองครั้ง มีโอกาสได้เรียนทั้งรูปแบบออนไลน์ (ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด) และเมื่อต้นปี 2024 จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าติดใจกระบวนการไหน และ นำไปใช้ต่ออย่างไรบ้าง
 
คุณต่ายเล่าว่า กระบวนการของ CIRCO ช่วยให้มอง flow การทำงานชัดขึ้น ปกติเวลาทำงานจะทำตามโจทย์และไหลไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ค่อยได้กลับไปดูรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนว่า เกิดการสูญเสียตรงไหนบ้าง ในกระบวนการ Value destruction ทำให้เห็นการสูญเสียทั้งทรัพยากร พลังงาน หรือแม้กระทั่งเงินในแต่ละจุด ช่วยให้หันกลับมาสร้างคุณค่าเพิ่มในจุดนั้นได้
 
“เราเป็นหนึ่งในสายการผลิตของทั้งอุตสาหกรรม เราเห็นเลยว่า product และ waste มันอยู่คนละทางกัน แต่หลักสูตร CIRCO พยายามทำให้มันอยู่ใน loop เดียวกันให้ได้ หลังจากเรียนกับ CIRCO ก็มีไอเดียเล็ก ๆ เกิดขึ้นในที่ทำงาน ที่ช่วยให้เศษวัสดุไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงโรงงานรีไซเคิล”
 
คุณต่ายได้รวบรวมเศษกระดาษเหลือทิ้งจากงานพิมพ์ นำมาตัดเป็นกระดาษสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดจิ๋ว กลายเป็นบัตรคำหรือสื่อการสอน ส่งไปให้โรงเรียนอนุบาลใกล้ ๆ บ้าน หรือหากใครทำค่ายอาสาก็มาขนไปได้ กิจกรรมนี้ได้กลายเป็น CSR ที่บริษัทใหญ่ถูกใจและนำไปใส่ในรายงานต่อได้ด้วย
 
“บางออเดอร์ที่เหลือเศษกระดาษรูปทรงเดียวกันเป็นลอตใหญ่ ก็จะนำมาเย็นรวมกันเป็นสมุดวาดเขียน ช่วงไหนคนงานว่างก็ให้เย็บไป ใหญ่บ้างเล็กบ้าง คุณครูดีใจมาก เพราะเวลาคนบริจาคของมักจะไม่นึกถึงสมุด จะนึกถึงแต่เครื่องเขียนเครื่องกีฬา กลายเป็นว่าสมุดกลายเป็นของหายาก”
 
การพลิกมุมคิดในการออกแบบที่เริ่มจากของรอบตัวก่อนจะไปใช้ของใหม่ อาจเป็นการพลิกตำรานักออกแบบผลิตภัณฑ์เลยก็ว่าได้ หากใครสนใจแนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์หมุนเวียนที่เป็นมาตรฐานระดับโลก คุณต่ายได้ร่วมกับ The World Packaging Organisation (WPO) ในการนำคู่มือ Packaging Design for Recycling Guide มาแปลเป็นฉบับภาษาไทย เจาะลึกรายละเอียดของวัสดุแต่ละประเภทและเส้นทางการจัดเก็บรวบรวม คัดแยก และรีไซเคิลอย่างถูกต้อง เพื่อให้ยังคงมูลค่าของวัสดุให้ได้มากที่สุด
 
สามารถดาวน์โหลดหนังสือได้ ที่นี่
ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้