บริษัทความงามขนาดใหญ่ระดับโลก ดูแลผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 15 แบรนด์ ครอบคลุมการดำเนินธุรกิจทั้งใน ประเทศไทย เมียนมา ลาว และกัมพูชา นอกจากจะมุ่งมั่นนำเสนอนวัตกรรมความงามที่ดีที่สุด ทั้งในมิติของคุณภาพ และความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคทั่วโลกแล้ว ลอรีอัล กรุ๊ป ยังให้ความสำคัญกับการคิดค้นผลิตภัณฑ์ความงามที่เข้าถึงผู้บริโภคทุกเพศ ทุกชาติ ทุกสีผิว และทุกภูมิหลัง ซึ่งภารกิจตอบรับความหลากหลายของผู้บริโภคนั้น มาจากพื้นฐานสำคัญ คือการให้ความสำคัญกับความหลากหลายของพนักงานในองค์กร สร้างพนักงาน “ให้มีความหลากหลายให้มากเท่าผู้บริโภค” เพราะมีความเชื่อว่าความหลากหลายจะทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่าง สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เราเชื่อว่า”ความเท่าเทียมทางเพศ”เป็นหลักการพื้นฐานเบื้องหลังความสำเร็จเรามุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเติบโตได้ด้วยความสามารถที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองและนั่นหมายความว่าเรามีสถานที่ที่ปลอดภัยที่ทุกคนได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม”
แพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการ ลอรีอัล ประเทศไทย เมียนมา ลาวและกัมพูชา
ยึดมั่นใน DE & I คือจุดเริ่มหัวใจของความเท่าเทียม
หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่เป็นปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจความงามอย่างยั่งยืนของลอรีอัล ที่ยึดมั่นมากว่า 20 ปี นั่นคือ ความหลากหลาย (Diversity) ความเท่าเทียม (Equity) และความไม่แบ่งแยก (Inclusive) หรือที่รู้จักกัน ในคำว่า DE& I ใช้เป็นหลักการสำคัญที่ดูแลครอบคลุมตั้งแต่พนักงาน ผู้บริโภค ไปถึงชุมชนรอบข้างที่กลุ่มลอรีอัลทำงานร่วมด้วยเริ่มต้นด้วยเปิกกว้างในการจ้างพนักงานจากกลุ่มคนที่หลากหลายแตกต่างกันตั้งแต่ภูมิหลัง แตกต่างกันทางชาติพันธุ์ แตกต่างกันทางความเชื่อศาสนาและวัฒนธรรม พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าความแตกต่างนั้นจะไม่เป็นอุปสรรคในความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน พนักงานทุกคน ทุกเพศไม่ว่าจะมีภูมิหลังที่มาอย่างไร จะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมและสนับสนุนให้เติบโตไปสู่ระดับบริหาร เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในองค์กรได้ไม่แตกต่างกัน
ส่งเสริมสิทธิสตรี ส่งเสริมทุกเพศให้เท่าเทียม
ลอรีอัล ถือว่าเป็นองค์กรที่โดดเด่นเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนพลังสตรีมุ่งมั่นส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศมาอย่างยาวนานโดยในแต่ละปีลอรีอัลมีเป้าหมายสร้างสัดส่วนที่สมดุลในตำแหน่งงานของชายและหญิงโดยผู้หญิงนั้นจะต้องอยู่ในตำแหน่งสำคัญทางกลยุทธ์ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ซึ่งจากตัวเลขที่มีการรายงานล่าสุดในปี 2022 ลอรีอัล กรุ๊ป มีการจ้างงานพนักงานหญิงคิดเป็นร้อยละ68 ของพนักงานทั้งหมดทั่วโลก และในประเทศไทย มีพนักงานหญิงราวร้อยละ 70 โดยมีพนักงานหญิงอยู่ในระดับตำแหน่งสำคัญต่างๆเช่น ระดับผู้อำนวยการแบรนด์ระหว่างประเทศ ร้อยละ 61 ระดับตำแหน่งสำคัญในกลุ่มธุรกิจ ร้อยละ 57 ระดับกรรมการผู้จัดการ ร้อยละ 50 ระดับคณะกรรมการบริหาร ร้อยละ 32 ในขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้หญิงเป็นคณะกรรมการบริหารราว 80% และเป็นระดับผู้จัดการ 75%
จ่ายค่าแรงอย่างเท่าเทียม
ลอรีอัล ให้ความสำคัญต่อการจ่ายค่าแรงอย่างเท่าเทียม ในปี 2020 ลอรีอัล กรุ๊ป ได้นำระบบ EDGE (Economic Dividends for Gender Equality) และ GEEIS (Gender Equality European and International Standard) มาเป็นมาตรฐานการจ่ายค่าตอบแทน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะปรับลดช่องว่างการจ่ายค่าตอบแทนระหว่างเพศให้มีไม่เกิน +/-ร้อยละ 5 ภายในปี 2025
นอกจากนั้น ลอรีอัล ประเทศไทย ยังขยายสวัสดิการให้พนักงานผู้หญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ 115 วัน และพนักงานผู้ชายสามารถลาเพื่อดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 2 สัปดาห์ โดยพนักงานที่มีการรับบุตรบุญธรรมสามารถใช้สิทธิ์การลาได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ทุกคนยังได้รับวันลา Flex Leave เพิ่มเติมจากวันลาประจำปีอีก 15 วัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการส่วนตัว
พันธกิจ L’Oréal for the Future สร้างคน สร้างความเท่าเทียม
พันธกิจหลักที่สำคัญของลอรีอัลก็คือ โปรแกรมด้านความยั่งยืน L’Oréal for the Future ทำให้เกิดการผลักดันโครงการที่สร้างประโยชน์มากมายในระดับบริษัทและระอับแบรนด์ โดยเฉพาะโครงการที่สนับสนุนผู้หญิง สนับสนุนกลุ่มหลากหลายทางเพศ LGBTQIA+ มีการยกระดับ ปรับเปลี่ยน และเรียนรู้ร่วมกันเพื่อจะสร้างสภาพสังคมการทำงานที่เป็นมิตรกับทุกเพศสภาพ โดยยึดถือเป็นนโยบายที่ขับเคลื่อนพร้อมกัน ทั้งลอรีอัล กรุ๊ป ทั่วโลก และลอรีอัล ประเทศไทย โครงการเหล่านั้น ได้แก่
- โครงการเพื่อผู้หญิงระดับโลกของลอรีอัล กรุ๊ป อาทิ โครงการทุนวิจัยลอรีอัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ (For Women in Science) เริ่มและดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1998 จนถึงปัจจุบันได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีกว่า 4,100 คน ครอบคลุมกว่า 110 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ที่ลอรีอัล ได้ดำเนินโครงการมาเป็นปีที่ 21 ได้มอบทุนวิจัยให้กับนักวิจัยสตรีไทยไปแล้ว 84 คน จากกว่า 20 สถาบันทั่วประเทศ
- โครงการฝึกทักษะอาชีพเสริมสวยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือ Beauty For A Better Life สนับสนุนผู้ที่ต้องการโอกาสในการฝึกทักษะอาชีพเสริมสวย นำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและสร้างอาชีพที่มั่นคงอย่างยั่งยืนต่อไปมีผู้ที่ได้รับการสนับสนุนผ่านโครงการไปแล้ว 361 คน โดยร่วมมือกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
- โครงการ Solidarity Sourcing จัดจ้างผู้ขาดโอกาสทางสังคม ที่ทำงานกับซัพพลายเออร์ในการจ้างงานกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือทำการจัดซื้อสินค้าและบริการของบริษัทกับบริษัทกลุ่ม SMEs บริษัทที่มีสตรี หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นเจ้าของ
- โครงการ Stand Up Against Street Harassment โดยแบรนด์ลอรีอัล ปารีส ร่วมมือกับมูลนิธิรักษ์ไทย มีเป้าหมายให้ผู้เข้าร่วมอบรมรู้จักเทคนิคการป้องกันการคุกคามทางเพศ และเรียนรู้วิธีการรับมืออย่างถูกต้องปลอดภัย เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งมีผู้ผ่านการอบรมแล้วกว่า 36,500 คน
- โครงการ Writer Her Future โดยแบรนด์ลังโคม (LANCÔME) ต้องการช่วยให้ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสได้วาดอนาคตในแบบที่ตัวเองต้องการ ด้วยการอบรมทักษะด้านดิจิทัลเพื่อพัฒนาการตลาดผลิตภัณฑ์ที่สตรีเป็นเจ้าของ ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมไปแล้วกว่า 150 คน
- โครงการที่มุ่งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนภัยของความรุนแรงในคู่รัก (Intimate Partner Violence) โดยแบรนด์ YSL ร่วมมือกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้ความรู้ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการป้องกันปัญหาความรุนแรงในคู่รัก
- โครงการ Brave Together โดย Maybelline New York เปิดแพลตฟอร์มให้คำปรึกษาทางใจ ให้ทุกคนเข้าถึงช่องทางรับคำปรึกษาแบบตัวต่อตัวได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ร่วมมือกับมูลนิธิสติแอป (SATI App)
เพราะโลกใบนี้มีความหลากหลาย หัวใจของการอยู่ร่วมกันคือเคารพในความแตกต่าง เคารพในความเท่าเทียม โดยเฉพาะความเท่าเทียมทางเพศ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในเพศสภาพใด ควรได้รับการปฏิบัติ ได้รับโอกาสในการทำงานอย่างเสมอภาคกัน องค์กรธุรกิจซึ่งอุดมไปด้วยบุคคลที่มีความหลากหลาย จึงต้องมีหน้าที่บริหารกระบวนการ สร้างสรรค์ความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมทั้งสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับสมาชิกทุกเพศสภาพ ให้เกิดความเสมอภาคทั่วกัน