รู้หรือไม่ว่าการปลูกฝ้ายเพื่อผลิตเสื้อยืดหนึ่งตัวต้องใช้น้ำประมาณ 2,700–3,000 ลิตร ต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก เช่น ยาฆ่าแมลงและสีย้อมผ้า รวมถึงใช้พลังงานในการปลูกและแปรรูปฝ้าย การใช้พลังงานและการผลิตสารเคมีเหล่านี้ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จำนวนมาก นั่นทำให้เสื้อผ้าหนึ่งตัวมีคาร์บอนฟุตปริ้นท์ที่สูงมากเป็นเงาตามตัว
SC GRAND ก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 เพื่อทำการค้าของเสียจากสิ่งทอ ช่วยให้เศษผ้าถูกนำกลับมาใช้ใหม่ แปรรูปเป็นสินค้าที่มีมูลค่าต่ำ เช่น ผ้ายัดไส้เบาะ ผ้าทำความสะอาด หรือกระดาษ ต่อมา ทายาทรุ่นที่สองได้ปรับกระบวนการผลิตให้สามารถปั่นด้ายจากเศษผ้าเหลือทิ้งต่างๆ ได้(mechanical thread recovery) ส่วนทายาทรุ่นที่สามในปัจจุบันกำลังเพิ่มมูลค่าสินค้า ด้วยการผลิตเสื้อผ้าจากด้ายรีไซเคิล เพื่อลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดังนั้น SC GRAND จึงตัดสินใจวางตำแหน่งธุรกิจใหม่ให้เป็นพันธมิตรในการนำผ้ากลับมาใช้ใหม่กับทุกโรงงานสิ่งทอตลอดห่วงโซ่อุปทานทั่วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Innovation
SC GRAND ได้พัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลสิ่งทอเฉพาะตัวที่เรียกว่า fabric-to-fabric mechanical recycling โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการย้อมหรือใช้สารเคมีที่ก่อมลพิษ บริษัทคัดแยกผ้าและเศษด้ายตามคุณสมบัติทางกายภาพ วัสดุ และสี ดังนั้น ผ้ารีไซเคิลที่ผลิตออกมาจะยังคงมีสีดั้งเดิมอยู่
นอกจากการผลิตผ้าสำหรับขายส่งให้โรงงานตัดเย็บ บริษัทยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าสั่งทำผ้าตามความต้องการ หรือสั่งซื้อเป็นสินค้าสิ่งทอสำเร็จรูปได้ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อยืด เสื้อโปโล เสื้อฮู้ดดี้ หมวกกระเป๋า โดยวัตถุดิบต่าง ๆ จัดหามาจากหลากหลายแหล่ง อาทิ เครื่องแบบเก่า เศษวัสดุจากโรงงานตัดเย็บ สินค้าคงคลังส่วนเกิน เป็นต้น ในขณะที่การเก็บรวบรวมเสื้อผ้าแฟชั่นที่ถูกทิ้งหลังการใช้งานค่อนข้างทำได้ยาก บริษัทจึงได้สร้าง Circular-club ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกและจูงใจให้คนนำเสื้อมาบริจาค สมาชิกที่ลงทะเบียนจะมีสิทธิ์ได้รับส่วนลด 100 บาทสำหรับการซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่อีกด้วย
นวัตกรรมที่ตอบสนองเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบครบลูปครอบคลุมตั้งแต่การจัดการของเสียเมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งานจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ (end of life management) รวมถึงการใช้เส้นใยเดิมมาเพื่อผลิตผ้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ (manufacturing) และใช้การออกแบบสร้างมูลค่าเพิ่ม (product design) การบูรณาการนี้เป็นครั้งแรกสำหรับประเทศไทยและเป็นตัวอย่างชั้นนำให้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง SC GRAND ได้รับการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนภาคสมัครใจระดับนานาชาติหลายรายการ รวมถึงมาตรฐาน OEKO-TEX Standard 100 มาตรฐาน Global Recycled Standard (GRS) และมาตรฐาน Global Organic Textile Standard (GOTS) สำหรับการส่งออกไปยังญี่ปุ่นและประเทศในสหภาพยุโรปโดยเฉพาะ นอกจากนี้ SC GRAND ยังได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ว่าผลิตผ้าจากวัสดุที่ยั่งยืน 100% และมีคาร์บอนฟุตปรินท์ต่ำ
ปัจจุบัน SC GRAND กำลังขยายการทำงานร่วมกับนักออกแบบ ผู้ผลิต ผู้ใช้เสื้อผ้าและสิ่งทอในบ้าน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์สิ่งทอรีไซเคิล รวมถึงการตัดเย็บเครื่องแบบพนักงาน (เช่น Koi Thé, BMW Europa Motors) มีการจัดหาผ้ารีไซเคิลให้กับโรงงานเสื้อผ้าท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การปรับแต่งผ้ารีไซเคิลให้ตรงกับความต้องการของนักออกแบบแบรนด์ (เช่น YOTHAKA และ Carnival@Green label)
นวัตกรรมที่พัฒนาโดย SC GRAND มีส่วนช่วยให้ทรัพยากรหมุนเวียนได้มากขึ้นและยังใช้พลังงานหมุนเวียนภายในโรงงงาน บริษัทใช้ของเสียจากอุตสาหกรรมสิ่งทอประมาณ 400 เมตริกตันต่อเดือน ซึ่งประกอบด้วยเศษผ้าจากโรงงานสิ่งทอ 60% (ฝ้าย โพลีเอสเตอร์ และอื่น ๆ) เครื่องแบบใช้แล้ว 30% และสินค้าอื่น ๆ หลังการใช้งาน 10% โดยนำมาผลิตสินค้าที่ใช้ผ้ารีไซเคิลได้ถึง 100% ซึ่งการรีไซเคิลผ้าโดยตรงช่วยลดการนำของเสียสิ่งทอไปฝังกลบหรือเผาทำลาย และหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการผลิตสิ่งทอใหม่
ในปี 2022 SC GRAND ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาทำการประเมินวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ผ้ารีไซเคิล (Life Cycle Assessment) การประเมินนี้ชี้ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมจากการรีไซเคิลสิ่งทอให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผ้าใหม่ 1 กิโลกรัม กับผ้ารีไซเคิลที่ไม่มีการฟอกย้อมและพิมพ์ จะช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 440 ลิตร (เทียบเท่ากับการใช้น้ำต่อคนจำนวน 231 วัน) ลดการใช้พลังงานลง 6.50 กิโลวัตต์ชั่วโมง (เทียบเท่าการประหยัดพลังงานไฟฟ้า 500 ชั่วโมง) และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลง 3.8 กิโลกรัม (เทียบเท่าการปล่อยก๊าซจากการขับรถ 15 กิโลเมตร) เมื่อคำนวณด้วยปริมาณการรีไซเคิลต่อเดือนที่ 400 เมตริกตัน จะเท่ากับลดการใช้น้ำและลดน้ำเสียได้ประมาณ 2.1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 18,000 ตันคาร์บอนต่อปี เมื่อเทียบกับการใช้เส้นด้ายและผ้าใหม่ นอกจากนี้ SC GRAND ยังรีไซเคิลวัสดุอื่นๆ รวมถึงถุงประมาณ 30 ตันในช่วงปี 2021–2023 อีกทั้งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคากำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานจากฟอสซิล
Business and market impact
SC GRAND ตัดสินใจขยายธุรกิจจากการกู้คืนเศษผ้าสู่การหมุนเวียนผ้าใช้แล้วอย่างเต็มรูปแบบในปี 2020 โดยเริ่มจากการวิจัยและพัฒนาในปี 2020-2021 และพัฒนาความร่วมมือกับแบรนด์และผู้ผลิตชั้นนำในประเทศและต่างประเทศในช่วงปี 2022-2023 ปัจจุบัน SC GRAND ยังคงดำเนินการตามแผนงาน5 ปี 2020-2024 และคาดว่าจะมีกำไรในปี 2024 เพื่อฟื้นฟูผลประกอบการ จากการลงทุนอย่างเข้มข้นในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี จัดหาอุปกรณ์ ปรับกระบวนการธุรกิจ พัฒนาตลาด ขอการรับรอง และสร้างแบรนด์ ภายในปี 2024 ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลจะเทียบเท่ากับ 20% ของยอดขายทั้งหมด บริษัทวางแผนที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลให้เป็น 40% ของยอดขายทั้งหมดในปี 2025 และเป็น 70% ของยอดขายทั้งหมดในปี 2028
SC GRAND ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการรีไซเคิลของเสียสิ่งทอชั้นนำภายในปี 2028 โดยมีโอกาสที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และไม่ปิดโอกาสที่จะสร้างดีลควบรวมกิจการ (M&A) กับบริษัทรีไซเคิลสิ่งทอ 2-3 แห่ง หรือการร่วมทุนกับบริษัทผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป
Stakeholders
ปัจจุบัน SC GRAND มีพนักงาน 240 คนในประเทศไทย โดยบางคนได้ร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้งโดยรุ่นที่หนึ่งของครอบครัว และได้ขยายการทำงานกับโรงงานเสื้อผ้าทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจัดหาวัตถุดิบจากเศษผ้าสำหรับการรีไซเคิล บริษัทยังได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับแบรนด์แฟชั่นและกีฬาระดับโลกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อรักษาคุณภาพการรีไซเคิลให้มีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ SC GRAND ตั้งใจที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่างทอผ้าท้องถิ่นของไทย โดยการใช้เศษผ้าในพื้นที่ นำมาผนวกรวมกับเทคนิคการรีไซเคิลของ SC GRAND
Implementation
จากความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย SC GRAND มีบทบาทเป็นศูนย์กลางระหว่างผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เชื่อมโยงการจัดการทรัพยากรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ให้สามารถเก็บของเสียกลับคืนมาแปรรูปและใช้ใหม่ได้ ได้มีการนำของเสียมาใช้ใหม่ เช่น เครื่องแบบใช้แล้วจากองค์กรและลูกค้า สร้างความร่วมมือกับนักออกแบบ ผู้ผลิตเสื้อผ้า และผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ผ้าสำหรับตกแต่งบ้าน ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่และเพิ่มมูลค่าจากสิ่งทอรีไซเคิล ทั้งนี้ การแปลงเศษผ้า (ฝ้าย โพลีเอสเตอร์ และอื่น ๆ) ให้เป็นผ้ารีไซเคิล สามารถทำได้ทุกสียกเว้นสีขาว นี่จึงเป็นเงื่อนไขที่ต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า
โอกาสถัดไปของ SC GRAND คือ การพัฒนาวิธีการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อสร้างระบบนิเวศสิ่งทอรีไซเคิลที่โปร่งใส โดยเฉพาะกับลูกค้าจากญี่ปุ่นและยุโรป เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีการรีไซเคิลใหม่ๆ จะเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งในอนาคต พร้อมกับการเพิ่มพูนประสบการณ์ และสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรทั่วโลกในทุก ๆ ปี
SC GRAND ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไปจนถึงผู้บริโภค ให้เห็นว่าทุกคนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาร่วมกันได้ SC GRAND เชื่อว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาไปสู่โลกที่มีสุขภาพที่ดีขึ้น และอนาคตที่สดใสขึ้นสำหรับทุกคน
ยังมีตัวอย่างธุรกิจหมุนเวียนอื่น ๆ ในอาเซียนที่น่าสนใจจากโครงการ EU SWITCH-Asia สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่ หรือหากใครสนใจเริ่มต้นการออกแบบโมเดลธุรกิจหมุนเวียนเพื่อการจัดการทรัพยากรที่ดีขึ้นตลอดห่วงโซ่คุณค่า ติดตามรายละเอียดการอบรม Circular Business Design ในประเทศไทยได้ทาง CIRCO Hub Thaialnd
Acknowledgements
กรณีศึกษาทางธุรกิจนี้จัดทำขึ้นภายใต้กรอบโครงการ Technical Advisory project: Mobilising Business Action for Circular Economy in the ASEAN countries ภายใต้โครงการสนับสนุนนโยบาย EU SWITCH-Asia โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกและวิเคราะห์ประสบการณ์ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน กรณีศึกษานี้ผลิตโดย ดร.จุฑาทิพย์ มณีพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญประจำประเทศไทย ตรวจสอบโดย Rene Van Berkel และ Thomas Thomas ผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาค อ้างอิงข้อมูลที่จัดทำและผ่านการรับรองโดย SC GRAND ประเทศไทย
Disclaimer
เนื้อหาของบทความนี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของ SC GRAND ประเทศไทยและทีมผู้เชี่ยวชาญ บทความนี้ไม่ถือเป็นการรับรองหรือสะท้อนมุมมองต่อ SC GRAND ประเทศไทย โดยสหภาพยุโรปหรือพันธมิตรของโครงการสนับสนุนนโยบาย SWITCH-Asia
ลิขสิทธิ์: © 2024 SWITCH-Asia