สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งนำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรที่มีความเสี่ยงต่อป่าไม้เป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศจีน จึงตัดสินใจแก้ปัญหานี้ด้วยการประกาศใช้ กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation หรือ EUDR) โดย EUDR จะมีผลบังคับให้บริษัทต่างๆ ตรวจสอบและประเมินสินค้าของตน เพื่อรับประกันว่าผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาจำหน่าย เช่น ถั่วเหลือง เนื้อวัว น้ำมันปาล์ม ไม้ โกโก้ กาแฟ และยางพารา มาจากแหล่งที่ไม่ก่อให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าหรือการเสื่อมโทรมของป่า
EUDR เป็นส่วนหนึ่งของ European Green Deal ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2023 และจะมีผลเต็มรูปแบบในวันที่ 30 ธันวาคม 2025 สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ และวันที่ 30 มิถุนายน 2026 สำหรับบริษัทขนาดกลางและเล็ก (SMEs) แนวทางการจัดหาและการผลิตสินค้าทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และผู้ประกอบการจะต้องเตรียมพร้อมต่อการตรวจสอบอย่างไรให้ธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น GCNT ชวนอ่านบทความว่าด้วยประเด็นนี้กัน
ภัยคุกคามจากการตัดไม้ทำลายป่า
การตัดไม้ทำลายป่าและการเสื่อมโทรมของป่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจึงถือเป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดโดยป่าเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชนานาพันธุ์และมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
ทุกปี ทั่วโลกสูญเสียพื้นที่ป่าไปหลายล้านไร่ เพื่อเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม เหมือง ไร่ปาล์มน้ำมัน และพื้นที่ปศุสัตว์ การหายไปของป่าส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ ชีวิต และการดำรงชีพของผู้คนนับล้านทั่วโลก ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าระหว่างปี 1990 ถึง 2020 โลกสูญเสียพื้นที่ป่าไปมากกว่า 2,500 ล้านไร่ ซึ่งมากกว่าพื้นที่ของสหภาพยุโรปเสียอีก
นอกจากนี้ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ยังได้ประมาณการว่ามากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดระหว่างปี 2007 ถึง 2016 เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า และการปล่อย CO2 เพิ่มเติมที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่ายังเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อพื้นที่ป่าลดลง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ป่าดูดซับและกักเก็บได้โดยรวมก็ลดลงด้วย
Photo by Pablo García Saldaña on Unsplash
ความพยายามครั้งสำคัญของ EU
กฏหมาย EUDR ที่เกิดขึ้นนับเป็นความพยายามครั้งสำคัญของสหภาพยุโรปในการต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการลดผลกระทบจากการทำลายป่าในระดับโลก
สหภาพยุโรปเป็นผู้บริโภคสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อป่าไม้รายใหญ่ หากไม่มีการกำหนดกฎระเบียบ การบริโภคและการผลิตเนื้อวัว โกโก้ กาแฟ น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง และไม้ คาดการณ์ว่าเฉพาะในสหภาพยุโรปเพียงภูมิภาคเดียวจะส่งผลให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 1,488,000 ไร่ต่อปี ภายในปี 2030
กฎหมายและแผนริเริ่มระดับนานาชาติที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น FOREST Act ของสหรัฐอเมริกา, Joint Declaration on Enhancing Climate Action ของจีนและสหรัฐอเมริกา, และ UK Environment Act ของสหราชอาณาจักร ต่างมุ่งเป้าไปที่การห้ามหรือจำกัดการตัดไม้ทำลายป่าและการค้าที่ “ผิดกฎหมาย” เท่านั้น แต่ EUDR นั้นจะก้าวไปอีกขั้น โดยห้ามผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการตัดไม้ทำลายป่าทั้งที่ “ผิดกฎหมาย” และ “ถูกกฎหมาย”
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ EUDRจากข้อมูลล่าสุด วันที่ 16 ตุลาคม 2024 คณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดให้มีการเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้ EUDR ออกไปเป็นเวลา 12 เดือน เนื่องจากได้รับข้อคิดเห็นทั้งจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเองและประเทศอื่นๆ การเลื่อนนี้จะช่วยให้ประเทศที่สาม ประเทศสมาชิก ผู้ประกอบการ และผู้ค้า เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติตามข้อผูกพันการตรวจสอบข้อปฏิบัติ โดยระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านของกฏหมาย EUDR จะเลื่อนไปมีมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2025 สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ และวันที่ 30 มิถุนายน 2026 สำหรับบริษัทขนาดกลางและเล็ก (SMEs)
กฏหมายใหม่กระทบไทยอย่างไร
ข้อมูลจากปี 2023 ไทยส่งออกสินค้าที่ถูกระบุไว้ภายใต้กฏหมาย EUDR ไปยังสหภาพยุโรปรวมมูลค่า 455.58 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบด้วย
แนวทางการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของกฏหมาย EUDR จำแนกความเสี่ยงการตัดไม้ทำลายป่าของประเทศต่างๆ ออกเป็น 3 ระดับ คือ ความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงมาตรฐาน และความเสี่ยงสูง บริษัทที่สามารถรับรองได้ว่าสินค้าทั้งหมดของตนมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ จะได้รับการยกเว้นจากการประเมินและลดความเสี่ยง (แต่ต้องเก็บข้อมูลผู้จัดหาสินค้าและลูกค้าที่เกี่ยวข้อไว้ เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับห่วงโซ่อุปทานได้หากจำเป็น)
รายชื่อประเทศและระดับความเสี่ยงกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมาธิการยุโรป สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศต้นทางส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป กฎหมาย EUDR จะส่งผลกระทบทั้งในเชิงลบและเชิงบวก
ยางพาราที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเป็นอันดับหนึ่ง แม้พื้นที่ปลูกยางพาราของไทยกว่า 25 ล้านไร่ (83.3 เปอร์เซ็นต์) จากทั้งหมด 30 ล้านไร่ทั่วประเทศ จะได้รับการยืนยันว่าไม่ได้มีการบุกรุกป่าไม้ไทย แต่สวนยางพาราที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ EUDR เช่น ผ่านเกณฑ์ FSC หรือ PEFC มีเพียง 6.4 แสนไร่ (2.1 เปอร์เซ็นต์)
ปัจจุบัน หน่วยงานหลายส่วนของไทยเริ่มเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร เพื่อรับมือกับกฎหมาย EUDR โดยดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยระบุพิกัดภูมิศาสตร์และขอบเขตของแปลงปลูก ประกอบด้วยระบบลงทะเบียนแหล่งปลูกไม้ผ่านแอปพลิเคชัน e-TREE ของกรมป่าไม้ และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ผ่าน แอปพลิเคชัน RAOT GIS ของการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งกำลังยังอยู่ในช่วงพัฒนาและปรับปรุงระบบ
ข้อมูลอ้างอิง