หัวข้อนี้มุ่งเน้นเรื่องความสำคัญของ Inclusive Business ทั้งในแง่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม และการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว ผ่านมุมมองของ CEO องค์กรชั้นนำ ซึ่งเป็นสมาชิกของ UNGCNT ตั้งแต่ภาพรวมของ Inclusive Business Landscape ในประเทศไทย จนถึงการแบ่งปันแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Best Practices) รวมถึงความท้าทายที่เผชิญ และโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจากการนำแนวคิดนี้ไปสู่การปฏิบัติจริง โดยจะเน้นการร่วมมือจาก ทุกภาคส่วน เพื่อสร้าง Inclusive Business ที่เป็นรูปธรรมและเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและองค์กรในอนาคต
ผู้ร่วมเสวนา
ผู้ดำเนินรายการ
คุณจิตติมา ศรีสุขนาม เจ้าหน้าที่บริหารโครงการประจำประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนลาว ประจำองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
ปัจจุบัน การทำธุรกิจไม่เพียงแค่การหวังการเติบโตด้วยผลกำไรเพียงอย่างเดียว เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงของความหลากหลายทางชีวภาพที่จะหายไป และผลกระทบต่อสังคม ทำให้ประเด็นเรื่องความยั่งยืนถูกหยิบยกมาเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนองค์กร จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือ เดินหน้าไปพร้อมกัน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และเท่าเทียม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ประเด็นดังกล่าว นับเป็นโจทย์ใหญ่ของภาคเอกชนที่ว่า ทำอย่างไรให้เกิดการบริหารธุรกิจแบบมีส่วนร่วม เพราะการมีส่วนร่วมจะช่วย “ขจัดความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งเป็นปัญหาหลักของประเทศไทยมาตลอดระยะเวลามากกว่า 4-5 ทศวรรษ และไม่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในหลายประเทศทั่วโลก
ESG (Environmental, Social and Governance) การดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี จึงเป็นแนวทางที่ภาคเอกชนนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพราะการเติบโต ต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมต้องได้รับการพัฒนา และสิ่งสำคัญ คือ การดูแลคน ดูแลพนักงาน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างเหมาะสม รวมถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตร และเครือข่ายสร้างการมีส่วนร่วมทั้งในระดับชาติ ระดับพื้นที่ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน
เข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียม
มุมมองของ “ธนาคารกสิกรไทย” ในฐานะธนาคารพาณิชย์ (Commercial Bank) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งลูกค้า ผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงิน พนักงาน หน่วยงานกำกับดูแล และสังคม คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า การส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ต้องเข้าไปให้บริการกับลูกค้าทุกกลุ่ม ขณะที่ ผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงิน จะต้องได้ข้อมูลที่เท่าเทียมกัน และต้องได้ค่าตอบแทนเหมาะสมกับสิ่งที่ลงทุนไป รวมถึงทำงานกับหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ของสถาบันการเงินให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น และสิ่งที่เน้นย้ำที่สุด คือ การให้ความสำคัญกับภาคสังคม
“ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร จะมี 2 ใบอนุญาต (License) คือ Banking license และ Social license หากเราไม่ได้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ไม่ทำธุรกิจอย่างมืออาชีพ มีจรรยาบรรณ ดูแลลูกค้าอย่างดี ดูแลพนักงานอย่างดี เราก็ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในสังคมนี้ ดังนั้น บทบาทของเรา คือ ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินไปสู่ลูกค้าอย่างเหมาะสม ราคายุติธรรม นำทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดหมุนเวียนให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศไทย และ “การลดความเหลื่อมล้ำ” โดยการปิดช่องว่างระหว่างบริษัทใหญ่และบริษัทเล็กเข้าให้ได้ ด้วยการสนับสนุนคนตัวเล็กที่มีไอเดีย มีนวัตกรรมดีๆ แต่หาแหล่งเงินทุนไม่ได้”
เมื่อพิจารณาสถิติประเทศไทย เกี่ยวกับบริการทางการเงิน พบว่า ข้อมูล “ด้านสินเชื่อ” ปี 2022 อยู่ที่ 42.3% ลดลงจากปี 2020 อยู่ที่ 43.8% ดังนั้น Financial Inclusion หรือ การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน เป็นโจทย์สำคัญ ขณะที่ “ด้านเงินฝาก” ปี 2022 สัดส่วน 89.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2020 อยู่ที่ 87.2%
คุณขัตติยา เผยว่า จากข้อมูลดังกล่าว ดูเหมือนมีบัญชีเงินฝาก แต่เงินในบัญชีแทบไม่มี และกว่าครึ่งที่มียอดบาลานซ์น้อย ดังนั้น สิ่งที่สำคัญไม่เพียงแค่ Financial Inclusion แต่เป็น Financial Resilience ต้องแกร่งในเรื่องการเงินไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ทั้งการออม การลงทุนที่เหมาะกับชีวิต
ขณะที่ ข้อมูลภาพรวม ในปี 2020 พบว่า มีผู้คนในสังคที่รู้ว่าชีวิตต้องมีการวางแผนทางการเงินและทำได้ตามแผน 18% รู้ว่าต้องมีการวางแผนทางการเงินแต่ยังทำไม่ได้ตามแผน 48% รู้ว่าต้องมีการวางแผนทางการเงิน แต่ยังไม่เริ่ม 19% และไม่รู้ว่าต้องมีการวางแผนทางการเงิน 15%
“หน้าที่ของธนาคารต้องทำให้เขาเข้าใจในเรื่องของ Financial Resilience และวินัยทางการเงิน การเก็บเงินให้เหมาะกับชีวิต โจทย์ คือ การสนับสนุนการออม ซื้อกองทุน ซื้อประกัน ที่เหมาะกับชีวิตตัวเองได้มากที่สุด โดยการสนับสนุนแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน แต่จุดประสงค์เดียวกัน คือ อยากให้คนไทยมีวินัยทางการเงิน ฉะนั้น วันนี้เรามีซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ออกแบบให้ใกล้เคียงกับวิถีชีวิตลูกค้าแต่ละราย โดยสามารถมองลูกค้าเป็นรายคนและออกแบบชีวิตได้”
ปัจจุบัน Mobile Banking ของธนาคารกสิกรไทย อย่าง K PLUS ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง โดยได้รับใบสมัครขอสินเชื่อบัตรเครดิต กว่าล้านคำร้องขอต่อเดือน และยังได้รับการโหวตจากสมาคมคนตาบอดฯ ในปี 2560 ว่าเป็นแอปฯ ที่ใช้ง่ายที่สุด ขณะเดียวกัน สาขาของธนาคารซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ 1 สาขา มีการทำงานร่วมกับ สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจะเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจในแต่ละพื้นที่อีกด้วย
สนับสนุนความหลากหลาย เติบโตทั้งในและนอกองค์กร
สำหรับ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 142 ปี ครอบคลุมทั้งกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และทางเทคนิค รวมทั้งสินค้าและบริการค้าปลีกสมัยใหม่ สิ่งสำคัญที่ทำให้ บีเจซี เติบโตมาอย่างยั่งยืนมากกว่า 100 ปี คือ การสร้างการมีส่วนร่วมในองค์กร และสนับสนุนความหลากหลาย เท่าเทียม และ ขยายไปสู่การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่สังคม
คุณฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า การสร้างการมีส่วนร่วมที่ดำเนินการในองค์กรอย่างต่อเนื่อง คือ การสร้างความเข้าใจ ความเชื่อ ทิศทางที่ชัดเจน มีผู้นำ ผู้บริหาร ที่ให้โอกาสอย่างเท่าเทียมกับทุกเชื้อชาติ เพศ สนับสนุนทุกความหลากหลาย โดยถือเป็นกลยุทธ์หลักสำคัญรวมถึงนวัตกรรม
“เมื่อมีความหลากหลายทางความคิด จะช่วยสนับสนุนด้านความคิดสร้างสรรค์กว่า 20% ลดความเสี่ยง 30% และช่วยเพิ่มการตัดสินใจ (Decision Making) ดีขึ้นกว่า 87% ทำให้การตัดสินใจเร็วขึ้นเท่าตัว ลดเวลาการประชุม มีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงานเข้าใจ มีเทรนนิ่ง เวิร์กช้อป และนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการสนับสนุนความหลากหลาย เชื่อมโยงไปสู่พฤติกรรม สู่วัฒนธรรม เปลี่ยนไปถึง Reward System และสื่อสารกันต่อเนื่อง เพิ่มสวัสดิการ เพื่อให้พนักงาน มีโอกาสอยู่ใน Workforce และสามารถดูแลครอบครัว รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในที่ทำงาน เช่น ห้องให้นมบุตร ห้องละหมาด เนอร์สเซอรี่ หรือมุมสำหรับเด็ก เป็นต้น พร้อมกับส่งเสริมงานให้แก่คนพิการ ผู้สูงวัย และขยายไปในระดับพื้นที่ด้วย”
สำหรับบีเจซี ซึ่งมีบิ๊กซี (Big C) ห้างค้าปลีกสาขาขนาดใหญ่ราว 200 สาขา และ มินิบิ๊กซี (Mini Big C) มากกว่า 1,500 สาขาทั่วประเทศ รวมถึง โชว์ห่วยอย่าง “ร้านโดนใจ” ที่มีอยู่มากกว่า 9,700 แห่งทั่วประเทศ บีเจซี ได้สนับสนุนสินค้าราคาดีให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้มีกำไร และสร้างความเติบโตทางธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืน
คุณฐาปณี อธิบายว่า จะมีการแนะนำโปรโมชั่น สินค้าขายดี แนะนำราคาที่น่าจะขายแต่ไม่บังคับ เพราะเจ้าของร้านเป็นเจ้าของตัวจริง โดยร้านโดนใจ เข้าถึงพื้นที่ตอบโจทย์เจ้าของร้านและตอบโจทย์บิ๊กซี รวมถึงมี “โดนใจพอยท์” ที่เชื่อมกับ Big Card และ Big Point ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าสำหรับบิ๊กซี และคู่ค้าเป็นอย่างมาก
“ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการที่เข้าถึงเกษตรกรทั่วประเทศ อาทิ ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ พบว่า รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นหลังจากได้เข้ามาร่วมงานกับเรา เพราะเราซื้อโดยตรง แน่นอนว่าเป็นรายได้ที่ดีขึ้นสำหรับเกษตรกร เชื่อมโยงไปสู่การให้ความรู้ความเข้าใจ การใช้ปุ๋ย การปลูกพืชที่เหมาะกับตลาด อีกทั้ง ยังมีโครงการเกี่ยวกับภาครัฐ การศึกษา ในการฝึกอบรม ให้ความรู้แก่หลายมหาวิทยาลัย ในหลักสูตรเกี่ยวกับการค้าปลีก ได้ใกล้ชิดกับนักศึกษา เพื่อเชิญชวนน้องๆ มาฝึกงาน และร่วมงานในอนาคต”
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้เด็กเล็ก ได้เรียนรู้การทำเบเกอรี่ แคชเชียร์ ใช้เวลาเสาร์อาทิตย์กับครอบครัว โดยมี Kids Corner มุมคุณภาพสำหรับเด็กๆ ด้วยความคาดหวังว่าเด็กๆ ที่เดินทางมาบิ๊กซีจะมีความสุข และสร้างประสบการณ์ในการช้อปปิ้งที่ดีและต่อเนื่องสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย
CARE คนในองค์กร จุดเริ่มสู่ความยั่งยืนรอบด้าน
ด้าน บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ออกแบบและผลิตเครื่องประดับ ที่ทำธุรกิจมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ปัจจุบัน มีพนักงานมากกว่า 3,000 คน และโรงงาน 4 แห่งทั่วโลก ในมุมมองของ คุณปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานผู้ก่อตั้ง บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) มองว่า คนที่สำคัญที่สุด คือ พนักงาน ช่างฝีมือ คนเหล่านี้คือคนที่ต้องถนอม รักษา ให้ดีที่สุดในห่วงโซ่การผลิต
“สิ่งสำคัญ คือ ธุรกิจที่มีความยั่งยืน ต้องมีความพอเพียง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เมื่อรับคนเข้ามาทำงาน ต้องดูแลเขา คีย์เวิร์ด คือ CARE เมื่อให้ความสำคัญกับพนักงาน จะผลักดันให้เราต้องไป CARE ส่วนอื่นต่อ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ”
สำหรับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) “คุณปรีดา” มองว่า ทั้ง 17 เป้าหมาย (Goals) ดังกล่าว อาจจะสามารถแก้ปัญหา ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ในอนาคต และที่สำคัญจะแก้ปัญหาโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังประสบอยู่
“การร่วมมือกันทั้งโลกจะต้องเกิดขึ้นในการกำจัดคาร์บอน จะต้องมีความเท่าเทียม เพราะเรากำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกัน เราจะอยู่บนโลกไม่ได้ เพราะน้ำจะท่วม หากไม่ร่วมมือกันแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่อไปสู่ Zero Carbon การที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น คือ ความร่วมมือร่วมใจกัน ด้วยเหตุที่ว่าเราต้องเท่าเทียม ถึงจะช่วยโลกใบนี้ด้วยกันได้”
สร้างการเข้าถึงดิจิทัล ลดเหลื่อมล้ำ
หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของไทย ที่ช่วยเชื่อมโยงทุกคน ทุกพื้นที่เข้าด้วยกันได้ คือ เทคโนโลยีดิจิทัล ในยุคที่อัตราการเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่กว่า 176% ทั้งประเทศ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นับเป็นผู้ให้บริการประชาชนให้เข้าถึง 4G กว่า 99% ของประชากร และ 5G กว่า 90% ของประชากร
คุณมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยว่า เราบอกทีมเสมอว่าต้องภูมิใจที่ช่วยกันสร้าง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ทุกคนเข้าถึงดิจิทัลได้ความพยายามที่ผ่านมาของเรา นอกจากสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศ ยังสร้างธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น Finance sector, Shopping, Commerce เป็นต้น สร้างการเข้าถึง ลดเหลื่อมล้ำ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ตัวอย่าง คือ “โครงการทรูปลูกปัญญา” นับเป็นอาหารสมองสำหรับน้องๆ วัยเรียนที่จะเป็นคนรุ่นต่อไปของประเทศ ทรู คอร์ปอเรชั่น เสริมสร้างอาหารสมองให้กว่า 32 ล้านผู้ใช้งานต่อปี และหลายปีที่ผ่านมา ได้เข้าไปช่วยบุคคลออทิสติก โดยร่วมกับ มูลนิธิออทิสติกไทย ศึกษาพฤติกรรม และทำแอปพลิเคชั่น เพื่อให้เด็กออทิสติกเกิดการเรียนรู้ที่เร็วขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้ โดยแอปฯ ดังกล่าวได้รับการดาวน์โหลดกว่า 1.9 ล้านครั้งทั่วโลก สร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่เด็กออทิสติกทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่า เขาแค่แตกต่าง แต่เขาอยู่ในสังคมอย่างเท่าเทียมได้
“อีกหนึ่งตัวอย่างของการเข้าถึงเทคโนโลยี คือ การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้าง กระทิง และชาวบ้านในพื้นที่กุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้เทคโนโลยีแจ้งเตือน ในปีที่ผ่านมา พบว่า สัตว์ป่าไม่ออกมาหากินนอกพื้นที่ ชาวบ้านไม่ถูกทำร้าย ทรัพย์สินไม่เสียหาย เป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความยั่งยืน”
คุณมนัส กล่าวต่อไปว่า ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะบริษัทไทย ต้องคิดถึงความยั่งยืนให้กับประเทศ เราเชื่อว่าจะสร้างความยั่งยืนได้ ทั้งด้าน AI ทำอย่างไรให้ใช้อย่างมีความรับผิดชอบ โดยร่วมมือกับ GSMA (Global System for Mobile Communications) และเดินหน้าในเรื่องของ Cyber Security ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องดูแลประชาชนคนไทย
ล่าสุด ได้ออกแคมเปญ True Cyber Safe สำหรับลูกค้าที่ใช้อินเทอร์เน็ต สามารถบล็อกได้ทันทีเมื่อมีการผิดพลาดในการกดลิงค์ รวมถึง แจ้งเตือน สร้างการรับรู้ให้ลูกค้า องค์ความรู้ที่เรามี คือ ด้านเทคโนโลยี แต่สิ่งเหล่านี้ทำคนเดียวไม่ได้ ดังนั้น ต้องร่วมมือกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (NBTC) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ยกระดับประสบการณ์ที่ดี และใช้งานได้ปลอดภัยมากขึ้น
ขณะเดียวกัน โครงข่าย ซึ่งใช้ไฟปีละกว่า 9,500 ล้านบาท ทำให้เกิดคาร์บอนมหาศาล บริษัทฯ จึงเปลี่ยนเป็นโซลาร์เซลล์ในชุมสายที่สามารถทำได้ และในปีที่ผ่านมา ขยายในเรื่องของ AI เพื่อเปิดปิดความถี่ที่ไม่จำเป็น เช่น ในช่วงกลางคืน ลดต้นทุน ลดการใช้พลังงานทั่วประเทศไทย แต่ไม่ให้กระทบต่อการใช้งานของลูกค้า โดยสามารถลดค่าไฟได้กว่า 8-9% ในปีที่ผ่านมา รวมถึง การร่วมมือกับสถาบันการศึกษาสร้างมาตรฐานต่างๆ สร้างความยั่งยืนในด้าน ESG ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล
“เรื่องของกำไรก็เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ความยั่งยืนของประเทศไทย และคนรุ่นต่อไป มองว่าเป็นความสำคัญมากยิ่งกว่า” คุณมนัส กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามรับชมเวทีสัมมนาหัวข้อที่ 1 ย้อนหลังได้ทาง www.youtube.com/@GlobalCompactNetworkThailand
และติดตามรับชมไฮไลท์ได้ทาง https://www.tiktok.com/@ungcnt