GCNT Forum 2024: เสวนา หัวข้อที่ 3 Environment, Agriculture, and Food System Transformation

UNGCNT News

ในหัวข้อนี้ ผู้นำรุ่นใหม่ได้นำเสนอวิสัยทัศน์การทำธุรกิจด้วยโมเดล Inclusive Business ที่ไม่มุ่งเน้นการเติบโตคนเดียว แต่ต้องเติบโตไปพร้อมกับสังคม ชุมชน ลูกค้า และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการวางแผนเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์  ซึ่งจะต้องครอบคลุมทั้งองค์กร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ่งแวดล้อมด้วย

ผู้นำเสนอ:

คุณปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ผู้ก่อตั้งโครงการเมนทัลมี, ตัวแทนเยาวชน

คุณนฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด

คุณแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)

ผู้ดำเนินรายการ:
คุณนันท์นภัส พงศ์วิฑูรย์
พิธีกรแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสต์ (MC of Thammasat) และ Community Engagement Team Lead
เครือข่ายเยาวชนระดับโลกเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพประจำประเทศไทย (GBYN Thailand)

เวทีที่สาม UNGCNT ชวนเรียนรู้จากตัวแทนเยาวชนและตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจ ที่มาบอกเล่าประสบการณ์การทำธุรกิจของตนเองให้กลายเป็น Inclusive Business เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจ ไปพร้อมกับการเติบโตของผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม พร้อมยกตัวอย่างความท้าทายที่ต้องเจอระหว่างทางการทำธุรกิจด้วยโมเดล Inclusive Business และแสดงข้อเสนอแนะสำหรับการขอสนับสนุนและความร่วมมือจากธุรกิจขนาดใหญ่หรือภาครัฐ เพื่อผลักดันให้เกิด Inclusive Business ในธุรกิจทุกระดับได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพราะเชื่อมั่นว่าเราทุกคน มีส่วนสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างความยั่งยืนให้กับโลกได้

เสียงของเยาวชน ธุรกิจเพื่อโลกที่ยั่งยืน

คุณปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ผู้ก่อตั้งโครงการเมนทัลมี และตัวแทนเยาวชน ได้จุดประกายให้ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของธุรกิจในโลกปัจจุบัน ที่ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างผลกำไร แต่ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนนับล้าน ทั้งยังสะท้อนถึงความคิดของเยาวชนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นธุรกิจที่ไม่เพียงแต่ให้ค่าตอบแทนที่ยุติธรรม แต่ยังให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน วัฒนธรรมองค์กรที่ดี และความหมายของงานที่ทำ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของยูนิเซฟและดีลอยท์ที่พบว่า คนรุ่นใหม่ต้องการทำงานในองค์กรที่มีเป้าหมายและค่านิยมที่สอดคล้องกับตนเอง


“ทุกสิ่งเชื่อมโยงกันเป็นวัฏจักร ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทุกสิ่งที่เราทำในวันนี้จะส่งผลต่อวันพรุ่งนี้ ธุรกิจจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือสร้างผลกำไร แต่สามารถเป็นพลังและแรงขับเคลื่อนที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนนับล้านได้ และสำหรับพวกเราเยาวชน โลกใบนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่ที่เราอาศัยอยู่ แต่ยังเป็นบ้านที่พวกเราต้องดูแล” คุณปราชญา กล่าว

จากความคิดสู่การลงมือทำ

คุณปราชญากล่าวว่า ประสบการณ์ในการทำงานกับยูนิเซฟ (UNICEF) และสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครจุดประกายให้ตระหนักถึงศักยภาพของธุรกิจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและความยั่งยืนให้กับสังคมได้ จึงนำความรู้และประสบการณ์ดังกล่าวมาปรับใช้ในการพัฒนาธุรกิจของครอบครัวให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยเน้นการใช้พลังงานสะอาด การทำงานร่วมกับเกษตรกรโดยตรง การจ้างงานผู้พิการ และการสร้างอาชีพให้กับชุมชน

 “ไม่ง่ายเลยที่เด็กมัธยมปลายตั้งใจเปลี่ยนแปลงธุรกิจของครอบครัวให้กลายเป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืน สร้างคุณค่าและโอบรับผู้คนมากยิ่งขึ้น  เริ่มตั้งแต่เสนอแผนงานให้กับครอบครัว  ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เพิ่มจำนวนพลังงานสะอาดที่ใช้ในโรงงานจนตอนนี้เกือบ 100% ของเราเป็นพลังงานสะอาด”

CEL Framework กุญแจสำคัญของธุรกิจเพื่อสังคม

จากประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวไปสู่ Inclusive Business คุณปราชญาได้เสนอ CEL Framework กรอบแนวคิดเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างธุรกิจแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน หรือ Inclusive Business ประกอบด้วย C-Connect การเชื่อมโยงธุรกิจกับสังคมและสิ่งแวดล้อม E-Empower การเปิดโอกาสให้กลุ่มเปราะบางเข้ามามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจและกระบวนการทำงานมากยิ่งขึ้น และ L-Listen การรับฟังเสียงของทุกฝ่ายโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 “ความสำคัญของ Inclusive Business ไม่ได้อยู่ที่ว่ามันสามารถเปลี่ยนแปลงธุรกิจของเราได้มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งสำคัญคือมันสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนรอบข้างและประชาชนในประเทศนั้นๆ รวมถึงโลกของเราได้อย่างไรต่างหาก”

 ธุรกิจ = พลังที่สร้างการเปลี่ยนแปลง

ในตอนท้ายคุณปราชญากล่าวเน้นย้ำถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของธุรกิจที่สามารถสร้างโลกที่ดีกว่า และเธอได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการทำธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นไปได้จริง และสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้อย่างมากมาย สิ่งสำคัญคือการลงมือทำ

 “ทุกสิ่งที่เราลงมือทำจะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดียิ่งขึ้น ญาเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ธุรกิจที่โอบรับผู้คน ธุรกิจที่สร้างคุณค่าและสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมจะมีอยู่จริงไหม และในวันนี้ญายืนอยู่ตรงนี้ เป็นตัวแทนเยาวชนที่สามารถบอกกับทุกๆ ท่านได้ว่า มันเป็นไปได้จริง” คุณปราชญากล่าวในตอนท้าย

จากเมล็ดกาแฟสู่การดูแลโลก

คุณนฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการบริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด เปิดเผยถึงมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมกาแฟ และความพยายามของบริษัทในการสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งธุรกิจและสิ่งแวดล้อม เพราะเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมกาแฟ ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวที่ดำเนินการมากว่าห้าสิบปี เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกกาแฟ การใช้สารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อดินและน้ำ และมลพิษทางอากาศจากการเผาไร่หลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนในชุมชนต้นน้ำในพื้นที่ปลูกกาแฟ รวมทั้งชีวิตของผู้คนปลายน้ำและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกด้วย


 “ในฐานะอุตสาหกรรมกาแฟ เราจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบ ปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม และคำนึงถึงผลกระทบ แน่นอนว่าการที่เราจะหลุดออกจากวงจรนี้ได้ เราจำเป็นต้องพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม” คุณนฤมล กล่าว

 ลงทุนในนวัตกรรม สร้างอนาคตที่ยั่งยืน

คุณนฤมล แบ่งปันต่อว่า ฮิลล์คอฟฟ์ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อค้นหาวิธีการผลิตกาแฟที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยเริ่มจากการศึกษาห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกจนถึงการแปรรูปและจำหน่าย แล้วอาศัยฐานทรัพยากรเดิมในพื้นที่ ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืน แล้ววขยายผลสู่สังคมกาแฟคาร์บอนต่ำ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

 “เราเลือกที่จะเป็น Circular Upcycling Ecosystem โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า BCG (Bio-Circular-Green) ซึ่ง BCG จะทำงานได้ เราต้องมีทุน และทุนที่เรามีนั้นคือทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีเหลืออยู่เพียงพอที่จะคิดค้นพัฒนาต่อไป นักวิชาการ นักวิจัย ภาคประชาสังคมและภาครัฐที่สนับสนุน”

 Zero-waste สร้างคุณค่าใหม่ให้ขยะ

หนึ่งในความสำเร็จที่สำคัญของฮิลล์คอฟฟ์ คือการนำเอาเนื้อผลกาแฟที่เป็นเศษเหลือจากการผลิตกาแฟมาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะเหลือทิ้ง (Zero-waste) แต่ยังสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรอีกด้วย

“เราปลูกกาแฟอาราบิกาประมาณ 30,000 ล้านกิโลกรัม ถ้าเอาเนื้อผลกาแฟออกมาได้ 7,500 ล้านกิโลกรัม เราจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 1,800 ล้านกิโลคาร์บอน เทียบเท่ากับการเดินทางรอบโลกแสนแปดหมื่นรอบ และเทียบเท่ากับการดูแลต้นไม้ 31 ล้านต้นในแต่ละปี และเรายังสามารถพากลับไปหาเกษตรกร สร้างรายได้เติบโตขึ้นอีกกว่า 30% ถ้าเกษตรกรมีรายได้จากการขายเนื้อผลกาแฟเหล่านั้น”

 ส่งต่อคุณค่าจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ

คุณนฤมลกล่าวสรุปว่า ฮิลล์คอฟฟ์พยายามลดก๊าซเรือนกระจกมาตั้งแต่ปี 2014 ถึงวันนี้ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของค่ามาตรฐาน จนสามารถเรียกตัวเองว่ากาแฟคาร์บอนต่ำ พร้อมกับสื่อสารความยั่งยืนของฮิลล์คอฟฟ์ผ่านแนวคิด Forest Food, Forest Stamp ส่งเสริมการทำการเกษตรแบบยั่งยืนที่ลดการใช้สารเคมี รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ผลิตพืชเกษตรอินทรีย์และอาหารตามฤดูกาล และร่วมมือสร้างสังคมเกษตรคนดีกับสถาบันวิจัยและพัฒนา
พื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงาน Public Private Partnership สามารถส่งต่อคุณค่าการทำงานจากต้นน้ำ ผ่านฮิลล์คอฟฟ์ที่เป็นกลางน้ำ ไปสู่ผู้บริโภคปลายน้ำ

 “วันนี้เรากระโดดออกจากโลกของกาแฟไปสู่โลกของพืชประจำถิ่น เรียนรู้ความหลากหลายของทรัพยากรที่ตัวเองมี สำคัญที่สุดคือเมื่อเป็นธุรกิจแล้ว ฮิลล์คอฟฟ์ต้องการที่จะเติบโตด้วยผลกำไร แต่เราเลือกที่จะหาผลกำไรนั้นอย่างมีคุณค่า และสร้างผลกระทบเชิงบวก”

 Net-Zero เป้าหมายใหญ่ เกษตรไทยต้องเปลี่ยน

คุณแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความกังวลต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหารที่กำลังคุกคามโลกของเรา บริษัทฯ ตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จึงได้กำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุ Net-Zero ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงความจริงที่ถูกซ่อนเร้นมาโดยตลอด นั่นคือ ภาคการเกษตรเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะการเผาไร่ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ


“คาดการณ์ว่าในประเทศไทย เกษตรกรเผาไร่และสิ่งที่เหลือจากการทำการเกษตร ประมาณ 19 ล้านตันต่อปี คำนวณเป็นจำนวนคอร์บอนที่ปล่อย 30 กว่าล้านตันต่อปี เทียบกับตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย 300 ล้านตันต่อปีโดยประมาณ ดังนั้นจากการเผาไร่ก็เท่ากับ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ของการปล่อยคาร์บอนของแต่ละปี” คุณแดน ให้ข้อมูล

 ลดคาร์บอนจากไร่ สู่เป้าหมาย Net-Zero

คุณแดนเปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยี Biochar หรือถ่านชีวภาพจากการเกษตร มาใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการแปรรูปเศษวัสดุทางการเกษตรให้เป็นถ่านชีวภาพ ซึ่งสามารถกักเก็บคาร์บอนได้เป็นเวลานาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไร่ และขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Net-Zero ให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อความอยู่รอด

 “ตอนที่เราวิเคราะห์ว่าเราจะเข้าสู่ Net-Zero ได้อย่างไร เราดูห่วงโซ่อุปทาน เริ่มจากการปลูกก่อน การปลูกคือดูดคาร์บอนแต่หลังจากนั้นทุกอย่างที่เราทำ  คือปล่อยคาร์บอนอย่างเดียว เราจึงลงทุนในการวิจัยเทคโนโลยี จนสุดท้ายเราเจอ Biochar แทนที่เกษตรกรจะเผาไร่ ให้เอาสิ่งที่จะเผาไปแปรรูปออกมาเป็น Biochar แล้วเอา Biochar ไปฝังในไร่ สิ่งที่จะเกิดคือการลดค่าคาร์บอนที่ปล่อยออกมา หรือ คาร์บอนลบ (Carbon Negative)”

 คุณแดนกล่าวว่า ตอนแรกตั้งใจจะทำ Biochar เป็นอุตสาหกรรม โดยสร้างโรงงานผลิตในแต่ละภูมิภาค แต่สุดท้ายต้องเปลี่ยนความคิดใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน โดยการออกแบบให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถทำกันเองในระดับหมู่บ้านได้ และในราคาที่ไม่แพง ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการวิจัยอยู่ ถ้าสำเร็จจะเป็นโครงการนำร่องที่จะขยายทั่วโลก เพราะปัญหาการเผาไร่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาร่วมของภาคการเกษตรทั่วโลก

ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน

ในตอนท้ายคุณแดนคาดการณ์ว่า หากสภาพภูมิอากาศยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผลผลิตทางการเกษตรจะลดลงอย่างมาก และส่งผลให้เกิดวิกฤตอาหารทั่วโลกก่อนปี 2050 ราคาอาหารจะพุ่งสูงขึ้น และคนยากจนจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด จึงอยากเรียกร้องให้ทั้งภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปร่วมมือกันแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจควรตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุ Net-Zero และผู้บริโภคควรเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 “ถ้าท่านเป็นซีอีโอ จงมุ่งมั่นสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Net-Zero) ผสานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เข้ากับดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพ (KPI) ของบริษัท ถ้าท่านเป็นผู้บริโภค ให้เลือกสินค้าที่ไม่เกิดขึ้นจากการตัดป่า การเผาไร่ วันนี้เราทำได้ ในอีก 25 ปีข้างหน้า ตอนลูกหลานถาม ทำไมเราไม่สามารถกินข้าวได้ทุกมื้อ ท่านจะมีคำตอบว่าอย่างน้อยเราได้พยายามทำดีที่สุดแล้ว”

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามรับชมเวทีสัมมนาหัวข้อที่ 3 ย้อนหลังได้ทาง www.youtube.com/@GlobalCompactNetworkThailand
และติดตามรับชมไฮไลท์ได้ทาง https://www.tiktok.com/@ungcnt

 

ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้