ป่าต้นน้ำมีความสำคัญอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิต รวมถึงมนุษย์ทุกคน โดยทำหน้าที่ควบคุมระบบการดูดซับและเก็บกักน้ำฝนตามธรรมชาติ ตลอดจนการควบคุมการกัดเซาะพังทลายของดิน ซึ่งหากถูกทำลายไปก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตอย่างมหาศาล จึงต้องมีการปกป้อง อนุรักษ์ และฟื้นฟู นอกจากนี้ป่าต้นน้ำยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ช่วยชะลอภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หนึ่งในวิธีที่จะบรรลุตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2030 ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด และสร้างความสำคัญของความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการเข้าร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยและองค์การสหประชาชาติ คือ การดำเนินงานผ่านการสนับสนุนกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ภายใต้ “โครงการธรรมชาติปลอดภัย” ที่ฟื้นฟูดูแลป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำ 4 แห่ง ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน
ซึ่งพื้นที่ที่ทางองค์กรเผยว่าได้เข้าไปขยายผล ฟื้นฟูต้นน้ำทั้ง 4 พื้นที่มีดังนี้
1. โครงการธรรมชาติปลอดภัย ร่วมกับโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.น่าน(พมพ.2) ในพื้นที่ขยายผลโครงการปิดทองหลังพระฯ ที่ อ.สันติสุข จ.น่าน ซึ่งเป็นการร่วมดูแลป่าบนเทือกเขาภูดำ และภูแหลมทอง ต้นน้ำสำคัญของประเทศ ไหลลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาถึงร้อยละ 45 ผ่านกิจกรรมปลูกป่าต้นน้ำ 140 ไร่, ปลูกป่าร่องห้วย 36 ไร่, ปลูกป่าเสริม 330 ไร่ และปลูกหญ้าแฝก 50,000 กล้า รวมทั้งพัฒนาอาชีพตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน
2. โครงการธรรมชาติปลอดภัย ร่วมกับหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำมีด สนับสนุนการปักหลักรักษ์ป่าพื้นที่ 2,000 ไร่ อ.เชียงกลาง จ.น่าน ซึ่งเป็นต้นแบบของการกำหนดพื้นที่ทำกินและป่าอย่างชัดเจน และร่วมดูแลป่าต้นน้ำ ควบคู่ไปกับการพัฒนาอาชีพ นอกจากนี้ยังได้ปลูกป่า ต้นน้ำในหมู่บ้านคนดีดูแลป่าจำนวน 20 ไร่ และพื้นที่ที่ชาวบ้านคืนป่า 4,000 ไร่ พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนดูแลป่า จำนวน 41,000 ไร่ ส่งผลให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี มีจิตสำนึก ห่วงแหน และเรียนรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากป่า ตลอดจนสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนป่าต้นน้ำน้ำมีดอย่างยั่งยืน

3. โครงการธรรมชาติปลอดภัย ร่วมกับอุทยานแห่งชาติศรีลานนา และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ของ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ร่วมฟื้นฟูปลูกป่ารักษาต้นน้ำสำคัญของภาคเหนือ ที่ไหลลงสู่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ก่อนไหลลงสู่แม่เจ้าพระยาร้อยละ 33 ผ่านกิจกรรมต่างๆ เริ่มจากการสร้างความรู้ความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่ โดยร่วมกันเพาะชำกล้าจำนวน 171,900 ต้น และปลูกป่า บำรุงและทำแนวกันไฟจำนวน 1,300 ไร่ พร้อมทั้งติดตามการเติบโตให้เป็นป่าธรรมชาติ รวมทั้งแยกพื้นที่ทำกินออกจากพื้นที่ป่า นำไปสู่การพัฒนาอาชีพต่างๆในพื้นที่ และร่วมกันดูแลป่าต้นน้ำในพื้นที่กว่า 8 แสนไร่
4.โครงการธรรมชาติปลอดภัย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ร่วมกับชุมชนบ้านแม่ปาน-สันเกี๋ยง และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินกิจกรรม “น้ำเปลี่ยนชีวิต สร้างอาชีพ ฟื้นฟูผืนป่า” โดยสนับสนุนการทำบ่อพวงขนาด 750 ลบ.ม. จำนวน 5 บ่อ และขนาด 175 ลบ.ม. จำนวน 47 บ่อ พร้อมทั้งวางระบบท่อส่งน้ำเข้าสู่แปลงเกษตรกร 337 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ใช้น้ำ 190 แปลง รวม 1,200 ไร่ ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เราในฐานะภาคประชาชนควรต้องจับตาดูการพัฒนาว่าจะสามารถฟื้นฟูได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อช่วยกันรักษาแหล่งต้นน้ำกันต่อไป