Natural Solution: ปลูกอย่างไรให้เป็นป่า

Article

ความล้มเหลวในโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าส่วนใหญ่ มักมีสาเหตุมาจากวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือการจัดการที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการมองข้ามความสำคัญของความร่วมมือของชุมชนในท้องถิ่น อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ 

                                                      ที่มา: หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2549

ภาพที่ 1: การฟื้นฟูป่าในเชิงระบบนิเวศคือการเร่งกระบวนการฟื้นตัวของป่าตามธรรมชาติ ความจำเป็นที่จะต้องปลูกหรือไม่ปลูกขึ้นอยู่กับระดับความเสื่อมโทรมของพื้นที่ ตำแหน่งที่ตั้ง ความชุกชุมของสัตว์ป่าและระยะทางจากป่าสมบูรณ์ที่เหลืออยู่

ท่ามกลางข้อถกเถียงในเรื่องการฟื้นฟูป่ากับวาทกรรม “ป่าไม่ต้องปลูกแต่สามารถฟื้นเองได้” กับ “ปลูกเลยได้ไหม” เพราะถ้ามัวแต่รอให้ป่าหัวโล้นไปเรื่อยๆโดยไม่ทำอะไรอนาคตของลูกหลานจะเป็นอย่างไร

ตอบตามหลักวิชาการแต่อาจขัดใจคนชอบฟันธงก็ต้องบอกว่า ถูกทั้งคู่ และผิดทั้งคู่ เพราะความจำเป็นที่จะต้องปลูกหรือไม่ปลูกขึ้นอยู่กับระดับความเสื่อมโทรมของพื้นที่ ตำแหน่งที่ตั้ง ความชุกชุมของสัตว์ป่าและระยะทางจากป่าสมบูรณ์ที่เหลืออยู่ ถ้าจะตอบให้ชัดจึงต้องพิจารณาเป็นรายพื้นที่ไป

ความจริงข้อสงสัยหลายอย่างของสังคมเกี่ยวกับการฟื้นป่านั้นมีคำตอบอยู่มากพอสมควร เรามีองค์ความรู้ที่ได้จากทำงานวิจัยฟื้นฟูป่าในเชิงระบบนิเวศมายาวนานกว่า 20 ปี  มีตัวอย่างการฟื้นฟูป่าทางภาคเหนือที่ประสบความสำเร็จจากพื้นที่เสื่อมโทรมเตียนโล่งกลับมาเป็นป่าที่มีความหลากหลายได้ภายในระยะเวลาแค่ 6 – 8 ปี  การปลูกป่าให้เป็น “ป่า” นั้นเป็นไปได้แน่นอนหากเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยาของป่าเขตร้อนและอาศัยแนวคิดการฟื้นฟูป่า เพื่อฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพพร้อมไปกับการสร้างแรงจูงใจและวางแผนร่วมกับชุมชน

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่าเมื่อป่าถูกทำลายหรือถูกแบ่งแยกออกเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย สิ่งที่หายไปไม่ใช่เพียงพื้นที่ป่าเท่านั้นแต่หมายถึงสังคมสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะสัตว์ป่าที่หมดไปด้วย นักปลูกป่าที่เก่งกาจที่สุดและทำงานแข็งขันตลอดปีตลอดชาติโดยเราไม่ต้องเสียค่าจ้างเลยสักบาทก็คือสัตว์ป่า เมื่อกลไกสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศหายไปย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสายใยอาหารพืชพันธุ์หลายชนิดในป่าไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อได้ เนื่องจากขาดผู้ทำหน้าที่ผสมเกสรหรือกระจายเมล็ดพันธุ์ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าจึงค่อยๆ ลดลง ป่าที่ไม่มีสัตว์ป่าเปรียบไปก็เหมือนเมืองร้างที่รอวันล่มสลาย

เมื่อป่าเสื่อมสภาพสิ่งที่สูญเสียไปคือผลผลิตจากป่าทั้งพืชอาหาร สมุนไพร  น้ำผึ้ง เห็ด หน่อไม้ ผักหวาน ซึ่งกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่โดยตรง เมื่อป่าหมดชาวบ้านในพื้นที่จึงได้รับผลกระทบก่อนใครเพื่อน ส่วนในภาพใหญ่การสูญเสียความสามารถในการเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและเก็บรักษาหน้าดินย่อมส่งผลกระทบกว้างไกลต่อสังคมโดยรวม

ภาพที่ 2: คู่มือการฟื้นป่าเชิงระบบนิเวศที่เป็นการรวมรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการฟื้นป่าจากงานวิจัย ซึ่งควรได้รับการนำไปประยุกต์ใช้กับโครงการปลูกป่าจำนวนมากท่ัวประเทศ

ด้วยความเชื่อว่าองค์ความรู้ที่มีพื้นฐานมาจากงานวิจัยจะสามารถช่วยให้การฟื้นฟูป่าประสบผลสำเร็จมากขึ้น หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (Forest Restoration Unit) หรือที่รู้จักกันติดปากว่า FORRU จึงได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี 2537 ภายใต้การนำของ ดร.สตีเฟน เอลเลียต และคณาจารย์จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดระยะเวลาการทำงานต่อเนื่องกว่า 20 ปี FORRU ได้กลายเป็นหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าเขตร้อนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย และได้ทำหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้องในการฟื้นฟูป่าอย่างกว้างขวาง

น่าเสียดายที่แนวคิด องค์ความรู้และวิธีการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วจากงานวิจัยว่าสามารถฟื้นฟูป่าได้จริง กลับไม่ได้ถูกนำไปขยายผลในวงกว้างเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ทุกปีเมืองไทยมีโครงการ “ปลูกป่า” จำนวนมากทั้งของภาครัฐและเอกชนมีการใช้จ่ายงบประมาณมากมายมหาศาลในนามของการปลูกป่าที่ไม่มีการติดตามผลหรือประเมินประสิทธิภาพเลยนอกจากป้ายผ้าและคำพูดสวยๆ ว่าได้ปลูกป่าในใจคนที่ไปร่วม ไม่ใช่ว่าโครงการเหล่านั้นไม่ดีแต่สามารถทำให้คุ้มค่าและเกิดผลกว่านั้นได้มาก

สิ่งแรกที่ผู้ดำเนินโครงการปลูกป่าควรทำคือต้องตอบให้ได้เสียก่อนว่าอะไรคือรากปัญหาที่ทำให้เกิดการบุกรุกป่าตั้งแต่แรก ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แก้เรื่องสิทธิที่ดินทำกินอย่างเท่าเทียม  มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ โอกาสที่โครงการฟื้นฟูป่าจะประสบความสำเร็จย่อมเป็นไปได้ยาก

หากมีข้อตกลงที่แน่ชัดกับชุมชนแล้วและเป้าหมายหลักของการปลูกป่าคือการเร่งการฟื้นตัวของป่าธรรมชาติ สิ่งต่อมาที่ต้องทำความเข้าใจก่อนกำหนดกลยุทธในการฟื้นฟูป่าก็คือสภาพป่าดั้งเดิมของพื้นที่ตรงนั้นเป็นอย่างไร มีความหลากหลายด้านพรรณไม้ขนาดไหน อะไรคือข้อจำกัดของการฟื้นต้วโดยธรรมชาติของพื้นที่บริเวณนั้น ถ้าปล่อยไว้เฉยๆ ป่าจะฟื้นตัวได้เองหรือไม่ ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ถ้าจำเป็นต้องปลูกควรใช้ไม้ชนิดใดที่จะช่วยเร่งการฟื้นตัวของพื้นที่และไม้ป่ายืนต้นชนิดใดที่เราอาจต้องช่วยนำมาปลูกเสริม เพราะไม่อาจหาเมล็ดจากแม่ไม้ในบริเวณใกล้เคียงได้อีกแล้ว

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในการกำหนดกลยุทธฟื้นฟูป่าได้ถูกต้อง จะต้องเริ่มจากการประเมินว่าพื้นที่ป่าบริเวณนั้นถูกทำลายจนเสื่อมโทรมถึงระดับใด

FORRU แนะนำปัจจัยในการประเมินที่ควรพิจารณาไว้ดังนี้โดยระดับพื้นที่ต้องคำนึงถึง

– ความหนาแน่นของต้นไม้หากเหลือต้นไม้อยู่น้อยมากๆวัชพืชจะกลายเป็นพืชเด่นทำให้กล้าไม้ไม่สามารถขึ้นได้ง่าย

– การกัดเซาะของหน้าดิน หากมีการกัดเซาะมากอาจเป็นข้อจำกัดในการงอกของเมล็ดและต้องหาพืชคลุมดินเสียก่อน 

– ปริมาณของแหล่งพรรณไม้ธรรมชาติ เช่น ปริมาณเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ (seed bank) ตอไม้ที่ยังมีชีวิต ถ้ายังมีมากการปลูกอาจไม่มีความจำเป็นเลย

ส่วนในระดับภูมิทัศน์ควรต้องพิจารณา

– ป่าสมบูรณ์ที่เหลืออยู่ในบริเวณใกล้เคียงเพราะผืนป่าเหล่านี้จะเป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์ให้กับพื้นที่ที่เราต้องการฟื้นฟู

– ประชากรสัตว์ป่าที่จะช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์หรือนำเมล็ดไม้จากป่าเข้ามาในพื้นที่เสื่อมโทรม

– ความเสี่ยงในการเกิดไฟเพราะไฟป่ามีผลอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของกล้าไม้

เมื่อพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ร่วมกันจะช่วยให้เราเข้าใจถึงความรุนแรงของการเสื่อมโทรมได้ โดยทางวิชาการด้านนิเวศวิทยาการฟื้นฟู (Restoration Ecology) สามารถแยกระดับความรุนแรงของการเสื่อมโทรมอย่างกว้างๆ ได้ 5 ระดับ ซึ่งแต่ละระดับต้องการกลยุทธในการฟื้นฟูป่าไม่เหมือนกัน หากในพื้นที่ยังมีป่าสมบูรณ์อยู่ใกล้ๆ มีประชากรสัตว์ป่าที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ได้มาก มีเมล็ดไม้ มีตอไม้ดั้งเดิมเหลืออยู่บ้าง (เสื่อมโทรมระดับ 1 – 3) การฟื้นฟูควรเน้นไปที่การเร่งการฟื้นตัวตามธรรมชาติ (Accelerated Natural Regeneration) ซึ่งไม่จำเป็นต้องเน้นการปลูก แต่เน้นการควบคุมวัชพืชและดึงดูดสัตว์ที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ให้เข้ามาใช้พื้นที่ ในกรณีที่พื้นที่โดยรอบไม่มีป่าสมบูรณ์เหลืออยู่เลย ประชากรสัตว์ป่าก็ไม่เหลือหลอ ไม่มีร่องรอยของไม้พื้นถิ่น (เสื่อมโทรมระดับ 4 – 5) ควรต้องมีการปลูกทดแทนด้วยพืชหลายชนิด หากที่ดินเสื่อมสภาพรุนแรง อาจจำต้องทำการปรับสภาพพื้นที่ก่อน เช่น การปลูกพืชบำรุงดินอย่างพืชตระกูลถั่วก่อนจะเริ่มฟื้นฟูป่าในขั้นต่อไป

ภาพที่ 3: สิ่งสำคัญที่สุดในการกำหนดกลยุทธฟื้นฟูป่าได้ถูกต้อง ต้องเริ่มจากการประเมินว่าพื้นที่ป่าบริเวณนั้นถูกทำลายจนเสื่อมโทรมถึงระดับใด หากในพื้นที่ยังมีป่าสมบูรณ์อยู่ใกล้ๆ มีประชากรสัตว์ป่าที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ได้มาก มีเมล็ดไม้ มีตอไม้ดั้งเดิมเหลืออยู่บ้าง(เสื่อมโทรมระดับ 1-3) การฟื้นฟูควรเน้นไปที่การเร่งการฟื้นตัวตามธรรมชาติซึ่งไม่จำเป็นต้องเน้นการปลูก แต่ ในกรณีที่พื้นที่โดยรอบไม่มีป่าสมบูรณ์เหลืออยู่เลย ประชากรสัตว์ป่าก็ไม่เหลือหลอ ไม่มีร่องรอยของไม้พื้นถิ่น (เสื่อมโทรมระดับ 4-5) ควรต้องมีการปลูกทดแทนด้วยพืชหลายชนิด พร้อมไปกับการปรับปรุงดิน 

หนึ่งในเทคนิคที่ FORRU ได้นำมาทดลองในประเทศไทยคือวิธีการที่เรียกว่าการฟื้นฟูป่าด้วยพรรณไม้โครงสร้าง (Framework species) ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นครั้งแรกในการฟื้นฟูป่าฝนเขตร้อนของรัฐควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย หลักการสำคัญของวิธีนี้คือการคัดเลือกพรรณไม้ท้องถิ่นราว 20 – 30 ชนิดที่เมื่อปลูกแล้วจะสามารถเร่งการฟื้นฟูโครงสร้างและการทำงานของป่า และยังดึงดูดสัตว์ที่จะเป็นตัวกระจายเมล็ดพันธุ์ให้เข้ามาอาศัย ช่วยให้เกิดการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ และใช้เป็นพืชนำร่องในการฟื้นฟูป่าได้ดี      

ลักษณะสำคัญของพรรณไม้โครงสร้างได้แก่มีความอึด คือมีอัตราการรอดชีวิตสูงแม้จะปลูกในพื้นที่เสื่อมโทรม เจริญเติบโตได้เร็ว มีเรือนยอดกว้างและหนาทึบเพื่อบดบังแสงให้วัชพืชค่อยๆตายไป และติดดอกออกผลตั้งแต่อายุน้อยๆ เพื่อดึงดูดสัตว์ที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ เช่น นกปรอด ค้างคาวกินผลไม้ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ชะมด อีเห็น ถ้าสามารถขยายพันธุ์ได้ง่ายก็จะยิ่งดี เพราะสะดวกในการทำเรือนเพาะชำ ตัวอย่างพรรณไม้โครงสร้างที่ได้มีการคัดเลือกตามลักษณะดังกล่าว เช่น ตองแตบ (Macaranga dentioulata) โตเร็วมีเรือนยอดทึบ กว้าง ช่วงบังแสงวัชพืชได้ดี มะห้า (Eugenia albifloraมะขามป้อม (Phyllanthus emblicaช้าแป้น (Calicarpa arborea) เลี่ยน (Melia toosendanเป็นไม้ที่ให้ผลขนาดเล็กถึงขนาดกลางดึงดูดนกได้ดี รวมไปถึงทองหลางป่า (Erythrina subumbransนางพญาเสือโคร่ง (Prunus cerasoidesเดื่อไทร (Ficus glaberimaอบเชย (Cinnamomum inersล้วนเป็นต้นไม้ที่ให้ดอกผลดึงดูดสัตว์ให้เข้ามาหากินและอาศัยทำรังได้

ภาพที่ 4: คำแนะนำ 6 ขั้นตอนในการฟื้นฟูป่าในระดับภูมิทัศน์ เริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูล สร้างแนวร่วมในระดับรากหญ้า แก้ปัญหาช่องว่างทางด้านกฎหมายและนโยบาย พัฒนากลยุทธในการสื่อสาร พัฒนาห่วงโซ่อุปทานในผลิตภัณฑ์จากภาคการเกษตร และมีเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจวัดประสิทธิภาพ

การคัดเลือกพรรณไม้โครงสร้าง 20 – 30 ชนิดอาจมองดูว่าค่อนข้างเยอะ แต่หากพิจารณาว่าป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์นั้นมีพรรณไม้นับพันชนิด มนุษย์ย่อมไม่สามารถสร้างป่าที่มีความหลากหลายสูงเช่นนั้นได้ สิ่งที่เราทำได้คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของกล้าไม้ธรรมชาติ และดึงดูดสัตว์ที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์เข้ามา ซึ่งสัตว์เหล่านั้นจะเป็นตัวนำเมล็ดของพรรณไม้อีกหลายร้อยชนิดเข้ามาสู่แปลงปลูกเอง ในบางกรณีแทนที่จะปลูกต้นไม้ก็สามารถทำคอนไม้ไผ่เพื่อดึงดูดให้นกเข้ามาเกาะพักและถ่ายมูลก็สามารถเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ได้ตามธรรมชาติ

งานวิจัยสำคัญของ FORRU ที่พื้นที่ต้นน้ำแม่สา อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย ในช่วงปี 2541 – 2547 คือการพิสูจน์ว่าการดูแลพรรณไม้โครงสร้างอย่างใกล้ชิดในช่วง2ปีแรก ทั้งการกำจัดวัชพืช คลุมโคนต้นด้วยกระดาษลังเพื่อป้องกันไม่ให้วัชพืชแก่งแย่งอาหาร ใส่ปุ๋ยเร่งการเติบโตของทรงพุ่ม รวมไปถึงการป้องกันไฟป่าในระยะแรก สามารถเร่งการฟื้นตัวของป่าได้อย่างรวดเร็วและทำให้ได้พื้นที่ที่มีโครงสร้างหลากหลายเหมือนป่ากลับมาภายในระยะเวลาแค่ ปี จากจุดเริ่มต้นด้วยการปลูกพรรณไม้โครงสร้างเพียง 29 ชนิด สามารถเพิ่มพรรณไม้ในธรรมชาติได้อีกกว่า 60 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นกล้าที่งอกจากเมล็ดที่สัตว์ป่านำเข้ามาตามธรรมชาติ และยังพบนกอีกกว่า 80 ชนิด ซึ่ง ใน เป็นชนิดที่สามารถปรับตัวในพื้นที่ที่มีการรบกวนได้ดี

ภาพที่ 5: รูปแบบการฟื้นฟูป่าในระดับภูมิทัศน์ด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืนหลายรูปแบบ

งานวิจัยของ FORRU ยังได้เน้นความสำคัญของการทำงานร่วมกับชุมชนตั้งแต่ศึกษาความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการคัดเลือกพรรณไม้อาศัยแรงงานจากคนในท้องถิ่นในการเก็บเมล็ดไม้จัดทำเรือนเพาะชำกล้าไม้ และติดตามการเปลี่ยนแปลงของชนิดพันธุ์ในป่าซึ่งเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างแรงจูงใจในการฟื้นฟูป่าระยะยาว

การปลูกป่าให้เป็น “ป่า” นั้นมีขั้นตอนและรายละเอียดมากมาย แต่เป็นไปได้แน่นอนหากอาศัยความรู้ทางด้านนิเวศวิทยาและความเข้าใจทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ผู้ดำเนินการปลูกป่าและผู้ปรารถนาที่จะสนับสนุนกิจกรรมปลูกป่าทั้งหลายควรทบทวนตัวชี้วัดความสำเร็จที่นอกเหนือไปจากจำนวนกล้าไม้ จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมและงบประมาณ แต่กำหนดตัวชี้วัดที่ตรวจวัดความหลากหลายทางชีวภาพ การฟื้นฟูนิเวศบริการ (ecosystem service) รวมไปถึงความเป็นอยู่และความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่น

การฟื้นฟูป่าเป็นเรื่องท้าทายที่สุดประการหนึ่งของคนในยุคนี้ การเริ่มตระหนักว่าเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการทำลายป่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ความร่วมมือและการตระหนักถึงบทบาทที่ทุกภาคส่วนจะสามารถเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาความยากจน การส่งเสริมใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสมมีระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพไปจนถึงการผลักดันเรื่องการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนของคนในเมือง เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าการปลูกป่าเป็นสิ่งจำเป็นก็ควรทำอย่างถูกต้องตามหลักนิเวศวิทยาด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่น

ภาพที่ 6: งานวิจัยสำคัญของหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่พื้นที่ต้นน้ำแม่สา อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย พิสูจน์ว่าเทคนิคการฟื้นฟูป่าโดยการใช้พรรณไม้โครงสร้างสามารถเร่งการฟื้นตัวของป่าได้อย่างรวดเร็วและทำให้ได้พื้นที่ที่มีโครงสร้างหลากหลายเหมือนป่ากลับมาภายในระยะเวลาแค่ 6 ปี

สิ่งที่เราต้องการฟื้นฟูคือระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์เอื้อประโยชน์ให้กับคนทุกกลุ่ม คนอาจจะสร้างป่าไม่ได้แต่เราสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมและสังคมที่เหมาะสมต่อการฟื้นตัวของป่าได้

หมายเหตุ  สนใจศึกษาเพิ่มเติมการฟื้นฟูป่าในเชิงระบบนิเวศ อ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซด์หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ www.forru.org 

ผู้เขียนบทความ: ดร. เพชร มโนปวิตร
ที่มา: 
https://greenworld.or.th/green_issue/1606/ 
ภาพจาก: https://pixabay.com/th/ 

ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้