ราคาที่ต้องจ่าย เมื่อธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพถูกคุกคาม

Article

ธรรมชาติเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ของมนุษย์และคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นปัจจัยของอากาศ น้ำจืด ยารักษาโรค และผืนดินที่เราทุกคนพึ่งพาอาศัย นอกจากนี้ยังเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมสภาพอากาศ การผสมเกสรจากแมลงหลากชนิด ผลิบานเป็นพืชผล อาหารหล่อเลี้ยงมนุษยชาติและสัตว์ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม กิจกรรมของมนุษย์ได้ทำลายป่า ทุ่งหญ้า พื้นที่ชุ่มน้ำ และระบบนิเวศที่สำคัญมากมายอย่างต่อเนื่องรุนแรง ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา 75% ของพื้นผิวดินที่ปราศจากน้ำแข็งของโลก เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ มหาสมุทรส่วนใหญ่มีมลพิษ และพื้นที่ชุ่มน้ำมากกว่า 85% สูญเสียไป

ความเฟื่องฟูของการค้าโลก ระบบการบริโภค และการเติบโตของประชากรมนุษย์ ตลอดจนการย้ายถิ่นฐานสู่เมืองใหญ่ ผลักดันให้เกิดการทำลายล้างและความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ เมื่อพลวัตรของการจัดหาอาหาร พลังงาน และวัสดุแก่ผู้คนในส่วนต่างๆ ของโลกเพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตของปัจจัยเหล่านี้

หลายปีที่ผ่านมา “ความหลากหลายทางชีวภาพ” เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทุกท่านอ่านบทความนี้ โลกกำลังใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป ในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ยังรักษาพื้นที่ป่าส่วนใหญ่เอาไว้ได้ สิ่งนี้ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายมหาศาลต่อธรรมชาติ และความเสถียรของระบบปฏิบัติการของโลกที่ค้ำจุนเรา

โลกธรรมชาติของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยเป็นมา และการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ย้อนกลับมาคุกคามสวัสดิภาพของมนุษย์เอง ในอนาคตความสามารถของธรรมชาติในการจัดหาอาหารที่จะลดลงเรื่อยๆ


สารเตือนจากดัชนีโลกมีชีวิต

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไม่ใช่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเพียงมิติเดียว แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ ความมั่นคงของโลก ตลอดจนจริยธรรมและศีลธรรมของมนุษยชาติอีกด้วย ธรรมชาติเป็นรากฐานของสุขภาพมนุษย์ในทุกมิติ รวมถึงทางจิตใจที่ลึกซึ้งไปกว่าแค่ระดับวัตถุ ธรรมชาติสร้างแรงบันดาลใจ การเรียนรู้ และการกำหนดอัตลักษณ์ของพวกเรา อาจกล่าวได้ว่าธรรมชาติคือศูนย์กลางแห่งคุณภาพชีวิตและวัฒนธรรมที่สมบูรณ์

รายงานดัชนีโลกมีชีวิต (Living Planet Index: LPI) ฉบับล่าสุด ปี 2020 โดยกองทุนสัตว์ป่าสากล (WWF) ติดตามความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิต 20,811 กลุ่ม ใน 4,392 สายพันธุ์ทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน และปลาลดลงเฉลี่ยถึง 68% ระหว่างปี 1970 ถึง 2016

จำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิต คือตัววัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพโดยรวม ปัจจุบันความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก กำลังลดลงในอัตราที่แตกต่างกัน

มหาสมุทรของเรากำลังเดือดจัด ด้วยการประมงเกินขนาด มลพิษ การประมงแบบทำลายล้าง และการพัฒนาตามแนวชายฝั่ง ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งตั้งแต่น้ำตื้นไปจนถึงทะเลลึก พื้นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต เช่นป่าชายเลนและหญ้าทะเลลดลง ทำให้จำนวนสิ่งมีชีวิตลดลง เกิดการปรับโครงสร้างระบบนิเวศ ห่วงโซ่อาหารลดระดับขั้นลง และการเปลี่ยนแปลงสภาพสภาพภูมิอากาศจะยิ่งทำให้ผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ที่น่ากังวลที่สุดคือในเขตร้อนอย่างประเทศไทย โดยเฉพาะแหล่งน้ำจืด ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพกำลังลดลงด้วยอัตราที่รวดเร็วกว่าในมหาสมุทรหรือป่าไม้เสียอีก

มนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงแม่น้ำหลายล้านกิโลเมตรเป็นพื้นที่เกษตรกรรมอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย จากข้อมูลที่มีอยู่ เรารู้ว่าเกือบ 90% ของพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลกหายไปตั้งแต่ปี 1700 การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อความหลากหลายทางชีวภาพของน้ำจืด อย่างพื้นที่ลุ่มน้ำแม่โขง มีสายพันธุ์ปลาน้ำจืดที่หลากหลาย เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของผู้คนตลอดลุ่มน้ำรวมถึงชาวภาคอีสาน หากระบบนิเวศในแม่น้ำโขงล่มสลาย นี่คือวิกฤตอาหารระดับชาติ


เมื่อสรรพสิ่งสูญสิ้นความหลากหลาย

ไม่เฉพาะสัตว์เท่านั้น ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชก็กำลังลดลงอย่างมาก พืชเป็นรากฐานทางโครงสร้างและทางนิเวศวิทยาของระบบนิเวศบนบกแทบทั้งหมด เป็นปัจจัยพื้นฐานของทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก มีความสำคัญต่อสุขภาพ อาหาร และความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ การสูญเสียความหลากหลายของพืชไม่เพียงคุกคามระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริการอันล้ำค่าที่พืชมอบให้กับผู้คนและโลกใบนี้ด้วย

หนึ่งในตัวอย่างใกล้ตัวคือ กาแฟอาราบิก้า (Coffee Arabica) เมล็ดกาแฟที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลตลอดห่วงโซ่อุปทาน การประเมินความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดประเภทให้กาแฟอาราบิก้าเป็นสปีชีส์ใกล้สูญพันธุ์ โดยคาดว่าจำนวนตามธรรมชาติมากกว่าครึ่งหนึ่งจะสูญหายไปภายในปี 2088

นอกจากนี้ การประเมินตัวอย่างหลายพันชนิด ที่แสดงถึงความหลากหลายตามภูมิศาสตร์ของพืชทั่วโลก พบว่า 1 ใน 5 (ประมาณ 22%) กำลังถูกคุกคามด้วยการสูญพันธุ์ โดยส่วนใหญ่เป็นชนิดพันธุ์พืชที่อยู่ในเขตร้อน

ความหลากหลายทางชีวภาพในผืนดินก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แม้คนส่วนใหญ่จะมองข้ามบทบาทสำคัญของดิน ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บความหลากหลายทางชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก มากถึง 90% ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศบก ซึ่งรวมถึงแมลงผสมเกสรบางชนิด (ซึ่งกำลังถูกคุกคามอย่างหนักในปัจจุบัน) ใช้ชีวิตส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตในแหล่งที่อยู่อาศัยในผืนดิน

องค์ประกอบของดินเต็มไปด้วยอากาศและน้ำ ทำให้เกิดแหล่งที่อยู่อาศัยที่หลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อสำหรับ สิ่งมีชีวิตในดินจำนวนมากมาก ทั้งขนาดใหญ่จนถึงขนาดจิ๋ว หนุนชีวิตของเราบนโลกใบนี้ หากปราศจากความหลากหลายทางชีวภาพของดิน ระบบนิเวศบนบกอาจล่มสลายได้

 

มนุษย์อยู่ไม่ได้เพียงลำพัง

ข้อมูลจากรายงานดัชนีโลกมีชีวิต ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์พึ่งพาความหลากหลายทางชีวภาพ และความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิต อันเป็นพื้นฐานความมั่นคงทางอาหารของทุกคนอย่างไร

  • พืชมากกว่า 6,000 สปีชีส์ ถูกเพาะปลูกและผลิตเป็นอาหารของมนุษย์ทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีพืชป่ามากกว่า 1,160 สปีชีส์ที่มนุษย์ใช้เป็นอาหาร
  • นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประมาณ 40 สปีชีส์ คือแหล่งอาหารของมนุษย์จากการปศุสัตว์ มนุษย์ยังกินสัตว์ป่าต่างๆ แมลงอย่างน้อย 2,111 สปีชีส์ นก 1,600 สปีชีส์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 1110 สปีชีส์ สัตว์เลื้อยคลาน 140 สปีชีส์ และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 230 สปีชีส์
  • สัตว์น้ำเกือบ 700 สปีชีส์ถูกนำมาเพาะเลี้ยงเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังมีปลาและและพืชน้ำกว่า 1,800 สายพันธุ์ ถูกเก็บเกี่ยวขึ้นจากท้องทะเลทั่วโลก
  • เรายังต้องพึ่งพาเชื้อราและจุลินทรีย์หลายพันชนิดที่จำเป็นสำหรับกระบวนการผลิตอาหาร เช่น การหมัก เชื้อหากินได้ 60 สปีชีส์ ถูกเพาะเชิงพาณิชย์ ไม่รวมอีก 1,154 สปีชีส์ของเห็ดป่าที่มนุษย์สามารถกินได้
  • และสุดท้ายคือแมลงผสมเกสรหลายพันสปีชีส์ สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่เป็นทั้งวิศวกรดิน ผู้พิทักษ์ศัตรูพืชตามธรรมชาติ และแบคทีเรียตรึงไนโตรเจน ความหลากหลายของระบบนิเวศทุกประเภท ตั้งแต่ทุ่งหญ้าทะเล แนวปะการัง ป่าชายเลน พื้นที่ชุ่มน้ำ ผืนป่า จนถึงทุ่งหญ้า ล้วนสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร

ในระดับโลก ไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เมื่อเปรียบเทียบจํานวนสปีชีส์ต่อหน่วยพื้นที่ โดยในพื้นที่ 100,000 ตารางกิโลเมตร พบพืชและสัตว์จํานวน 2,655 สปีชีส์ ขณะที่เอกวาดอร์มีจํานวนสปีชีส์ต่อพื้นที่สูงที่สุดในโลก คือ 8,703 สปีชีส์ต่อ 100,000 ตารางกิโลเมตรประเทศของเรามีความอุดมบูรณ์เป็นทรัพย์สินที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ สปีชีส์สิ่งมีชีวิตประมาณ 10% ของโลก ล้วนอยู่ในไทย โดยประกอบไปด้วยพันธ์ุพืชประมาณ 10,000 ชนิด นก 980 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 300 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ําสะเทินบก 490 ชนิด ปลา 2,800 ชนิด และจุลินทรีย์ 150,000 ชนิด คนไทยเรียนรู้ สั่งสม และส่งต่อภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากจากทรัพยากรชีวภาพมาอย่างยาวนาน ทั้งในรูปอาหารและยารักษาโรค

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2016 จากการสำรวจและประเมินสถานภาพการถูกคุกคามของสัตว์มีกระดูกสันหลังจำนวน 2,276 สปีชีส์ในประเทศไทย พบว่ามีสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปแล้ว 8 สปีชีส์ อีก 569 สปีชีส์อยู่ในสถานภาพถูกคุกคาม 282 สปีชีส์มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 185 สปีชีส์อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ และ 102 สปีชีส์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง



เส้นทางใหม่ สู่ปลายทางระบบอาหารใหม่ๆ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นพื้นฐานความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อจัดการกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่หล่อเลี้ยงโลก

หากระบบผลิตอาหารและบริโภคของโลกยังดำเนินอยู่บนเส้นทางสายเดิม ที่ส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยว สารเคมี ล้างผลาญเน้นกอบโกยปริมาณมาก และพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล จุดหมายปลายทางของมนุษยชาติ ก็คือการสูญเสียความมั่นคงทางอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราสามารถฟื้นคืนการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อหล่อเลี้ยงเลี้ยงประชากรมนุษย์ที่กำลังเติบโตได้ โดยเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดิน มุ่งเน้นการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการสร้างระบบอาหารสมัยใหม่ เปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตและการบริโภคอาหาร รวมถึงพลังงานของเรา ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญา เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ไปพร้อมกับการฟื้นคืนธรรมชาติ

รัฐบาล และผู้นำธุรกิจทั่วโลกจะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกันอย่างเร่งด่วน ด้วยความทะเยอทะยานและความร่วมมืออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ขณะที่การขับเคลื่อนระบบอาหารในระดับสากลดำเนินไป พลเมืองอย่างเราๆ ก็มีส่วนร่วมในการเยียวยาธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพได้ ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค แค่วันละ 3 เวลา ผ่านการเลือกสนับสนุนเฉพาะอาหารที่รู้แหล่งที่มาชัดเจนว่าถูกผลิตขึ้นอย่างมีความรับผิดชอบ กินตามฤดูกาล เน้นวัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งไม่เพียงปลอดภัยกว่าจากเคมีในการเก็บรักษา แต่ยังไม่ปล่อยคาร์บอนเพิ่มจากการขนส่งด้วย เพื่อให้และปลอดภัยต่อทั้งตัวเราและกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.wwf.or.th/?364764/WWF--Living-Planer-Report-2020 

https://www.greenpeace.org/thailand/story/16452/forest-ruined-or-revived-the-biodiversity-after-covid-19/ 

ร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับเรา
UN Global Compact
Network Thailand
APPLY FOR MEMBERSHIP
เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซต์นี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหา และโฆษณาตามความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้ เงื่อนไขการใช้งานเว็บไซต์ และ นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
Subscribe
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถปรับแต่งการตั้งค่าคุกกี้ในแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่จำเป็นต่อการให้บริการ
(Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอดเวลา
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรวมถึงคุกกี้ที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้เพื่อการวัดผลการทำงานและฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
(Performance and Functionality Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะถูกใช้เพื่อจดจำท่านเมื่อท่านกลับเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกครั้ง ช่วยให้เราปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับท่านและจดจำการตั้งค่าของท่าน (เช่น ภาษาหรือภูมิภาคที่ท่านเลือก) แต่ไม่จำเป็นต่อการวัดผลการทำงานของเว็บไซต์
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์หรือเพื่อการปรับแต่ง
(Analytical or Customization Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ใช้งานเข้าสู่เว็บไซต์และออกจากเว็บไซต์ เราใช้ข้อมูลนี้ในลักษณะของข้อมูลโดยรวมเพื่อช่วยให้เราปรับปรุงวิธีการทำงานของเว็บไซต์ หรือเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราตามความสนใจของท่านได้